โครงการหุ่นยนต์แบ่งปัน (หุ่นยนต์ช่วยเหลือทางการแพทย์)

AI ล้ำสมัย ป้องกันโควิด-19

GC ร่วมกับ KMUTNB VISTEC และกลุ่มบริษัทโปลิโฟม ร่วมกันสร้างสรรหุ่นยนต์แบ่งปัน เพื่อส่งมอบให้คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ เพื่อช่วยเหลือและป้องกันความปลอดภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โดยนำนวัตกรรม เทคโนโลยี ผนวกความคิดสร้างสรรค์ ก่อเกิดเป็น AI ล้ำยุค หุ่นยนต์แบ่งปัน ผู้ช่วยเหลือหมอและพยาบาล รักษาระยะห่าง ลดการติดเชื้อ ป้องกันไวรัสโควิด-19 แถมยังช่วยลดความเครียดให้กับผู้ป่วย และประชุมทางไกลได้อีกด้วย

หุ่นยนต์จะครองโลก คำๆ นี้ไม่ไกลเกินความเป็นจริงแล้วในโลกปัจจุบัน หุ่นยนต์ที่มนุษย์สร้างขึ้นถูกใช้แทนที่แรงงานมนุษย์ในงานที่ยาก ลำบาก เสี่ยงอันตรายหรือเพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่มีทีท่าจะบรรเทาเบาบางลงง่าย ๆ GC จึงจับมือร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (KMUTNB) สถาบันวิทยสิริเมธี มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และ กลุ่มบริษัทโปลิโฟม ร่วมพัฒนาและส่งมอบ “หุ่นยนต์แบ่งปัน” หุ่นยนต์ช่วยเหลือทางการแพทย์ ให้แก่ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ

จุดเริ่มต้นของหุ่นยนต์แบ่งปัน มาจาก สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลให้มียอดผู้ป่วยติดเชื้อและจำนวนผู้ป่วยสะสมทั่วโลกและจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ นับเป็นวิกฤตการณ์ที่แพร่ขยายไปทั่วทุกมุมโลก ทำให้นักวิจัยยังคงมุ่งมั่นในการผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันโรคนี้ สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย ถือว่าเป็นไปในทิศทางที่ดี เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่ยังนิ่งนอนใจไม่ได้ เพราะสุขภาพที่ดีของบุคลากรทางการแพทย์และคนไทย เป็นสิ่งสำคัญ GC ได้จับมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ (KMUTNB) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และกลุ่มบริษัทโปลิโฟม (Polyfoam) คิดค้น สร้างสรรค์ พัฒนาหุ่นยนต์ช่วยเหลือทางการแพทย์ในชื่อ IRAPs SHaRE-aGIVeR (ไอ-ราฟ แชร์-อะ-กิฟ-เวอร์) หรือ “หุ่นยนต์แบ่งปัน” ให้แก่คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ เพื่อนำไปใช้งานในโรงพยาบาล หุ่นยนต์แบ่งปันสามารถส่งสิ่งของ ยาเวชภัณฑ์ อาหาร แฟ้มทะเบียนประวัติคนไข้เวลาเดินตรวจ ฯลฯ ไปยังจุดต่างๆ ที่ได้กำหนดไว้แบบอัตโนมัติ สามารถเปิดเพลงหรือเปิดวิดีโอต่างๆ เพื่อบรรเทาความเครียดให้กับผู้ป่วยได้ และยังสามารถใช้โปรแกรมเพื่อการประชุมทางไกล (Teleconference) ระหว่างคนไข้กับหมอ ถือเป็นการเว้นระยะห่าง (Physical Distancing) ลดการสัมผัส และป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อีกด้วย

หุ่นยนต์แบ่งปัน เป็นหุ่นยนต์ต้นแบบ (Prototype) โดย GC ร่วมหาข้อควรปรับปรุงตัวต้นแบบ และ หาทางแก้ไข พัฒนาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์ร่วมกับทางโรงพยาบาล รวมถึงสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำหุ่นยนต์แบ่งปัน

VISTEC เป็นผู้สนับสนุน Software ออกแบบและสร้างระบบ Web Page เพื่อบันทึกข้อมูลคนไข้ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์สื่อสารกันได้อย่างชัดเจน ลดข้อผิดพลาดในการรักษา นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากกลุ่มบริษัท Polyfoam ร่วมออกแบบและสนับสนุนวัสดุจัดทำโครงหุ่นยนต์ด้วย

KMUTNB โดยความร่วมมือระหว่าง ศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบความแม่นยำขั้นสูง หรือศูนย์ IRAPs ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สร้างสรรค์ หุ่นยนต์แบ่งปัน มีภารกิจ การช่วยขนส่งเวชภัณฑ์ต่าง ๆ และทำให้คุณหมอหรือพยาบาลสามารถสื่อสารทางไกลกับคนไข้ได้ หุ่นยนต์มีความสามารถในการสร้างแผนที่ และจดจำตำแหน่งที่ต้องปฏิบัติงานได้ โดยเมื่อได้รับคำสั่งจะเคลื่อนที่แบบอัตโนมัติ พร้อมกับหลบหลีกสิ่งกีดขวางระหว่างเคลื่อนที่ได้

การผสานความร่วมมือในวันนี้จากภาคการศึกษา ภาคเอกชน ถือเป็นการทำงานเชิงรุกร่วมกัน นับเป็นอีกขั้นของความร่วมมือที่มุ่งหวังให้บุคลากรทางการแพทย์ของไทยและคนไทยทุกคน ผ่านพ้นช่วงวิกฤติไปด้วยกันอย่างปลอดภัย

ข้อมูล ณ เมษายน 2564