25 June 2020

Wood Plastic Composite เฟอร์นิเจอร์ที่เพิ่มคุณค่าจากขยะ สู่วัสดุที่ใช้แทนไม้จริง ในโครงการ Upcycling Upstyling

Share:

สัมผัสประสบการณ์เฟอร์นิเจอร์ไม้ ในมิติใหม่ที่สมบูรณ์แบบและยากจะเชื่อ จากการนำขยะถุงหูหิ้วพลาสติก HDPE ที่มักถูกตีตราว่าเป็นขยะสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม มาสร้างคุณค่าและตกผลึกการออกแบบจนเกิดการผสมผสานอย่างลงตัว ระหว่างขยะพลาสติกและเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร จนกลายเป็นม้านั่งและชั้นวางอเนกประสงค์ที่ผลิตจากไม้เทียม (Wood Plastic Composite) ในคอลเลคชั่น Nakashima ผลงานการออกแบบของคุณทวี อนันตรัตนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เบสท์ โพลิเมอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตไม้เทียม Wood Plastic Composite และนักออกแบบผู้คร่ำหวอดด้านงานไม้ อย่างคุณศุภพงศ์ สอนสังข์แห่ง Jird Design Gallery

คุณทวี อนันตรัตนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เบสท์ โพลิเมอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

จุดเริ่มต้นของการเข้าร่วมโครงการและการร่วมงานกับนักออกแบบมือรางวัล เป็นอย่างไรบ้าง?

คุณทวี: "จากความต้องการจัดการปัญหาขยะพลาสติก และนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงเหมือนแรงดึงดูดที่ทำให้ สมัครเข้าร่วมโครงการ Upcycling Upstyling แม้จะคลุกคลีกับการทำไม้เทียมจากพลาสติกมาอยู่แล้ว แต่ยังคงยึดติดอยู่กับแนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์ในแบบเดิม ทำให้ขาดมุมมองด้านการต่อยอดไอเดียสร้างสรรค์และเทคนิคต่าง ๆ การร่วมงานกับคุณตั้ม ทำให้ได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ ๆ มากมาย เช่น วิธีต่อไม้ที่ไม่ใช้สกรู วิธีการประกอบที่สามารถถอดประกอบได้โดยง่าย รวมถึงความคิดสร้างสรรค์อีกหลากหลายมุมมอง ที่มาช่วยเติมเต็มให้สินค้ามีลูกเล่นและน่าใช้งานมากยิ่งขึ้น"

วัสดุที่เลือกใช้คืออะไร และมีจุดเด่นอะไรบ้าง?

คุณศุภพงศ์: "เลือกใช้ Wood Plastic Composite เป็นวัสดุหลักในการออกแบบ ซึ่งถือเป็นวัสดุที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก สามารถทำลวดลายลงในเนื้อวัสดุได้ และให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับไม้จริงมาก เป็นโอกาสที่ช่างไม้แบบผมจะได้ทดลอง เพื่อศึกษาคุณสมบัติว่า มีความแตกต่างอย่างไรกับไม้จริง นำมาใช้ทดแทนไม้จริงได้อย่างไรบ้าง สามารถใช้กระบวนการแปรรูปแบบ Craft คือ สามารถใช้เครื่องมือง่ายๆ หรือใช้มือทำได้ไหม"

โดยจุดเด่นของไม้เทียม คือ การนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างไม่จำกัด เศษที่เหลือจากการตัดแต่งวัสดุสามารถนำมาบดและหลอมกลับมาอัดเป็นแผ่นได้ภายในโรงงานเลย ความตุ่นของสี คือ ข้อดีที่สามารถสร้างลวดลายในเนื้อวัสดุที่ใกล้เคียงไม้จริง ที่เป็นกลุ่มไม้พื้นถิ่น เนื้อแข็งลายสวยหลากหลายชนิด เช่น สัก แดง มะค่า รกฟ้า มะริด และในกลุ่มไม้นอก อย่างเช่น บีช โอ๊ค วอลนัท ซึ่งเมื่อสร้างลายในเนื้อวัสดุได้ จะสามารถใช้กระบวนการผลิตขึ้นรูปแบบช่างไม้ได้ ทั้งการแกะหรือขัดลึกลงไป เพราะยังเห็นลวดลายเด่นชัด นอกจากนี้ยังสามารถใช้ทักษะและเครื่องมืองานไม้ได้หลากหลาย เปิดโอกาสให้ใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปได้มากมาย แต่สิ่งที่น่ากังวล กลับเป็นเรื่องต้นทุนวัสดุ เพราะเมื่อนำกลับมาใช้ใหม่ จะนำมาซึ่งกระบวนการ ต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น และการผลิตที่ยากขึ้น ทำให้ราคาของผลิตภัณฑ์จะสูงเพิ่มตามไปด้วย ซึ่งจะย้อนแย้งกับความคิดความเชื่อของผู้บริโภคที่คิดว่าเมื่อเป็นวัสดุรีไซเคิล จะทำให้มีราคาถูกลง

คุณศุภพงศ์ สอนสังข์ แห่ง Jird Design Gallery

แนวคิดในการออกแบบผลงานชิ้นนี้คืออะไร?

คุณศุภพงศ์: "ผมตั้งกรอบแนวคิดไว้ 4 ข้อ คือ

  1. ต้องแสดงให้เห็นว่า วัสดุนี้สนับสนุนทักษะเชิงช่าง และงานฝีมือ
  2. แสดงจุดเด่นในการใช้งานทดแทนไม้จริงในบริบทที่เหมาะสม
  3. ชิ้นงานต้องมีขนาด และประโยชน์ใช้สอยที่เอื้อให้เกิดการหมุนเวียนวัสดุได้ในปริมาณมาก
  4. การออกแบบเน้นไปที่การสร้างลักษณะเฉพาะ (Identity) และเทคนิคการประกอบที่น่าจดจำ และสามารถนำไปต่อยอดเป็นสินค้าอื่น ๆ ภายใต้หลักการใช้วัสดุให้หมดจด มีเศษเหลือทิ้งจากการผลิตน้อยที่สุด

Nakashima ม้านั่งและชั้นวางอเนกประสงค์ ผลิตจากไม้เทียม (Wood Plastic Composite)

คุณค่าและโอกาสในการต่อยอดผลิตภัณฑ์?

คุณทวี: "เมื่อเกิดการนำมาแปรรูปและออกแบบ คาดว่าจะทำให้มูลค่าของสินค้าเพิ่มขึ้นประมาณ 40 – 50% โดยไม่มีผลกระทบกับกระบวนการผลิตเดิมอย่างมีนัยยะสำคัญ และงานออกแบบชุดนี้ จะสามารถต่อยอดเป็นสินค้าในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์อื่น ๆ ได้หลากหลาย เพียงปรับขนาด ก็จะได้ฟังก์ชั่นใหม่ ๆ อีกหลายรายการ รวมถึงหากมีการฝึกฝนและพัฒนาทักษะฝีมือเชิงช่าง (craft) และศึกษาการตลาดในกลุ่มสินค้าเฉพาะทางเพิ่มขึ้นก็จะสามารถเป็นอีกช่องทางในการเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจ

ในอนาคตหากมีการศึกษาตลาด และช่องทางการจัดจำหน่ายที่เหมาะสมแล้ว เชื่อได้ว่าทุกท่านจะมีโอกาสได้สัมผัสเฟอร์นิเจอร์ไม้เทียมที่ถูกออกแบบและพัฒนามาเพื่อตอบโจทย์การใช้งานและความสวยงาม และที่สำคัญที่สุดคือ การต่อยอดเพิ่มคุณค่าจากขยะ สู่วัสดุที่ใช้แทนไม้จริง ลดทั้งขยะ ลดทั้งการตัดไม้ นับเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์สินค้า Upcycling รักษ์โลกที่ครบเครื่องอย่างแท้จริง

Feature Stories

Feature Stories
09 September 2022
โลกอยู่ได้ เราอยู่ได้ ร่วมสร้างกระบวนการที่ดี เพื่อวันนี้ และอนาคต
Read More
Feature Stories
01 July 2020
Upgrade to an Eco-Design style with the "Upcycling Upstyling" project by GC [ Iameverything ]
Read More
Feature Stories
15 June 2018
Pure Gold – Upcycled! Upgraded! Turn Waste to Gold
Read More