04 July 2019

GC ตอกย้ำแนวคิด Circular Living ปฏิวัติการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า

Share:

“There is no Plan B, because we do not have a Planet B” คือคำกล่าวของบัน คี มูน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ที่แปลความหมายได้ว่า “ไม่มีแผนสำรอง เพราะเราไม่มีโลกใบที่สอง” ซึ่งสะท้อนภาพที่ชัดเจนให้ทุกคนตระหนักว่าหากภาคธุรกิจยังดำเนินธุรกิจโดยไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ถูกทำลาย ทรัพยากรที่ค่อยๆเหือดหายคนรุ่นลูกหลานของเราอาจจะอยู่อย่างยากลำบากบนโลกใบนี้

เมื่อพลังงานและวัตถุดิบซึ่งเป็นเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตมีอยู่อย่างจำกัด การผลิตที่ต้องรองรับความต้องการของประชากรที่ปัจจุบันมีจำนวนถึง 7,000 ล้านคน จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ แนวคิดเรื่องของเศรษฐกิจแนวใหม่ที่ทำให้การใช้ทรัพยากรเกิดการหมุนเวียน มีประสิทธิภาพจึงเป็นแนวคิดที่ถูกพูดถึงมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ใช่เรื่องที่จะทำโดยองค์กรเดียวหรือประเทศเดียวได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ในฐานะของผู้ผลิตปิโตรเคมีชั้นนำซึ่งนำแนวทาง Circular Living มาปรับใช้ในการดำเนินงานทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเพื่อให้มีทรัพยากรไว้ใช้ได้ยาวนานที่สุดจึงเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ในการปฏิวัติการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน จัดงาน Circular Living Symposium 2019: Upcycling Our Planet ขึ้นเพื่อตอกย้ำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่จะช่วยปกป้องโลกในอนาคต

“เราในฐานะที่เป็นบริษัทผลิตปิโตรเคมีทราบดีว่าเราเป็นส่วนหนึ่งในปัญหานี้ด้วยเช่นเดียวกัน เราจึงให้ความสำคัญกับการที่จะทำให้ทุกคนลุกขึ้นมาให้ความรู้และการสร้างความเข้าใจถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า

วันนี้เราจัดงานประชุม Circular Living Symposium 2019: Upcycling Our Planet โดยร่วมมือกับ National Geographic เพื่อจุดประกายความคิดในการมีส่วนร่วมเพื่อปกป้องอนาคตของโลกใบนี้ร่วมกัน ด้วยการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งงานนี้เรารวบรวมนักคิดและผู้เชี่ยวชาญชั้นนำทั้งในและต่างประเทศด้านแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน มาแบ่งปันความรู้และนำเสนอมุมมองที่น่าสนใจ” คุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้

ที่ผ่านมา GC นำแนวทาง GC Circular Living มาใช้เพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าไม่ว่าจะเป็น การบริหารจัดการทรัพยากรตามหลัก 5Rs ภายในองค์กร คือ Reduce (การลดการใช้) Reuse (การใช้ซ้ำ) Recycle (การแปรรูปมาใช้ใหม่) Renewable (การใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน) และ Refuse (การปฏิเสธ)

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ BioPlastic ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ การยกเลิกการผลิตเม็ดพลาสติกสำหรับการผลิตพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือ Single Used Plastic ภายใน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2562-2566 หรือการจัดการขยะพลาสติกผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆ เช่น โครงการ Upcycling the Oceans, Thailand ที่นำขยะในทะเลเพื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แฟชั่นเพิ่มมูลค่าให้กับขยะที่ทุกคนมองว่าไร้ค่า

รวมถึงล่าสุดที่ได้ร่วมกับพันธมิตรจากหลากหลายภาคส่วนในการจัดหา คัดแยก บรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้ว และร่วมกับ ALPLA ซึ่งเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการผลิตเม็ดพลาสติกหมุนเวียนคุณภาพสูงระดับโลก เข้ามาศึกษาความเป็นไปได้ของการร่วมลงทุนโครงการผลิตเม็ดพลาสติกหมุนเวียนคุณภาพสูง ชนิด rPET และ rHDPE แห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งนี่จะเป็นก้าวสำคัญในการสร้างและต่อยอดความร่วมมือกับพันธมิตรในทุกภาคส่วน เพื่อสร้างพลังร่วมในการดำเนินการตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน และสร้างความยั่งยืนให้อุตสาหกรรมพลาสติกของประเทศไทย

“สิ่งที่เราทำเราต้องการสร้างการตระหนักรู้ให้กับคนไทยได้ทราบว่าพลาสติกที่เหมือนไม่มีคุณค่า หากได้รับการจัดการที่ถูกต้องจะสามารถนำกลับมาผลิตเป็นสินค้าใหม่ที่สร้างทั้งคุณค่าและเพิ่มมูลค่าได้ ดังนั้นเราอย่ามองว่าขยะเป็นสิ่งที่ไร้ค่า ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่จะช่วยเสริมสร้างแนวคิดเรื่องของ Circular Living ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น”

คุณสุพัฒนพงษ์ เสริมว่า แนวทางในการทำเรื่อง Circular Living นั้นไม่สามารถทำเพียงคนเดียวได้ ต้องอาศัยทุกภาคส่วนที่จะเข้ามาช่วยให้เรื่องนี้ถูกส่งต่อไปสู่ส่วนต่างๆ ในสังคมให้เกิดการรับรู้อย่างแพร่หลายและกระตุ้นให้เกิดการลงมือทำ

งานประชุม Circular Living Symposium 2019: Upcycling Our Planet จึงได้รวบรวมผู้นำความคิด นวัตกร และนักธุรกิจจากทั่วโลกมาร่วมแบ่งปันความคิดและประสบการณ์เกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อขับเคลื่อนโลกสู่ความยั่งยืน เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองและส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องราวที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์จากองค์กรชั้นนำของไทยและหลากหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงสตาร์ทอัพและผู้นำความคิดที่ได้รับแรงบันดาลใจจากแนวทาง Circular living เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

Trash is Sexy

Arthur Huang : Miniwiz

อาเธอร์ หวง คือซีอีโอและผู้ก่อตั้ง บริษัท Miniwiz จากไต้หวัน ผู้นำระดับโลกด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรม พูดถึงเรื่องของขยะไว้อย่างน่าสนใจว่า สำหรับเขา “ขยะคือสิ่งที่น่าหลงใหลและน่าดึงดูด” ให้สามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าที่แตกต่างจากการรีไซเคิลแบบเดิม

เขาจึงก่อตั้ง Miniwiz ขึ้นในปี 2548 ที่ประเทศไต้หวันทำหน้าที่คิดค้นเทคโนโลยีการรีไซเคิลให้มีความง่ายและรวดเร็วมากขึ้น เช่น การผลิตเครื่องรีไซเคิลขนาดจิ๋วตามท้องถนนให้คนนำขยะพลาสติกมาหลอมเป็นเมล็ดพลาสติก แล้วนำกลับมา Upcycling หรือแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วให้เป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ ตั้งแต่เสื้อผ้า รองเท้า แว่นตา นาฬิกา กระเป๋า และวัสดุก่อสร้างอื่นๆ

“เมื่อพูดถึงขวดพลาสติกที่อยู่ในถังขยะแน่นอนว่ามันเป็นสิ่งที่สกปรก ผมเลยสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นใหม่จากขยะเหล่านี้โดยนึกถึงความต้องการที่เป็นพื้นฐานที่สุดของมนุษย์นั่นคือความเซ็กซี่ อย่างเสื้อผ้าแฟชั่นที่เราซื้อใส่ก็เพื่อต้องการใส่แล้วดูดีมี Sex Appeal มากขึ้น นี่คือวิธีการที่ผมนำขยะอย่างขวดพลาสติกมาผ่านกระบวนการ Upcycle ให้เป็นสิ่งของที่เราใช้แล้วดูดีมีดีไซน์ ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้จะช่วยปรับทัศนคติของคนที่มีต่อขยะให้เปลี่ยนไป และทำให้พวกเขาหันมายอมรับสินค้าที่ผลิตจากการ Upcycle ขยะกันมากยิ่งขึ้น”

ที่ผ่านมา Miniwiz มีผลงานที่โดดเด่นมากมาย เช่น ตึก EcoARK ไทเป สถาปัตยกรรมอาคารขนาดความสูง 9 ชั้นสร้างขึ้นจาก Polli-Bricks1.5 ล้านชิ้นที่มีน้ำหนักเบาและความแข็งแรงของยูนิตทำให้ EcoARK สามารถทนต่อแผ่นดินไหวและพายุเฮอริเคน หรือร้าน NikeLab ที่สร้างขึ้นจากบล็อกของคอมโพสิตโพลิเมอร์รีไซเคิลที่ได้มาจากรองเท้ากีฬารีไซเคิลและวัสดุที่เหลือจากการผลิตของผลิตภัณฑ์ Nike กับ Eco-polyurethane ปลอดสารพิษไม่มีกลิ่น

เทคโนโลยี..เปลี่ยนการจัดเก็บขยะให้เป็นเรื่องง่าย

Cristian Lara : ReciclApp

คริสเตียน ลารา คือผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ ReciclApp แอพพลิเคชั่นเรียกรถอูเบอร์รีไซคลิ่ง Startup จากประเทศชิลี ที่นำแนวความคิดในการนำขยะมารีไซเคิลผ่านแอพมือถือ แต่ปัญหาที่เขาพบก็คือความยุ่งยากของผู้คนในการนำขยะไปทิ้งเพื่อที่จะรีไซเคิล เขาจึงคิดแอพ ReciclApp ที่มีคอนเซ็ปต์คล้ายกับ Uber สำหรับการเก็บขยะ โดยผู้ใช้บริการสามารถเรียกทีมคนขับรถคล้าย Uber ไปเก็บขยะที่บ้านของตัวเองได้ โดยทุกครั้งที่เรียกไปเก็บขยะก็จะได้พ้อยท์เพื่อแลกสินค้า โดยในฝั่งของคนขับก็นำขยะที่คัดแยกแล้วไปส่งขายให้กับบริษัทรีไซเคิลขนาดใหญ่

ReciclApp จะทำหน้าที่เชื่อมโยงข้อมูลทุกฝ่าย ให้ผู้ทิ้งสามารถเลือกทั้งวันที่และแนะนำช่วงเวลาสำหรับการรวบรวมพร้อมแนะนำเส้นทางบนแผนที่ให้คนขับสามารถเก็บขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ ที่ผ่านมา ReciclApp มีการทำงานร่วมกับบริษัทคาร์ลสเบิร์ก ยูนิลีเวอร์ รวมถึง HP ที่มีโปรเจ็กต์ร่วมกันในประเทศชิลี ด้วยการการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์จากบ้านต่างๆ ที่ใช้บริการคนขับของ ReciclApp มาผ่านการบวนการรีไซเคิลเป็นเมล็ดพลาสติกจากนั้นนำมาหลอมด้วยเทคโนโลยี 3D Printing เป็นอวัยวะเทียม เช่น แขน และมือ บริจาคแก่ผู้สูญเสียอวัยวะ”

0 Waste + 0 Landfill

อนุพงษ์ มุทราอิศ : บริษัท เอนเนอร์จี แอนด์ เอนไวรอนเมนท์ คอนซัลติ้ง กรุ๊ป จำกัด (EEG)

EEG คือบริษัทกำจัดขยะที่เรียกว่ากำจัดแบบ 100% โดยไม่ฝังกลบ ด้วยคอนเซ็ปต์การทำธุรกิจตั้งแต่ Day 1 ว่า Zero Waste and Zero Landfill ปัจจุบันรับขยะมากำจัด 1,200 ตันต่อวัน หรือคิดเป็น 1 ล้านครัวเรือน

คุณอนุพงษ์ มุทราอิศ Director บริษัท เอนเนอร์จี แอนด์ เอนไวรอนเมนท์ คอนซัลติ้ง กรุ๊ป จำกัด (EEG) อธิบายการทำงานของ EEG ว่า

“เราเริ่มต้นจากการนำขยะที่ปะปนกัน โดยขยะอินทรีย์จะนำมาเข้าสู่โรงหมักไว้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ ขยะพลาสติกมาคัดแยก ส่วนหนึ่งนำมารีไซเคิล ส่วนหนึ่งนำมาเป็นพลังงานเชื้อเพลิงเช่นเดียวกันกับขยะติดเชื้อ และขยะสารพิษที่จะถูกคัดออกมาสกัดให้ถูกวิธี ส่วนน้ำเสียที่มาจากขยะก็นำมาบำบัดก่อนปล่อยออกไปจากโรงงาน”

เปลี่ยนขยะเป็นโอกาส

สัมพันธ์ เณรรอด : เอี่ยมดี รีไซเคิล

เอี่ยมดี สตาร์ทอัพที่ทำเรื่องของการจัดการขยะในเมืองเชียงใหม่ เป็นซาเล้งแนวใหม่ที่นำเสนอความเป็นมืออาชีพให้บริการรับซื้อขยะฟรีถึงบ้าน ร้านค้า และสำนักงานในจังหวัดเชียงใหม่ โดยแบ่งรายได้จำนวน 30% ไว้ทำประโยชน์ให้แก่คนพิการ เด็กยากไร้ และคนด้อยโอกาสต่างๆ

เราสร้างธุรกิจเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมและการให้คืนกลับสู่สังคม เราต้องการให้คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าจากสิ่งที่เราเราเรียกมันว่าขยะ โดยพยายามทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมคน 2 กลุ่ม คือคนสร้างขยะและคนที่ด้อยโอกาสในสังคม เราเป็นตัวกลางในการนำสิ่งของที่บางบ้านไม่ใช้แล้วไปให้คนที่เขาต้องการ ถือเป็นการสร้างทางออกให้คนที่ไม่รู้จะเอาของเหลือใช้ไปไว้ที่ไหนให้เขาได้ส่งต่อโอกาสในการใช้งานสิ่งของต่างๆ แก่ผู้ที่ต้องการจริงๆ

การให้บริการของเอี่ยมดี ผู้ใช้บริการสามารถเรียกใช้ได้ง่ายด้วยการโทรเข้ามาหรือไลน์ข้อมูลสินค้าเพื่อประเมินราคาและนัดวันรับของ จากเริ่มต้นที่ทำคนเดียว ปัจจุบันเรามีพนักงานเพิ่มและมีระบบอาสาสมัคร ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ขยายออกไปในพื้นที่ต่างๆ เช่น ภาคตะวันออกและภาคเหนือ

รีไซเคิลต้องทำให้เข้าใจง่าย

เปรม พฤกษ์ทยานนท์ : เจ้าของเพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป

ปัญหาของการบริหารจัดการขยะส่วนหนึ่ง คือเรื่องของการที่หลายคนยังมองว่าเรื่องรีไซเคิลเป็นเรื่องเข้าใจยาก ทำไม่ง่าย เลยไม่ลงมือทำ เปรม พฤกษ์ทยานนท์ จึงสร้างเพจ ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป ขึ้นมาเพื่อทำคอนเทนต์สื่อสารให้คนเข้าใจการรีไซเคิลให้มากขึ้น

จุดประสงค์ของการทำเพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไปเพราะเรามองว่าเรื่องของรีไซเคิล หรือการค้าของเก่ากับคนทั่วไปมันค่อนข้างห่างกัน คนไม่ค่อยรู้ว่าสุดท้ายแล้วต้องแยกขยะอย่างไร ผมอยากให้คนทั่วไปเข้าใจธุรกิจรีไซเคิลและเข้าใจการแยกขยะที่ถูกต้องจริงๆ จึงสร้างเพจขึ้นมาเพื่อให้ความรู้ในการคัดแยกขยะเพราะการคัดแยกขยะสำคัญมาก ถ้าขยะไม่ได้รับการคัดแยกจากต้นทางมันจะไม่มีโอกาสกลับมาเป็นประโยชน์ได้อีก คอนเทนต์ในเพจของเราจึงพยายามทำให้เข้าใจง่าย อย่างการคัดแยกขยะเราก็แนะนำว่าควรแยกขยะเพียงอย่างเดียวก่อน เริ่มจากง่ายๆ พอเราเริ่มทำได้เราก็ค่อยๆเพิ่มประเภทขึ้นไปเรื่อยๆ การจะให้คนทำ Zero Waste เลยมันยากเกินไปต้องค่อยๆ สร้างการรับรู้และเรียนรู้ไปเรื่อยๆ

ปฏิเสธพลาสติกไม่ง่าย ต้องใช้ให้คุ้มค่า

เจมส์ จิรายุ นักแสดงและตัวแทนคนรุ่นใหม่

ในฐานะนักแสดงและตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่สามารถเป็นแบบอย่างและเป็นกระบอกเสียงที่จะกระจายให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหา เจมส์ จิรายุ มองว่า เมื่อคนยังจำเป็นต้องใช้พลาสติก การสร้างการรับรู้ให้เกิดการใช้อย่างคุ้มค่าเป็นทางออกที่สามารถช่วยลดปัญหาขยะลงได้

“ปัจจุบันเราใช้พลาสติกในการอำนวยความสะดวกให้ตัวเองในชีวิตประจำวันกันอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ถ้าเราใช้แล้วเราไม่รู้จักวิธีการจัดการและวิธีการทิ้งที่ถูกต้องมันก็จะเกิดปัญหาและผลกระทบอย่างที่เราได้ติดตามในข่าว ผมมองว่าเราต้องค่อยๆ ศึกษาและกระตุ้น สร้างการรับรู้ให้คนเข้าใจถึงการใช้พลาสติกอย่างคุ้มค่า รวมถึงเข้าใจวิธีการจัดเก็บและคัดแยกให้ถูกวิธี การที่ผมได้มาทำงานกับ GC ในเรื่องเกี่ยวกับ Circular Living ทำให้ผมอยากจะมีส่วนในการช่วยประชาสัมภาษณ์เรื่องนี้ออกไปให้ได้มากที่สุด ให้ทุกคนรับรู้ว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นสามารถแก้ไขได้เริ่มจากตัวเราเองก่อน”

แม้ตอนนี้หลายคนจะมองว่าปัญหาเรื่องขยะยังไม่มีผลกระทบต่อตัวเองโดยตรง แต่เจมส์เสริมว่า การมีโซเชียลมีเดียก็ช่วยให้คนมองเห็นปัญหาได้ชัดเจนขึ้น

การมีโซเชียลมีเดียช่วยทำให้เราได้รับรู้ข่าวสารเรื่องปัญหาเหล่านี้มากขึ้น จริงๆ ปัญหามันเกิดแล้วแต่คนยังไม่ได้รับรู้มากนักเลยคิดว่ามันยังเป็นเรื่องไกลตัว มันอาจจะยังไม่ได้ถึงจุดไฟไหม้ที่ทำให้คนตื่นตัวแต่ผมมองว่าอย่างไรก็ตามเราต้องเริ่มช่วยกัน เราไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยเวลาสั้นๆ หรือแค่เราเพียงคนเดียวมันต้องอาศัยความร่วมมือ ต้องใช้ระยะเวลา ต้องสร้างให้เกิดเป็นนิสัย

เราอาจจะปฏิเสธการใช้พลาสติกไม่ได้ แต่เราสามารถที่จะลดการใช้หรือใช้อย่างคุ้มค่ามากที่สุดตามอายุการใช้งานของมัน และช่วยในเรื่องของการคัดแยกขยะให้ได้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เพราะการแยกขยะจะช่วยให้เราสามารถนำขยะบางชนิดกลับไปเข้ากระบวนการและนำกลับมาใช้ใหม่ได้

เพราะความร่วมมือเป็นหัวใจสำคัญที่จะขับเคลื่อนแนวคิด Circular Living ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม งาน Circular Living Symposium 2019: Upcycling Our Planet ที่ GC จัดขึ้นในครั้งนี้จึงเป็นก้าวสำคัญที่จะสร้างให้เกิดเครือข่ายแห่งความร่วมมือซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ได้เป็นเพียงแค่ทฤษฎี แต่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างจริงจังในอนาคต

ที่มา: www.brandage.com

News

News
13 November 2021
GC Rated Number One for Three Consecutive Years in the World in the DJSI Chemicals Sector, As It Transitions into Net Zero Organization
Read More
News
23 December 2019
Upcycling the Oceans, Thailand: Shade of Blue Ocean [Matichon]
Read More
News
11 July 2018
GC Collaborates with Mahidol University, Launching ThinkCycle Bank Project for a Systematic Waste Management System, Adding Economic Value to Wastes
Read More