14 July 2019

สร้างมูลค่าใหม่ให้ขยะพลาสติก กับ ‘Upcycling the Oceans, Thailand’ โครงการต้นแบบของ GC

Share:

IN FOCUS

  • ขยะพลาสติกที่อยู่ในทะเล 9 ใน 10 คือส่วนที่จมอยู่ใต้ทะเล มีเพียง 1 ใน 10 เท่านั้นที่ลอยอยู่บนผิวทะเลแล้วเก็บขึ้นมาได้ และมีการประเมินว่าในปี 2050 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า ขยะในทะเลจะมีปริมาณมากกว่าปลา
  • โครงการ ‘Upcycling the Oceans, Thailand’ แปลงร่างขยะพลาสติกในทะเลให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เกิดจากความร่วมมือของ GC, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และมูลนิธิอิโคอัฟท์ จากประเทศสเปน รวมถึงหน่วยงานพันธมิตร ที่ต่างมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการจัดการขยะ ช่วยกันนำนวัตกรรมเข้ามาแปรรูปขยะพลาสติกในทะเลและชายฝั่งจังหวัดระยอง พัฒนามาสู่ผลิตภัณฑ์แฟชั่นคุณภาพต่างๆ เพื่อเป็นต้นแบบให้ผู้สนใจสามารถนำโมเดลเหล่านี้ไปปรับใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยให้วงจรชีวิตของพลาสติกยืนยาวขึ้น
  • GC เพิ่งจัดงาน 'Circular Living Symposium 2019: Upcycling our Planet' ที่รวมวิทยากรจากหลากหลายประเทศ มาร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดสร้างสรรค์ ภายใต้เนื้อหาที่ครอบคลุมทั้งแนวคิดและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การหาแนวทางพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ขยะพลาสติก (Upcycling Plastic Waste) รวมถึงการหาทางเลือกอื่นๆ มาใช้ในการจัดการขยะอย่างยั่งยืน

ขยะพลาสติกที่อยู่ในทะเล 9 ใน 10 คือส่วนที่จมอยู่ใต้ทะเล มีเพียง 1 ใน 10 เท่านั้นที่ลอยอยู่บนผิวทะเลแล้วเก็บขึ้นมาได้ ดร.ธรณ์ ดำรงนาวาสวัสดิ์ นักสมุทรศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญทางทะเล ได้กล่าวเอาไว้ ในงาน Circular Living Symposium 2019 : Upcycling our Planet ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน ที่ผ่านมา

งาน Circular Living Symposium 2019: Upcycling our Planet เป็นงานที่จัดขึ้นโดยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ซึ่งรวมต้นแบบ ผู้นำความคิด และนวัตกรจากหลากหลายประเทศ มาร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดสร้างสรรค์ในการปฏิวัติการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้เนื้อหาที่ครอบคลุมทั้งแนวคิดและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ชวนให้คนคิดคำนึงผลกระทบของการใช้ทรัพยากรตั้งแต่กระบวนการออกแบบ การผลิต ระหว่างใช้งาน จัดการของเสีย และนำกลับมาใช้ใหม่ การหาแนวทางพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ขยะพลาสติก (Upcycling Plastic Waste) และการหาทางเลือกอื่นๆ อย่างพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic)

และหนึ่งในประเด็นใหญ่ของงาน คือเรื่องราวของขยะพลาสติกที่กำลังทำลายสมดุลทางทะเลและคร่าชีวิตสัตว์ทะเลซึ่งตกเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง ในนิทรรศการที่จัดแสดงในงาน เราได้เห็นนวัตกรรมในการนำขยะพลาสติกจากท้องทะเล ขึ้นมาอัพไซเคิล สร้างมูลค่าใหม่ อย่างโครงการ ‘Upcycling the Oceans, Thailand’ โดยการแปรูปขยะพลาสติกให้เป็นสินค้าแฟชั่นคุณภาพสูง ทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า จากความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายฝ่ายในการคิดค้นจัดการขยะ แปรรูปขยะพลาสติก กระทั่งพัฒนามาสู่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเป็นต้นแบบให้ผู้สนใจสามารถนำโมเดลเหล่านี้ไปปรับใช้เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยให้วงจรชีวิตของพลาสติกยืนยาวขึ้น ใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติของพลาสติกได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

กิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ผู้จัดการฝ่ายหน่วยงานพัฒนาการตลาดธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เล่าถึงโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand ให้ฟังว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง GC กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และมูลนิธิอีโคอัลฟ์ ในประเทศสเปน ซึ่งจัดการขยะพลาสติกในทะเลด้วยการนำกลับขึ้นมาสู่กระบวนการรีไซเคิล และสร้างมูลค่าให้ขยะด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าแฟชั่น โดยเริ่มต้นโครงการนี้ในประเทศไทยเมื่อสองปีที่ผ่านมา

“GC เป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติก ซึ่งวันนี้พลาสติกได้กลายเป็นผู้ร้าย ทั้งที่ความจริงแล้วพลาสติกเหล่านั้นคือเหยื่อ ที่ผู้ร้ายคือมนุษย์ทิ้งเอาไว้ สิ่งที่เราพยายามจะทำให้เห็นภาพคือการแก้ปัญหาต้องเริ่มต้นจากคน ด้วยการทำให้รู้จักใช้พลาสติกให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยประยุกต์ตามหลัก Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยการรีไซเคิลและอัพไซเคิลให้เห็นเป็นรูปธรรม ให้คนได้มีความรู้และรับรู้ว่าสามารถทำได้”

การทำงานของโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand เริ่มต้นขึ้นที่ทะเลเกาะเสม็ดจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นการรวบรวมขยะพลาสติกด้วยความร่วมมือจากอาสาสมัคร นักดำน้ำและชาวบ้าน ช่วยกันเก็บขยะทั้งบริเวณชายหาดและใต้ทะเล เอามาแยกประเภทเป็นขยะกลุ่มเพ็ท (PET) เช่น ขวดน้ำพลาสติก และขยะกลุ่มโพลิเอทิลีน หรือ พีอี (Polyethylene หรือ PE) ก่อนจะนำเข้าสู่การแปรรูปโดยความร่วมมือของหลายฝ่าย โดยนำขยะขวดน้ำมาแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล และทำเป็นเส้นใยรีไซเคิล ก่อนจะนำปั่นเป็นเส้นด้าย นำมาทอเป็นผืนผ้า และออกแบบตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ส่วนขยะในกลุ่มโพลิเอทิลีน ซึ่งเราคุ้นชินกันในรูปถุงพลาสติก จะมีการนำมารีไซเคิลเป็นถุงต่างๆ และทำเป็นไม้เทียมโดยผสมผงไม้เข้าไป โดยไม้เทียมนี้สามารถใช้ประโยชน์เป็นไม้พื้น ผนัง เก้าอี้ หรือเพดาน ด้วยข้อดีของไม้ที่จะไม่อมความชื้นและมีอายุยืนเพราะพลาสติกถูกสร้างขึ้นมาให้มีอายุยาวนาน

“งานนี้ไม่มี one man show เราร่วมงานกับโรงงานอื่นๆ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเราทำงานร่วมกับชุมชนด้วย เพื่อให้คนในพื้นที่ได้เกิดความเข้าใจว่าพลาสติกเหล่านั้นสามารถนำมารีไซเคิลและสร้างมูลค่าได้ และทำกิจกรรมร่วมกับนักดำน้ำในการเก็บขยะในทะเลขึ้นมา

“ล่าสุดเราได้มีการคุยกับกลุ่มประมงในการช่วยรณรงค์เก็บขยะทะเลขึ้นมา ให้เขาได้เห็นประโยชน์ของการเก็บขยะที่นอกจากทำให้ทะเลสะอาด เขายังได้เห็นภาพว่ามันสามารถสร้างมูลค้าเพิ่มได้อย่างไร

“ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาตอนนี้จะเห็นว่ามีอยู่เยอะมาก ทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า แพ็กเกจจิ้งต่างๆ เก้าอี้ พรม เราร่วมกับจิม ทอมสันในการทำเนคไท ร่วมกับวัดจากแดงที่คุ้งบางกะเจ้านำขวดพลาสติกที่ใช้แล้วมาแปรรูปเป็นจีวรรีไซเคิล ล่าสุดเราไปทำงานร่วมกับโครงการ ‘ก้าวคนละก้าว’ โดยเอาขยะที่เกิดจากกิจกรรมการวิ่งแต่ละครั้งกลับมาทำเป็นเสื้อเพื่อใช้ในงานวิ่งครั้งต่อไป หรือทำเป็นสายห้อยเหรียญรางวัล เพื่อทำให้คนเห็นว่าเราสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะพลาสติกเหล่านี้ได้”

นอกจากนี้แล้ว GC ยังมีโครงการสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปมีองค์ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ในการนำขยะพลาสติกกลับมาสร้างมูลค่าใหม่ ด้วยการเปิดศูนย์ความร่วมมือและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ‘Customer Solution Center’ ที่ชั้น 1 ของศูนย์ Energy Complex เพื่อเป็นตัวเชื่อมประสานความรู้ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยและพัฒนา รวมถึงนักออกแบบที่จะมาสร้างสรรค์ไอเดียเพื่อนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์

“ก้าวต่อไปของ GC เราคิดว่าจะทำโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่ได้มาตรฐานสากล สามารถผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลชนิด food grade หรือชนิดที่นำไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่อาหารได้ และเรายังทำงานร่วมกับแบรนด์สินค้าต่างๆ เพราะกระแสของโลกในการใช้วัตถุดิบที่มาจากการรีไซเคิลมีมากขึ้น การทำงานร่วมกับแบรนด์ต่างๆ จะเป็นการสร้างและกระจายการใช้พลาสติกรีไซเคิลได้มากขึ้น

“ความท้าทายของการแก้ปัญหาขยะพลาสติก คือการสร้างจิตสำนึกของคนในการแยกขยะ ผมคิดว่านั่นคือจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง การเก็บขยะมา recycle หรือ upcycle เป็นเพียงส่วนเสี้ยวที่นิดเดียวของปัญหาทั้งหมด ปีที่ผ่านมาเราเก็บขยะมาได้จำนวนน้อยกว่าปัญหาที่แท้จริง ดังนั้นทุกคนต้องมีส่วนช่วยและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา GC อาจจะทำให้เห็นเป็นต้นแบบว่าเราสามารถจัดการกับขยะพลาสติกได้ยังไงบ้าง ผมคิดว่าการที่เรากระจายความรู้ความเข้าใจ ให้คนมาร่วมในกระบวนการของ Circular Economy มากขึ้น และทำให้คนเห็นความสำคัญและยอมรับในผลิตภัณฑ์ recycle upcycle ได้มากขึ้น ก็จะทำให้ปัญหาเหล่านี้หมดไปได้”

ที่มา: themomentum.co

Feature Stories

Feature Stories
26 June 2020
2020 Tech Trends: Hurry Up or You’ll Miss the Boat (End)
Read More
Feature Stories
30 October 2018
GC จับมือ TCDC สร้างนิทรรศการ Yes, Plastic! Things to Rethink: เมื่อพลาสติกต้องคิดใหม่ เสนอมุมมองใหม่ในการเลือกใช้พลาสติกให้มีมูลค่าและดีต่อโลก
Read More
Feature Stories
21 July 2017
PTTGC Collaborates with TAT Rayong and Chef Chumpon, Presenting “10 Rayong’s Delicious Authentic Menus by Chef Chumpon”
Read More