29 August 2019

ธำรงธาราสวัสดิ์ วิธีคิดเบื้องหลังการทำงานของนักสิ่งแวดล้อมบวกนักวิทยาศาสตร์ นักสื่อสารมวลชน นักวางกลยุทธ์ ที่เป็นพลังใหญ่ในการชะลอการสูญเสียของทะเลไทย

Share:

134,120 คน …คือตัวเลขผู้ติดตามเขาในเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat

ไม่ต่ำกว่า 20 เล่ม …คือจำนวนหนังสือเกี่ยวกับทะเลที่เขาเขียน ซึ่งมีตั้งแต่คู่มือจำแนกสัตว์ทะเล ไปจนถึงหนังสือสารคดีเชิงนิทานอย่าง ใต้ทะเลมีความรัก ที่ไม่ใช่แค่เล่าข้อมูลให้เราได้รู้จัก แต่ยังทำให้เรา ‘รู้สึก’ และ ‘อิน’ ไปกับตัวละครสัตว์ทะเลต่างๆ ทั้งแม่เต่าทะเล พ่อม้าน้ำ ทากทะเลตัวน้อย ไปจนถึงหนังสือ วาฬบรูด้ากับปริศนา 7 ประการ ที่จุดประกายเรื่องสัตว์สงวนชนิดใหม่ให้เข้าไปอยู่ในใจคนไทย 

24 ชั่วโมง …คือเวลาที่เขามีในหนึ่งวันเท่ากับคนทั่วไป-แต่สิ่งที่เขาทำมีทั้งการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ กรรมการทะเลแห่งชาติ กรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ นักเขียน คอลัมนิสต์ อีกทั้งยังเขียนบทความลงเฟซบุ๊กสม่ำเสมอเพื่อสื่อสารงานด้านอนุรักษ์  

“เพียงไม่กี่กิโลเมตรจากถุงพลาสติกในมือคุณ มีวาฬบรูด้ากำลังอ้าปาก”

“ในนาทีเดียวกัน คุณป้าบนหาด ผู้บริหารในโรงแรม อาจารย์ธรณ์บนเวที หรือเพื่อนธรณ์ที่กำลังถือแก้ว ถุงผ้ามาจากบ้าน เรากำลังทำสิ่งเดียวกัน ในนาทีเดียวกัน… ทำสงครามต่อต้านขยะทะเล”

“รายได้ที่ก่อเกิดกับธุรกิจท่องเที่ยวคงสูงแตะหมื่นล้าน สิ่งที่เราเสียไปมีเพียง…สวรรค์” 

นี่คือบางส่วนของบทความที่เขาโพสต์บนเฟซบุ๊ก 

ด้วยภาษาอันสละสลวย ถ้อยคำที่ชัดเจนเข้าใจง่าย และความหมายที่กระแทกไปถึงหัวใจ จึงไม่น่าแปลกใจที่แต่ละโพสต์ของเขามีจำนวนไลก์และแชร์เป็นหลักหลายพัน จนทำให้เรื่องราวของการอนุรักษ์ทะเลที่เคยจำกัดอยู่ในวงแคบๆ ถูกกระจายออกไปสู่คนจำนวนมาก

และอย่างที่หลายคนรู้-เขาผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันครั้งสำคัญต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการปิดอ่าวมาหยา ปิดเกาะตาชัย พีพีโมเดล การเพิ่มชื่อสัตว์สงวน 4 ชนิด และอื่นๆ อีกมากมาย 

นี่คือนักสิ่งแวดล้อมที่รวมเอาความเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักสื่อสารมวลชน นักวางกลยุทธ์ มารวมไว้ในคนเดียวกัน

วิธีคิดเบื้องหลังการทำงานของเขาเป็นอย่างไร อะไรที่ทำให้เขาผลักดันประเด็นยากๆ ได้สำเร็จ แรงบันดาลใจของเขาคืออะไร ทะเลไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาเปลี่ยนไปแค่ไหน และอะไรคือความหวัง

บทสนทนาบนหน้าจอต่อไปนี้คือคำบอกเล่าจาก ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

ความประทับใจแรกของอาจารย์กับทะเลเกิดขึ้นตอนไหน

ผมไปทะเลตั้งแต่เด็ก ครั้งแรกคืออายุหกเดือน ผมอ่านเจอในบันทึกคุณพ่อ แต่ถ้าพูดถึงแนวปะการังที่ติดใจและจำได้จริงๆ คือแนวปะการังที่เกาะเต่า ตอนนั้นแค่หกขวบ แต่มีโอกาสใส่หน้ากากสน็อกเกิลดำดูโน่นดูนี่ ตอนนั้นมันคนละโลกกับตอนนี้ แค่เอาหน้าจุ่มน้ำปลาก็ว่ายมาแทะแล้ว เป็นความประทับใจตั้งแต่ตอนนั้น อยากรู้ว่าปลาชื่ออะไรก็ไปหาหนังสือมาค้น หนังสือภาษาไทยไม่มีก็ต้องไปค้นหนังสือภาษาอังกฤษ หลังจากนั้นผมก็ไปอีกหลายที่ ผมไปกับคุณพ่อตลอด เพราะพ่อทำงานด้านนี้อยู่แล้ว

ได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการไปทะเล

พ่อผมเป็นคนเปิดอุทยานฯ ทางทะเลสิบสองแห่ง ผมไปตะรุเตา สิมิลัน หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะพีพี ตั้งแต่ก่อนเป็นอุทยานฯ ผมไปกับพ่อ ได้ไปนั่งฟังท่านๆ ทั้งหลายประชุม เรียนรู้ระบบราชการมาตั้งแต่ตอนเด็กๆ ผมเห็นปัญหาระเบิดปลาที่ชุมพรตั้งแต่หกถึงเจ็ดขวบ แล้วเวลาผมไปทะเล ผมไม่ได้แค่ไปเที่ยว แต่ผมไปสังเกตโน่นนี่นั่น ดูป้าย มีขยะไหม มีเต่าทะเลไหม ผมทำแบบนั้นมาตั้งแต่ ม.4

ความคิดอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลเริ่มขึ้นตอนไหน

ตั้งแต่ ม.1 – ม.2 แล้วก็คิดมาเรื่อยๆ แต่มาตัดสินใจจริงๆ คือตอน ม.ปลาย

พอได้เข้ามาเรียนภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเลจริงๆ แล้วเป็นยังไงบ้าง

ได้เจออาจารย์ที่เป็นปรมาจารย์ทางด้านนี้-ดร.สุรพล สุดารา ผมช่วยงานอาจารย์ตั้งแต่ปีสอง ทำงานสำรวจแนวปะการัง อาจารย์จ้างผมเป็นนักวิจัย ได้เงินเดือนตั้งแต่ปีสอง แล้วผมก็เป็นประธานค่ายอนุรักษ์ทะเล ผมสนุกกับงานแนวปะการัง ออกเรือมาแล้วแทบทุกลำ เวลาผมไม่มีอะไรทำก็ถือบัตรนิสิตไปลงเรือเป็นเดือนๆ เรือจุฬาภรณ์ผมก็ขึ้นตั้งแต่แล่นวันแรก ผมไปมาแทบทุกที่แล้ว

อาจารย์เคยเล่าว่า เคยเห็นอ่าวมาหยาตั้งแต่ปี 2523 อ่าวมาหยาในวันนั้นเป็นยังไงบ้าง

ผมพูดไปก็ไม่มีใครเชื่อ ปะการังสุดลูกหูลูกตา มองไปทางไหนก็มีแต่ปะการัง ไม่มีเรืออื่นเลย น้ำนิ่ง ตื้น ใส มองลงไปข้างล่างเห็นปะการังสีม่วง สีเขียว สีเหลือง เต็มไปหมด ปลาก็ว่ายกันเต็ม ว่าง่ายๆ คุณไปดำน้ำตอนนี้ แล้วคูณจำนวนปลาที่เห็นสักร้อย จะได้ปริมาณของปลาในยุคนั้น

หลายสิบปีที่ผ่านมาเราสูญเสียอะไรไปจากทะเลไทยแล้วบ้าง ที่คนรุ่นปัจจุบันไม่มีโอกาสได้เห็น

ใช้คำว่าทุกอย่าง ทุกอย่างจริงๆ ต่อให้คนที่บอกว่าไปเห็นเกาะเต่าสวยยังไง ก็ไม่มีทางสวยเท่าสมัยก่อน สิมิลันในยุคนั้นผมว่ายน้ำลงไปนิดเดียว ปลาทูน่าตัวใหญ่กว่าผมว่ายผ่าน หรือปลาฉนากที่บอกว่าหายาก สูญพันธุ์ไปแล้ว ผมก็เคยเห็น ส่วนคนรุ่นนี้ก็น่าจะเห็นแมงกะพรุนและปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสีมากกว่าคนรุ่นผม

มีอะไรที่อาจารย์รู้สึกเสียดายที่สุด

ผมไม่มานั่งคิดว่าเราเสียดาย พอมันสูญเสียไป เราก็ต้องพยายามชะลอการสูญเสียให้มากที่สุด บางอย่างที่เราทำให้กลับคืนมาได้บ้างก็ทำ ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล นี่คืออาชีพผม นี่คือสิ่งที่ผมเลือกมา ทะเลเป็นเพื่อนผมตอนเด็ก ทะเลเป็นครูผมตอนเรียน ทะเลเป็นเจ้านายผมตอนนี้ ผมไม่มานั่งคิดว่าเสียดาย ผมคิดแค่ว่าผมจะทำอะไร

หลังจากเรียนจบปริญญาเอกที่ออสเตรเลีย ทำไมเลือกกลับมาทำงานที่เมืองไทย ทั้งๆ ที่อยู่ที่นั่นมีโอกาสได้เงินเดือนสูงกว่ามาก

จะไปอยู่ทำบ้าอะไรที่ออสเตรเลีย เขารักษาได้ดีหมดทุกอย่าง อยู่ที่นั่นจะให้ผมทำอะไร มันไม่มีอะไรท้าทาย ในขณะที่เมืองไทยมันมีการใช้ประโยชน์เกิดขึ้นเยอะมาก มีความท้าทายเกิดขึ้นมากมาย ผมพูดกับนักอนุรักษ์ทุกคนไม่รู้กี่ครั้งว่า ถ้าคุณอยากเป็นนักอนุรักษ์ นี่คือประเทศที่คุณควรจะอยู่ที่สุด

เพราะมีงานให้ทำเยอะ

ใช่… คุณต้องอยู่ในที่ที่คุณมีงาน ในที่ที่มีปัญหา มีความขัดแย้ง มีความท้าทายเกิดขึ้น ถ้าคุณอยากรักษาทะเล คุณควรอยู่ประเทศนี้ ไม่งั้นฝรั่งจะมาประเทศไทยทำไมเยอะแยะ มันมีปัญหามากมายให้แก้ทีละเปลาะ ทีละปม

วันที่อาจารย์กลับเมืองไทย ตอนนั้นมีความตั้งใจอะไร

ตั้งใจจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ผมไม่มานั่งคิดว่าอยากทำอะไรในวันนั้นหรอก ตอนนั้นผมไม่ได้คิดว่าผมจะผลักดันให้เกิดสัตว์สงวน 4 ตัว แต่เมื่อถึงจังหวะที่เหมาะสม ผมก็ผลัก ตอนนั้นผมไม่ได้คิดว่าผมจะไปสนับสนุนการฟื้นฟูอ่าวมาหยาหรือเกาะตาชัย แต่เมื่อถึงจังหวะเหมาะสม ผมก็ทำ ตอนนั้นผมไม่คิดเรื่องจะทำเรื่องทวงเงินอุทยานแห่งชาติ แต่เมื่อถึงจังหวะ ผมทำ

ผมถูกฝึกมาเพื่อที่ว่า เมื่อใดที่โอกาสมา แล้วมันเป็นเรื่องที่ดี เหมาะสม ผมจะทำมัน ผมไม่มานั่งตั้งเป้าทีละอย่างสองอย่าง ผมทำงานให้เจ้านายผม ซึ่งก็คือทะเล อะไรที่ทำให้มันดีขึ้นผมก็ทำ

นอกจากฉลามหูดำที่กลับมาแล้ว ปะการังอ่าวมาหยาวันนี้ฟื้นตัวดีแค่ไหน

ผมก็ต้องถามว่า ฟื้นแค่ไหนล่ะ ฟื้นให้มีสภาพเหมือนเดิมที่ผมเคยเห็นเหรอ สักร้อยปีมั้ง ธรรมชาติใช้เวลามหาศาลไม่รู้กี่ร้อยกี่พันปีกว่าที่จะมีปะการังเยอะแยะหลากหลายขนาดนั้น เพราะปัญหาของอ่าวมาหยาคือกระแสน้ำมันไม่เข้า ตัวอ่อนปะการังเข้าไปในอ่าวน้อยมาก ที่นี่จึงเป็นแนวปะการังที่มีรูปแบบเฉพาะมาก แล้วพอมันเจ๊งไป การเอาคืนไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ถึงเราจะปลูกปะการัง แต่เราคงไม่สามารถปลูก สามร้อยชนิดได้ ฟื้นฟูยังไงก็ไม่มีวันเหมือนเดิม แต่อย่างน้อยที่สุด เราอาจเห็นอ่าวมาหยาในรูปแบบใหม่ ที่ธรรมชาติฟื้นตัวมาในรูปแบบใหม่ มันไม่เหมือนเดิมหรอก

แต่การที่ฉลามหูดำกลับมาคลอดลูกก็ถือเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ ขอแค่อ่าวมาหยาเป็นแหล่งอนุบาลฉลามหูดำหนึ่งในห้าแห่งของไทย ต่อให้ปะการังไม่ฟื้นเลย มันก็เพียงพอแล้วที่จะห้ามไม่ให้เรือเข้า

ตอนนี้อาจารย์กำลังผลักดันเรื่องอะไรเป็นหลัก

เรื่องพลาสติก นี่ก็เพิ่งสร้างห้องแล็บไมโครพลาสติก ตั้งชื่อตามปฏิญญากรุงเทพฯ ว่า ‘ห้องปฏิบัติการต่อต้านขยะทะเล’ ขอทุนจาก GC มาสี่ล้านกว่า ศึกษาเรื่องไมโครพลาสติก เราจะได้มีฐานข้อมูลเพื่อไม่ให้ไทยถูกประเทศอื่นบีบมากเกินไป อย่างเช่นถ้าเราโดนยุโรปแบนอาหารทะเลเพราะปลาเรามีไมโครพลาสติกเกินมาตรฐาน เราก็จะมีข้อมูลยัน

พูดถึงปฏิญญากรุงเทพฯ ต่อต้านขยะทะเล อาจารย์มองว่ามันจะมีผลในเชิงปฏิบัติแค่ไหน หรือเป็นแค่คำในแผ่นกระดาษ

ทุกอย่างในโลกขึ้นอยู่กับว่าเอาไปใช้ยังไง ปฏิญญากรุงเทพฯ ถือว่าสูงส่ง ถ้ารัฐบาลไม่ยอมทำตาม ถ้าใกล้ๆ สิ้นปีแล้วยังไม่เปลี่ยน เราก็ต้องกระตุ้น เอาปฏิญญาไปยื่น เอามติ ครม.ไปวาง นั่นคือการใช้

เห็นในเฟซบุ๊กอาจารย์เล่าว่าทำเรื่องเกาะแห่งการเรียนรู้ด้วย

ที่เกาะละวะใหญ่ อ่าวพังงา ความตั้งใจคือเราต้องการให้คนรอบๆ อ่าวพังงาสามสิบชุมชน รู้สึกมีส่วนร่วมกับอุทยานฯ เพราะถ้าคนรอบๆ อ่าวยังไม่รู้ว่าปะการังเป็นยังไง มันก็ไม่ใช่ เราพาเด็กรอบๆ เข้ามาดูปะการัง มาดูหญ้าทะเล มาดูป่าชายหาด มีฐานต่างๆ ให้เรียนรู้ ก็คือทำสถานที่ให้เป็นค่ายเยาวชนถาวร

เพียงแต่แทนที่จะพาเด็กจากที่อื่นเข้ามา ก็พาเด็กในพื้นที่เข้ามา คนจะได้มีอาชีพทำมาหากินอยู่ในพื้นที่ แล้วบทเรียนจากที่นี่ก็จะไปทำที่อื่นด้วย เช่น เกาะมันใน ซึ่งจะทำให้เป็น Green Spot เป็น Negative Carbon ต้นแบบเรื่องพลังงานทางเลือก ศูนย์เรียนรู้เรื่องเต่าทะเล

ทะเลไทยในสมัยที่อาจารย์เริ่มต้นทำงานกับวันนี้ เปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง อะไรดีขึ้น อะไรแย่ลง

ดีขึ้นนะ สมัยนั้นแทบจะอ้อนวอนกันเรื่องฉลาม คุยกันเรื่องท่องเที่ยวเขาก็ไม่เข้าใจ อุทยานก็เป๋ไปเป๋มา มีเงินหาย ถามเรื่องอุปกรณ์ก็ไม่มีงบซื้อ ผมว่าทุกอย่างดีขึ้นนะ สิ่งสำคัญที่สุดคือคนไทย สมัยผมเขียนหนังสือยุคแรกๆ มีคนสนใจอยู่ไม่กี่คน แล้วก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ผมว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่คนตระหนักเรื่องปัญหาทะเลมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก มากกว่าออสเตรเลียด้วยซ้ำ เมื่อวานผมนั่งประชุมอยู่ในภาคธุรกิจ ท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยพูดเรื่องขยะทะเลให้นักธุรกิจฟัง ให้บอร์ดของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ฟัง ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ เคยพูดเรื่องนี้ไหม

ในเฟซบุ๊กตอนนี้ มีคนตามผมอยู่หนึ่งแสนสาทหมื่นคน ผมโชว์ให้ประธาน IUCN ดู เขาบอกยูบ้าเหรอ ยูเป็นดาราเหรอ… ไม่… ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่แทบไม่ได้เขียนเรื่องอะไรนอกจากทะเลเลย แล้วเขียนแต่ละทีก็โคตรยาว วันๆ หนึ่งมีคนส่งรูปมาให้ผมสามสิบถึงสี่สิบเรื่อง เต่าตายที่โน่น โลมาตายที่นี่ ตรงนั้นเจอตัวนู้น ตัวนี้ชื่ออะไรคะอาจารย์ ผมจึงยืนยันมั่นใจว่าเราประสบความสำเร็จสูงมากในการทำให้คนตระหนักในเรื่องของท้องทะเล

สังเกตว่าอาจารย์ให้ความสำคัญต่องานด้านสื่อสารมาก

ถ้าคุณจะรักษาทะเลได้ คุณก็ต้องสื่อสารกับมนุษย์ได้ ผมไม่สามารถจะไปตะโกนบอกว่า ตัวนี้กำลังจะตาย โดยที่คนไม่สนใจได้ เพราะมันไม่เกิดอิมแพ็ค

ผมเขียนมาตั้งแต่ท่องโลกธรรมชาติ ทำเว็บไซต์ทะเลไทยดอทคอม ตั้งแต่สามสิบปีก่อน สมัยที่เพิ่งเริ่มมีเว็บไซต์ใหม่ๆ มาจนถึงเฟซบุ๊ก เราปรับตัวกับความแตกต่างในยุคสมัย แล้วผมเป็นคอลัมนิสต์มาก่อน ผมจึงบริการนักข่าวเกือบทุกคน ใครเอาเรื่องผมไปเขียนต่อก็แทบไม่ต้องแก้ ผมเขียนให้เรียบร้อย ผมทำมาแล้วทั้งรายการทีวี รายการวิทยุ ก็ทำมาสามสิบปีแล้ว ปัจจุบันก็ยังทำ

โซเชียลมีเดียสำคัญต่อการอนุรักษ์ยังไง

สัตว์สงวนสี่ตัว ถ้าไม่มีโซเชียลมีเดียจะได้ไหมกับ ห้าหมื่นรายชื่อ หรืออ่าวมาหยา ถ้าผมไม่เขียนเรื่อง ‘ปะการังก้อนสุดท้ายแห่งอ่าวมาหยา’ อธิบดีฯ จะกล้าปิดมั้ย เกาะตาชัยก็เหมือนกัน

โซเชียลมีเดียสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ทุกเรื่อง ขอแค่คุณใช้ให้เป็น ซึ่งหมายความว่าคุณต้องมีทางออกให้ด้วย ไม่ใช่ด่าอย่างเดียว ผมเชื่อว่าสิ่งที่โลกโซเชียลมีเดียต้องการมากที่สุดคือสิ่งที่มองเห็น อิมแพ็คที่เกิดขึ้น

เมื่อเขากดไลก์กดแชร์ สักวันเขาจะต้องเห็นผลที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ไม่ใช่แค่ข้อมูลไปถึงภาครัฐแล้วก็จ๋อมหายไป มันต้องมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นสักอย่าง เช่นอ่าวมาหยา เราก็เห็นฉลามว่ายเข้ามา นั่นคือผลลัพธ์ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ด่าเสร็จก็อำลาอาลัยไปกันเถอะ

อาจารย์มีเทคนิคการเขียนยังไงให้โดนใจ

เป็นเทคนิคส่วนตัว อยากบอกแต่ไม่รู้จะบอกยังไง ต้องใช้ประสบการณ์ล้วนๆ ผมเขียนหนังสือตั้งแต่ ม.3 ลงหนังสือพิมพ์ครั้งแรก ม.5 โดนโยนทิ้งไปไม่รู้กี่ล้านเรื่องแล้ว ผมเขียนมาไม่รู้เท่าไหร่ เฉพาะบทความในคอลัมน์ก็ หกพันกว่าเรื่อง ผมกล้าท้า นักสิ่งแวดล้อมไม่มีใครเขียนเยอะเท่าผม

แต่ละประเด็นต้องเล่นในจังหวะที่เหมาะสม ทุกอย่างมีจังหวะของมัน สัตว์น้ำกินขยะตายเยอะแยะ แต่มาดังเพราะวาฬนำร่องที่ตายก่อนวันสิ่งแวดล้อมโลกหนึ่งวัน… ทำไมต้องเลือกปิดมาหยาทั้งที่อ่าวอื่นมีเยอะแยะ เพราะเราต้องการให้มันแรงในระดับอินเตอร์

การจะบอกว่าเรื่องไหนจะเป็นกระแสได้ ต้องใช้ประสบการณ์ แค่รอจังหวะที่ใช่ มันจะปิ๊งมาเองว่าจังหวะนี้ต้องโพสต์อะไร เวลาสื่อก็ต้องสื่อในมุมมองของคนที่ไม่ใช่กลุ่มรักษ์ธรรมชาติจ๋า ผมพยายามคิดว่าคนที่นั่งอยู่ในร้านก๋วยเตี๋ยวเขาคิดกับทะเลยังไง แล้วถ้าข่าวนี้ออกไปจะเป็นยังไง จะเขียนยังไงให้น่าสนใจ

แนวคิดเบื้องหลังแต่ละโพสต์ของอาจารย์เป็นยังไง

ผมรู้ว่าเขาทำอะไรกันในภาครัฐ แล้วผมก็ต้องหน้าด้านไปคุยกับภาคเอกชน ตอนนี้ผมรู้จักภาคเอกชนเกือบหมด เมื่อผมรู้ทุกอย่างแล้ว ก็เอาแต่ละเรื่องมาเชื่อมต่อกัน แล้วก็หาลิงก์ หาช่องว่าง สิ่งที่ผมทำคือ Gap Analysis เพียงแต่ผมต้องลงไปทำด้วย ไม่ใช่พูดอย่างเดียว

สำหรับผม ยอดไลก์ไม่ใช่จุดตอบคำถาม บางเรื่องที่เขียนไป คนไลก์แค่สี่ร้อยถึงห้าร้อยคน แต่ก็กลายเป็นข่าว เป็นประเด็นต่อเนื่องไป เราต้องการให้มีการส่งต่อ หนังสือพิมพ์เนี่ยเด็กๆ มันไม่อ่านกันหรอก แต่คนมีอำนาจแก่ๆ จะอ่าน เว็บข่าวหรือหนังสือพิมพ์มันสร้างอิมแพ็คได้สูงกว่าเฟซบุ๊ก เฟซบุ๊กแชร์ได้เร็ว แต่อิมแพ็คต่อคนมีอำนาจตัดสินใจมันต่ำ

ความยากหรืออุปสรรคสำคัญที่สุดของงานอาจารย์ธรณ์คืออะไร

ชีวิตผมทำงาน ผมไม่คิดว่าอะไรเป็นอุปสรรค บางทีมันได้ บางทีมันก็ไม่ได้ ถ้าเกิดชนกำแพงก็ถอยออกมา ตั้งหลักใหม่ หาทางใหม่ ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้

ท่ามกลางข่าวแย่ๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากมาย อะไรที่ทำให้อาจารย์ยังคงมีกำลังใจในการทำงาน

ผมไม่มีสิทธิ์ท้อ ผมท้อไม่ได้ ผมไม่คิดด้วยซ้ำ ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ผมเลือกอาชีพนี้ตั้งแต่ ม.3 ม.4 ถ้าเราเลิกตอนนี้ แปลว่าสิ่งที่เราสะสมมานานแสนนานของเราก็จะหายไปหมด สิ่งที่เราทำเมื่อสมัยเรียนปีสอง ดำน้ำสำรวจปะการังเป็นครั้งแรกแล้วพูดกับตัวเองว่า ถ้าสักวันเรามีแรง เรามีพลัง เรามีอำนาจ เราจะพยายามรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ให้ได้

ผมเห็นแนวปะการังถูกทำลายไม่รู้กี่สิบแห่งแล้ว ถ้าท้อแล้วเลิก ก็แปลว่าเฟลต่อคำพูดตัวเอง สิ่งที่เราทำมาทั้งหมดตั้งแต่ปีสองจนถึงปัจจุบันก็จะไม่เหลือเลย กว่าจะได้ถึงตรงนี้ ต้องคุยกับคนมากมาย สร้างคอนเนกชันมากมาย ผมไม่อยากเสียดายเวลาที่ทำมา ก็ต้องไปต่อ แล้วที่ไม่เลิกเพราะมันสนุก มันคือความท้าทาย อุปสรรคมันมีทุกวันแหละ

อะไรที่ทำให้อาจารย์สามารถผลักดันเรื่องยากๆ อย่างการปิดอ่าวมาหยาได้สำเร็จ

ผมเกิดที่ทองหล่อ เอกมัย ฉะนั้น ผมจึงเข้าใจดีว่าคนกรุงเทพฯ คิดยังไง สิ่งที่ผมทำคือพยายามขยับความคิดคนเมืองใหญ่กับคนทะเลให้มันใกล้กันมากขึ้น

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ว่าจะไปทำที่ไหนคือ เราต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ผมผลักดันเรื่องโน้นเรื่องนี้ ต่อให้หาให้ตายก็หาไม่เจอว่าผมได้ประโยชน์อะไร ผมไม่เคยมีบริษัททัวร์ ไม่เคยมีโรงแรม ก็เลยไม่มีใครทำอะไรอาจารย์ธรณ์ได้ แล้วถามว่าทำไมอาจารย์มาทำ ก็ย้อนกลับไปอันดับแรกว่าผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลโว้ย ถ้าผมไม่ทำงานเพื่อทะเล แล้วผมจะไปทำแป๊ะอะไร ผมเลือกอาชีพนี้ตั้งแต่ ม.3 ไม่ไปเรียนหมอ วิศวะ ตามเพื่อน ทุ่มเทเลือกฉีกแนวมาทางนี้แล้ว ถ้าไม่ทำก็เท่ากับเราทรยศชีวิตตัวเอง เสียดายเวลาชีวิต

อาจารย์ไปมาหลายประเทศ พฤติกรรมคนในการลดใช้พลาสติกของทั่วโลกเป็นยังไง

เทรนด์ลดใช้พลาสติกทั่วโลกมาอยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องเข้าใจว่าแบ็กกราวนด์ของแต่ละประเทศมันไม่เหมือนกัน ถ้าผมอยู่ฝรั่งเศส เยอรมนี ผมอยากลดถุงพลาสติก ผมก็ลดเข้าไปสิ ยิ่งลดเท่าไหร่ประเทศก็ยิ่งประหยัดเท่านั้น เพราะในประเทศไม่มีอุตสาหกรรมพลาสติก ส่วนประเทศไทย อุตสาหกรรมพลาสติกทำรายได้ติดหนึ่งใน สามทุกปี ถ้าคุณใช้โมเดลเยอรมนีมาแปะลงประเทศไทย จะมีคนห้าแสนคนตกงาน แล้วคุณจะรับผิดชอบยังไง

โอ้! สัตว์ทะเลรอดตาย เต่าทะเลรอดตาย แต่คนตกงาน แล้วคุณคิดว่ารัฐบาลเขาจะยอมเหรอ รัฐบาลเขาไม่มีทางยอม เราต้องเรียกร้องในสิ่งที่เป็นไปได้ เรียกไปทีละขั้น ทีละตอน มองดูว่ามันไม่มีผลกระทบ พยายามหาทางออกที่วิน-วินที่สุด ด้านโน้นลดลงนิด ตรงนี้ลดลงหน่อย บางอย่างไม่ใช่เขาไม่คิด แต่มันทำไม่ได้ คุณจะเรียกร้องอะไรคุณต้องรู้ให้รอบด้าน

ตอนหลังๆ ผมจึงต้องมานั่งคุยกับภาคธุรกิจ เช่น GC ผมก็เข้าไปคุย เพื่อให้ผมรู้ แล้วผมก็ต้องไปดูงาน ตอนนี้ผมไม่ได้ดูทะเลแล้วนะ ทะเลผมดูพอแล้ว ตอนนี้ผมไปดูโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อดูขั้นตอนการผลิต ดูว่าแต่ละขั้นมีผลกระทบอะไร แล้วผมก็พยายามแนะนำ ตรงนี้เพิ่มหน่อยได้ไหม ปรับได้ไหม

ถ้าคุณอยากให้มันไปอย่างสมดุล คุณต้องทำทั้งสองด้าน ผมทำด้านหนึ่งมาค่อนชีวิต ตอนนี้ผมก็ต้องไปดูอีกด้าน เวลาผมไปคุย CEO เขาก็ชอบใจกันหลายคน บอกอยากให้นักสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างอาจารย์ธรณ์ เพราะอาจารย์เข้าใจระบบบริษัท เข้าใจเรื่องงบประมาณ ทำให้คุยกันได้ หาทางออกร่วมกัน

ในเมื่ออุตสาหกรรมพลาสติกสร้างรายได้ในประเทศไทยขนาดนั้น ทางออกของเราในการลดพลาสติกจะเป็นยังไง

เราก็หาทางไปเรื่อยๆ เรามีกระแสโลกเข้ามาบีบ แล้วเราก็มีมติ ครม. มี Road Map ที่ชัดเจน ก็ไล่มาทีละอย่างๆ เริ่มจากพลาสติกหุ้มฝาขวดเลิกไป แล้วมันก็จะค่อยๆ ขยายไปเรื่องอื่น เช่น หลอดพลาสติก

อาจารย์มองว่าเราจะมีนวัตกรรมอะไรที่ทดแทนพลาสติกได้บ้างหรือเปล่า

นวัตกรรมมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เป็นไปไม่ได้ กว่าเขาจะคิดค้นพลาสติกก็ไม่รู้กี่สิบปี ทางออกก็คือเป็นอย่างยุโรป รีไซเคิลเก้าสิบแปดเปอร์เซ็นต์ เราไม่ได้ปฏิเสธถุงพลาสติก แต่เราปฏิเสธการใช้แล้วทิ้ง คุณก็ใช้วนไปสิ ดีกว่าถุงผ้าด้วยซ้ำ เพราะมันล้างง่าย ถุงที่ผมใช้จ่ายตลาดคือถุงพลาสติกด้วยซ้ำ ใบนี้ GC ให้มา ใช้มาสองปีแล้ว ยังไม่พังเลย

เขาถึงบอกพลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย แต่มันขึ้นกับเรา อุปกรณ์การแพทย์มีอะไรบ้างที่ไม่ใช้พลาสติกเป็นส่วนประกอบ ถุงน้ำเกลือที่เพิ่งช่วยชีวิตคน ถ้าทิ้งไม่ดีแล้วลงไปอยู่ในทะเล เต่าก็กิน วาฬก็กิน… บางครั้งโลกมันก็ต้องเปลี่ยนทั้งนวัตกรรมและหลายๆ เรื่องไปด้วยกัน

คนทั่วไปอย่างเราๆ ถ้าอยากช่วยทะเล จะทำอะไรได้มากกว่าปฏิเสธถุงพลาสติก พกแก้ว พกหลอดส่วนตัวไหม

ก็นี่ไง ผมเพิ่งโพสต์ไป #เสือกเพื่อโลก #เสือกอย่างมีคุณค่า มีเพื่อนธรณ์คนหนึ่งเขาไปยืนต่อแถวจ่ายเงิน แล้วรวบรวมความกล้าบอกคนข้างหน้าว่า ถุงที่พี่ถืออยู่น่าจะใส่ของเพิ่มได้อีกสองถึงสามชิ้น ไม่รับถุงใหม่ได้ไหม… นั่นไง ง่ายๆ ทุกคนทำได้ ถ้าคุณกล้าพอ

เคยมีนักข่าวเด็กๆ คนหนึ่งมาคุยแล้วบอก “หนูจะเป็นพลังเล็กๆ” ผมก็บอก “ถ้าพี่คิดอย่างหนู ทะเลไทยพินาศไปแล้ว ผมไม่เคยคิดจะเป็นพลังเล็กๆ ถ้าจะเป็นก็ต้องเป็นพลังใหญ่ๆ ถ้าหนูไม่กินหูฉลาม แล้วลุงหนูกินไหม ญาติหนูกินไหม”

ปัจจัยอะไรทำให้คนไทยก้าวไปถึงจุดที่แยกขยะ รีไซเคิล 98 เปอร์เซ็นต์อย่างยุโรปได้ เพราะตอนนี้เอาแค่ให้ทิ้งลงถังยังยากเลย

เวลา… เราต้องทำไปเรื่อยๆ ไม่ต้องไปคิดว่าไทยจะเหมือนนอร์เวย์เมื่อไหร่ แต่เรารู้ว่าทุกวันเรากำลังคืบหน้าไปเรื่อยๆ อาจจะยี่สิบปีข้างหน้า แต่ก็ดีกว่าวนอยู่ในอ่าง

เทรนด์มันเปลี่ยนได้ ความคิดของคนในสังคมมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ผมเคยทำแบบสอบถามให้เลือกสามข้อ มีจัด อีเวนต์รณรงค์ มีวันปลอดถุง และอีกข้อคือคิดเงินค่าถุง ผมทำแบบสอบถามเจ็ดร้อยชุด เมื่อสี่ปีที่แล้ว คนตอบคิดเงินค่าถุงศูนย์เปอร์เซ็นต์ แต่พอเมื่อปีที่แล้วทำอีกครั้ง คราวนี้คนตอบคิดเงินค่าถุงยี่สิบแปดเปอร์เซ็นต์ เพราะทุกคนเห็นแล้วว่ารณรงค์ไม่ได้ผล

ผมไปพูดให้ Minor Food ฟัง ซีอีโอกระโดดขึ้นมาบนเวที บอกว่า “ในปี 2020 ไอจะมองตายู แล้วบอกว่า I get rid of all single-used plastics in Minor Food.” นี่แหละ การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นทีละจุดๆ

เมื่อวานก็ไปคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ท่านก็บอกจะมีกองทุน Green Fund คือบริษัทจะต้องโชว์ว่ามีการช่วยโลกถึงจะกู้ในดอกเบี้ยต่ำได้ ถ้าคนมาร่วมกองทุนนี้ก็อาจมีดอกเบี้ย มีการลดภาษี เศรษฐกิจการคลังผมก็ไปคุย ตอนนี้เราต้องใช้เศรษฐศาสตร์เข้าช่วยนะ

อาจารย์มองว่าประเทศไทยยังมีความหวัง?

ผมไม่ได้เพิ่งพูดเรื่องนี้มาเมื่อสี่ปีที่แล้วนะโว้ย ผมพูดมายี่สิบปีแล้ว สมัยก่อนนี่ยิ่งหนักกว่านี้อีก พูดไปไม่ได้ประโยชน์เลย เขียนหนังสือก็มีคนสนใจอยู่นิดๆ หน่อยๆ เป็นกลุ่มเล็กๆ แต่เราก็ต้องทำไปเรื่อยๆ

จากเล็กๆ ตอนนี้แตกตัวเร็วกว่าอะมีบาอีก มันจะเป็นกราฟที่ชันขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าถามคนที่เพิ่งเริ่มทำก็อาจบอก “โอ้… แย่จัง” แต่ถ้าถามคนที่ทำมายี่สิบกว่าปีแล้ว ผมก็จะบอกว่าตอนนี้ดีกว่าเมื่อก่อนมาก

https://readthecloud.co/thon-thamrongnawasawat/

Feature Stories

Feature Stories
26 June 2020
2020 Tech Trends: Hurry Up or You’ll Miss the Boat (End)
Read More
Feature Stories
08 August 2019
จีวร Upcycling จากขยะพลาสติก วิธีลดขยะพลาสติกฉบับพระสงฆ์ที่ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยการแปรรูป ‘พลาสติก’ ให้เป็น ‘จีวร’
Read More
Feature Stories
02 July 2019
ไฮไลท์มุมมองจากผู้นำความคิดและนวัตกรด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน จากงาน “Circular Living Symposium 2019”
Read More