25 July 2019

Lilly’s Goal หญิงสาวผู้ออกสำรวจวิจัยเส้นทางของขยะพลาสติกจากพื้นดินลงสู่ท้องทะเล เพื่อส่งต่อข้อมูลออกไปยังโลกกว้าง

Share:

ลิลลี่กอล เซดาแกต (Lillygol Sedaghat) คือนักสำรวจของ National Geographic ผู้สนใจและทุ่มเททำงานเรื่องพลาสติก ระบบจัดการขยะ และแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน 

ลิลลี่กอล เซดาแกต (Lillygol Sedaghat) คือนักสำรวจของ National Geographic ผู้สนใจและทุ่มเททำงานเรื่องพลาสติก ระบบจัดการขยะ และแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน 

ปี 2019 ลิลลี่เพิ่งกลับจากประเทศบังกลาเทศ เธอและทีมนักวิทยาศาสตร์หญิงล้วนจากประเทศบังกลาเทศ อินเดีย แคนาดา สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ล่องเรือทวนแม่น้ำคงคา จากอ่าวเบงกอลทางตอนเหนือของมหาสมุทรอินเดียขึ้นไปสู่เทือกเขาหิมาลัย เพื่อสำรวจและวิจัยเส้นทางของขยะพลาสติกจากพื้นดินลงสู่ท้องทะเล

ล่าสุดเราพบลิลลี่ที่งาน Circular Living Symposium 2019 : Upcycling Our Planet ซึ่งจัดขึ้นโดย Global Chemical (GC) และได้พูดคุยถึงการเดินทางที่น่าตื่นเต้นท้าทายของเธอ

“เมื่อปีที่แล้วฉันออกไปสำรวจระบบจัดการขยะและโรงงานรีไซเคิลขยะเจ๋งๆ ของไต้หวัน คุยกับกลุ่มแม่บ้านที่เริ่มโครงการรีไซเคิลขยะในชุมชน และตามรถขนขยะเพื่อดูว่าพวกมันกำลังมุ่งหน้าไปที่ไหน

เธอบอกว่าการเดินทางของเธอเพิ่งเริ่มต้น และดูเหมือนจะยืดยาวออกไปไม่มีที่สิ้นสุด การเดินทางของหญิงสาวตัวเล็กที่มีเป้าหมายยิ่งใหญ่ ที่เธอบอกว่าทำคนเดียวไม่มีทางสำเร็จ 

“ฉันอยากเห็นโลกใบนี้ดีขึ้นในทุกวัน และพวกเราทุกคนต้องช่วยกันทำให้มันเกิดขึ้น”

01 เทพีเสรีภาพและชานมไข่มุก

ลิลลี่เริ่มเล่าอย่างกระตือรือร้นว่า “ฉันโตมาในเมืองซานดิเอโก ที่ทุกคนคลั่งไคล้ชานมไข่มุกจากไต้หวันกันสุดๆ ตอนได้ชิมครั้งแรกนี่ลืมชาสตาร์บัคส์ไปเลย (หัวเราะ) ฉันดื่มชาไข่มุกแทบทุกวัน ตั้งแต่เรียนมัธยมปลายจนเข้ามหาวิทยาลัย จนกระทั่งวันหนึ่งหลังเรียนจบ ฉันไปสั่งชานมไข่มุกที่ร้านตามปกติ

“อยู่ดีๆ ก็มีคำถามหนึ่งผุดขึ้นมาในหัวว่า แก้ว ฝา และหลอดพลาสติก สีสดใสที่ฉันใช้ดื่มชาแก้วโปรดมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมามันเดินทางไปไหนต่อ หลังจากที่ฉันใช้เวลาแสนสุขไม่กี่นาทีละเลียดชาแก้วนั้นเสร็จ พลาสติกพวกนั้นจะตกค้างรอการย่อยสลายอยู่บนโลกใบนี้ไปอีกหลายร้อยปี นานแสนนานหลังฉันตายไปแล้วเสียอีก

“ตอนนั้นเองที่ฉันเพิ่งตระหนักว่าการกระทำเล็กๆ ในชีวิตประจำวันของฉันก็เป็นส่วนหนึ่งในการทำร้ายสิ่งแวดล้อมอย่างที่เห็นในข่าว ทั้งสัตว์ทะเลตายเพราะกินถุงพลาสติก ไปจนถึงมลพิษที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ”

ลิลลี่จึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการ Fulbright Researcher และ National Geographic Digital Storytelling Fellow เพราะอยากศึกษา Supply Chain ของชานมไข่มุกที่โด่งดังไปทั่วโลกและน่าจะมียอดขายวันละเป็นหมื่นๆ แก้ว 

“ฉันอยากทำความเข้าใจ ทำอะไรสักอย่างและสร้างการเปลี่ยนแปลง ฉันจึงตัดสินใจสมัครไปทำงานวิจัยที่ไต้หวัน และนั่นคือจุดเริ่มต้นการเดินทางที่เปลี่ยนชีวิตฉันไปตลอดกาล”

02 เกาะกลางทะเลชื่อไต้หวัน

“ภารกิจที่ฉันต้องทำคือสำรวจและนำเรื่องราวที่ค้นพบมาเล่าบนโลกออนไลน์ เพราะส่งต่อข้อมูลออกไปยังโลกกว้าง ช่วงเดือนแรก ฉันเริ่มภารกิจด้วยการเข้าไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐบาล หน่วยงานและองค์กรท้องถิ่นของไต้หวันที่ทำงานด้านขยะและเทคโนโลยีสีเขียว

“ฉันบังเอิญได้เรียนภาษาจีนประโยคแรกว่า ‘ช่วยใส่ชานมของฉันในกระติกน้ำนี้ที ฉันไม่ต้องการส่วนลด ฉันแค่อยากปกป้องสิ่งแวดล้อม’ จากคนแปลกหน้าที่พกกล่องใส่อาหารและช้อนส้อมมาเองจากบ้านที่ฉันพบในร้านอาหาร (ยิ้ม)”

ลิลลี่บอกว่า เธอตระหนักได้ทันทีที่มาถึงไต้หวันว่า ถ้าอยากเรียนรู้เรื่องระบบจัดการขยะที่ทรงประสิทธิภาพของที่นี่ อย่างน้อยเธอควรฟังภาษาจีนออก เธอจึงลงเรียนภาษาออนไลน์ 4 เดือนกับมหาวิทยาลัยปักกิ่ง และไปเข้าคลาสเรียนภาษาแบบตัวต่อตัวที่สถาบันกวดวิชาในกรุงไทเปด้วย 

“มันยากมากในช่วงแรก เพราะฉันไม่คุ้นเคยกับรูปแบบประโยคและการออกเสียง แต่ในที่สุด 5 เดือนต่อมาฉันก็เริ่มจับใจความและอ่านประโยคต่างๆ ในชีวิตประจำวันออก สารภาพเลยว่าช่วงแรกฉันตื่นเต้นมากเวลาต้องพูดกับคนไต้หวันเป็นภาษาจีน โดยเฉพาะเวลาคุยกับคนขับแท็กซี่หรือพนักงานร้านชานมไข่มุก (หัวเราะ)

“ตลอดเวลาร่วมปีที่ไต้หวัน ฉันเป็นทั้งนักสัมภาษณ์ นักวิจัย อาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม แต่รู้ไหมว่าเหนือสิ่งอื่นใด บทบาทที่สำคัญที่สุดของฉัน คือการเป็นผู้ฟังที่ดี 

“ฉันคุยกับคนไปเยอะมาก ตั้งแต่เจ้าของร้านกาแฟ นักรีไซเคิล นักคัดแยกขยะ ผู้ประกอบการ ศิลปิน นักเต้น นักรณรงค์ พนักงานออฟฟิศ ไปจนถึงนักเรียน บุคคลเหล่านี้พร้อมจะแชร์เรื่องราวและไอเดียที่เต็มไปด้วยแพสชันให้ฉันฟัง อยู่ที่ฉันเอง เปิดหูและเปิดใจจะฟังพวกเขาแค่ไหน

“ส่วนที่ยากที่สุดของภารกิจ คือการกำหนดว่าความจริงคืออะไร ก่อนหน้านี้ที่ไต้หวัน เรื่องขยะรวมถึงการรีไซเคิลเป็นประเด็นอ่อนไหวที่ถูกถกเถียงกัน จากการขาดความเชื่อมั่นในภาครัฐ และโครงสร้างสาธารณูปโภคด้านขยะที่เคยล้มเหลว” 

ลิลลี่อธิบายต่อว่า ทุกวันนี้ความล้มเหลวเหล่านั้นค่อยๆ เปลี่ยนเป็นความเชื่อมั่นที่ยังสั่นคลอนอยู่บ้าง จากทั้งภาคเอกชนและประชาชน “ฉันมีโอกาสได้ไปดูเตาเผาขยะเทศบาลและโรงงานรีไซเคิลในวัดไต้หวัน เยี่ยมชมโรงงานผลิตแก้ว PLA และ PET รวมถึงบรรจุภัณฑ์สำหรับซูชิและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างโมเด็ม

“ฉันผูกมิตรกับกลุ่มแม่บ้านและสตรีสูงอายุ ผู้อาศัยในตรอกเล็กๆ และเริ่มโครงการรีไซเคิลขยะด้วยตัวเองเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว เพราะเขารู้ว่าขยะที่ถูกจัดการอย่างถูกต้องนั้นมีมูลค่ามหาศาล” เธอเล่าพร้อมเปิดภาพส่วนหนึ่งของการเดินทางในไต้หวันให้ดู

03 ทุกความคิดเห็นเดินทางไปสู่การร่วมมือ

“ฉันได้รับฟังความคิดเห็นจากคนหลากหลายฝั่งและแนวคิดในสังคม ซึ่งเห็นตรงกันบ้าง ขัดแย้งกันบ้าง และฉันเชื่อว่ายังมีความคิดเห็นและผู้คนอีกมากมายในสังคมที่ยังไม่ถูกรับฟังหรือมองเห็น”

ลิลลี่อธิบายว่า หน่วยงานภาครัฐของไต้หวันทำงานอย่างหนัก พวกเขาแทร็กกิ้งหมายเลขรีไซเคิลที่ถูกประทับบนขยะแต่ละชิ้น ต่อรองและร่างสัญญารัดกุมในด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกับผู้ประกอบการที่ต้องการประกอบธุรกิจคัดแยกและรีไซเคิลขยะ พวกเขายังช่วยระดมทุนโครงการต่างๆ ทั่วประเทศ และจัดโครงการจิตอาสาที่อาสาสมัครสามารถนำขยะรีไซเคิลมาเปลี่ยนเป็นสบู่ เกลือ ถุงดำใส่ขยะ หรือผ้าอ้อมเด็กได้

“นักการเมืองอย่าง Lee Ying-Yuan อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของไต้หวัน หวังว่าภาครัฐจะสามารถโน้มน้าวให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้มั่นใจว่าเกาะไต้หวันจะขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ถูกต้องอย่างยั่งยืน” 

ลิลลี่เล่าต่อว่า มีคนจำนวนไม่น้อย ทั้งคนขับแท็กซี่ นักศึกษามหาวิทยาลัย ไปจนถึงนักปีนผาที่เธอพบบนยอดเขา ตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของระบบจัดการขยะต่างๆ พวกเขาชี้ไปที่ปัญหามลพิษที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสงสัยว่าถ้าพวกเขาแค่ต้องการมีชีวิตที่สะดวกสบาย จะต้องจ่ายแพงแค่ไหนเพื่อชดใช้ให้สิ่งแวดล้อม

“คนอีกกลุ่มที่ฉันขนานนามให้ว่าเป็น Everyday Eco-Heroes พวกเขาตระหนักถึงความรุนแรงของมลภาวะขยะพลาสติก และมองว่ามันเป็นปัญหาที่ทุกคนสามารถช่วยแก้ไขได้จากจุดเล็กๆ ที่ตัวเอง โดยไม่ต้องรอหน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรใหญ่มาลงมือให้ บางคนเป็นเจ้าของคาเฟ่ พวกเขาก็เปลี่ยนมาใช้แก้วและหลอดที่ย่อยสลายได้

“ไม่ต้องใหญ่โต ทุกคนเริ่มได้เลยจากชีวิตประจำวัน ถ้าคุณมีความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม มากพอที่จะยอมลำบากเพิ่มอีกนิดหน่อย คุณก็สามารถเป็น Everyday Eco-Heroes ได้” ลิลลี่กล่าวยิ้มๆ

04 ทิ้งเท่าไหร่จ่ายเท่านั้น

กรุงไทเปจัดการขยะด้วยนโยบาย Pay-As-You-Throw ที่พลเมืองต้องซื้อถุงขยะสีฟ้าจากภาครัฐ จึงจะสามารถทิ้งขยะลงในถังของพื้นที่บริการได้ 

“ทุกคืนเวลารถขนขยะมาถึงพร้อมเสียงเพลงคลาสสิก ชาวบ้านที่ได้ยินจะออกมายืนรอเพื่อทิ้งขยะแยกตามประเภท ลงไปในรถบรรทุกที่มาพร้อมเครื่องจักรบีบอัดขยะมากฟังก์ชัน เศษอาหารทิ้งลงถังปุ๋ยหมักสีส้ม ขยะที่สามารถรีไซเคิลด้วยมือทิ้งลงช่องเปิดด้านหลังรถ มันน่าทึ่งที่พลเมืองส่วนใหญ่ของที่นี่พร้อมใจกันค่อยๆ เปลี่ยนเกาะของพวกเขาให้กลายเป็นดินแดน Zero Waste ในอนาคต

“ฉันมีโอกาสได้คุยกับ คุณ Chen วัย 60 ปีที่ทำงานเป็นพนักงานแยกขยะอยู่ที่มหาวิทยาลัย National Tainan เขาคือตัวอย่างของคนประเภท Everyday Eco-Heroes ผู้ทำงานทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ 7 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น หน้าที่ของเขาในแต่ละวันคือ การรื้อขยะจากถังออกมาจัดเรียงหมวดหมู่ด้วยมือ

ลิลลี่เล่าว่า งานของคุณ Chen มีตั้งแต่ดึงหลอดพลาสติกออกจากกล่องชานมกระดาษ ไปจนถึงแยกขวดโซดาพลาสติกออกจากกระดาษห่อเบอร์เกอร์ของแมคโดนัลด์ เขารื้อถังขยะเช่นนี้ทั้งวันทั่วมหาวิทยาลัย จนสิ้นวันขยะจำนวนมหาศาลที่ผ่านมือจะถูกแจกแจงเป็นหมวดหมู่ต่างๆ เรียบร้อย พร้อมนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลต่อ

“บางคนอาจคิดว่านี่คืองานที่สกปรกและต่ำต้อย แต่คุณ Chen ไม่ได้มองแบบนั้นเลย เขาตั้งใจทำงานในแต่ละวันเพราะเขารู้ดีว่าตัวเองคือส่วนไหนในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อม นี่จึงเป็นงานที่มีคุณค่าทั้งต่อตัวคุณ Chen สังคม และโลกใบนี้” 

05 หมุนเวียนเพื่อความยั่งยืน

เศรษฐกิจหมุนเวียน คือแนวคิดในการจัดการของเสียด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ เปลี่ยนขยะให้กลับมาเป็นทรัพยากรอีกครั้ง

การผลิตสินค้าแบบดั้งเดิมจะเป็นไปตามแนวคิดแบบเส้นตรง (Linear Economy) คือนำทรัพยากรมาผลิตสินค้า เมื่อใช้เสร็จก็ปล่อยทิ้งให้ย่อยสลาย บางชิ้นใช้เวลาไม่กี่เดือน ในขณะที่บางชิ้นใช้เวลาหลายร้อยปีในการย่อยสลาย 

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทรัพยากรจำนวนมหาศาลถูกนำมาใช้ผลิตสินค้าเพื่อหล่อเลี้ยงคนหลายพันล้านคนทั่วโลก ทำให้จนถึงปัจจุบัน วิกฤตที่เกิดขึ้นคือนอกจากทรัพยากรของโลกกำลังร่อยหรอแล้ว ยังมีปัญหาขยะที่ไม่มีทางกำจัดได้หมด และขยะที่ไม่มีวันย่อยสลายได้ทันก่อนที่มันจะล้นโลก

แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงเกิดขึ้นเพื่อเปลี่ยนวัฏจักรของการผลิตให้หมุนเวียนด้วยตัวเองให้ได้มากที่สุด “อธิบายง่ายๆ คือเปลี่ยนจากการไปเอาทรัพยากรธรรมชาติ มาใช้วัตถุดิบที่ Re-material มาจากตัวสินค้าที่ใช้แล้วนั่นเอง” ลิลลี่อธิบายอย่างกระตือรือร้น

อย่างสมาร์ทโฟน ทุกวันนี้แบรนด์มือถือหลายเจ้าเริ่มแคมเปญให้ลูกค้านำมือถือมาเปลี่ยนเป็นเครื่องใหม่ได้ โดยอาจต้องเพิ่มเงินนิดหน่อย มือถือที่ใช้แล้วพวกนั้นจะถูกนำไปแยกชิ้นส่วน และนำกลับมาใช้ใหม่ในการประกอบมือถือรุ่นต่อๆ ไป หรือนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่น เช่นการนำจอกระจก LCD ของสมาร์ทโฟนไปรีไซเคิลเป็นก้อนบริคที่กันไฟได้

ลิลลี่เล่าต่อว่า เธอเคยไปสัมภาษณ์คุณ Dasdy Lin แห่ง Plastic Industry Development Center พื้นที่ Think Tank ด้านพลาสติกของไต้หวันที่ภาครัฐให้การสนับสนุน 

“พลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย มันแค่ถูกใช้ไปในทางที่ผิด จริงๆ แล้วพลาสติกเป็นวัสดุที่มีประสิทธิภาพมาก สามารถรีไซเคิลเพื่อใช้ซ้ำได้หลายต่อหลายครั้ง แม้ว่าคุณภาพจะลดลงทุกครั้งที่รีไซเคิลก็ตาม แต่ทุกวันนี้มนุษย์ใช้พลาสติกแบบ Single Used กันนับล้านชิ้นต่อวัน อย่างพวกช้อนส้อมและหลอดพลาสติก

“จะใช้พลาสติกอย่างไรให้มีประสิทธิภาพและทำร้ายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ผมคิดว่าเราควรแก้ปัญหาที่ต้นทาง ผู้ผลิตและนักออกแบบต้องดีไซน์ผลิตภัณฑ์ที่ง่ายต่อการรีไซเคิล ใช้พลาสติกชนิดเดียวกันทั้งชิ้น กระบวนการรีไซเคิลจะง่ายและไม่ต้องใช้พลังงานสูงอย่างทุกวันนี้”

ใช่แล้ว หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าขวดน้ำพลาสติกที่เราดื่มทุกวันนี้ ประกอบด้วยพลาสติก 3 – 5 ประเภทเลยทีเดียว ทั้ง ขวด ฝา พลาสติกหุ้มฝา พลาสติกหุ้มขวด กว่าจะรีไซเคิลได้ก็ต้องแยกพลาสติกแต่ละประเภทออกจากกันก่อน สิ้นเปลืองทั้งพลังงานและเวลา

“ทุกวันนี้ฉันพกกระเป๋าใบเล็กใส่ถุงผ้า ช้อนส้อม กล่องใส่อาหารแบบใช้ซ้ำ หลอดแก้ว กระติกน้ำ สบู่และแชมพูแบบก้อน ถ้าคุณพกพาและใช้พวกมันจนเคยชิน คุณจะไม่รู้สึกว่ายากเลย กับการเป็นส่วนหนึ่งในการไม่เพิ่มภาระให้โลกแสนสวยของเรา

ถ้าคุณยังไม่เคย ลองเริ่มต้นด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด อย่างปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติกแบบ Single Used ดูสิ” ลิลลี่กล่าวทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม

ที่มา https://readthecloud.co/lillygol-sedaghat/

Feature Stories

Feature Stories
10 June 2020
Keep your skin safe from COVID-19 with LUFFALA HYGIENE
Read More
Feature Stories
18 September 2019
A Proud Moment for Thailand on the International Stage GC Rated Number One in the World for Sustainability in the DJSI (Chemicals Sector)
Read More
Feature Stories
21 July 2017
PTTGC Collaborates with TAT Rayong and Chef Chumpon, Presenting “10 Rayong’s Delicious Authentic Menus by Chef Chumpon”
Read More