20 November 2020

จีวรจากพลาสติกใช้แล้ว โปรตีนทางเลือกจากขยะเศษอาหาร (A Day)

Share:

Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ดูเหมือนเป็นคำใหญ่โตที่จับต้องได้ยากในชีวิตคนธรรมดาเดินดิน กินอาหารตามสั่ง นั่งรถไฟฟ้า เมื่อลองเสิร์ชคำนี้ในกูเกิลก็พบแต่แผนภาพวงกลมหมุนวนไปมาที่ยากจะเห็นภาพว่ามันเกี่ยวกับชีวิตเรายังไง เพราะหากว่ากันตามทฤษฎีแล้ว หลักการหมุนเวียนทรัพยากรนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบอุตสาหกรรมในการนำของใช้แล้วกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องไปขุดแร่ เจาะน้ำมัน ตัดต้นไม้เพิ่ม 

แต่หากคุณเคยเป็นคนที่พยายามจะใช้ชีวิตอย่างเป็นมิตรต่อโลก แต่ก็ยืนสับสนว่าควรจะหย่อนถุงใส่ลูกชิ้นเลอะน้ำจิ้มลงในถังขยะใบไหน คุณรู้ดีว่าการหมุนเวียนนำของใช้แล้วหรือเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่นั้นดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าขวดพลาสติกที่เราทิ้งลงถังนั้นจะกลับสู่กระบวนการรีไซเคิลจริงหรือเปล่า คุณตั้งคำถามได้ถูกทางแล้ว เพราะหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นคงไร้ประสิทธิภาพ หากเราทุกคนไม่ได้นำแนวทางนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ Circular Living วิถีชีวิตแบบใหม่ที่อาจจะไม่สะดวกสบายไร้กังวล แต่มีสติในการบริโภคและการใช้มากขึ้นกว่าที่เคย

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ในงาน GC Circular Living Symposium: Tomorrow Together จัดโดยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ร่วมกับ National Geographic และเครือข่ายพันธมิตรที่รวบรวมผู้นำทางความคิด นวัตกร และผู้ขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน จากหลากหลายวงการทั่วโลก มาแลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกัน เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ พระมหาประนอม เจ้าอาวาส วัดจากแดง (ชุมชนบางกะเจ้า) ตัวแทนจากภาคประชาสังคมที่ใช้หลักการหมุนเวียนทรัพยากรใกล้ตัวมาเป็นจุดตั้งต้นในการแก้ไขสารพัดปัญหาความเป็นอยู่ ตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงระดับนานาชาติ และ โด่ง–อิทธิกร เทพมณี เจ้าของสตาร์ทอัพ Orgafeed ตัวแทนจากภาคธุรกิจที่นำหลักการใช้แบบหมุนเวียนมาสร้างผลิตภัณฑ์แห่งอนาคตสำหรับคนรักสัตว์เลี้ยง

Make the Move เริ่มต้นจากวิกฤต

เมื่อ 6 ปีที่แล้ว พระมหาประนอม เจ้าอาวาสวัดจากแดง (ชุมชนบางกะเจ้า) ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงจากการไม่หยุดตั้งคำถามต่อวิกฤตสิ่งแวดล้อมในบริเวณวัดจากแดง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพกายใจและความเป็นอยู่ของผู้คนในละแวกใกล้เคียงมาโดยตลอด

“ปกติอาตมาไปให้กรรมฐานเจริญภาวนาแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้เห็นภาพคนในโรงพยาบาลแล้วก็คิดว่า อะไรทำให้คนเหล่านี้เข้ามาในโรงพยาบาล เพราะอาหารไม่ดี อากาศไม่ดี สิ่งแวดล้อมไม่ดี เพราะในชุมชนมีขยะที่กำจัดอย่างไม่ถูกวิธี เพราะเมื่อขยะไปถึงบ่อฝังกลบที่ไม่ได้มาตรฐาน สารเคมีก็ไหลออกมาสู่ดิน และปนเปื้อนในน้ำ 

“อาตมาจึงลองมาคิดว่าเอาขยะพวกนี้ไปทำอะไรได้บ้าง อะไรที่ชาวบ้านคิดว่ามันใช้ไม่ได้แล้ว ทางวัดก็จะเอาไปหาข้อมูลว่ามันทำอะไรได้บ้าง ไปหาองค์ความรู้แล้วก็สอนชาวบ้านทำ ขยับขยายออกไป” พระมหาประนอมเสริมด้วยว่าขยะในชุมชนกว่า 60% เป็นขยะเศษอาหาร 30% เป็นขยะรีไซเคิลได้ ส่วนอีก 10% เป็นขยะอันตราย การให้ความรู้ชาวบ้านเริ่มแยกขยะเหล่านี้ออกจากกันตั้งแต่ต้น ทำให้นำไปใช้ต่อยอดสร้างประโยชน์ได้ดียิ่งขึ้น ไม่ต้องไปจบที่บ่อขยะอีกต่อไป

เมื่อ 4 ปีที่แล้ว โด่ง–อิทธิกร เทพมณี พนักงานการเงินการธนาคารคนหนึ่ง ได้อ่านผลวิจัยขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (The Food and Agriculture Organization: FAO) ทำให้พบว่าโลกของเรากำลังตกอยู่ในวิกฤตการณ์ทางอาหารอันแสนย้อนแย้ง เรากำลังจะมีอาหารไม่เพียงพอสำหรับคนทั้งโลกในอนาคตอันใกล้ แต่ในขณะเดียวกันปริมาณอาหารที่ถูกผลิตขึ้น 1 ใน 3 กลับกลายเป็นของเหลือทิ้งไปทุกวัน ตัวเลขนี้สั่นสะเทือนความคิดจนทำให้พนักงานประจำคนนี้กระโดดออกจากรายได้ที่มั่นคงมาสู่ฟาร์มเลี้ยงแมลงเพื่อหวังจะเปลี่ยนแปลงโลกด้วยแหล่งอาหารแห่งอนาคต

“ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้น แต่เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ ใช้ทรัพยากรมหาศาลในการผลิต ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน น้ำ แถมยังผลิตก๊าซเรือนกระจกอีก เราจึงอยากทดลองทำแหล่งโปรตีนทางเลือกจากแมลง เราเลือกเลี้ยงหนอนแมลงวันลายด้วยเปลือกผลไม้ที่เป็นของเหลือจากการบริโภคของคน ทั้งลดขยะเศษอาหารและผลิตแหล่งโปรตีนทางเลือกไปด้วย เรารู้สึกว่ามันน่าจะเป็นธุรกิจที่สร้างอิมแพกต์ให้คนวงกว้างได้ ด้วย Circular Economy แบบของเราเอง” อิทธิกรกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของสตาร์ทอัพเพาะเลี้ยงแมลงที่เขาฟูมฟักมากับมือ

Use the right way คิด..ให้ใช้แบบหมุนเวียน

พระมหาประนอมเล่าให้เราเห็นภาพว่าแนวคิด Circular Living นั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติธรรมของพระในวัด รวมถึงญาติโยมในชุมชนอย่างกลมกลืน “ทุกวันนี้เราต้องลองลงมืออยู่เสมอ หาองค์ความรู้ให้ได้ ฝึกทำเอง หรือหาพาร์ตเนอร์มาช่วยเรา ที่วัดมีทั้งคัดแยกขยะ ทำปุ๋ยอินทรีย์จากเศษอาหารและเศษใบไม้กิ่งไม้ ถุงพลาสติกเอามานึ่งทำน้ำมัน ขวดพลาสติกอัดก้อนส่งโรงงานไปทำเส้นใยทอผ้าจีวร จนวัดกลายเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม” 

เพราะแนวคิดการใช้แบบหมุนเวียนด้วยการสร้างประโยชน์จากสิ่งของเหลือใช้นั้นมีการปฏิบัติสืบต่อกันมาตลอด 2,500 กว่าปีที่ผ่านมา “ตัวอย่างที่เราได้เรียนรู้จากพระไตรปิฎกคือ ผ้าบังสุกุล มาจากผ้าห่อศพ ผ้าที่เก็บจากกองขยะ พระเจอก็มาพิจารณาความเป็นอนิจจัง นำผ้านั้นมาซัก ย้อมน้ำฝาดเพื่อฆ่าเชื้อ ตัดเป็นจีวร ผ้าจีวรผืนเดิมเอาไปทำผ้าปูที่นอน ผ้าปูที่นอนผืนเดิมเอาไปทำเป็นผ้าเช็ดโต๊ะ ผ้าเช็ดโต๊ะผืนเดิมเอาไปทำผ้าถูพื้น ผ้าถูพื้นผืนเดิมเปื่อยยุ่ยแล้วเอาไปผสมดินเหนียวโบกฉาบทากุฏิ ไม่ทิ้งของเลย ความคิดที่ว่า ‘สุดท้ายสิ่งนี้จะไปไหน’ มีในศาสนาพุทธมานานแล้ว” 

ในอีกวงการหนึ่ง วิธีคิดแบบสตาร์ทอัพเน้นการทำความเข้าใจลูกค้าให้มากที่สุด ทดลอง ทำซ้ำภายในเวลาอันรวดเร็ว แต่อิทธิกรและเพื่อนๆ ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าความรวดเร็วไม่ได้ขัดกับแนวคิดเรื่องความยั่งยืนแต่อย่างใด 

“เลี้ยงแมลงล็อตแรกไม่ยากหรอกครับ ใครก็ทำได้ แต่เลี้ยงแมลงให้ได้คุณภาพสม่ำเสมอสิยากมาก” อิทธิกรเล่าว่า ช่วงหนึ่งแมลงที่เลี้ยงไว้ตายเพราะเศษอาหารที่เจือปนยาฆ่าแมลง ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงหนอนแมลงวันลายนั้นยังไม่มากนักในประเทศไทย จึงต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านกีฏวิทยาตามมหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่ง เพื่อทำความเข้าใจการเพาะเลี้ยงแมลงชนิดนี้อย่างลึกซึ้ง 

“กว่าจะออกมาเป็นสินค้าที่เห็น เราทำตัวอย่างทดลองออกมาก่อน หน้าตาไม่ได้สวยมาก แต่เป็นวิธีการเรียนรู้พฤติกรรมลูกค้าได้ดีที่สุด ทำให้เราค้นพบว่าโปรตีนจากแมลงเหมาะที่จะทำอาหารสัตว์เลี้ยง เพราะสัตว์ไม่มี emotional barrier เท่ากับคน” 

หลังจากลองผิดลองถูกมาบนเส้นทางแสนขรุขระ แต่ด้วยความมั่นใจว่านี่คือเส้นทางสู่อนาคต ในที่สุดอิทธิกรก็ทำแบรนด์ขนมสำหรับสุนัขชื่อว่า Laika ที่ทั้งอร่อยและช่วยลดขยะให้โลก

Circular Living is the Key วิถีแห่งความหวัง

เรายังไม่ลืมว่า ณ วินาทีนี้เราทุกคนกำลังตกอยู่ท่ามกลางวิกฤตสิ่งแวดล้อม การหมุนเวียนทรัพยากรใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ให้ได้มากที่สุดเป็นทางรอดที่ยั่งยืนที่สุด เท่าที่พัฒนาการทางเทคโนโลยีและจินตนาการของเราจะไปถึง การสอดแทรกแนวคิดนี้เข้าไปในทุกมิติการใช้ชีวิต และการส่งต่อไปให้ผู้คนอย่างกว้างขวางที่สุดจึงเป็นภารกิจของเราทุกคน 

การสร้างวงจรหมุนเวียนขยะในชุมชนของพระมหาประนอมไม่หยุดอยู่เพียงในพื้นที่บางกะเจ้าเท่านั้น แต่ยังขยายไปสู่วัดกว่า 2,000 แห่ง ร่วมมือแลกเปลี่ยนกับพันธมิตรธุรกิจ ชุมชนอีกนับร้อยแห่ง มีเครือข่ายพระสงฆ์ในประเทศลาว พม่า และอินเดียด้วย เป้าหมายภายในระยะเวลา 3-5 ปีข้างหน้า คือการทำให้ทุกวัดทั่วประเทศไทยเป็นศูนย์รวมความรู้เกี่ยวกับการนำขยะเข้าสู่ระบบเพื่อกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้อย่างแท้จริง 

“อาตมาอยากเห็นทุกวัดลงมือทำ วัดหรือชุมชนไหนที่ต้องการความรู้ มาอบรมที่วัดได้เลย ใช้เวลา 1 สัปดาห์ฝึกเรียน ฝึกรู้ กลับไปทำเองได้ เพราะเราทำให้ดูเป็นตัวอย่างได้หมด พิสูจน์แล้วว่าทำจากจุดเล็กๆ ของเราก่อนแล้วจุดอื่นๆ จะตามมา”

เช่นเดียวกันกับอิทธิกร ผู้มีความหวังที่ฝากฝังไว้กับแมลงตัวเล็กๆ ซึ่งส่งผลต่อโลกใบใหญ่ “เพราะแนวคิด Circular Living อยู่ในกระบวนการคิดผลิตภัณฑ์เรา 100% อยู่แล้ว แต่มากไปกว่านั้นคือเราพยายามใช้ทรัพยากรใหม่ให้น้อยที่สุด เราคิดและถกเถียงกันถึงความจำเป็นอยู่เสมอ ผลิตภัณฑ์ในอนาคตก็ตั้งใจให้สามารถปฏิวัติวงการสัตว์เลี้ยงให้ลด Carbon Pawprint ได้จริง เพราะไม่ว่าเราจะออกแบบผลิตภัณฑ์ สร้างไอเดีย สร้างมูลค่าเพิ่มมากขนาดไหน เราอยากให้ลูกค้ารับความเชื่อของเราไปด้วย ต่อให้ไม่ใช่ลูกค้าเรา แต่อย่างน้อยได้รับรู้ความตั้งใจของเราที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี สังคมที่ดี แล้วเขาได้กลับไปคิดว่าต้องทำอะไรกับไลฟ์สไตล์ตัวเองบ้าง ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วในระดับหนึ่ง”

ทั้งอิทธิกรและพระมหาประนอมทำให้เราเห็นว่า แนวคิดการใช้แบบหมุนเวียนเพื่อความยั่งยืนนั้นไม่ใช่แผนภาพวงกลมวงเดียวที่โดดเดี่ยวออกจากระบบอื่นๆ แต่เปรียบเหมือนวงน้ำที่กระเพื่อมส่งต่อพลังให้กันไปอย่างไม่รู้จบ ขอเพียงเราไม่หยุดเชื่อมั่นในพลังของการเรียนรู้ การแบ่งปัน และการเปิดโอกาสให้ใครอีกหลายๆ คนได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือโลกไปด้วยกัน

https://adaymagazine.com/gc-circular-living/

Feature Stories

Feature Stories
01 September 2021
ชวนชิม “แกงหมูชะมวง” เมนู Signature ของศูนย์การเรียนรู้อาหารถิ่นระยอง ร้านใบชะมวง
Read More
Feature Stories
17 May 2019
GC Supports Innovation for "Recyled Monks' Robes"
Read More
Feature Stories
17 August 2017
Football for Youth Project PTTGC makes the football dreams of youth in Rayong come true
Read More