Feature Stories
คิดว่าอะไรดีกับโลกและเรา ก็แค่ลงมือทำ ชวนดู Circular Living ในวงการแพทย์และฟุตบอล (A Day)
เวลาได้ยินคำว่า Circular Living หรือ ‘วิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพ’ หลายคนอาจขมวดคิ้ว รู้สึกว่าคำใหญ่จัง แปลว่าอะไรกันนะ แล้วเราจะใช้ชีวิตแบบนั้นได้ยังไง
ในงาน GC Circular Living Symposium 2020: Tomorrow Together ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป ยืนยันกับเราว่า คำว่า Circular Living นั้นไม่ได้ไกลตัวอย่างที่คิด และลงมือทำได้ง่ายกว่าที่คาด ดูตัวอย่างได้จาก 2 บุคคลต่อไปนี้ที่เรามีโอกาสได้พบในงาน และชวนพวกเขามาเล่าให้ฟังว่า เมื่อ Circular Living ไปจับกับแนวคิดและวิธีทำงานของแวดวงอื่นๆ มันให้ผลลัพธ์ที่ดียังไงบ้าง
Circular Living ในโรงพยาบาล ทำได้จริง แค่พลิกมุมมอง
ในแวบแรกหลายคนอาจคิดว่าการประยุกต์แนวคิด Circular Living เข้ากับวงการแพทย์นั้นเป็นเรื่องยาก เพราะไม่ว่ายังไงโรงพยาบาลก็ต้องรักษาความสะอาดของเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย จึงไม่สามารถที่จะลดการใช้ทรัพยากรได้
แต่ ศ. ดร. นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล อาจารย์แพทย์และรองอธิบดีฝ่ายวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ยืนยันว่า โรงพยาบาลเองก็ปรับตัวให้เข้ากับวิถี Circular Living ได้เหมือนกัน เพราะใจความสำคัญเรื่องการลดใช้ทรัพยากรนั้นสามารถปรับใช้กับมิติอื่นๆ อีกมาก ไม่จำกัดแค่เรื่องอุปกรณ์ทางการแพทย์เท่านั้น
“จริงๆ แล้ว Circular Living คือวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงขยะที่เราสร้าง คำนึงถึงสิ่งของที่เราใช้ อธิบายง่ายๆ คือการช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้ทรัพยากรให้น้อยลง ใช้ซ้ำให้มากขึ้น ถ้าทำกันทุกคนทุกวัน ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะลดลงอัตโนมัติ
“อย่างตอนนี้ศิริราชพยายามสร้างสรรค์โมเดลการบริการที่ลดการสิ้นเปลืองพลังงานและเวลาของผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการในโรงพยาบาล นั่นคือ telemedicine หรือการเข้ารับการปรึกษาทางไกล เหมาะกับคนไข้ไม่ฉุกเฉิน คนไข้สามารถนัดคิวรักษา สอบถามข้อมูล หรือกระทั่งรับยาผ่านแอพพลิเคชั่นได้เลย จริงๆ เราผลักดันเรื่องนี้มาสักพักแล้วควบคู่ไปกับการปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัล แต่เพิ่งมาสำเร็จอย่างรวดเร็วในช่วงโควิด 19 ที่ผ่านมา
“นอกจากนั้นศิริราชยังเริ่มพัฒนาการตรวจแบบ Drive Thru คือมีสถานีให้บริการการแพทย์ที่คนไข้สามารถขับรถเข้าไปใช้บริการได้เลย อีกทั้งเรายังมุ่งพัฒนาเรื่องข้อมูลเพื่อปรับตัวเป็น Smart Hospital อำนวยความสะดวกด้านไอทีให้กับคนไข้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อลดการสูญเสียทรัพยากรที่ไม่จำเป็นของทุกคนทุกฝ่าย”
คุณหมอประเสริฐแย้มให้ฟังด้วยว่า ในอนาคตของโรงพยาบาลวางแผนที่จะเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตจากพลาสติกอัพไซเคิลหรือทรัพยากรเหลือใช้อื่นๆ ให้มากขึ้น หรือในด้านวัฒนธรรมองค์กร โรงพยาบาลก็กระตุ้นให้บุคลากรช่วยกันแยกขยะเพื่อให้ง่ายต่อการนำไปรีไซเคิลเพื่อใช้ประโยชน์ต่ออยู่เสมอ
Circular Living ในสโมสรฟุตบอล ทำได้แล้ว คนชอบด้วย
อีกหนึ่งเสียงที่มาช่วยยืนยันว่าแนวคิด Circular Living นั้นไปจับกับอะไรก็ได้ คือเสียงจาก คุณชิดชนก ชิดชอบ ผู้อำนวยการฝ่ายสินค้าที่ระลึก สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ผู้มั่นใจว่าทุกคนสามารถคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมได้เลยตั้งแต่วันนี้ “เริ่มจากสิ่งที่ง่ายที่สุดก่อน คือตัวเราเองวันนี้ต้องไม่ทำให้สิ่งแวดล้อมแย่ลง”
นอกจากการเริ่มเปลี่ยนที่ตัวเองก่อน นักออกแบบและผู้จัดจำหน่ายของที่ระลึกของสโมสรมองว่า การขยับตัวในเชิงพาณิชย์ของแบรนด์ต่างๆ ก็มีส่วนช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้นและง่ายขึ้นเช่นกัน
“แบรนด์สามารถปรับมุมมองที่คนมีต่อผลิตภัณฑ์ที่รีไซเคิลหรืออัพไซเคิลจากขยะพลาสติกได้ ลูกค้าบางคนไม่เคยสนใจประเด็นสิ่งแวดล้อม หรือไม่เคยรู้มาก่อนว่าเสื้อที่ผลิตจากการอัพไซเคิลขยะพลาสติกดียังไง แต่พอได้ลองใส่เสื้อบอลทีมที่ชอบก็จะรู้ว่า จริงๆ แล้วคุณภาพของสินค้าอัพไซเคิลไม่ได้แย่ แต่ดีเทียบเท่ากันเลยนี่นา
“พอเราเสนอทางเลือกให้กับผู้บริโภคแล้วครั้งหนึ่ง ครั้งต่อไปถ้าเขาเจอทางเลือกอีก สิ่งหนึ่งดีกับโลก สิ่งหนึ่งแย่กับโลก เราเชื่อว่าทุกคนย่อมเลือกซื้อสิ่งที่ดีกับโลกอยู่แล้ว ไม่มีใครอยากเลือกของที่แย่กับโลกหรอก แล้วในอนาคตก็จะเกิดโอกาสในการขยายตลาดของสินค้าที่ดีต่อโลกได้อีก”
แต่ถึงอย่างนั้น ในฐานะแบรนด์ที่ต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากการเลือกใช้วัสดุอัพไซเคิลแล้ว ก็ยังมีปราการหลายด่านที่ต้องฝ่าไป “ปัจจุบันในประเทศไทยยังมีข้อจำกัดเรื่องราคาและเทคโนโลยีที่รองรับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อัพไซเคิล แบรนด์ที่หันมาทำเรื่องสิ่งแวดล้อมจึงมักมีต้นทุนที่ต้องแบกรับมากขึ้น ซึ่งเราเชื่อว่าถ้าผลักดันหรือสนับสนุนองค์กรต่างๆ ให้หันมาใช้เทคโนโลยีและการอัพไซเคิลในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดเยอะๆ การผลิตสินค้าจากวัสดุอัพไซเคิลจะเข้าถึงง่ายและขยายวงกว้างมากขึ้นทันที”
หลังจากได้ร่วมงาน GC Circular Living Symposium 2020 รวมทั้งพูดคุยกับหมอประเสริฐและคุณชิดชนก เราได้ข้อสรุปแล้วว่า Circular Living เริ่มต้นได้วันนี้ที่ตัวเราเอง เราแค่อาศัยความสงสัย ตั้งคำถามว่าเราจะใช้ชีวิตที่ดีต่อโลกและตัวเองได้ยังไง แล้วลองลงมือทำ เอาให้มั่นใจว่าขยะในมือของเรา ทรัพยากรที่เราใช้ในทุกๆ วัน เราใช้มันอย่างคุ้มค่า และคำนึงถึงปลายทางที่ดี เป็นปลายทางที่สามารถสร้างประโยชน์กับผู้อื่นได้ เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว
https://adaymagazine.com/circular-living-for-medical-and-sports
Feature Stories