Feature Stories
เปลี่ยนขยะพลาสติกให้กลายเป็น หลอดกันกระแทก ตอบโจทย์การขนส่งสินค้า กับโครงการ Upcycling Upstyling
จากการเปิดตัวโครงการ Upcycling Upstyling ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการขึ้นรูปพลาสติก 19 ราย นักออกแบบชั้นนำ 10 ท่าน และ GC ในการนำพลาสติกรีไซเคิล พลาสติกชีวภาพ และขยะพลาสติก มาต่อยอดเพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามหลัก ECO-Design ภายใต้แนวคิด "Up Waste to Value with WOW! Style!" โดย GC มีบทบาทในการให้ความรู้ด้านวัสดุ และนักออกแบบ เป็นผู้ร่วมพัฒนาวัสดุที่ผู้ประกอบการขึ้นรูปพลาสติกเลือกให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่น่าสนใจและคาดไม่ถึง
และวันนี้ ได้เกิดสินค้าใหม่ที่น่าสนใจ พร้อมจำหน่ายทั้งหมด 19 รายการ ซึ่งเรื่องราวต่อไปนี้ จะเป็นการแนะนำที่มา แรงบันดาลใจ และเส้นทางที่น่าสนใจของผลิตภัณฑ์แต่ละรายการ ที่กว่าจะสำเร็จเป็นสินค้าพร้อมขายแต่ละชิ้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
เริ่มจากผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกที่เป็นสินค้าที่ใกล้ตัวเราในยุค COVID-19 คุณวัฒนา กฤษณาวารินทร์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยนำ โพลีแพค จำกัด พูดคุยกับเราถึงจุดเริ่มต้นในการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ Upcycling Upstyling
และคุณวัฒนา กฤษณาวารินทร์ บริษัท ไทยนำ โพลีแพค จำกัด (ขวา)
มองเห็นอะไรในโครงการ Upcycling Upstyling
วัฒนา: "ผมว่าเป็นโครงการที่ดีนะ เนื่องจากเมื่อก่อน ผมก็มีมุมมองในฐานะผู้ผลิตอย่างเดียว เราก็จะผลิตแต่ในสิ่งที่เคยผลิต พอคุณสมชนะมาช่วยออกแบบและแชร์ไอเดียใหม่ ๆ ก็ทำให้เราฉีกกฎของการทำงานแบบเดิม ความคิดเดิมๆ ออกไป"
ด้วยแรงบันดาลใจที่จะเปลี่ยนขยะพลาสติกด้อยค่าในโรงงานผลิตถุงพลาสติกและหลอด ให้กลายเป็นสินค้าใหม่ที่พร้อมทั้งรูปแบบการใช้งานและดีไซน์สุดเก๋ คุณวัฒนาจึงสมัครเข้าร่วมโครงการ Upcycling Upstyling ทันที ผนวกกับความต้องการขยายประเภทของสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมของบริษัท และเมื่อได้จับคู่กับนักออกแบบบรรจุภัณฑ์มือรางวัลระดับโลก จาก PROMPT DESIGN อย่างคุณสมชนะ กังวารจิตต์ ทั้งคู่จึงช่วยกันคิดวิธีเพิ่มมูลค่าเศษพลาสติกที่เหลือจากกระบวนการผลิตในโรงงาน โดยอาศัยการดีไซน์จนตกผลึกมาเป็นหลอดกันกระแทก (Straw Bubble) ในระหว่างขนส่งพัสดุแทนพลาสติกบับเบิ้ลที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกใหม่ ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
คุณวัฒนา กฤษณาวารินทร์ และคุณสมชนะ กังวารจิตต์
ที่มาของแนวคิดหลอดกันกระแทก (Straw Bubble)
วัฒนา: "อย่างที่ทุกคนเห็นว่า ธุรกิจสินค้าออนไลน์ กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่วนตัวผมก็สั่งสินค้าออนไลน์ และสังเกตว่าผู้ขายสินค้าให้ความสำคัญกับการแพคสินค้ามาก มีวิธีการป้องกันความเสียหายในรูปแบบต่าง ๆ ส่วนมากคือใช้พลาสติกกันกระแทกแบบบับเบิ้ล จนวันหนึ่ง ผมนั่งมองบับเบิ้ลกองโตแล้วคิดว่า เอาไปทำอะไรต่อได้ เพราะรู้สึกเสียดาย เนื่องจากบับเบิ้ลใช้พลาสติกใหม่ในการผลิต และพวกเราใช้แค่ครั้งเดียวแล้วทิ้งเป็นส่วนใหญ่ เพราะเสียสภาพง่ายมาก และผมเชื่อว่าต้องมีคนตั้งคำถามเหมือนผม เพราะก่อน COVID-19 คนกำลังอินเรื่องลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งทุกรูปแบบ (Single Use Plastic) ผมเชื่อว่าเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้น ต้องมีคนกังวลเรื่องขยะพลาสติกอีกแน่ จากคำถามนี้ จึงต่อยอดความคิดในใจให้กลายเป็นการพัฒนาพลาสติกกันกระแทกที่ทั้งช่วยลดขยะและสามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้ง"
ผลงาน หลอดกันกระแทก (Straw Bubble)
เศษพลาสติกที่เหลือจากกระบวนการผลิตถุงพลาสติกและหลอด เป็นวัสดุที่คุณวัฒนา เลือกมาพัฒนาต่อยอดร่วมกับคุณสมชนะ โดยแต่เดิม พลาสติกที่เหลือจากกระบวนการผลิตจะถูกนำไปหลอมเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่เป็นสินค้าอีกเกรดหนึ่ง แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการ Upcycling Upstyling ผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดใหม่สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ถึง 30% เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์เดิม และยังลดปริมาณการใช้พลาสติกโดยรวม อันเป็นการลดจำนวนขยะพลาสติกทางอ้อมอีกด้วย
คุณสมชนะ กังวารจิตต์ ผู้ออกแบบหลอดกันกระแทก
แม้ความคิดของคนทั่วไปจะมองว่าพลาสติกไม่ใช่วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่คุณสมชนะ ก็พยายามเปลี่ยนมุมมอง โดยนำเสนอความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของพลาสติกในมิติของการนำกลับมาใช้ใหม่ หรือเพิ่มมูลค่า ด้วยการนำเศษพลาสติกจากถุงพลาสติกและหลอดกาแฟของไทยนำมาออกแบบใหม่ โดยไม่กระทบกับกระบวนการผลิตเดิม
แนวคิดในการออกแบบคืออะไร
สมชนะ: "เนื่องจากพบว่า ผลิตภัณฑ์กันกระแทกพัสดุที่มีอยู่ในท้องตลาดมีข้อเสียคือ มักจะใช้ครั้งเดียวทิ้ง กลายเป็นขยะพลาสติกจำนวนมาก ทำให้อยากพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทนี้และช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกให้มากที่สุด โดยนำสินค้าที่ไทยนำผลิตและผู้บริโภคใช้อยู่มารีไซเคิล และเมื่อคิดถึงโครงสร้างของหลอดที่เป็นท่อ เมื่อตัดออกมาเป็นท่อนๆ และนำมารวมกัน มันจะเกิดการรับแรงได้ดี สามารถรองรับแรงกระแทกได้ ดังนั้น จึงเกิดแนวคิดที่จะสร้างถุงใส่หลอดเหลือใช้ ซึ่งมีหลากหลายขนาด โดยผู้ส่งสามารถบรรจุหลอดที่ใช้แล้วตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ถุงซิปล็อคเพื่อกันกระแทก โดยส่วนหัวและท้ายของถุงจะมีแถบ Velcro (ตีนตุ๊กแก) ทำให้สามารถต่อเพื่อเพิ่มความยาวได้ ซึ่งจะทำให้รองรับการกระแทกให้กับผลิตภัณฑ์ได้ดียิ่งขึ้น และผู้รับสามารถนำถุงนั้นมาใส่ขยะหลอดพลาสติกเพิ่มได้หากต้องการให้รับแรงกระแทกเพิ่มตามแต่ที่ตัวเองต้องการ และนำไปใช้กันกระแทกในกล่องพัสดุต่อไปได้ไม่รู้จบ กลายเป็นแนวคิดใหม่ และสินค้าใหม่ เพื่อให้ใช้วัสดุได้คุ้มค่าเกินกว่าหน้าที่เดิม ถือเป็นการต่อยอดโดยการสร้างสรรค์นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่ (Innovation packaging) ที่ใช้งานได้จริง และก่อให้เกิดพฤติกรรมใหม่ในการใช้ผลิตภัณฑ์ลดแรงกระแทกในการส่งพัสดุที่ทั้งสวยงามน่าใช้ และนำกลับมาใช้ซ้ำได้นับครั้งไม่ถ้วน"
ในฐานะนักออกแบบ ได้อะไรจากโครงการ Upcycling Upstyling
สมชนะ: "ได้เรียนรู้กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก และมองเห็นศักยภาพของผู้ประกอบการที่สามารถนำเอาองค์ความรู้มาร่วมกันพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้ อันที่จริงโอกาสของผู้ผลิตพลาสติกมีอีกมาก เมื่อผนวกกับแนวทางของโครงการที่นำเอาแนวคิด Upcycling มาต่อยอดสร้างสรรค์ เพิ่มคุณค่าและมูลค่าของสินค้า ก็จะเกิดประโยชน์ทั้งผู้ประกอบการ ผู้ใช้งาน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือว่าปัจจุบันยังไม่มีโครงการไหนที่ทำแบบนี้"
สำหรับช่องทางการจัดจำหน่าย Straw Bubble ในช่วงแรก บริษัท ไทยนำ โพลีแพค จำกัด จะกระจายไปยังฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อทดลองตลาดก่อน และในอนาคตมีแผนจับมือกับพันธมิตรที่สนใจ เพื่อขยายช่องทางการจำหน่าย สู่ผู้บริโภคที่สนใจต่อไป