25 พฤษภาคม 2563

เปลี่ยนขยะพลาสติกให้กลายเป็น หลอดกันกระแทก ตอบโจทย์การขนส่งสินค้า กับโครงการ Upcycling Upstyling

แชร์:

จากการเปิดตัวโครงการ Upcycling Upstyling ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563  ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการขึ้นรูปพลาสติก 19 ราย นักออกแบบชั้นนำ 10 ท่าน และ GC ในการนำพลาสติกรีไซเคิล พลาสติกชีวภาพ และขยะพลาสติก มาต่อยอดเพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามหลัก ECO-Design ภายใต้แนวคิด "Up Waste to Value with WOW! Style!" โดย GC มีบทบาทในการให้ความรู้ด้านวัสดุ และนักออกแบบ เป็นผู้ร่วมพัฒนาวัสดุที่ผู้ประกอบการขึ้นรูปพลาสติกเลือกให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่น่าสนใจและคาดไม่ถึง

และวันนี้ ได้เกิดสินค้าใหม่ที่น่าสนใจ พร้อมจำหน่ายทั้งหมด 19 รายการ ซึ่งเรื่องราวต่อไปนี้ จะเป็นการแนะนำที่มา แรงบันดาลใจ และเส้นทางที่น่าสนใจของผลิตภัณฑ์แต่ละรายการ ที่กว่าจะสำเร็จเป็นสินค้าพร้อมขายแต่ละชิ้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

เริ่มจากผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกที่เป็นสินค้าที่ใกล้ตัวเราในยุค COVID-19 คุณวัฒนา กฤษณาวารินทร์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยนำ โพลีแพค จำกัด พูดคุยกับเราถึงจุดเริ่มต้นในการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ Upcycling Upstyling

คุณสมชนะ กังวารจิตต์ นักออกแบบ (ซ้าย)
และคุณวัฒนา กฤษณาวารินทร์ บริษัท ไทยนำ โพลีแพค จำกัด (ขวา)
มองเห็นอะไรในโครงการ Upcycling Upstyling

วัฒนา: "ผมว่าเป็นโครงการที่ดีนะ เนื่องจากเมื่อก่อน ผมก็มีมุมมองในฐานะผู้ผลิตอย่างเดียว เราก็จะผลิตแต่ในสิ่งที่เคยผลิต พอคุณสมชนะมาช่วยออกแบบและแชร์ไอเดียใหม่ ๆ ก็ทำให้เราฉีกกฎของการทำงานแบบเดิม ความคิดเดิมๆ ออกไป"

ด้วยแรงบันดาลใจที่จะเปลี่ยนขยะพลาสติกด้อยค่าในโรงงานผลิตถุงพลาสติกและหลอด ให้กลายเป็นสินค้าใหม่ที่พร้อมทั้งรูปแบบการใช้งานและดีไซน์สุดเก๋ คุณวัฒนาจึงสมัครเข้าร่วมโครงการ Upcycling Upstyling ทันที ผนวกกับความต้องการขยายประเภทของสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมของบริษัท และเมื่อได้จับคู่กับนักออกแบบบรรจุภัณฑ์มือรางวัลระดับโลก จาก PROMPT DESIGN อย่างคุณสมชนะ กังวารจิตต์ ทั้งคู่จึงช่วยกันคิดวิธีเพิ่มมูลค่าเศษพลาสติกที่เหลือจากกระบวนการผลิตในโรงงาน โดยอาศัยการดีไซน์จนตกผลึกมาเป็นหลอดกันกระแทก (Straw Bubble) ในระหว่างขนส่งพัสดุแทนพลาสติกบับเบิ้ลที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกใหม่ ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง

คุณวัฒนา กฤษณาวารินทร์ และคุณสมชนะ กังวารจิตต์

ที่มาของแนวคิดหลอดกันกระแทก (Straw Bubble)

วัฒนา: "อย่างที่ทุกคนเห็นว่า ธุรกิจสินค้าออนไลน์ กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่วนตัวผมก็สั่งสินค้าออนไลน์ และสังเกตว่าผู้ขายสินค้าให้ความสำคัญกับการแพคสินค้ามาก มีวิธีการป้องกันความเสียหายในรูปแบบต่าง ๆ ส่วนมากคือใช้พลาสติกกันกระแทกแบบบับเบิ้ล จนวันหนึ่ง ผมนั่งมองบับเบิ้ลกองโตแล้วคิดว่า เอาไปทำอะไรต่อได้ เพราะรู้สึกเสียดาย เนื่องจากบับเบิ้ลใช้พลาสติกใหม่ในการผลิต และพวกเราใช้แค่ครั้งเดียวแล้วทิ้งเป็นส่วนใหญ่ เพราะเสียสภาพง่ายมาก และผมเชื่อว่าต้องมีคนตั้งคำถามเหมือนผม เพราะก่อน COVID-19 คนกำลังอินเรื่องลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งทุกรูปแบบ (Single Use Plastic) ผมเชื่อว่าเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้น ต้องมีคนกังวลเรื่องขยะพลาสติกอีกแน่ จากคำถามนี้ จึงต่อยอดความคิดในใจให้กลายเป็นการพัฒนาพลาสติกกันกระแทกที่ทั้งช่วยลดขยะและสามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้ง"

ผลงาน หลอดกันกระแทก (Straw Bubble)

เศษพลาสติกที่เหลือจากกระบวนการผลิตถุงพลาสติกและหลอด เป็นวัสดุที่คุณวัฒนา เลือกมาพัฒนาต่อยอดร่วมกับคุณสมชนะ โดยแต่เดิม พลาสติกที่เหลือจากกระบวนการผลิตจะถูกนำไปหลอมเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่เป็นสินค้าอีกเกรดหนึ่ง แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการ Upcycling Upstyling ผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดใหม่สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ถึง 30% เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์เดิม และยังลดปริมาณการใช้พลาสติกโดยรวม อันเป็นการลดจำนวนขยะพลาสติกทางอ้อมอีกด้วย

คุณสมชนะ กังวารจิตต์ ผู้ออกแบบหลอดกันกระแทก

แม้ความคิดของคนทั่วไปจะมองว่าพลาสติกไม่ใช่วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่คุณสมชนะ ก็พยายามเปลี่ยนมุมมอง โดยนำเสนอความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของพลาสติกในมิติของการนำกลับมาใช้ใหม่ หรือเพิ่มมูลค่า ด้วยการนำเศษพลาสติกจากถุงพลาสติกและหลอดกาแฟของไทยนำมาออกแบบใหม่ โดยไม่กระทบกับกระบวนการผลิตเดิม

แนวคิดในการออกแบบคืออะไร

สมชนะ: "เนื่องจากพบว่า ผลิตภัณฑ์กันกระแทกพัสดุที่มีอยู่ในท้องตลาดมีข้อเสียคือ มักจะใช้ครั้งเดียวทิ้ง กลายเป็นขยะพลาสติกจำนวนมาก ทำให้อยากพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทนี้และช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกให้มากที่สุด โดยนำสินค้าที่ไทยนำผลิตและผู้บริโภคใช้อยู่มารีไซเคิล และเมื่อคิดถึงโครงสร้างของหลอดที่เป็นท่อ เมื่อตัดออกมาเป็นท่อนๆ และนำมารวมกัน มันจะเกิดการรับแรงได้ดี สามารถรองรับแรงกระแทกได้ ดังนั้น จึงเกิดแนวคิดที่จะสร้างถุงใส่หลอดเหลือใช้ ซึ่งมีหลากหลายขนาด โดยผู้ส่งสามารถบรรจุหลอดที่ใช้แล้วตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ถุงซิปล็อคเพื่อกันกระแทก โดยส่วนหัวและท้ายของถุงจะมีแถบ Velcro (ตีนตุ๊กแก) ทำให้สามารถต่อเพื่อเพิ่มความยาวได้ ซึ่งจะทำให้รองรับการกระแทกให้กับผลิตภัณฑ์ได้ดียิ่งขึ้น และผู้รับสามารถนำถุงนั้นมาใส่ขยะหลอดพลาสติกเพิ่มได้หากต้องการให้รับแรงกระแทกเพิ่มตามแต่ที่ตัวเองต้องการ และนำไปใช้กันกระแทกในกล่องพัสดุต่อไปได้ไม่รู้จบ กลายเป็นแนวคิดใหม่ และสินค้าใหม่ เพื่อให้ใช้วัสดุได้คุ้มค่าเกินกว่าหน้าที่เดิม ถือเป็นการต่อยอดโดยการสร้างสรรค์นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่ (Innovation packaging) ที่ใช้งานได้จริง และก่อให้เกิดพฤติกรรมใหม่ในการใช้ผลิตภัณฑ์ลดแรงกระแทกในการส่งพัสดุที่ทั้งสวยงามน่าใช้ และนำกลับมาใช้ซ้ำได้นับครั้งไม่ถ้วน"

ในฐานะนักออกแบบ ได้อะไรจากโครงการ Upcycling Upstyling

สมชนะ: "ได้เรียนรู้กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก และมองเห็นศักยภาพของผู้ประกอบการที่สามารถนำเอาองค์ความรู้มาร่วมกันพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้ อันที่จริงโอกาสของผู้ผลิตพลาสติกมีอีกมาก เมื่อผนวกกับแนวทางของโครงการที่นำเอาแนวคิด Upcycling มาต่อยอดสร้างสรรค์ เพิ่มคุณค่าและมูลค่าของสินค้า ก็จะเกิดประโยชน์ทั้งผู้ประกอบการ ผู้ใช้งาน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือว่าปัจจุบันยังไม่มีโครงการไหนที่ทำแบบนี้"

สำหรับช่องทางการจัดจำหน่าย Straw Bubble ในช่วงแรก บริษัท ไทยนำ โพลีแพค จำกัด จะกระจายไปยังฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อทดลองตลาดก่อน และในอนาคตมีแผนจับมือกับพันธมิตรที่สนใจ เพื่อขยายช่องทางการจำหน่าย สู่ผู้บริโภคที่สนใจต่อไป

Feature Stories

Feature Stories
01 กันยายน 2564
ชวนชิม “แกงหมูชะมวง” เมนู Signature ของศูนย์การเรียนรู้อาหารถิ่นระยอง ร้านใบชะมวง
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
13 มกราคม 2563
บูมครั้งนี้...ต้องดีกับสิ่งแวดล้อม
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
11 กันยายน 2560
Upcycling the Oceans, Thailand ปลุกคนไทยเห็นคุณค่า “ขยะพลาสติก”
อ่านเพิ่มเติม