บริษัทฯ วิเคราะห์ผลกระทบเพื่อระบุและประเมินความเสี่ยง รวมถึงโอกาสที่อาจเกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกของบริษัทฯ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามแนวทางดำเนินงานของ National Determined Contributions (NDCs) และเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส หรือ 2DS ของสำนักงานพลังงานสากล (International Energy Agency: IEA) ทั้งนี้ เพื่อเปิดเผยข้อมูลการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของ TCFD ตลอดจนนำความเสี่ยงที่ได้วิเคราะห์มาใช้เป็นดัชนีในการกำกับดูแล การวางกลยุทธ์ รวมถึงการจัดทำแผนงานด้านการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากลและมีประสิทธิภาพสูงสุด

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังนำปัจจัยด้านเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาพิจารณาโครงการลงทุนในอนาคต เพื่อให้การบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของบริษัทฯ ที่เชื่อมโยงกับปัจจัยเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามกลยุทธ์ (Strategy Execution Risk) ความเสี่ยงด้านการลงทุน (Investment Risk) และความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงนโยบายกฎระเบียบของภาครัฐ (Policy & Regulatory Change Risk) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้มอบหมายให้ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงระดับองค์กร (Enterprise Risk Management Committee : ERMC) ทำหน้าที่รับผิดชอบติดตามและประเมินความเสี่ยงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศเป็นประจำทุกเดือนและรายงานต่อคณะกรรมการบริหาร (Management Committee: MC) โดยมีกรรมการผู้จัดการเป็นประธาน (Chief Executive Officer: CEO) และผู้บริหารระดับสูงพิจารณาผลการดำเนินงานการจัดการความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและให้คำแนะนำเกี่ยวกับกลยุทธ์หรือแผนปฏิบัติการเพิ่มเติมหรือในการจัดการความเสี่ยง หลังจากนั้น MC จะส่งต่อรายงานการจัดการความเสี่ยงไปยัง คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง (Risk Management Committee : RMC) อย่างเป็นประจำในทุกไตรมาส นอกจากนั้น หากมีการลงทุนในโครงการคาร์บอนต่ำ กรรมการผู้จัดการของกรรมการการลงทุนจะเป็นผู้ตัดสินใจต่อไป

โดยในปี 2565 บริษัทฯ ได้ระบุความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สำคัญ ทั้ง Transition Risk และ Physical Risk รวมถึงกำหนดมาตรการเพื่อรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าว ดังนี้

ความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มาตรการรองรับ
Transition Risk

การเปลี่ยนแปลงของตลาดและราคาคาร์บอน

กฎหมายหรือข้อบังคับด้านการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านกลไกต่าง ๆ อาทิ การเก็บภาษีคาร์บอน และการนำภาษีคาร์บอนมาเป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้าผ่านมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) การสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าและแหล่งพลังงานสะอาด เป็นต้น กลไกเหล่านี้อาจส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัทฯ สูงขึ้น

  • กำหนดโครงสร้างการกำกับดูแลและการบริหารจัดการการดำเนินงานด้าน Decarbonization ตลอดจนการกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน (KPI) ที่ชัดเจน ครอบคลุมตั้งแต่ระดับกรรมการบริษัทฯ จนถึงระดับปฎิบัติการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวที่ปี ค.ศ. 2050
  • บริษัทฯ กำหนดแผนและกลยุทธ์การจัดการด้านสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและลงทุนในเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน อาทิ โครงการพลังงานทางเลือกและพลังงานหมุนเวียน ตลอดจนติดตามผลการดำเนินงาน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
  • เข้าร่วมโครงการนำร่องระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Trading Scheme หรือ Thailand V-ETS) เพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องการซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย และก้าวสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ
  • กำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กร (Internal Carbon Price) และใช้เป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาการลงทุน และเป็นเครื่องมือช่วยประเมินผลกระทบของโครงการเชิงธุรกิจจากการเพิ่มหรือลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนช่วยผลักดันให้เกิดโครงการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง
  • ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) และพลังงานหมุนเวียน

ผลิตภัณฑ์และธุรกิจคาร์บอนต่ำ

พฤติกรรมผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่เปลี่ยนไปจากกระแสเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ โดยให้ความสำคัญต่อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อบริษัทฯ ทั้งในด้านความต้องการพลาสติกและเคมีภัณฑ์ในรูปแบบเดิมที่ลดลง และการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตที่ต้องดำเนินการให้สอดคล้องตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ที่เข้มงวดมากขึ้น รวมถึงผลกระทบด้านภาพลักษณ์ของบริษัทฯ ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำของโลก

  • ลดความเสี่ยงด้านธุรกิจ โดยการปรับลดสัดส่วนการผลิตเม็ดพลาสติกที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทใช้ครั้งเดียว (Single-Use Plastics) และเพิ่มสัดส่วนการผลิตของเม็ดพลาสติกสำหรับสินค้าคงทนหรือกึ่งคงทนทดแทน
  • วางแผนการขาย และการตลาดที่ชัดเจนในการนำเม็ดพลาสติกรีไซเคิล rPET และ rHDPE ที่ผลิตได้จากโรงงาน Plastic Recycling ของบริษัทฯ เข้าสู่ตลาด พร้อมทั้งสร้างทางเลือกที่หลากหลายผ่านการร่วมศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจของเทคโนโลยี และการลงทุนโครงการพลาสติกรีไซเคิลใหม่ ๆ ร่วมกับพันธมิตร
  • ปรับ Portfolio สู่ธุรกิจที่มีการปลดปล่อยคาร์บอนต่ำได้แก่ กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์พิเศษที่มีมูลค่าสูง (High Value Business: HVB) มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าสูง (High Value Product: HVP) พลาสติกชีวภาพ และพลาสติกรีไซเคิล เป็นต้น
  • บริษัทฯ กำหนดกลยุทธ์ด้านนวัตกรรมให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคและนักลงทุนในอนาคต โดยมุ่งเน้น การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและเพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์ ตลอดจนคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช้พลังงานสะอาด
  • บริษัทฯ มุ่งเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ วัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ (ข้าวโพด ปาล์ม สำปะหลัง อ้อย) รวมถึงผลิตภัณฑ์จากพลาสติกรีไซเคิล ที่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ ถึง 19,000 ล้านบาทในปี 2564
Physical Risk

ภัยแล้ง

การขาดแคลนน้ำในกระบวนการผลิตอาจส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของกระบวนการผลิต ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือด้านปฏิบัติการของบริษัทฯ และ บริษัทฯ อาจมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากต้นทุนการจัดหาน้ำที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่ามีปริมาณน้ำเพียงพอรองรับการเดินเครื่องการผลิต รวมถึงโครงการต่าง ๆ ในอนาคต

  • ติดตาม และประเมินความเสี่ยงจากการเกิดสภาวะภัยแล้ง อย่างต่อเนื่อง และกำหนดแผนการรับมือ และแผนการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจในกรณีที่เกิดภาวะน้ำแล้ง
  • เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในกระบวนการผลิต นำน้ำกลับมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ (Renewable Water) สนับสนุนการลงทุนด้านเทคโนโลยี ปรับปรุงกระบวนการผลิต ตลอดจนการหาแหล่งน้ำสำ รอง อาทิ โครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล (Sea Water Reverse Osmosis: SWRO) และโครงการนำน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ (Wastewater Reverse Osmosis: WWRO) เป็นต้น
  • ศึกษาแนวทางในการจัดหาแหล่งน้ำสำรองอื่น ๆ รวมถึง ศึกษาการนำเทคโนโลยีการผลิตน้ำใหม่ ๆ เพิ่มเติม
  • สร้างเครือข่ายร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเข้าไปมีบทบาทสำคัญ และเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผน และบริหารจัดการน้ำ และปัญหาภัยธรรมชาติ ทั้งระดับพื้นที่ และระดับประเทศ

อุทกภัย

การเกิดอุทกภัยอาจส่งผลให้การดำเนินงานหยุดชะงัก ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการสูญเสียรายได้ของบริษัทฯ อีกทั้งยังอาจส่งผลให้การส่งมอบวัตถุดิบของคู่ค้าของบริษัทฯ ล่าช้าได้

  • บริษัทฯ ติดตามตรวจสอบ ดำเนินการบำรุงรักษา ระบบระบายน้ำฝนเป็นประจำเพื่อรองรับฤดูฝน รวมถึงการตรวจสอบพื้นที่ปฏิบัติงาน และพื้นที่ข้างเคียงในช่วงฝนตกหนัก การศึกษาความเหมาะสมของการออกแบบแปลนและการก่อสร้างโดยรอบโดยคำนึงถึงปริมาณระดับน้ำ และอัตราน้ำฝนจากข้อมูลในอดีต
  • บริษัทฯ ศึกษาการสร้างกำแพงป้องกันน้ำท่วม (พิจารณาจากข้อมูลน้ำท่วมย้อนหลังประมาณ 2 เท่าของอัตราฝนตกในอดีต 130 มม.)
  • เตรียมพร้อมแนวกั้นน้ำท่วมจากกระสอบทรายและเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่เพื่อลดระดับน้ำหากมีน้ำท่วม
  • ร่วมกับกลุ่มบริษัทในเครือ ดึงผู้มีส่วนได้เสียรายสำคัญเข้าร่วมในการบริหารจัดการน้ำ (Water War Room) ในพื้นที่จังหวัดระยอง และการทำงานร่วมกับเครือข่ายอื่นๆ รวมถึงชุมชน ในชมรมผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด (Map Ta Phut Plant Manager Club: PMC)