ประเด็นความยั่งยืน
การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน
ระดับผลกระทบ
ต่ำ
ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง
ลูกค้า
ภาครัฐ
คู่ค้าและหุ้นส่วนทางธุรกิจ

เป้าหมาย (Targets)

  • คู่ค้าทุกรายรับทราบและปฏิบัติตามจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของผู้ผลิต จัดหาสินค้าวัตถุดิบ และการบริการของบริษัทฯ
  • จัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • สนับสนุนให้มีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ การจ้างงานและสร้างรายได้ในระดับท้องถิ่น
  • จัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเป็นธรรมตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท

ความท้าทายและโอกาสทางธุรกิจ (Challenges and Opportunities)

การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยลดความเสี่ยงในการหยุดชะงักของธุรกิจ ซึ่งอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินธุรกิจรวมถึงภาพลักษณ์ของบริษัทฯ ทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ความโปร่งใส ตลอดจนสร้างคุณค่าร่วมกันระหว่างบริษัทฯ และคู่ค้าดังนั้น บริษัทฯ จึงกำหนดยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ส่งเสริมการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ คู่ค้า และลูกค้า ทั้งนี้ บริษัทฯ บริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกคู่ค้าที่มีศักยภาพ การประเมินความเสี่ยงและผลการดำเนินงานของคู่ค้า ตลอดจนกำกับดูแลและส่งเสริมคู่ค้าให้ดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และมีการกำกับดูแลที่ดี และสอดคล้องกับจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของผู้ผลิต จัดหาสินค้าวัตถุดิบ และการบริการ รวมทั้งร่วมพัฒนาศักยภาพของคู่ค้า ให้มีความพร้อมรองรับการเติบโตของธุรกิจตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ของโลกอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างความมั่นใจในการดำเนินงานร่วมกัน และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย

แนวทางการบริหารจัดการ (Management Approach) GRI 3-3 (2021)

บริษัทฯ มุ่งมั่นบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานให้มีประสิทธิภาพและสามารถสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพและขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องตามกลยุทธ์การเติบโตของบริษัทฯ เพื่อให้บริษัทฯ สามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพและตรงต่อเวลาให้แก่ลูกค้า นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมุ่งส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวหรือการจัดซื้อจัดจ้างที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมนอกเหนือจากหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างทั่วไปเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับจากลูกค้าตลอดจนเป็นการสร้างคุณค่าร่วมให้แก่ผู้บริโภคและสังคมในฐานะผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์

เพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และตรวจสอบได้ และสร้างความมั่นใจให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ตลอดห่วงโซ่อุปทาน บริษัทฯ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นผู้กำหนดนโยบาย กำกับดูแลตรวจสอบการดำเนินงานให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อกำหนด หลักเกณฑ์ และมาตรฐาน ที่เกี่ยวข้อง สร้างความเข้าใจ และความร่วมมือในการพัฒนากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการขยายการลงทุนตามกลยุทธ์ของบริษัทฯ

จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของผู้ผลิต /จัดหาสินค้า วัตถุดิบ และการบริการ (Supplier Code of Conduct)

บริษัทฯ ได้กำหนดจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของผู้ผลิต /จัดหาสินค้า วัตถุดิบ และการบริการ เพื่อให้คู่ค้า และผู้ผลิต มีแนวทางปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามแนวทางการบริหารของบริษัทฯ ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการทบทวนและปรับปรุง จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของผู้ผลิต /จัดหาสินค้า วัตถุดิบ และการบริการ อย่างต่อเนื่อง ให้เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงของการดำเนินธุรกิจ ครอบคลุมประเด็นสิทธิมนุษยชนและแรงงาน ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม และจริยธรรมและการปฏิบัติตามกฎหมาย

นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังมีการบริหารคู่ค้าผ่านระบบที่ทันสมัยและเชื่อมต่อกับคู่ค้าได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการตรวจสอบศักยภาพและติดตามประเมินผลการทำงานของคู่ค้าให้สอดคล้องกับจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของผู้ผลิต /จัดหาสินค้า วัตถุดิบ และการบริการ ซึ่งครอบคลุมประเด็นด้าน ESG อีกทั้งบริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการทำงานอย่างใกล้ชิดกับคู่ค้าในการวางแผนจัดหาวัตถุดิบทดแทนกรณีฉุกเฉินเพื่อความต่อเนื่องของธุรกิจ โดยจัดให้มีการประชุมรายเดือนกับคู่ค้าหลัก ซึ่งวาระการประชุมครอบคลุมถึงแผนการรับส่งวัตถุดิบทั้งระยะสั้นและระยะยาว การวางแผนซ่อมบำรุงโรงงาน ผลการดำเนินงาน และการแก้ไขในกรณีที่พบปัญหา

จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของผู้ผลิต/จัดหาสินค้า วัตถุดิบ และการบริการ (Supplier Code of Conduct)

Supplier Code of Conduct

ร้อยละ

ของคู่ค้ารับทราบและปฏิบัติตามจรรยาบรรณ

การอบรมพัฒนาศักยภาพของพนักงานจัดหา (Company’s Buyers Officer Training)

บริษัทฯ จัดให้มีการอบรมพัฒนาศักยภาพของพนักงานจัดหาเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการทำงานของพนักงาน ให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสื่อสารนโยบาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และการประยุกต์ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงานได้อย่างเป็นระบบ และเหมาะสม สามารถดำเนินกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วโดยใช้องค์ความรู้ และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยได้ดำเนินการในการอบรมพัฒนาศักยภาพ อาทิ

Knowledge Sharing Session

มีการแบ่งปันความรู้ และประสบการณ์ในการดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานในบริษัทในกลุ่ม ปตท. อย่างสม่ำเสมอ อาทิ การแบ่งปันความรู้ผ่านช่องทาง Knowledge Sharing Session เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2565 โดยมีผู้เข้าร่วมในการแบ่งปันความรู้จาก 6 บริษัท เพื่อส่งเสริมให้มีระบบจัดซื้อจัดจ้างที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น รวมไปจนถึงกระบวนการตรวจสอบที่รอบด้าน

การฝึกอบรมหลักสูตร เกณฑ์การประเมินศักยภาพด้านความยั่งยืนของคู่ค้า

เป็นหลักสูตรในการอบรมพัฒนาผู้ตรวจประเมินศักยภาพการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของคู่ค้ากลุ่ม ปตท. (PTT Group ESG Auditor) โดย สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักการพื้นฐานของแนวทางและกระบวนการในการเป็นผู้ตรวจประเมินที่ดี และการประเมินตนเองตามเกณฑ์การประเมินศักยภาพด้านความยั่งยืนของ ปตท. โดยสามารถนำไปปรับใช้หรือบูรณาการเข้ากับกระบวนการตรวจประเมินคู่ค้าแต่ละรายให้สามารถดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

การฝึกอบรมหลักสูตร การจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน (Sustainable Procurement)

เป็นหลักสูตรเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินการตามแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน ตามมาตรฐานสากล ISO 20400 รวมถึงการนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานและลดความเสี่ยงของการจัดซื้อจัดจ้าง

การประเมินความเสี่ยงด้าน ESG ในห่วงโซ่อุปทาน (ESG Risk Screening)

คู่ค้าของบริษัทฯ ประกอบด้วย คู่ค้าที่จัดหาวัตถุดิบ (Feedstock) ให้บริษัทฯ ได้แก่ วัตถุดิบก๊าซคอนเดนเสท และน้ำมันดิบ เป็นต้น ซึ่งมีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นคู่ค้ารายสำคัญ และคู่ค้าประเภทที่ให้บริการอื่นๆ (Non-Feedstock) ได้แก่ ผู้รับเหมา ผู้จำหน่ายเครื่องจักร ตัวแทนจำหน่ายวัสดุและอุปกรณ์ บริษัทจัดการของเสีย บริษัทขนส่งสินค้า เป็นต้น

บริษัทฯ มีกระบวนการคัดเลือกคู่ค้าโดยพิจารณาคัดกรองจากความเสี่ยงที่ครอบคลุมในมิติต่างๆ อาทิ ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและวัตถุดิบ ทั้งในด้านยุทธศาสตร์ การจัดหา ความผันผวนของราคา และการแข่งขันทางธุรกิจ ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาล การเมือง และกฎหมายที่สอดคล้องกับการดำเนินงานในพื้นที่นั้นๆ รวมถึงความเสี่ยงตามกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ประสิทธิภาพในการดำเนินงาน การใช้ทรัพยากร การปล่อยมลพิษ และการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน เป็นต้น

นอกจากการพิจารณาความเสี่ยงข้างต้นแล้ว คู่ค้าของบริษัทฯ ยังต้องผ่านการประเมินความสามารถของคู่ค้าเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่จะขึ้นทะเบียนเป็นคู่ค้าใหม่ (Approved Vender List: AVL) ของบริษัทฯ โดยใช้แบบสอบถามคู่ค้า (Vender Questionnaire) และแบบประเมินคุณสมบัติของคู่ค้า (Vendor Qualification Form) ซึ่งมีเกณฑ์การประเมินความเสี่ยงทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ 1) ความสามารถทางเทคนิค (Technical) 2) ความสามารถในการประกันคุณภาพและการควบคุมคุณภาพ (QA/QC) 3) ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (SHE) และ 4) ข้อมูลทางการค้า (Commercial) รวมถึงการประเมินด้านจริยธรรม การดำเนินการตามกฎหมาย และผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ซึ่งครอบคลุมทั้งความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม การกำกับดูแลกิจการ และความสามารถทางธุรกิจต่อการดำเนินงานของบริษัทฯ โดยเป็นการประเมินผลการดำเนินงานด้าน ESG คิดเป็นร้อยละ 25

การจัดลำดับความสำคัญและบริหารความเสี่ยงของคู่ค้า (Supplier Category Management)

บริษัทฯ มีการบริหารจัดการความเสี่ยงและจัดลำดับความสำคัญของคู่ค้าโดยใช้แบบจำลองการวางตำแหน่งในการเลือกคู่ค้า (Supply Positioning Model: SPM) มาใช้ในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างค่าใช้จ่าย (Spend Analysis) และการประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) ทั้งความเสี่ยงต่อการดำเนินงานของบริษัทฯ และความเสี่ยงด้าน ESG เพื่อใช้ในการจัดทำแผนการบริหารความสัมพันธ์กับคู่ค้าในแต่ละประเภท รวมถึงการติดตาม และตรวจประเมินผลการดำเนินงาน และกำหนดแผนพัฒนาศักยภาพให้แก่คู่ค้าต่อไปทั้งนี้จากการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายและประเมินความเสี่ยงของคู่ค้า บริษัทฯ สามารถจัดลำดับความสำคัญของคู่ค้าออกเป็น 3 ระดับประกอบไปด้วย Strategics Supplier, Key Supplier และ Manage Supplier เพื่อบริหารจัดการความสัมพันธ์กับคู่ค้า (Supplier Relationship Management: SRM) อย่างมีประสิทธิภาพและยกระดับการจัดซื้อจัดจ้าง ดังนี้

ระดับความสำคัญของคู่ค้า คำจำกัดความ การจัดการเชิงกลยุทธ์ เครื่องมือสำหรับการบริหารจัดการ
Strategics Supplier คู่ค้าที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินงานของบริษัทฯ และมีความเสี่ยงสูงในการเกิดผลกระทบต่อตัวคู่ค้าเองและชุมชนโดยรอบ ซึ่งอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อผู้ซื้อทั้งทางด้านธุรกิจและภาพลักษณ์องค์กร พัฒนาความสัมพันธ์และเพิ่มศักยภาพไปในทิศทางเดียวกันเพื่อเพิ่มมูลค่า
  • จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของผู้ผลิต/จัดหาสินค้า วัตถุดิบ และการบริการ (Supplier Code of Conduct)
  • การประเมินตนเอง (Self-Assessment Questionnaire)
  • การตรวจประเมินด้านการดำเนินงานอย่างยั่งยืน (ESG Risk Assessment)
  • การเสริมสร้างศักยภาพคู่ค้า
  • การบริหารจัดการความสัมพันธ์กับคู่ค้า
Key Supplier คู่ค้าที่มีกิจกรรมการดำเนินงานที่ผลิตภัณฑ์กระจายไปสู่ผู้บริโภค ซึ่งมีผลกระทบสูงต่อผู้ซื้อทั้งด้านธุรกิจและภาพลักษณ์องค์กร มีการตั้งเป้าหมายร่วมกันเพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริหาร
  • จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของผู้ผลิต/จัดหาสินค้า วัตถุดิบ และการบริการ (Supplier Code of Conduct)
  • การเสริมสร้างศักยภาพคู่ค้า
Manage Supplier คู่ค้าที่มีกิจกรรมการดำเนินงานส่วนใหญ่ในเชิงปฏิบัติการ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อชุมชนหรือบริเวณใกล้เคียง และมีความเสี่ยงน้อยถึงปานกลางต่อผู้ซื้อ มุ่งเน้นการบริหารสัญญาเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญา
  • จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของผู้ผลิต/จัดหาสินค้า วัตถุดิบ และการบริการ (Supplier Code of Conduct)

การตรวจประเมินการดำเนินงานของคู่ค้า (Supplier Assessment)

บริษัทฯ มีกระบวนการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของคู่ค้าเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ผ่านการประเมินประสิทธิภาพการทำงานรายปี (Yearly Performance Evaluation) เพื่อสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นกับคู่ค้า และให้มั่นใจว่าคู่ค้ามีการดำเนินงานตามจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ (Business Code of Conduct) จรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของผู้ผลิต /จัดหาสินค้า วัตถุดิบ และการบริการ (Supplier Code of Conduct) และไม่ขัดต่อหลักธรรมาภิบาล กฏหมายที่เกี่ยวข้อง ส่งผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม (Environmental Social and Governance :ESG) รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล เช่น ISO9001 ISO14001 ISO45001 เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้เกิดการเติบโตทางธุรกิจร่วมกันอย่างยั่งยืน โดยเกณฑ์การตรวจประเมินคู่ค้าด้านการดำเนินงานอย่างยั่งยืน ESG หากประเมินแล้วเป็นกลุ่มคู่ค้า Critical และมีความเสี่ยงสูงจะถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์

นอกจากระบบการประเมินตนเอง (Self-Assessment Questionnaire: SAQ) แล้ว บริษัทฯ ได้นำระบบแพลตฟอร์มการบริหารจัดการความยั่งยืนในระดับมาตรฐานสากลสำหรับคู่ค้าเพื่อดำเนินการประเมิน และติดตามประสิทธิภาพด้านความยั่งยืน อาทิ Ecovadis มาใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบการดำเนินงานของคู่ค้า รวมถึงมีการตรวจประเมินโดยการเข้าเยี่ยมพื้นที่โดยตัวแทนของพนักงานจัดหาหรือหน่วยงานผู้ใช้งานคู่ค้าโดยใช้แบบฟอร์มตรวจประเมิน “เกณฑ์การประเมินศักยภาพด้านความยั่งยืนของผู้ค้า” ที่มีข้อคำถามสอดคล้องกับการดำเนินงานด้าน ESG ร้อยละ 100 พร้อมกันกับการตรวจรับรองโดยบุคคลที่ 3 หรือหน่วยงานที่ให้การรับรอง (Third Party Site Audit) ตามเกณฑ์ที่บริษัทฯ กำหนดตามประเภทของผลิตภัณฑ์หรือบริการตามมาตฐานสากล เช่น การตรวจประเมิน มาตรฐานแรงงาน สุขภาพและความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม จริยธรรมทางธุรกิจ ตามมาตรฐาน ISO 9001, ISO 14001, ISO 45001 และ SMETA 4 Pillar เป็นต้น เพื่อเป็นการยกระดับการดำเนินการของคู่ค้าให้ได้มาตรฐานอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ในระหว่างการดำเนินงานหรือภายหลังการส่งมอบงาน หน่วยงานผู้ใช้งานคู่ค้าสามารถร้องเรียนและนำเสนอปัญหาที่เกิดจากการใช้งานหรือประเด็นความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ ผ่านกระบวนการ Vender Criticism ได้ หากคู่ค้ารายใดมีข้อร้องเรียนในการดำเนินงาน หรือไม่ผ่านการประเมิน บริษัทฯ จะทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง พิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหา ให้คำแนะนำหรือข้อเสนอแนะ ระบุมาตรการเพื่อการแก้ไขหรือพัฒนา พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาในการแก้ไขที่เหมาะสมกับประเด็นปัญหาและวิธีการแก้ไขร่วมกันกับผู้เกี่ยวข้อง ก่อนที่บริษัทฯ จะทำการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้หากคู่ค้าไม่สามารถดำเนินการตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ได้ บริษัทฯ จะพิจารณาระงับการจัดซื้อจัดจ้างชั่วคราวหรือถอนชื่อออกจากทะเบียนคู่ค้าของบริษัทฯ ต่อไป

โดยมีตัวอย่างข้อเสนอแนะหรือมาตรการเพื่อการแก้ไขหรือพัฒนาการดำเนินงานของคู่ค้า ดังนี้

ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) ข้อเสนอแนะหรือมาตรการเพื่อการแก้ไขหรือพัฒนา
การจัดการสิ่งแวดล้อม (Environmental Management)
  • จัดเก็บข้อมูลการใช้พลังงานในองค์กรอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เช่น การใช้น้า ใช้ไฟฟ้า น้ำมัน เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำผลการดำเนินงานไปเพื่อหาวิธีแก้ไข ป้องกัน ปรากฏการณ์เรือนกระจกต่อไป
  • ฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับพนักงาน มีเอกสารประกอบและมีการบันทึกผลการฝึกอบรมอย่างเป็นระบบ
  • การเก็บข้อมูลผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเอกสารอย่างเป็นระบบ
ประเด็นด้านสังคม (Social) ข้อเสนอแนะหรือมาตรการเพื่อการแก้ไขหรือพัฒนา
การบริหารจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (OHS Management)
  • การเก็บข้อมูลผลการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างเป็นระบบ
  • เพิ่มเติมเวชภัณฑ์และยาเพื่อใช้ในการปฐมพยาบาลให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด และมีการตรวจสอบสม่ำเสมอ
สิทธิมนุษยชน (Human Rights)
  • การจัดทำสัญญาจ้างของพนักงานชั่วคราว
ประเด็นด้านการกำกับดูแลกิจการ (Governance & Economic) ข้อเสนอแนะหรือมาตรการเพื่อการแก้ไขหรือพัฒนา
การปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบ (Compliance with Laws and Regulations)
  • การสื่อสารนโยบายการดำเนินงาน เช่น นโยบายความยั่งยืน นโยบายคุณภาพ สิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัยและความรับผิดชอบต่อสังคม นโยบายการรักษาความลับ ข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน ไปยัง Supply chain ขององค์กร
  • กำหนดแนวทางการปฏิบัติและตัวชี้วัดผลความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่างๆ ที่ได้กำหนดไว้

ผลการตรวจประเมินการดำเนินงานของคู่ค้า (Supplier Assessment Result)

บริษัทฯ ได้ดำเนินการตรวจประเมินการดำเนินงานทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) กับกลุ่มคู่ค้าที่สำคัญในปี 2565 จำนวนทั้งสิ้น 84 ราย โดยพบว่าไม่มีการดำเนินงานที่ละเมิดต่อสิทธิแรงงานหรือสิทธิมนุษยชนหรือละเมิดด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี จรรยาบรรณทางธุรกิจ และไม่มีการร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน จริยธรรม การปฏิบัติตามกฎหมาย หรือจรรยาบรรณทางธุรกิจผ่านกลไกการร้องเรียนของบริษัทฯ (Vender Criticism) นอกจากการประเมินคู่ค้าแล้ว บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการให้คำแนะนำ และสนับสนุนเพื่อพัฒนาศักยภาพคู่ค้าที่ไม่ผ่านการประเมิน และพัฒนาอบรมเพิ่มศักยภาพคู่ค้าเพื่อให้การดำเนินงานของคู่ค้าสอดคล้องกับจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของผู้ผลิต/จัดหาสินค้า วัตถุดิบ และการบริการ (Supplier Code of Conduct) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทานของบริษัทฯ

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบอัตโนมัติมาประยุกต์ใช้ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกระบวนการจัดหาให้สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกแก่พนักงาน ตลอดจนสร้างความเป็นธรรมแก่คู่ค้า อาทิ นำระบบเทคโนโลยี Robotic Process Automation (RPA) โปรแกรมอัตโนมัติที่ทำงานทดแทนพนักงานในการออกใบขอราคา การเปรียบเทียบราคา การออกใบสั่งซื้อ และการส่งใบสั่งซื้อไปยังคู่ค้า ซึ่งส่งผลให้บริษัทฯ มีประสิทธิภาพการทำงานด้านการจัดหาที่เพิ่มขึ้น และใช้ต้นทุนในการดำเนินดำเนินการที่ลดลง โดยสามารถดำเนินการจัดหาได้อย่างรวดเร็ว ลดระยะเวลาในการทำงานลง ลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนวัตถุดิบ มีประสิทธิภาพ และสามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน นอกจากนี้ยังมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาอีก 4 ระบบ คือ

  1. ระบบ Vendor Management System (VMS) เป็นระบบการบริหารจัดการคู่ค้ามาใช้ในการขึ้นทะเบียนคู่ค้ารายใหม่ จัดการข้อมูลผลิตภัณฑ์และบริการที่คู่ค้าได้รับการอนุมัติในทะเบียน
  2. ระบบ AI Spend Analysis เป็นการนำเครื่องมือมาใช้ในการวิเคราะห์มูลค่าการจัดหาเพื่อวางแผนงานจัดซื้อจัดจ้าง
  3. ระบบ Smart Work Request คือระบบการสั่งจ้างงานบริการไปยังผู้รับเหมาที่มีสัญญารายปีกับบริษัทฯ จากเดิมที่มีการเรียกใช้บริการโดยผู้ใช้งานทางเอกสาร มาเป็นเรียกใช้ผ่านระบบออนไลน์ ที่สามารถตรวจสอบจำนวนการเรียกใช้บริการ ค่าใช้จ่าย ได้ทั้งหมดอย่างครบถ้วนและรวดเร็ว
  4. ระบบ New Po Tracking System ระบบนี้จะช่วยติดตามการส่งของตามคำสั่งซื้อที่ได้ดำเนินการออก PO

รวมถึงการเพิ่มช่องทางการสื่อสารโดย แชทบอท (GC P procurement Chat BOT) เพื่อใช้ในการสื่อสาร และตอบคำถามของคู่ค้าได้อย่างฉับไว ลดกระบวนการในการสื่อสารและกระบวนการทำงาน

GC ให้ความสำคัญกับการผลักดันนโยบายการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพ และการมุ่งสร้างความยั่งยืน (Sustainability) เพื่อชีวิตที่ดีกว่า ผ่านการริเริ่มสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลดก๊าซเรือนกระจก และ Sustainable Living ไปพร้อม ๆ กับการตรวจประเมินการดำเนินงานทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) เพื่อการบรรลุเป้าหมายในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานบนพื้นฐานของความยั่งยืน