บริษัทฯ ยกระดับโครงการรับผิดชอบต่อสังคม ให้เป็นโครงการสร้างคุณค่าร่วมกัน (Creating Shared Value: CSV) และวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจ และความเกี่ยวเนื่องกับกลยุทธ์ทางด้านความยั่งยืนในการเพิ่มมูลค่าให้กับชุมชน

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังให้การสนับสนุนโครงการวิสาหกิจชุมชนอื่นๆ อาทิ

โครงการ SMART FARMING BY GC (SMART FARMING BY GC)

โครงการ SMART FARMING BY GC มีเป้าหมายดำเนินโครงการเพื่อสังคม ด้วยการใช้ความเชี่ยวชาญของบุคลากรของบริษัทฯ และกลุ่ม ปตท. มาประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ช่วยลดค่าใช้จ่าย เพิ่มผลผลิต และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน รวมถึงพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรให้สามารถบริหารจัดการผลผลิตให้ได้มาตรฐานและมีการบริหารจัดการกิจการได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังสนับสนุนการต่อยอดการใช้งานผลิตภัณฑ์พลาสติกให้เกิดคุณค่า อาทิ ถุงพลาสติกยืดอายุผักใช้บรรจุผลผลิตที่เก็บเกี่ยวเพื่อจำหน่าย พลาสติกคลุมโรงเรือนที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีน (PE) ซึ่งได้รับการรับรองเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) และถังน้ำพลาสติก InnoPlus ผลิตจากเม็ดพลาสติก LLDPE เกรดพิเศษ โดยดำเนินการใน 3 พื้นที่คือ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กระยอง ในพื้นที่ อ.เมืองระยอง จ.ระยอง วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์หอมมะหาด และวิสาหกิจชุมชนป้าระไฮโดรฟาร์ม ในพื้นที่ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง

การดำเนินงานในสถานคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กระยอง ภายในชื่อโครงการ “สวนผักปันรัก” มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดต้นแบบโครงการเพื่อสังคม ที่พัฒนาทักษะความรู้ การประกอบอาชีพ และทักษะทางสังคม ของน้องๆสถานคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กระยอง เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการปรับตัวสู่สังคมภายนอก และยังมุ่งเน้นแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี Smart Farming เพื่อนำผลผลิตที่มีคุณภาพไปจำหน่าย รวมถึงส่งเสริมทักษะแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ร่วมกับปฐม ออแกนิกส์ ลิฟวิ่ง เพื่อเพิ่มมูลค่า นำไปจัดจำหน่าย เช่น แยมมัลเบอรี่ ชาใบหม่อน พริกแกงสำเร็จรูป และนำรายได้เพื่อสมทบทุนโครงการสวนผักปันรัก สถานคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กระยอง

การดำเนินงานโครงการ SMART FARMING BY GC ในพื้นที่ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง บริษัทฯ ได้นำผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี Smart Farming มาส่งเสริมการเพาะปลูกพืชและผลผลิตทางการเกษตรในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ ให้แก่วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์หอมมะหาด และวิสาหกิจชุมชนป๋าระไฮโดรฟาร์ม ทั้งนี้ยังส่งเสริมให้มีการปลูกพืชสมุนไพรที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดระยอง เร่วหอม ว่านสาวหลง ผักสลัดไฮโดรโปรนิกส์ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตรร่วมกับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มลุฟฟาลา เพื่อการจัดจำหน่ายและสร้างรายได้ ในช่องทางออฟไลน์ โดยออกร้านจัดจำหน่ายภายใต้ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีระยอง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด และ GC Market Place เป็นต้น

จากปี 2565-2566 โครงการ SMART FARMING BY GC สร้างรายได้สู่เยาวชนในสถานคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กระยอง และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนรวมทั้งสิ้น 899,317 บาท เฉลี่ยรายได้เพิ่มจากการจำหน่ายผัก/สมุนไพร 30,000 บาท /เดือน สามารถลดค่าแรงและค่าใช้จ่ายในการทำงานได้ 522,000 บาท

วิสาหกิจเกษตรอินทรีย์หอมมะหาด (Hom Mahat Organic Farming Community Enterprise)

โครงการฟื้นป่า สร้างแหล่งเรียนรู้ วิธีชุมชนยั่งยืน (เขาห้วยมะหาด) ซึ่งริเริ่มในปี 2553 เกิดจากความร่วมมือของ 4 องค์กร ได้แก่ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ชมรมคนรักษ์ป่า ชากลูกหญ้า-เขาห้วยมะหาด และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด มหาชน เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศของผืนป่า ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมในพื้นที่ ส่งเสริมให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่าไม้และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จนนำไปสู่การพัฒนาและจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์หอมมะหาด โดยการนําพืชสมุนไพรที่มีอยู่บนเขาห้วยมะหาด ได้แก่ เร่วหอม และว่านสาวหลง มาให้เกษตรกรในพื้นที่ ปลูกในรูปแบบออแกนิคโดยมีสามพลานโมเดลเป็นที่ปรึกษา จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ อาทิ ชาว่านสาวหลง และน้ำมันเขียว และนําสมุนไพรที่ขยายพันธ์เพิ่มเติมได้กลับปลูกคืนสู่เขาห้วยมะหาด ต่อไป โดยในปี 2566 ได้เกิดรายได้เข้าสู่กลุ่มเป็นจำวนเงินทั้งสิ้น 235,964บาท รายได้สะสม 2565-2566 รวมทั้งสิ้น 323,353 บาท

โครงการธุรกิจเพื่อสังคม ร้านควินินคาเฟ่ วิทยาลัยเทคนิคนิคมอุตสาหกรรมระยอง (Social Enterprise Quinine Cafe' Rayong Industrials Estate Technical College)

บริษัทฯ ร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคนิคมอุตสาหกรรมระยอง พัฒนาแผนกวิชาอาหารและโภชนาการ ต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน และพัฒนาร้านควินินคาเฟ่ของวิทยาลัยฯ ตามแนวทางวิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) โดยวางเป้าหมายการนำวัตถุดิบจากชุมชน อาทิ เช่น เร่วหอม ว่านสาวหลง ใบบัวบก และขิง ที่บริษัทฯ ได้ส่งเสริมให้ชุมชนในพื้นที่ปลูกในรูปแบบออร์แกนิคมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและของฝาก สร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการพัฒนาตำรับอาหารเพื่อสุขภาพ ห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ตลอดจนนำองค์ความรู้ที่ได้ไปบูรณาการหลักสูตรการเรียนการสอน และพัฒนาสินค้าเพื่อสุขภาพ รวมทั้งเผยแพร่องค์ความรู้สู่ประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังด้วย

โดยบริษัทฯ ได้สนับสนุนการแสดงศักยภาพของวิทยาลัยฯ ทั้งด้านการวางแผนธุรกิจ การพัฒนาศักยภาพการประกอบธุรกิจคาเฟ่ และการขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดรายได้สำหรับเป็นทุนการศึกษาให้กับนักเรียนและพัฒนาต่อยอดการเรียนการสอนของวิทยาลัยฯ ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์และบทบาทการเป็นสถาบันการศึกษาที่ปรับตัวเข้าสู่มุมมองใหม่ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความยั่งยืนทางด้านอาหารเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งสถานศึกษาและประชาชนทั่วไปที่สนใจ ยังสามารถติดต่อขอเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นเพื่อนำไปประกอบอาชีพได้ด้วย

ทั้งนี้ ในปี 2566 บริษัทฯ ได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาเมนูอาหารสำหรับคาเฟ่ โดยได้นำเชฟชุมชนจากโครงการเชฟชุมชนชวนกินถิ่นระยอง (ฮิ) มาสอนจำนวน 15 เมนู ให้กับบุคลากรครูและนักศึกษาแผนกวิชาอาหารและโภชนาการ จำนวน 15 คน เพื่อนำมาจำหน่ายภายในร้านให้มีความน่าดึงดูดมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดรายได้รวมจากการที่ GC ได้ให้การส่งเสริมเป็นเงินจำนวน 408.888 บาท โดยคิดเป็น SROI เท่ากับ4.81

โครงการธุรกิจเพื่อสังคม บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีระยอง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด

บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีระยองฯ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2559 ตามนโยบายและแนวทางการดำเนินงานสานพลังประชารัฐของรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐในระดับพื้นที่ ภายใต้หลักการ ภาครัฐ (สนับสนุน) ภาคเอกชน (ขับเคลื่อน) ภาควิชาการ (ให้องค์ความรู้) ภาคประชาสังคม (สร้างความเข้มแข็ง) และภาคประชาชน (ลงมือทำ) ทุกภาคส่วนร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ส่งเสริมพัฒนาความเจริญก้าวหน้าและความเข้มแข็งของชุมชน ส่งผลให้เศรษฐกิจในภาพรวมทั้งประเทศเกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

GC เป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดตั้งบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีระยอง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ดำเนินการในรูปแบบประชารัฐ ด้วยแนวคิดว่าระยองคือบ้านของเรา เมื่อชุมชนอยู่ได้บริษัทก็อยู่ได้ พร้อมทั้งขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้แนวคิด Social Enterprise (SE) มีเป้าหมายหลักเพื่อคืนประโยชน์สู่สังคม สำหรับกำไรจากกิจกรรมของบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีระยองฯ จะนำกลับไปส่งเสริมชุมชน โดยไม่ปันผลกำไรแก่ผู้ถือหุ้น นอกจากนี้ ยังมีการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล และมีการจดทะเบียนเป็นรูปแบบบริษัท ดังนั้น จึงมีการดำเนินงาน 3 ส่วน ประกอบด้วย การเกษตร การแปรรูป (SMEs/OTOP) และการท่องเที่ยวโดยชุมชน

บทบาทที่สำคัญของบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีระยองฯ คือ ขับเคลื่อนการพัฒนากระบวนการเศรษฐกิจฐานราก การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง การส่งเสริมการกระจายสินค้าและสถานที่จำหน่ายสินค้าให้กับผลิตภัณฑ์จากร้านค้าและวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนให้คำปรึกษาในเรื่องธุรกิจการเกษตร ประมง และการท่องเที่ยวครบวงจร เพื่อเพิ่มรายได้และเพิ่มช่องทางการตลาดให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว จนก่อให้เกิดรายได้ แล้วนำรายได้นั้นมาต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนให้เข้มแข็งต่อไป

ผลลัพธ์จากโครงการ

  • ช่วยสร้างรายได้และอาชีพให้แก่ชุมชน โดยการนำผลผลิตทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์ชุมชน และการท่องเที่ยวโดยชุมชน มาสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้หมุนเวียนภายในชุมชน
  • ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนของจังหวัดระยองให้มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับ โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์และมาตรฐาน
  • สร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดระยอง โดยมีการจัดตั้งศูนย์จำหน่ายสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวประจำอำเภอ
  • เป็นตัวอย่างการบริหารจัดการแบบธรรมาภิบาลของวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่ไม่มีการแบ่งปันผลกำไรให้ผู้ถือหุ้น แต่นำไปพัฒนาชุมชนต่อไป

ทั้งนี้ ในปี 2566 บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีระยอง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด มีผลการดำเนินงาน ดังนี้

  1. โครงการไทยช่วยไทย เกษตรกรอยู่ได้ ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนหมอนทองในพื้นที่จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นเกรดพรีเมี่ยมที่ปลูกโดยใช้นวัตกรรมถุงแดงห่อทุเรียน Magik Growth พัฒนาโดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ร่วมกับ EECi ควบคุมคุณภาพผลผลิตทุเรียนได้ดีขึ้น สร้างรายได้สู่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีการให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนจังหวัดระยองจำนวน 100 สวน สร้างโอกาสและช่องทางการตลาดใหม่ๆ ให้สามารถจำหน่ายผลผลิตผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ พร้อมทั้งสนับสนุนการประชาสัมพันธ์นวัตกรรมถุงแดงห่อทุเรียน Magik Growth ด้วย
  2. โครงการ “Young Influencer Challenge Thailand 2023 : ชวน U สร้างรอยยิ้ม” ร่วมกับ กลุ่ม ปตท.และ 10 มหาวิทยาลัย โดยมีนักศึกษา 30 ทีม 137 คน จาก 10 มหาวิทยาลัย พัฒนาแผนการตลาดเพื่อจำหน่ายสินค้าชุมชนในโครงการ “ชุมชนยิ้มได้ โดย กลุ่ม ปตท.” ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีการศึกษาอัตลักษณ์สินค้าจากชุมชนนั้นๆ ร่วมกับเจ้าของสินค้า รวมทั้งวางแผนการตลาด เพื่อให้สินค้าชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น โดยสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ รวมทั้งสิ้น 547,048 บาท