กลยุทธ์ เป้าหมาย และผลการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
เป้าหมาย
- ลดปริมาณการใช้น้ำจืดต่อหน่วยการผลิตลงร้อยละ 10 จากการดำเนินธุรกิจตามปกติในภายปี 2566 เมื่อเทียบกับปีฐาน (ปี 2556)
- ลดการพึ่งพาแหล่งน้ำปัจจุบันลงกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2575
ความท้าทายและโอกาสทางธุรกิจ (Challenges and Opportunities)
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจนำไปสู่ความเสี่ยง การขาดแคลนน้ำใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งอาจทำให้การดำเนินธุรกิจหยุดชะงัก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายและกฎระเบียบต่าง ๆ อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจ ด้วยเหตุนี้ บริษัทฯ กำหนดให้มีการติดตามและประเมินความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนกำหนดกลยุทธ์การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน (One Water Strategy) ที่มุ่งเน้นการกำกับดูแลด้านการบริหารจัดการน้ำ (Governance) การจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน (Water Stewardship) และสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ (Resilience) โดยบริษัทฯ ได้สร้างเครือข่ายร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม อาทิ สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ศูนย์ปฏิบัติการน้ำภาคตะวันออก (Water War Room) และชมรมผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด (Maptaphut Plant Manager Club: PMC) เพื่อร่วมผลักดัน และกำหนดแนวทางและนโยบายการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการที่ยั่งยืน ตลอดจนสร้างความร่วมมือกับชุมชนเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำ
กลยุทธ์การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญของน้ำ โดยส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตลอดจนยึดมั่นในการแสดงความรับผิดชอบและปฏิบัติตามหลักการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ และผู้มีส่วนได้เสียในทุกมิติ
แถลงการณ์การบริหารจัดการน้ำบริษัทฯ จัดทำกลยุทธ์การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน (One Water Strategy) โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในกระบวนการผลิต นำน้ำกลับมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ (Renewable Water) สนับสนุนการลงทุนด้านเทคโนโลยี ปรับปรุงกระบวนการผลิต ตลอดจนการหาแหล่งน้ำสำรอง
การกำกับดูแล (Governance)
การบริหารจัดการน้ำผ่านคณะทำงาน Water Management Taskforce เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ และกำหนดกลยุทธ์การบริหารจัดการน้ำระยะยาว 10 ปี โดยมีเป้าหมายลดการพึ่งพาแหล่งน้ำปัจจุบันลงกว่าร้อยละ 50 เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำสอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต ตลอดจนรักษาขีดความสามารถด้านการแข่งขันทางธุรกิจของบริษัทฯ ควบคู่กับการบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจมีผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน (Water Stewardship)
บริหารจัดการการใช้น้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในกระบวนการผลิต นำน้ำกลับมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ (Renewable Water) รวมถึงสร้างความร่วมมือตลอดโซ่อุปทาน เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อการใช้น้ำอย่างคุ้มค่า (Water Saving) ลดการดึงน้ำจืดจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล (Sea Water Reverse Osmosis: SWRO) และการนำน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ (Wastewater Reverse Osmosis: WWRO) ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อการใช้น้ำจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ
การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ (Resilience)
สร้างเครือข่ายร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเข้าไปมีบทบาทสำคัญ และเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผน และบริหารจัดการน้ำทั้งระดับพื้นที่ และระดับประเทศ เพื่อผลักดันให้เกิดการบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืนตลอดจนร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำ เช่น โครงการฟื้นป่า รักษ์น้ำเขาห้วยมะหาด เป็นต้น
การกำกับดูแลด้านการบริหารจัดการน้ำ
บริษัทฯ กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบในการดำเนินงานด้านการกำกับดูแลด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสม ควบคู่ไปกับการปรับปรุงและรักษาระบบการจัดการทรัพยากรน้ำให้เพียงพอและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายของบริษัทฯ อีกด้วย
ระดับการกำกับดูแล | หน้าที่และความรับผิดชอบ |
---|---|
ประธานกรรมการ |
ประธานกรรมการมีอำนาจสูงสุดในคณะกรรมการบริษัทฯ และเป็นผู้นำในการกำกับดูแลภาพรวมของธุรกิจในประเด็นความเสี่ยงด้านน้ำ อาทิ ผลกระทบต่อกลยุทธ์ด้านน้ำ โอกาสในการบริหารจัดน้ำ และประสิทธิภาพการใช้น้ำ ตลอดจนการแก้ปัญหาวิกฤตด้านน้ำด้วยนวัตกรรมด้านน้ำ โดยคณะกรรมการบริษัทฯ มีหน้าที่ในการรับรองนโยบาย กลยุทธ์ รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้กรอบการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ตลอดจนมีหน้าที่อนุมัติ กำกับดูแล รวมถึงติดตามตัวชี้วัด (KPIs) เป้าหมาย และแผนงานขององค์กร |
คณะกรรมการบริษัทฯ |
คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและการพัฒนาอย่างยั่งยืนและคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการบริษัทฯ และประธานกรรมการอิสระ มีหน้าที่ประเมินและทบทวนประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ได้แก่ ความขัดแย้งของน้ำ ปริมาณการใช้น้ำ และคุณภาพการปล่อยน้ำตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนกำกับดูและการบริหารจัดการน้ำด้านต่างๆ อาทิ ประสิทธิภาพการใช้น้ำ การจัดหาแหล่งน้ำทางเลือก และการลดปริมาณการใช้น้ำ ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทฯ สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับน้ำได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุวัตถุประสงค์ของบริษัทฯ |
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) |
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มีหน้าที่รับผิดชอบการรับรองแผนการบรรเทาความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับน้ำจากการรายงานของที่คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงระดับองค์กร (Enterprise Risk Management Committee: ERMC) นอกจากนี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารยังเป็นประธานโครงการ Rayong Integrated Monitoring (RIM) โดยติดตามความขัดแย้งและข้อกังวลของผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ปฏิบัติการของบริษัทฯ และรายงานผลในรายงานประจำเดือนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกำหนดแผนการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการ และลดความขัดแย้งระหว่างบริษัทฯ กับชุมชนเกี่ยวกับปัญหาด้านการใช้น้ำ |
ทั้งนี้ ในปี 2564 บริษัทฯ ได้ระบุความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงกำหนดมาตรการเพื่อรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าว โดยเปิดเผยรายละเอียดไว้ในเว็บไซต์บริษัทฯ
การบริหารความเสี่ยง และปัจจัยความเสี่ยง
อ่านเพิ่มเติมจากการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพทั้งภายในและภายนอกองค์กร ส่งผลให้ผลการดำเนินงานด้านการบริหาร จัดการน้ำของบริษัทฯ ในปี 2564 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ผลการดำเนินงานด้านบริหารจัดการน้ำ
2561 | 2562 | 2563 | 2564 | |
---|---|---|---|---|
ผลการดำเนินงานด้านบริหารจัดการน้ำ (ลูกบาศก์เมตรต่อตันการผลิต) |
2.02 | 1.94 | 1.85 | 1.98 |