กระบวนการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน
บริษัทฯ มีกระบวนการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน ประกอบด้วย การกำหนดขอบเขตการตรวจสอบ การระบุ ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง การวิเคราะห์ความรุนแรงของผลกระทบและโอกาสที่อาจเกิดขึ้น การกำหนดมาตรการในการบรรเทาผลกระทบ การติดตามและทบทวนผลการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน ขั้นตอนเหล่านี้เป็นการจัดลำดับความสำคัญประเด็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนในองค์กร รวมถึงแนวทางการป้องกัน แก้ไข และเยียวยาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งจัดทำแผนติดตามผลการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานของบริษัทฯ จะไม่ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่คุณค่า
กระบวนการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านของกลุ่มบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล ประกอบด้วยกระบวนการที่มีอย่างระบบและเป้าหมายดังนี้
-
กำหนดขอบเขต : บริษัทฯ กำหนดขอบเขตกระบวนการตรวจสอบทางด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านอย่างชัดเจน เพื่อให้มั่นใจว่าได้ตรวจสอบประเด็นทางสิทธิมนุษยชนครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม ครอบคลุมธุรกิจที่เกี่ยวข้อง (บริษัทร่วมทุน กิจการควบรวม และกิจการที่เข้าซื้อ) หุ้นส่วนทางธุรกิจ (คู่ค้า ผู้รับเหมา และลูกค้า) และชุมชนท้องถิ่น โดยพิจารณาประเด็นสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สิทธิแรงงาน สิทธิชุมชน ห่วงโซ่อุปทาน ความมั่นคงปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และสิทธิผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังครอบคลุมประเด็นทางสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ อาทิ ประเด็นการบังคับใช้แรงงาน การค้ามนุษย์ แรงงานเด็ก เสรีภาพในการสมาคม สิทธิในการร่วมเจรจาต่อรอง ค่าตอบแทนที่เท่าเทียม การเลือกปฏิบัติ และการต่อต้านการคุกคามทั้งที่เกี่ยวข้องกับทางเพศและรูปแบบอื่นๆ
-
ระบุความประเด็นทางสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้น : บริษัทฯ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในการทบทวนการจัดทำแผนที่ความเสี่ยงและแนวโน้มความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในประเด็นสิทธิมนุษชนอย่างเป็นระบบ โดยทบทวนแนวโน้มกระแสโลกและประเด็นทางด้านสิทธิมนุษยชนในกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีในระดับประเทศ ตลอดจนผลกระทบจากสภาวะวิกฤตต่างๆ เพื่อระบุประเด็นความเสี่ยงทางด้านสิทธิมนุษยชนทั้งที่เกิดขึ้นจริงและอาจเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ตลอดห่วงโซ่คุณค่า รวมทั้งแนวทางการพิจารณาประเด็นทางด้านสิทธิมนุษยชนนี้ยังถูกนำไปใช้กับการควบรวมกิจการ การเข้าซื้อกิจการ และการร่วมทุนบริษัทใหม่
-
ประเมินความเสี่ยงทางด้านสิทธิมนุษยชน : บริษัทฯ ประเมินความเสี่ยงทางด้านสิทธิมนุษยชน โดยพิจารณาเกณฑ์ขนาดความรุนแรงของผลกระทบและเกณฑ์โอกาสในการเกิดการละเมิดด้านสิทธิมนุษยชนที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของบริษัทฯ ทั้งในภาพของพื้นที่ปฏิบัติงานและภาพส่วนบุคคล ที่ครอบคลุมผู้ถือครองสิทธิ ประกอบด้วยพนักงานของบริษัทฯ คู่ค้าและผู้รับเหมา ลูกค้า และชุมชนโดยรอบพื้นที่ปฏิบัติงาน รวมถึงกลุ่มเปราะบาง เช่น สตรี เด็ก ชนกลุ่มน้อย ชนพื้นเมือง แรงงานข้ามชาติ แรงงานที่ว่าจ้างผ่านบุคคลที่สาม ผู้พิการ เพศทางเลือก ผู้สูงอายุ และสตรีตั้งครรภ์ ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้กำหนดระดับความรุนแรงของความเสี่ยงทางด้านสิทธิมนุษยชน แบ่งเป็น 4 ระดับ คือ สูงมาก สูง ปานกลาง และต่ำ ซึ่งประเด็นความเสี่ยงทางด้านสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการประเมินอยู่ในระดับปานกลางถึงสูงมากจะมีการพิจารณาทบทวนแนวทางการจัดการของบริษัทฯ ในปัจจุบัน ให้สอดคล้องกับผลการประเมินความเสี่ยงทางด้านสิทธิมนุษยชน
-
กำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน : บริษัทฯ พัฒนามาตรการดำเนินงานเพื่อจัดการประเด็นความเสี่ยงทางด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการลดและควบคุมผลกระทบเพื่อให้อยู่ในระดับต่ำหรืออยู่ในระดับที่ยอมรับได้
-
การติดตามและทบทวนผลการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน : กลุ่มงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องของบริษัทฯ จะทำหน้าที่ติดตามและทบทวนมาตรการทางด้านสิทธิมนุษยชนของบริษัทฯ ในแต่ละประเด็นที่ได้ดำเนินงานไปในทุกๆ ประเด็นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าประเด็นดังกล่าวถูกปรับปรุงและแก้ไขแล้ว
-
การฟื้นฟู : บริษัทฯ มีมาตรการฟื้นฟูทั้งในรูปแบบความช่วยเหลือด้านการเงินและด้านอื่นๆ เพื่อบรรเทาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของบริษัทฯ ที่เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการละเมินสิทธิมนุษยชนทุกกิจกรรม
บริษัทฯ จัดทำคู่มือการควบรวมกิจการและการเข้าซื้อกิจการ (Mergers and Acquisitions: M&A) ที่มีการระบุความเสี่ยงทางด้านสิทธิมนุษยชนในกระบวนการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence Process) ตั้งแต่ก่อนการทำธุรกรรม การเจรจาสัญญา และภายหลังการซื้อขาย