กลยุทธ์และเป้าหมายด้านนวัตกรรม
เป้าหมายในปี 2565 และเป้าหมายระยะยาว (Target)
- เพิ่มร้อยละสัดส่วนของ EBITDA Uplift จากการวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 5 ภายในปี 2568 และ ร้อยละ 10 ภายในปี 2573
- ขยายสัดส่วนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 ของรายได้ของปิโตรเคมีภัณฑ์ของบริษัทฯ ในปี 2573
- รักษาระดับอยู่ใน 10 อันดับแรก ของกลุ่มดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) ด้านการบริหารจัดการนวัตกรรม
ความท้าทายและโอกาสทางธุรกิจ (Challenges and Opportunities)
การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ และการมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions Target) ส่งผลให้บริษัทฯ ต้องเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต ลดการใช้ทรัพยากร พร้อมลดการเกิดและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังจำเป็นที่จะต้องมีการปรับโครงสร้างธุรกิจ (Portfolio) สู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำในระยะยาว พร้อมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ทั้งนี้บริษัทฯ ได้สร้างเครือข่ายพันธมิตรด้านนวัตกรรม เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงและใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงปลอดภัยต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก (Megatrend) และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค
กลยุทธ์การบริหารจัดการด้านนวัตกรรม (Innovation Management Strategy)
นวัตกรรมเป็นปัจจัยที่สำคัญในการสนับสนุนให้บริษัทฯ บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ บริษัทฯ จึงได้ปรับกลยุทธ์การบริหารจัดการด้านนวัตกรรม ประกอบด้วย 3 ด้านหลัก ดังนี้
แนวทาง | รายละเอียด | เป้าหมาย |
---|---|---|
การยกระดับเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (New Technology Uplift) | การประยุกต์ใช้กระบวนการผลิต เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ ที่ล้ำสมัย เพื่อให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพสูงขึ้น อาทิ เพิ่มผลผลิตและควาปลอดภัย ลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย ตลอดจนลดการใช้ทรัพยากร พลังงาน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก | เป็นผู้นำด้านการดำเนินงานในกระบวนการผลิตในระดับ Top Quartile |
การดำเนินงานด้านนวัตกรรมรูปแบบใหม่เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นไปตามความต้องการของตลาด (Market-Focused Innovation) | การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า จากเสียงตอบรับและความต้องการเชิงลึกของลูกค้าและตลาด (Voice of Customer & Voice of Market) เพื่อสร้างความได้เปรียบด้านการตลาดที่แตกต่าง (Market Positioning) และสร้างคุณค่าผ่านผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้า (Value Proposition) | เพิ่มศักยภาพและความโดดเด่นในการแข่งขันในตลาดให้มีศักยภาพเชิงพาณิชย์สูงขึ้น |
การพัฒนาเทคโนโลยีล้ำสมัยผ่านการเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีจากภายนอกอย่างบูรณาการ (Breakthrough Technology via Technology Integrator) | การสร้างเครือข่ายด้านวิจัยพัฒนา และความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยและพัฒนา ลูกค้า พันธมิตร และบริษัท Startup ที่ได้จากการดำเนินงานด้าน CVC และ Technology Intelligence เพื่อลดระยะเวลา ค่าใช้จ่าย และความเสี่ยงในการพัฒนาเทคโนโลยีล้ำสมัย (Breakthrough Technology) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ | โอกาสเติบโตทางธุรกิจรูปแบบใหม่และความยั่งยืน |
ทั้งนี้ แผนการดำเนินงานสำคัญที่ใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนธุรกิจในปัจจุบัน (Business Transformation) สู่ HVB ตามแผนงาน B-to-B Touch C สามารถสรุปได้ดังนี้
Sandbox Project: การทำงานเพื่อให้เกิดการเรียนรู้วิธีการทำงานร่วมกันของแต่ละหน่วยงาน (Cross-Functional Collaboration) เพื่อส่งมอบงานให้เชื่อมต่อกัน (End-to-End) สำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์และการประยุกต์ใช้ผลิตภัณฑ์ในอนาคตให้มีประสิทธิผล (Execution Model)
Platform Management: การนำแนวทางจากการ Execution Model ที่ได้จาก Sandbox มาปรับปรุงและประยุกต์ใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ในลักษณะ Application Platform ภายใต้คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ และนำผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาได้ไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ การวัดผลสัมฤทธิ์ของ Platform Management มาจากยอดขายผลิตภัณฑ์ และ Benefit from Shared Value ที่บริษัทฯ ได้รับจากความร่วมมือกับลูกค้า เป็นต้น