การบริหารความสัมพันธ์และการพัฒนาศักยภาพคู่ค้า
บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์อันดี และร่วมกันพัฒนาศักยภาพในการดำเนินงานบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน โดยการสื่อสารกับหน่วยงานจัดหา รวมถึงหน่วยงานผู้ซื้อ และคู่ค้าผู้รับเหมาอย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนากิจกรรมที่เกี่ยวกับการจัดการห่วงโซ่อุปทานแบบบูรณาการ (Integrated Intelligence Supply Chain Management: IISCM) ที่มุ่งเน้นให้คู่ค้าและผู้รับเหมามีการพัฒนาการจัดการที่ดีเกี่ยวกับความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และการจัดการความเสี่ยงอย่างยั่งยืนโดยมีการดำเนินการ อาทิ การอบรมผู้รับเหมาทุกครั้งก่อนเข้าปฏิบัติงาน การประชุมประจำปีของคู่ค้า และการให้คำแนะนำและวางแผนพัฒนาศักยภาพคู่ค้าที่ไม่ผ่านการประเมินพร้อมทั้งให้การช่วยเหลือ ส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพสูงสุด
การอบรมพัฒนาศักยภาพของพนักงานจัดหา (Company’s Buyers Officer Training)
บริษัทฯ จัดให้มีการอบรมพัฒนาศักยภาพของพนักงานจัดหาเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการทำงานของพนักงาน ให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสื่อสารนโยบาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และการประยุกต์ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงานได้อย่างเป็นระบบ และเหมาะสม สามารถดำเนินกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วโดยใช้องค์ความรู้ และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยได้ดำเนินการในการอบรมพัฒนาศักยภาพ อาทิ

Knowledge Sharing Session
Knowledge Sharing Session มีการแบ่งปันความรู้ และประสบการณ์ในการดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานในบริษัทในกลุ่ม ปตท. อย่างสม่ำเสมอ อาทิ การแบ่งปันความรู้ผ่านช่องทาง Knowledge Sharing Session เพื่อส่งเสริมให้มีระบบจัดซื้อจัดจ้างที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น รวมไปจนถึงกระบวนการตรวจสอบที่รอบด้าน
การฝึกอบรมหลักสูตร เกณฑ์การประเมินศักยภาพด้านความยั่งยืนของคู่ค้า
เป็นหลักสูตรในการอบรมพัฒนาผู้ตรวจประเมินศักยภาพการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของคู่ค้ากลุ่ม ปตท. (PTT Group ESG Auditor) โดย สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักการพื้นฐานของแนวทางและกระบวนการในการเป็นผู้ตรวจประเมินที่ดี และการประเมินตนเองตามเกณฑ์การประเมินศักยภาพด้านความยั่งยืนของ ปตท. โดยสามารถนำไปปรับใช้หรือบูรณาการเข้ากับกระบวนการตรวจประเมินคู่ค้าแต่ละรายให้สามารถดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน


การฝึกอบรมหลักสูตร การจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน (Sustainable Procurement)
เป็นหลักสูตรเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินการตามแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน ตามมาตรฐานสากล ISO 20400 รวมถึงการนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานและลดความเสี่ยงของการจัดซื้อจัดจ้าง
การอบรมพัฒนาศักยภาพของคู่ค้า (Supplier Development)
บริษัทฯ สื่อสาร อบรม และจัดโครงการพัฒนาศักยภาพให้แก่คู่ค้า ทั้งในเรื่องระเบียบปฏิบัติ ทิศทางการดำเนินงานของบริษัทฯ สิทธิมนุษยชน และการสนับสนุนองค์ความรู้เชิงเทคนิค เพื่อยกระดับศักยภาพของคู่ค้าให้สามารถพัฒนาดำเนินธุรกิจให้สอดคล้อง และสอดรับกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ

การประชุมประจำปีของคู่ค้า (Supplier ESG Training)
การประชุมประจำปีของคู่ค้ามีเป้าหมายหลักเพื่อการสื่อสารให้คู้ค้าได้รับทราบเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ แผนการดำเนินงาน ข้อบังคับทางกฎหมาย ตลอดจนกลยุทธ์และทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ รวมถึงกระบวนการคัดเลือก การอนุมัติและขึ้นทะเบียนคู่ค้าใหม่ (Approved Vender List: AVL) การประเมินผล และการติดตามตรวจสอบการดำเนินงาน พร้อมทั้งสื่อสารโครงการ และข้อกำหนดการดำเนินงานด้าน ESG และยังพร้อมทั้งเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อคิดเห็นระหว่างคู่ค้าและ บริษัทฯ เช่น ข้อมูลเกณฑ์มาตรฐาน ESG เทียบกับผู้ดำเนินการในอุตสาหกรรมเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน เพื่อเพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาขั้นตอนการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โครงการอบรมเรื่อง Decarbonization and Road Map
โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้คู่ค้าเห็นความสำคัญในการลดการปล่อยมลพิษ มีการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ และมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง สอดคล้องกับเป้าหมาย Net Zero Target ของบริษัทฯ รวมถึงคู่ค้าสามารถตั้งเป้าหมาย และแผนการดำเนินการของตัวเองได้ โดยมีบริษัทฯ ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด พร้อมสนับสนุนองค์ความรู้ และเทคนิคในการดำเนินการต่างผ่านการฝึกอบรม และโปรแกรมพัฒนาศักยภาพเชิงเทคนิคอื่นๆ เช่น การอบรมการทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Accounting) เพื่อให้คู่ค้าสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีสร้างสัมพันธ์กับคู่ค้า และการอบรมพัฒนาศักยภาพในหลายเรื่องด้วยกัน เช่น อบรมด้านความปลอดภัยก่อนเข้าทำงานของผู้รับเหมา อบรม การใช้ Ariba Network ในการดูและยืนยันใบสั่งซื้อ การอบรมการเสนอราคาผ่าน RPA (Robotic Process Automation) การอบรมมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้อง เช่น ISO 9001 ISO 45001 ISO 14001 และ ISO 50001 รวมถึงการสนับสนุนให้คู่ค้าเข้าร่วมโครงการแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (Collective Action Against Corruption: CAC) เป็นต้น
การสร้างความร่วมมือกับคู่ค้า (Supplier Collaboration)
โครงการความร่วมมือกับบริษัทคู่ค้านั้น บริษัทฯ ได้วางยุทธศาสตร์การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานคู่ค้าหลักร่วมกับ ปตท. นอกจากนี้ บริษัทฯ มีการร่วมมือกับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นคู่ค้าหลัก และบริษัทอื่นๆ ในเครือ ปตท. เพื่อบริหารจัดการระบบการขนส่งทางเรือซึ่งนำมาใช้ในการประกันคุณภาพ เพื่อให้มั่นใจว่า เรือที่ใช้จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์สูงสุดของอุตสาหกรรมด้านการดำเนินงาน ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการดำเนินการเชิงรุกโดยเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารความเสี่ยงเพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ ที่จะทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง
โครงการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน (Oil Industry Environmental Safety Group Association: IESG)
บริษัทฯ ได้วางยุทธศาสตร์การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานคู่ค้าหลักร่วมกับ ปตท. โดยบริษัทฯ เป็นสมาชิกสมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน (Oil Industry Environmental Safety Group Association: IESG) ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ที่จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันเพื่อความเป็นเลิศด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ในฐานะสมาชิกของสมาคม บริษัทฯ มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการป้องกันผลกระทบด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม และให้ความช่วยเหลือในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินกับบริษัทสมาชิกของ IESG บริษัทที่ขอรับความช่วยเหลือ และหน่วยงานราชการ
นอกจากนี้ บริษัทฯ เป็นสมาชิกของ Oil Spill Response Limited (OSRL) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อการรับมือและตอบสนองต่อกรณีการรั่วไหลของน้ำมันที่อาจเกิดขึ้นในทุกแห่งทั่วโลก โดยสมาชิก OSRL ประกอบด้วย บริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า 160 แห่ง ทั้งนี้ บริษัทฯ มีการทำงานร่วมกับ OSRL และมีเป้าหมายที่จะเตรียมพร้อมรับมือต่อเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในมาตรฐานระดับโลก
โครงการอื่นๆ ที่น่าสนใจ
โครงการที่พัฒนาร่วมกับคู่ค้าเพื่อความยั่งยืน
พัฒนาโครงการร่วมกับคู่ค้าเพื่อประหยัดพลังงานในการขนส่งของเสียเพื่อนำไปกำจัด โดยการลดระยะทางในการขนส่ง และหาแหล่งกำจัดที่ใกล้กับบริษัทฯ มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนวัสดุของบรรจุภัณฑ์เพื่อลดการใช้วัสดุและต้นทุน เช่น การเปลี่ยนจาก Steel drum มาเป็น Plastic drum เป็นต้น ในส่วนของการพัฒนาเทคโนโลยีทางบริษัทได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล และนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนาร่วมกันเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงแบ่งปันข้อมูลด้านความปลอดภัยในการทำงานร่วมกัน
โครงการ Group Integration Supply Chain Management and Optimization (GISMO) และ Petrochemicals and Refining Integrated Synergy Management (PRISM)
บริษัทฯ เข้าร่วมกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจการกลั่นกลุ่ม ปตท. โดยมีเป้าหมายในการพัฒนากิจกรรมที่เกี่ยวกับารจัดการห่วงโซ่อุปทานแบบบูรณาการ (Integrated Intelligence Supply Chain Management: IISCM)
เครือข่ายการจัดซื้อภาคตะวันออก (Eastern Procurement Network: EPN)
บริษัทฯ ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของเครื่อข่าย EPN ที่ประกอบไปด้วย 19 บริษัทสมาชิก ซึ่งถือเป็นผู้ซื้อหลักในกลุ่มอุตสาหกรรม โดยสมาชิก EPN มีการแลกเปลี่ยนแนวทางการจัดซื้อและจัดให้มีการอบรมอย่างเป็นประจำเพื่อนำความรู้ไปปรับปรุงผลการดำเนินงานของบริษัทสมาชิก ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการร่วมมือและการเป็นสมาชิก EPN คือ การแลกเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติที่ดีด้านห่วงโซ่อุปทาน การรวมปริมาณการจัดซื้อเพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรอง การสนับสนุนวัสดุที่จำเป็นเร่งด่วน เช่น ชิ้นส่วนอะไหล่ที่เฉพาะเจาะจง (Specific Spare Parts) หรือตัวเร่งปฏิกิริยา (Catalyst) ถือเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management: BCM) ของบริษัทฯ
การสำรวจความพึงพอใจของคู่ค้าต่อการจัดหา (Supplier Satisfaction Survey)
บริษัทฯ สร้างความสัมพันธ์และพัฒนาคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการดำเนินธุรกิจที่อย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ ตลอดจนพัฒนาปรับปรุงระบบการดำเนินงานที่สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและสร้างความพึงพอใจให้แก่คู่ค้า ผลการสำรวจความพึงพอใจของคู่ค้าต่อการจัดการพบว่าคู่ค้ามีความพึงพอใจในระดับดีและดีเยี่ยมอย่างต่อเนื่อง