เป้าหมาย

  • ประเมินศักยภาพองค์กรด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ตามมาตรฐาน BS 8001:2017 ทั่วทั้งกลุ่มบริษัทฯ
  • สร้างความร่วมมือกับเครือข่าย ภาคี หน่วยงานภายนอก เพื่อดูแลผลิตภัณฑ์ตลอดวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ ด้วยกระบวนการรีไซเคิลขั้นสูง และอัพไซเคิล

ความท้าทายและโอกาสทางธุรกิจ

การเพิ่มขึ้นของประชากรโลกส่งผลให้เกิดความต้องการในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การจัดการห่วงโซ่อุปทาน และระบบการจัดการหลังการใช้ทรัพยากรอาจยังไม่มีประสิทธิภาพดีเท่าที่ควร ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรและปัญหาขยะมีมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งนี้ บริษัทฯ พร้อมเป็นต้นแบบในการประยุกต์ใช้ หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ตามมาตรฐานสากล BS 8001: 2017 ในการจัดทำกลยุทธ์หลักของบริษัทฯ ตลอดจน มุ่งดำเนินธุรกิจตามหลัก 5Rs ตลอดห่วงโซ่คุณค่า พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงาน ภายนอก ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาคม เพื่อเป็นการรับมือ ป้องกัน และแก้ไข ปัญหาดังกล่าว ตลอดจนเพื่อสร้างความตระหนักรู้ จัดทำแนวปฏิบัติที่เหมาะสมในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า รวมถึงการบริหารจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ

เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

บริษัทฯ นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาสร้างดุลยภาพการพัฒนาระหว่างด้านเทคโนโลยีกับด้านชีวภาพ ซึ่งหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ การเปลี่ยนวงจรการใช้ทรัพยากรให้มีการหมุนเวียนได้มากที่สุด หรือการเปลี่ยนจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดมาเป็นการใช้ทรัพยากรที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Renewable Resources) หรือนำทรัพยากรที่มาจากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้ว (Re-Material) มาใช้ในกระบวนการผลิต รวมถึงเป็นการลดปริมาณการเกิดของเสียให้น้อยที่สุดตลอดทั้งกระบวนการ

ทั้งนี้ บริษัทฯ บูรณาการหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน 3 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาประสิทธิภาพกระบวนการการผลิตให้ดีเยี่ยม (Smart Operating) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยต่อผู้บริโภค (Responsible Caring) และ การร่วมมือกับพันธมิตรในทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่คุณค่าแบบครบวงจร(Loop Connecting) เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าสูงสุด และลดการเกิดของเสียและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน