บริษัทฯ ได้ร่วมจัดทำแผนและกลยุทธ์การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพกับคณะทำงานบริหารจัดการน้ำของบริษัทในกลุ่ม ปตท. (PTT Group Water Management Team: PTTWT) รวมทั้งดำเนินงานร่วมกับภาครัฐและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายผ่านคณะทำงาน War Room ตลอดจนระบุผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญ และจัดทำแผนงานการจัดการข้อห่วงกังวลของผู้มีส่วนได้เสียดังกล่าว เพื่อวางแผนรองรับการใช้น้ำของทุกภาคส่วนในอีก 20 ปีข้างหน้า (ตั้งแต่ปี 2560 – 2580) นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ผ่านคณะทำงานของสภาอุตสาหกรรม

บริษัทฯ บริหารจัดการน้ำภายนอกองค์กร ผ่านความร่วมมือกับทุกภาคส่วนแบบบูรณาการ และการอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำอย่างยั่งยืน โดยตัวอย่างโครงการที่บริษัทฯ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการฟื้นป่า รักษ์น้ำ เขาห้วยมะหาด โครงการธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด ในพื้นที่จังหวัดระยอง

บริษัทฯ จัดทำโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง สรุปได้ดังนี้

โครงการฝึกอบรมพนักงานด้านบริหารจัดการน้ำ

โครงการ Electro-deionization (EDI) Technology for Water Treatment

บริษัทฯ จัดอบรมให้กับบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ในโรงงาน ให้มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการบำบัดน้ำแบบ Electro-deionization (EDI) Technology เพื่อนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการและลดปริมาณน้ำที่ต้องนำเข้าจากภายนอกได้

โครงการ OZONE Technology for Cooling Water Treatment

บริษัทฯ จัดฝึกอบรมให้กับพนักงานกลุ่มวิศวกรกระบวนการผลิต (Process Engineer) ให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบเทคโนโลยีโอโซน (OZONE Technology) ในการใช้งานสำหรับระบบการบำบัดน้ำหล่อเย็น (Cooling Water Treatment) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ช่วยลดการนำเข้าน้ำจากภายนอกและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและพลังงาน ตลอดจนลดต้นทุนในการดำเนินงานของบริษัทฯ

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังติดตามความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำอย่างสม่ำเสมอ ทั้งด้านความพอเพียงของน้ำ คุณภาพน้ำ การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายโครงสร้างราคาน้ำ และข้อห่วงกังวลของผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อป้องกันข้อขัดแย้งกับชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียที่อาจเกิดขึ้น โดยบริษัทฯ ได้จัดทำมาตรการลดและป้องกันผลกระทบปัญหาด้านน้ำอย่างมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

โครงการความร่วมมือเพื่อปกป้องทรัพยากรทางทะเล (Oceans Protection and Partnership)

ความมุ่งมั่น (Commitments)

GC มุ่งมั่นในการปกป้องทรัพยากรทางทะเล โดยการปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ และการดำเนินโครงการทั้งด้านการอนุรักษ์ รักษาทรัพยากรธรรมชาติ และการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยใช้ความเชี่ยวชาญ และนวัตกรรมของบริษัทฯ รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรหน่วยงานภายในและภายนอก เพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล สร้างความมั่นคงของนิเวศทางทะเล ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญ พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนรอบพื้นที่ปฏิบัติการของบริษัทฯ และสังคมโดยรวม ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินงานให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม

บริษัทฯ ในฐานะองค์กรคาร์บอนต่ำและผู้นำด้านปิโตรเคมีระดับโลก ที่ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัทฯ เห็นความสำคัญของการปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล โดยได้ร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานท้องถิ่น ผู้มีส่วนได้เสีย เช่น บริษัทในกลุ่ม ปตท. การท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ท้องถิ่นจังหวัดระยอง และชุมชนในพื้นที่ เป็นต้น ผ่านการดำเนินโครงการที่หลากหลาย ครอบคลุมในหลายมิติ โดยบริษัทฯ ดำเนินการอย่างใกล้ชิดกับผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ แลกเปลี่ยนข้อมูลและความต้องการ รวมถึงหารือแนวทางในการดำเนินงาน เพื่อป้องกัน อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล รวมถึงแก้ไขปัญหา และสนองตอบต่อความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย เช่น การดำเนินโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลตลอดแนวชายฝั่งระยอง โดยร่วมมือกับกลุ่มประมงพื้นบ้าน และท้องถิ่น เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล สร้างความยั่งยืนแก่ท้องทะเลระยอง และสร้างรายได้ให้แก่ประมงเรือเล็กพื้นบ้าน โดยได้ดำเนินการ สร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลด้วยซั้งกอ ธนาคารปู และการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เป็นต้น

บริษัทฯ ร่วมกับวัดจากแดงและพันธมิตร ดำเนินโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า เพื่อลดปัญหาขยะ รวมถึงสร้างจิตสำนึกในการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งโครงการนี้ มีการนำนวัตกรรมการแปรรูปขวดพลาสติกชนิดใสหรือโพลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) ที่ใช้แล้ว มาผลิตเป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์ เพื่อนำมาทอเป็นผ้าร่วมกับเส้นใยโพลีเอสเตอร์ซิงค์ และเส้นใยฝ้าย ก่อนนำไปตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น จีวร ผ้าห่ม ผ้าพิมพ์ลายไทย รองเท้า เป็นต้น

ในส่วนของการปกป้องทรัพยากรทางทะเล บริษัทฯ ดำเนินโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand ระยะที่ 2 เพื่อสร้างสมดุลของระบบนิเวศ แก้ไขปัญหาขยะในท้องทะเล ภายใต้ความร่วมมือกับมูลนิธิ Ecoalf ผู้ก่อตั้งโครงการ Upcycling the Oceans ร่วมกับพันธมิตร กรมเจ้าท่า (จท.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และ บริษัท ขอนแก่นแหอวน จำกัด (KKF) โดยได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย และแบรนด์ Qualy นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ร่วมมือกับกองทัพเรือ ดำเนินโครงการรักษ์ทะเลไทย ตามแนวพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อมุ่งสร้างความตระหนักในด้านสิ่งแวดล้อมและรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาขยะในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลในประเทศไทยรวมถึงพื้นที่ชายฝั่ง โดยทั้งสองโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งแก้ปัญหาขยะพลาสติกในทะเล นำกลับเข้าสู่ระบบด้วย YOUเทิร์น แพลตฟอร์ม ที่ริเริ่มโดยบริษัทฯ ก่อนนำมาอัพไซเคิล (Upcycle) เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่ม ด้วยกระบวนการและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

โดยในปี 2566 บริษัทฯ สามารถนำขยะจากทะเลและแหล่งน้ำ มากกว่า 126 ตัน ผ่านโครงการต่าง ๆ เข้าสู่ระบบรีไซเคิล และอัพไซเคิล สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนกว่า 2 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทฯ ยังมีกระบวนการติดตามตรวจสอบการดำเนินงานที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างเคร่งครัด และสม่ำเสมอทุก 6 เดือน ตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยมีการรายงานต่อหน่วยงานกำกับดูแล รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สามารถอ่านรายละเอียดการดำเนินงานที่สนับสนุนทางด้านทะเล (Oceans) เพิ่มเติมได้ที่