การเฝ้าระวังความเสี่ยงใหม่
ระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Emerging Risk Monitoring)
บริษัทฯ ติดตามสถานการณ์ และแนวโน้มของปัจจัยภายนอกอย่างต่อเนื่อง ตามหลักการของระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System) แบ่งเป็น 6 ด้าน ตาม PESTEL Analysis Framework
ซึ่งประกอบด้วย มุมมองด้าน Political, Economic, Social, Technological, Environmental และ Legal และให้ความสำคัญกับปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risk) ที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งผลจากระบบเตือนภัยล่วงหน้าจะนำมาจัดทำมาตรการเชิงรุกเพื่อป้องกันความเสี่ยงล่วงหน้า และสร้างโอกาสในการเติบโตให้กับธุรกิจ
ปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ ผลกระทบต่อธุรกิจ และการป้องกัน
(Emerging Risk with Risk Descriptions, Potential Impacts & Mitigations)
บริษัทฯ ได้ตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในอีกสามถึงห้าปีข้างหน้า บริษัทฯ จึงได้วิเคราะห์ประเด็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงผลกระทบต่อธุรกิจและการดำเนินงานของแต่ละปัจจัยเสี่ยง
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้กำหนดมาตรการลดความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ และติดตามความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ทั้งในระยะปานกลางจนถึงระยะยาวอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ และช่วยให้บริษัทฯ สามารถบรรลุเป้าหมายตามกลยุทธ์และทิศทางตามที่กำหนดไว้
ปัจจัยความเสี่ยงจากความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างฉับพลันจากกระแสเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Disruptive Changes in Consumer Behaviors from Low Carbon Economy)
คำอธิบายความเสี่ยง
ปัจจุบันทั้งในภาคเอกชน และภาครัฐให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ โดย รัฐบาลในหลายประเทศมีการปรับนโนบาย และออกกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกและพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-Use Plastic) การสนับสนุนการใช้พลาสติกรีไซเคิล เพื่อลดผลกระทบจากวิกฤตขยะพลาสติกทั่วโลกที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง ซึ่งประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้บริโภคและผู้ประกอบการต่างให้ความสำคัญต่อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตลอดจนความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อบริษัทฯ ในการมีบทบาทในการบริหารจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ และต้องการให้บริษัทฯ มีการเปิดเผยแผนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในอนาคตมากขึ้น
ความเสี่ยงต่อบริษัทฯ
ความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากกระแสเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ส่งผลกระทบต่อบริษัทฯ ทั้งในด้านความต้องการพลาสติกและเคมีภัณฑ์ในรูปแบบเดิมที่ลดลง และการเพิ่มขึ้นของต้นทุน การผลิตที่ต้องดำเนินการให้สอดคล้องตามกฎหมาย กฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น รวมถึงผลกระทบด้านภาพลักษณ์บริษัทฯ ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำของโลก แต่ในขณะเดียวกันปัจจัยดังกล่าวก็เป็นโอกาสทางธุรกิจของบริษัทฯ ในการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ความยั่งยืนที่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคม ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม และยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และ สร้างมูลค่าเพิ่มต่อผู้มีส่วนได้เสียอย่างยั่งยืน
มาตรการรองรับความเสี่ยง
- ลดความเสี่ยงด้านธุรกิจ โดยการปรับลดสัดส่วนการผลิตเม็ดพลาสติกที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทใช้ครั้งเดียว (Single-Use Plastic) เช่น ถุงพลาสติก เป็นต้น และเพิ่มสัดส่วนการผลิตของเม็ดพลาสติกสำหรับสินค้าคงทน หรือกึ่งคงทน ทดแทน
- การปรับ Portfolio สู่ธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์พิเศษที่มีมูลค่าสูง (High Value Business: HVB) มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าสูง (High Value Product: HVP) พลาสติกชีวภาพ และพลาสติกรีไซเคิล เป็นต้น
- มีแผนการขายและการตลาดที่ชัดเจนในการนำเม็ดพลาสติกรีไซเคิล rPET และ rHDPE ที่ผลิตได้จากโรง Plastic Recycling ของบริษัทฯ เข้าสู่ตลาด พร้อมทั้งสร้างทางเลือกที่หลากหลาย ผ่านการร่วมศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจของเทคโนโลยีและการลงทุนพลาสติกรีไซเคิลใหม่ๆ ร่วมกับพันธมิตร
- เพิ่มประสิทธิภาพในทุกกระบวนการ โดยใช้หลัก “5R” และเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อลดการใช้ทรัพยากร และลดการใช้พลังงาน นำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาปรับใช้ เช่น การนำระบบ Solar Rooftop มาใช้ในโรงงานและคลังสินค้า ตลอดจนแสวงหาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำรูปแบบใหม่เพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดของเทคโนโลยีในปัจจุบัน
- ส่งเสริมการใช้พลาสติกฐานชีวภาพทดแทนผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวและนำกลับมาใช้รีไซเคิลได้ยาก โดยบริษัทฯ ได้คิดค้นฉลาก (GC Compostable) สำหรับรับรองผลิตภัณฑ์ที่ใช้เม็ดพลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพของบริษัทฯ เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยอนุญาตให้ใช้ฉลากดังกล่าวกับพันธมิตรของบริษัทฯ เท่านั้น เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์
- ดำเนินงานเพื่อสร้างระบบหมุนเวียนของผลิตภัณฑ์อย่างครบวงจร (Circularity) ด้วยการนำพลาสติกใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลและอัพไซเคิลเพื่อเป็นโมเดลต้นแบบด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับประเทศ ผ่านการประสานงานความร่วมมือและเชื่อมโยงส่วนที่เกี่ยวข้องตลอด Value Chain เช่น การจัดทำ Model การจัดการขยะและสร้างความตระหนักร่วมกับมหาวิทยาลัย โครงการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า โครงการ “แยกขวดช่วยหมอ” โครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” และโครงการ “YOUเทิร์น” เป็นต้น
- สร้างความตระหนักรู้ จุดประกายความคิด และสรรสร้าง แนวทางใหม่เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าให้เกิดประโยชน์ สูงสุด โดยมุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านจากแนวคิดสู่การปฏิบัติจริง (Circular in Action) นำแนวทาง GC Circular Living มาปรับใช้ตั้งแต่ในชีวิตประจำวัน จนถึงการดำเนินธุรกิจ นอกจากนั้น ยังมีการประชาสัมพันธ์ และทำกิจกรรมร่วมกับ ลูกค้าเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ สามารถนำมาต่อยอดตามแนวคิด Circular Economy ได้จริง
ปัจจัยความเสี่ยงจากการปรับตัวเพื่อรับมือวิกฤตภัยพิบัติทางธรรมชาติ (Extreme Weather and Climate Events Adaptation)
คำอธิบายความเสี่ยง
ภัยธรรมชาติที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) เผยว่า ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาภัยพิบัติทางสภาพอากาศ อาทิ น้ำท่วม คลื่นความร้อน ภัยแล้ง มีความถี่การเกิดเพิ่มขึ้น 5 เท่า และความรุนแรงที่สร้างความเสียหายมากขึ้นถึง 7 เท่า ซึ่งภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงขึ้นนี้ จะส่งผลกระทบต่อทรัพย์สิน ตลอดจนความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ หากบริษัทฯ ไม่มีการปรับตัว และเตรียมการรับมือไว้อย่างเพียงพอ
ความเสี่ยงต่อบริษัทฯ
ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีความถี่และความรุนแรงขึ้นอาจส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักทางธุรกิจและกิจกรรมสำคัญของบริษัทฯ รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อทรัพย์สิน และความปลอดภัยของพนักงาน หากบริษัทฯ ไม่มีการปรับตัวและเตรียมการรับมือไว้อย่างเพียงพอ
มาตรการรองรับความเสี่ยง
- บริษัทฯ ฝึกซ้อมแผนการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ ในสถานการณ์สมมุติที่แตกต่างกันไป ทั้งในระดับองค์กร ระดับกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ รวมถึงบริษัทในกลุ่ม เพื่อให้มั่นใจว่าผู้บริหาร และพนักงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับทราบถึงบทบาทหน้าที่ และสิ่งที่ต้องปฏิบัติเมื่อเกิดอุบัติการณ์ขึ้น และช่วยให้สามารถบ่งชี้ถึงข้อบกพร่องต่าง ๆ ในการดำเนินมาตรการสำรอง เพื่อจะได้ทำการปรับปรุงแก้ไขก่อนที่จะเกิดอุบัติการณ์จริงขึ้น
- พัฒนาระบบ Incident Management System (IMS) เพื่อจัดการข้อมูลอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ภาวะฉุกเฉิน ขยายความรุนแรงเป็นภาวะวิกฤต และประกาศใช้แผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ (BCP) โดยผู้บริหารสามารถติดตามสถานการณ์ ดูรายละเอียดของอุบัติการณ์ สถานที่เกิดเหตุ ตลอดจนบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ เพื่อให้ผู้บริหารใช้ประกอบการตัดสินใจและสั่งการได้อย่างเหมาะสม
- จัดให้มีการอบรมหลักสูตร Risk & Disaster Management เพื่อให้พนักงานมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ และเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้น
- ร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาในการประเมินโอกาสการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติในอนาคต และคาดการณ์ผลกระทบทั้งต่อทรัพย์สินและการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับเฝ้าระวังและเตรียมการรองรับสถานการณ์ความเสี่ยงภายใต้สถานการณ์ภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยได้ดำเนินการตามมาตรฐานสากล ภายใต้กรอบของ Task Force on Climate-related Financial Disclosures (TCFD)
ปัจจัยความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (Impacts from Advanced and Deep Technology)
คำอธิบายความเสี่ยง
ปัจจุบันทั้งเทคโนโลยีและเทคโนโลยีดิจิทัลมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ส่งผลกระทบสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์และรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ อาทิ การเติบโตแบบก้าวกระโดดของเครื่องจักรอัตโนมัติ (Automation Machine) เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics) ซึ่งจะสามารถยกระดับประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ แต่ในขณะเดียวกันก็นำมาซึ่งความท้าทายทั้งในบริบทของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล รวมทั้งการเสริมสร้างความสามารถของพนักงานให้สอดรับต่อความก้าวหน้าของเทคโนโลยีใหม่ ๆ นอกจากนี้การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ซึ่งมีความสามารถในการเข้าถึง เรียนรู้ และวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ได้อย่างรวดเร็ว อาจมีความเสี่ยงในเรื่องสิทธิมนุษยชนและจริยธรรม เช่น ผลกระทบต่อการจ้างงาน ผู้รับผิดชอบต่อความผิดพลาด เป็นต้น
ความเสี่ยงต่อบริษัทฯ
จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และอาจทำให้สภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป หากบริษัทฯ ปรับตัวล่าช้าทั้งในบริบทของของเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน พนักงาน และองค์ความรู้ อาจส่งผลทำให้บริษัทฯ สูญเสียโอกาสและความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว รวมทั้งความก้าวหน้าของการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลที่เร่งตัวขึ้นอาจส่งผลให้บริษัทฯ ต้องมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นในการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานหรือรูปแบบการทำธุรกิจ รวมถึงต้องเตรียมความพร้อมด้านทักษะใหม่ ๆ ของพนักงานเพื่อรองรับให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง
มาตรการรองรับความเสี่ยง
- ยกระดับการดำเนินงานด้านนวัตกรรม รวมถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับปรุงพื้นที่ปฏิบัติงานให้ทันสมัย (Modernization & Innovation) พัฒนากระบวนการผลิตให้เป็นแบบ Smart Plant
- ตั้งหน่วยงานและกำหนดแผนการปฏิรูปธุรกิจสู่ความเป็นเลิศ รองรับการปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology Transformation) เพื่อให้บริษัทฯ สามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในอนาคต โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานใน 3 ด้านหลักได้แก่
(1) ด้านธุรกิจ –ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งประเมินผลกระทบและกำหนดมาตรการรองรับสำหรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
(2) ด้านเทคโนโลยี – พัฒนาสถาปัตยกรรมฐานข้อมูล (IT/ Data Architecture) และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภัยคุกคามทางไซเบอร์
(3) ด้านบุคลากร – เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับพนักงาน ให้สามารถสอดรับต่อความก้าวหน้าของเทคโนโลยีใหม่รวมถึงการปรับเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล - กำหนดแผนการดำเนินงานด้าน Digital Transformation ที่ชัดเจน แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
(1) Digitization มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงประสิทธิภาพ และเพิ่มผลผลิตของกระบวนการทำงาน
(2) Digital Transformation of Function (DTF) มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนกระบวนการและวิธีทำงานด้วยเทคโนโลยี และการใช้การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง (Advanced Analytics) และ
(3) Digital Transformation of Business (DTB) ที่สามารถสร้างให้เป็นโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของธุรกิจเดิม - นำการลงทุนด้วยรูปแบบ Corporate Venture Capital (CVC) มาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนกลยุทธ์การเติบโตของบริษัทฯ โดยแสวงหาโอกาสการลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลหรือนวัตกรรมใหม่