01 July 2019

ผ่าแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน จากงาน "Circular Living Symposium 2019 : Upcycling Our Planet"

Share:

ปฏิวัติการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างวงจรหมุนเวียนให้นำกลับมาใช้ใหม่ เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด “Upcycling Our Planet” ผ่านความร่วมมือกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ให้เกิดขึ้นจากทุกภาคส่วนทั่วโลก ในงาน “Circular Living Symposium 2019” ที่จัดขึ้นโดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ร่วมกับ National Geographic โดยมีผู้นำความคิดและนักนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนจากหลากหลายองค์กรทั่วโลกมารวมแชร์ความรู้และมุมมองกันอย่างเข้มข้น

เมื่อระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy) ที่ผลิต ใช้งาน และทิ้ง ที่เคยเป็นวิธีการดำเนินการธุรกิจแบบดั้งเดิมนั้น ไม่อาจใช้ได้อีกต่อไปในสภาวะวิกฤติทรัพยากรโลกปัจจุบัน และจะทำอย่างไรถ้าในขณะเดียวกันผู้บริโภคอย่างเราก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันได้หมดจด หรือแท้จริงแล้ว “พลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย” แค่ต้องใช้อย่างคุ้มค่าและจัดการอย่างถูกวิธี ดังนั้นการขับเคลื่อนสังคมโลกให้เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จึงเกิดขึ้นในหลายมุมโลก

ที่ประเทศไทย ทาง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ได้จับมือร่วมกับ National Geographic จัดงาน “Circular Living Symposium 2019 : Upcycling Our Planet” ขึ้น เพื่อจุดประกายให้เกิดความร่วมมือการนำแนวคิด Circular Economy มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน โดยในงานนี้เราได้พบกับผู้นำความคิดและนักนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนจากองค์กรชั้นนำต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ มาเป็นวิทยากรร่วมแบ่งปันความรู้และมุมมองด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนกันอย่างเข้มข้น ทั้งเวทีใหญ่ในช่วงเช้า และห้องบรรยายย่อยในช่วงบ่าย ที่แบ่งออกเป็น 3 ห้อง พุดคุยในต่างประเด็นกัน ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอเรื่องของเทคโนโลยี และเทรนด์ทางด้าน Bioplastic ในเศรษฐกิจหมุนเวียน เรื่องของแนวคิดการออกแบบที่นำเอา Circular Economy มาใช้มากขึ้นในอุตสาหกรรมสินค้าไลฟ์สไตล์ ส่ิงทอ จนถึงงานสถาปัตยกรรม และเรื่องของไอเดียการนำหลัก Circular Economy มาปรับใช้เป็นโมเดลทางธุรกิจ เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับสตาร์ทอัพรุ่นใหม่

ในปัจจุบันเรื่องของ Circular Economy ไม่ใช่แค่กระแส หรือเป็นประเด็นที่ถูกนำมาหยิบยกพูดถึงแค่บนเวทีระดับโลกเท่านั้น แต่หลายภาคส่วนยังได้เริ่มขับเคลื่อนและลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว เริ่มต้นจากฟินแลนด์ ประเทศแรกที่ประกาศแผน Road Map ของเศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้นในปี 2015 หลังจากนั้นก็ตามมาด้วย 9 ประเทศในสหภาพยุโรป

โดยในห้องประชุมช่วงเช้า เราได้พบกับตัวแทนจากบริษัทบิ๊กเนมระดับโลกอย่าง Coca-Cola บอกเล่าถึงแนวทางยุทธศาสตร์สำคัญของ Coca-cola ทางด้าน Circular Economy ที่เรียบง่ายและลงมือทำได้จริง อย่างการให้ความสำคัญกับการออกแบบเพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เรื่องของการจัดเก็บขยะที่ใช้แล้วกลับมาทั้งหมด และจิ๊กซอว์ที่สำคัญที่สุดคือต้องอาศัยสร้างร่วมมือจากทุกคนในทุกระดับ โดยเมื่อปีที่แล้ว Coca-Cola ได้เปิดตัวโครงการ “World Without Wasted” หรือโลกที่ไม่มีขยะ ผ่านการเริ่มใช้ขวดที่ทำจากพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% ในประเทศออสเตรเลีย ก่อนวางเป้าหมายในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ของสินค้า Coca - Cola ให้สามารถถูกจัดเก็บและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมดในปี 2025

ทางด้านอาเธอร์ หวง (Arthur Huang) นวัตกรชาวไต้หวันเจ้าของคอนเซ็ปต์ “Trash is Sexy” และผู้ก่อตั้งบริษัท Miniwiz นั้น เป็นวิทยากรอีกคนที่มีมุมมองด้าน Circular Economy ที่เฉียบคม โดยนำความรู้ด้านดีไซน์มาผนวกกับเทคโนโลยีสู่การแปรรูปขยะเป็นผลิตภัณฑ์ วัสดุ เฟอร์นิเจอร์ จนถึงงานสถาปัตยกรรมที่น่าทึ่ง ยกตัวอย่างโปรเจกต์ที่น่าสนใจของเขา มีตั้งแต่ การพัฒนาเครื่อง Trashpresso เครื่องอัดและบดขยะพลาสติกรีไซเคิล แล้วขึ้นรูปใหม่เป็นแผ่นกระเบื้อง การออกแบบเก้าอี้ Pentatonic ที่ถูกผลิตขึ้นมาจากขวดรีไซเคิลและขยะบรรจุภัณฑ์ การสร้างผนังบ้านที่ทำมาจากแผ่น CD รีไซเคิล การพัฒนารองเท้าจากวัสดุรีไซเคิลให้กับ Nike และการออกแบบตึก EcoARK ที่สร้างขึ้นจากขวดพลาสติกรีไซเคิลจำนวน 1.5 ล้านขวด เป็นต้น ถือหนึ่งในผู้นำขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่านความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ให้เกิดขึ้นไปทั่วโลก

สำหรับอุตสาหกรรมแฟชั่น ที่สร้างมลภาวะให้กับโลกเป็นอันดับสองรองจากอุตสาหกรรมพลาสติกนั้นจะขับเคลื่อนอย่างไรบ้าง เราได้เห็นตัวอย่างหนึ่งจากแบรนด์เสื้อผ้าและไลฟ์สไตล์สัญชาติสเปนอย่าง Ecoalf เจ้าของวลีที่ว่า “Because There is no planet B” หรือ เพราะเราไม่มีโลกใบที่สอง แบรนด์ที่สร้างสรรค์เสื้อผ้าและแอคเซสซอรี่จากวัสดุรีไซเคิลทั้งหมด โดย Ecoalf ยังเป็นมูลนิธิผู้ก่อตั้งโครงการ “Upcycling The Oceans” ที่เก็บขยะในทะเลมาแปรรูปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ดีไซน์สวยงามและมีคุณค่าด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์บางชิ้นของแบรนด์ก็ทำจากขยะในท้องทะเลของไทยด้วย

ทางด้านประเทศชิลีที่มีปริมาณขยะ 17 ล้านตันต่อปี และมีแค่ 1% เท่านั้นที่ถูกนำมารีไซเคิล ก็ยังมีบริษัท Cristian Lara ก่อตั้งในปี 2015 เพื่อพัฒนาแอพพลิเคชั่น Reciclapp หรือที่เรียกว่าเป็นรถ Uber สำหรับเรียกให้ไปจัดเก็บขยะรีไซเคิลถึงที่ เพื่อนำขยะรีไซเคิลเหล่านั้นไปขายต่อเพื่อสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ก็ยังจัดทำโครงการ RenuevaHP นำปรินเตอร์เก่ามาแยกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรีไซเคิลใหม่เป็นแขนเทียมให้กับเด็กพิการด้วย

นักพัฒนาอีกคนที่มาร่วมงานนี้คือ Lillygol Sedaghat (ลิลลี่กอล เซดาแกต) ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการชอบดื่มชานมไข่มุกของเธอ ก่อนเริ่มต้นขบคิดว่าบรรจุภัณฑ์อย่างแก้วพลาสติกและหลอดส่งผลกระทบอย่างไรในระยะยาว จนเป็นที่มาของการชักนำและแนะแนวคนในชุมชนทั่วโลกที่เธอเดินทางไป ให้เริ่มตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดจากการใช้ในแต่ละวันของคน รวมทั้งแนวคิดที่ว่าทุกอย่างเป็นไปได้ แค่เริ่มต้นที่ตัวเรา โดยในงานครั้งนี้ ลิลลี่กอล ได้พูดคุยกับ Rob Opsomer (ร็อบ ออปโซเมอร์) ผู้อำนวยการโครงการ Systemic Initiative ของมูลนิธิเอลเลน แมคอาเธอร์ ผ่านทางวีดีโอคอล กล่่าวว่าหัวใจสำคัญ 3 ข้อของ Circular Economy เริ่มต้นตั้งแต่ต้นทางการออกแบบที่ไม่สร้างขยะ หรือสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ จากนั้นคือการเก็บผลิตภัณฑ์ไว้ให้เกิดการหมุนเวียนใช้ใหม่ซึ่งเป็นการปิดช่องว่างของวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ และสุดท้ายคือ วัสดุและผลิตภัณฑ์ทุกอย่างจะต้องสร้างประโยชน์อย่างคุ้มค่าที่สุด ไม่ว่าจะนำกลับมาใช้ใหม่ หรือแม้แต่อยู่ในดินที่สามารถใช้ประโยชน์เป็นปุ๋ยได้ รู้หรือไม่ว่าแม้แต่เมล็ดธัญพืชก็ยังมีผู้คิดค้นและพัฒนาให้สามารถเติบโตได้ในดินที่แห้งแล้งและต้องการน้ำน้อย เพื่อลดปริมาณการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้น้อยที่สุด

มาจนถึงองค์กรชั้นนำของไทยอย่างบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ หรือต้นทางในการผลิตพลาสติก ก็ตอกย้ำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยคุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่และกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ GC กล่าวว่า GC มุ่งหมายที่จะยกเลิกการผลิตเม็ดพลาสติกสำหรับการผลิตพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งภายใน 5 ปี (2562-2566) ซึ่งปัจจุบันทาง GC ยังได้พัฒนา Bioplastic หรือพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ขึ้นมาทดแทน รวมทั้งแปรรูปขยะพลาสติกผ่านกระบวน Upcycling ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มได้ อีกทั้งยังได้ร่วมกับพันธมิตรในการจัดหา คัดแยกบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้ว และร่วมกับบริษัท ALPLA เพื่อร่วมลงทุนโครงการผลิตเม็ดพลาสติกหมุนเวียนคุณภาพสูงชนิด rPET และ rHDPE แห่งแรกของประเทศไทย

นอกจากส่วนของวิทยากรแล้ว ภายในงานนี้ยังจัดแสดงตัวอย่างไอเดียการออกแบบผ่านกระบวนการ “Upcycling” ที่มากกว่าแค่ Recycle แต่เป็นการใส่ไอเดียความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ และนำนวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าให้กับขยะจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า ตามนิทรรศการ และบูทต่างๆ ร่วมกับการบริหารจัดการงานให้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่น้อยที่สุด ซึ่งผลสรุปคืองานนี้ยังช่วยลดปริมาณ Carbon Footprint ได้ถึง 26,911 Kg. Co2 (เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ใหญ่ 2,990 ต้น) จากการงดใช้โฟม ลดการใช้กระดาษและพลาสติก การเลือกใช้วัสดุตกแต่งที่นำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จนถึงการใช้ Bioplastic เพื่อนำไปเข้าสู่กระบวนการ Upcycling อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพต่อไป แท้จริงแล้วความสำเร็จของเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาพใหญ่ ก็เริ่มต้นได้จาก “Circular Living” หรือ ไลฟ์สไตล์ที่เราทุกคนสามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน

ที่มา: www.iameverything.co

Feature Stories

Feature Stories
29 November 2021
“LUFFALA” Room Diffuser: Recreation Series Eco-friendly and Good for the Body and Mind
Read More
Feature Stories
30 July 2020
Pierro Panier ตะกร้าจักสานจากพลาสติกรีไซเคิล ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์แม่บ้านยุคใหม่
Read More
Feature Stories
09 August 2019
How to reduce plastic waste by upcycling to monk’s robe
Read More