01 กรกฎาคม 2562

ผ่าแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน จากงาน "Circular Living Symposium 2019 : Upcycling Our Planet"

แชร์:

ปฏิวัติการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างวงจรหมุนเวียนให้นำกลับมาใช้ใหม่ เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด “Upcycling Our Planet” ผ่านความร่วมมือกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ให้เกิดขึ้นจากทุกภาคส่วนทั่วโลก ในงาน “Circular Living Symposium 2019” ที่จัดขึ้นโดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ร่วมกับ National Geographic โดยมีผู้นำความคิดและนักนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนจากหลากหลายองค์กรทั่วโลกมารวมแชร์ความรู้และมุมมองกันอย่างเข้มข้น

เมื่อระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy) ที่ผลิต ใช้งาน และทิ้ง ที่เคยเป็นวิธีการดำเนินการธุรกิจแบบดั้งเดิมนั้น ไม่อาจใช้ได้อีกต่อไปในสภาวะวิกฤติทรัพยากรโลกปัจจุบัน และจะทำอย่างไรถ้าในขณะเดียวกันผู้บริโภคอย่างเราก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันได้หมดจด หรือแท้จริงแล้ว “พลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย” แค่ต้องใช้อย่างคุ้มค่าและจัดการอย่างถูกวิธี ดังนั้นการขับเคลื่อนสังคมโลกให้เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จึงเกิดขึ้นในหลายมุมโลก

ที่ประเทศไทย ทาง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ได้จับมือร่วมกับ National Geographic จัดงาน “Circular Living Symposium 2019 : Upcycling Our Planet” ขึ้น เพื่อจุดประกายให้เกิดความร่วมมือการนำแนวคิด Circular Economy มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน โดยในงานนี้เราได้พบกับผู้นำความคิดและนักนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนจากองค์กรชั้นนำต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ มาเป็นวิทยากรร่วมแบ่งปันความรู้และมุมมองด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนกันอย่างเข้มข้น ทั้งเวทีใหญ่ในช่วงเช้า และห้องบรรยายย่อยในช่วงบ่าย ที่แบ่งออกเป็น 3 ห้อง พุดคุยในต่างประเด็นกัน ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอเรื่องของเทคโนโลยี และเทรนด์ทางด้าน Bioplastic ในเศรษฐกิจหมุนเวียน เรื่องของแนวคิดการออกแบบที่นำเอา Circular Economy มาใช้มากขึ้นในอุตสาหกรรมสินค้าไลฟ์สไตล์ ส่ิงทอ จนถึงงานสถาปัตยกรรม และเรื่องของไอเดียการนำหลัก Circular Economy มาปรับใช้เป็นโมเดลทางธุรกิจ เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับสตาร์ทอัพรุ่นใหม่

ในปัจจุบันเรื่องของ Circular Economy ไม่ใช่แค่กระแส หรือเป็นประเด็นที่ถูกนำมาหยิบยกพูดถึงแค่บนเวทีระดับโลกเท่านั้น แต่หลายภาคส่วนยังได้เริ่มขับเคลื่อนและลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว เริ่มต้นจากฟินแลนด์ ประเทศแรกที่ประกาศแผน Road Map ของเศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้นในปี 2015 หลังจากนั้นก็ตามมาด้วย 9 ประเทศในสหภาพยุโรป

โดยในห้องประชุมช่วงเช้า เราได้พบกับตัวแทนจากบริษัทบิ๊กเนมระดับโลกอย่าง Coca-Cola บอกเล่าถึงแนวทางยุทธศาสตร์สำคัญของ Coca-cola ทางด้าน Circular Economy ที่เรียบง่ายและลงมือทำได้จริง อย่างการให้ความสำคัญกับการออกแบบเพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เรื่องของการจัดเก็บขยะที่ใช้แล้วกลับมาทั้งหมด และจิ๊กซอว์ที่สำคัญที่สุดคือต้องอาศัยสร้างร่วมมือจากทุกคนในทุกระดับ โดยเมื่อปีที่แล้ว Coca-Cola ได้เปิดตัวโครงการ “World Without Wasted” หรือโลกที่ไม่มีขยะ ผ่านการเริ่มใช้ขวดที่ทำจากพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% ในประเทศออสเตรเลีย ก่อนวางเป้าหมายในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ของสินค้า Coca - Cola ให้สามารถถูกจัดเก็บและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมดในปี 2025

ทางด้านอาเธอร์ หวง (Arthur Huang) นวัตกรชาวไต้หวันเจ้าของคอนเซ็ปต์ “Trash is Sexy” และผู้ก่อตั้งบริษัท Miniwiz นั้น เป็นวิทยากรอีกคนที่มีมุมมองด้าน Circular Economy ที่เฉียบคม โดยนำความรู้ด้านดีไซน์มาผนวกกับเทคโนโลยีสู่การแปรรูปขยะเป็นผลิตภัณฑ์ วัสดุ เฟอร์นิเจอร์ จนถึงงานสถาปัตยกรรมที่น่าทึ่ง ยกตัวอย่างโปรเจกต์ที่น่าสนใจของเขา มีตั้งแต่ การพัฒนาเครื่อง Trashpresso เครื่องอัดและบดขยะพลาสติกรีไซเคิล แล้วขึ้นรูปใหม่เป็นแผ่นกระเบื้อง การออกแบบเก้าอี้ Pentatonic ที่ถูกผลิตขึ้นมาจากขวดรีไซเคิลและขยะบรรจุภัณฑ์ การสร้างผนังบ้านที่ทำมาจากแผ่น CD รีไซเคิล การพัฒนารองเท้าจากวัสดุรีไซเคิลให้กับ Nike และการออกแบบตึก EcoARK ที่สร้างขึ้นจากขวดพลาสติกรีไซเคิลจำนวน 1.5 ล้านขวด เป็นต้น ถือหนึ่งในผู้นำขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่านความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ให้เกิดขึ้นไปทั่วโลก

สำหรับอุตสาหกรรมแฟชั่น ที่สร้างมลภาวะให้กับโลกเป็นอันดับสองรองจากอุตสาหกรรมพลาสติกนั้นจะขับเคลื่อนอย่างไรบ้าง เราได้เห็นตัวอย่างหนึ่งจากแบรนด์เสื้อผ้าและไลฟ์สไตล์สัญชาติสเปนอย่าง Ecoalf เจ้าของวลีที่ว่า “Because There is no planet B” หรือ เพราะเราไม่มีโลกใบที่สอง แบรนด์ที่สร้างสรรค์เสื้อผ้าและแอคเซสซอรี่จากวัสดุรีไซเคิลทั้งหมด โดย Ecoalf ยังเป็นมูลนิธิผู้ก่อตั้งโครงการ “Upcycling The Oceans” ที่เก็บขยะในทะเลมาแปรรูปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ดีไซน์สวยงามและมีคุณค่าด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์บางชิ้นของแบรนด์ก็ทำจากขยะในท้องทะเลของไทยด้วย

ทางด้านประเทศชิลีที่มีปริมาณขยะ 17 ล้านตันต่อปี และมีแค่ 1% เท่านั้นที่ถูกนำมารีไซเคิล ก็ยังมีบริษัท Cristian Lara ก่อตั้งในปี 2015 เพื่อพัฒนาแอพพลิเคชั่น Reciclapp หรือที่เรียกว่าเป็นรถ Uber สำหรับเรียกให้ไปจัดเก็บขยะรีไซเคิลถึงที่ เพื่อนำขยะรีไซเคิลเหล่านั้นไปขายต่อเพื่อสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ก็ยังจัดทำโครงการ RenuevaHP นำปรินเตอร์เก่ามาแยกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรีไซเคิลใหม่เป็นแขนเทียมให้กับเด็กพิการด้วย

นักพัฒนาอีกคนที่มาร่วมงานนี้คือ Lillygol Sedaghat (ลิลลี่กอล เซดาแกต) ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการชอบดื่มชานมไข่มุกของเธอ ก่อนเริ่มต้นขบคิดว่าบรรจุภัณฑ์อย่างแก้วพลาสติกและหลอดส่งผลกระทบอย่างไรในระยะยาว จนเป็นที่มาของการชักนำและแนะแนวคนในชุมชนทั่วโลกที่เธอเดินทางไป ให้เริ่มตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดจากการใช้ในแต่ละวันของคน รวมทั้งแนวคิดที่ว่าทุกอย่างเป็นไปได้ แค่เริ่มต้นที่ตัวเรา โดยในงานครั้งนี้ ลิลลี่กอล ได้พูดคุยกับ Rob Opsomer (ร็อบ ออปโซเมอร์) ผู้อำนวยการโครงการ Systemic Initiative ของมูลนิธิเอลเลน แมคอาเธอร์ ผ่านทางวีดีโอคอล กล่่าวว่าหัวใจสำคัญ 3 ข้อของ Circular Economy เริ่มต้นตั้งแต่ต้นทางการออกแบบที่ไม่สร้างขยะ หรือสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ จากนั้นคือการเก็บผลิตภัณฑ์ไว้ให้เกิดการหมุนเวียนใช้ใหม่ซึ่งเป็นการปิดช่องว่างของวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ และสุดท้ายคือ วัสดุและผลิตภัณฑ์ทุกอย่างจะต้องสร้างประโยชน์อย่างคุ้มค่าที่สุด ไม่ว่าจะนำกลับมาใช้ใหม่ หรือแม้แต่อยู่ในดินที่สามารถใช้ประโยชน์เป็นปุ๋ยได้ รู้หรือไม่ว่าแม้แต่เมล็ดธัญพืชก็ยังมีผู้คิดค้นและพัฒนาให้สามารถเติบโตได้ในดินที่แห้งแล้งและต้องการน้ำน้อย เพื่อลดปริมาณการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้น้อยที่สุด

มาจนถึงองค์กรชั้นนำของไทยอย่างบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ หรือต้นทางในการผลิตพลาสติก ก็ตอกย้ำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยคุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่และกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ GC กล่าวว่า GC มุ่งหมายที่จะยกเลิกการผลิตเม็ดพลาสติกสำหรับการผลิตพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งภายใน 5 ปี (2562-2566) ซึ่งปัจจุบันทาง GC ยังได้พัฒนา Bioplastic หรือพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ขึ้นมาทดแทน รวมทั้งแปรรูปขยะพลาสติกผ่านกระบวน Upcycling ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มได้ อีกทั้งยังได้ร่วมกับพันธมิตรในการจัดหา คัดแยกบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้ว และร่วมกับบริษัท ALPLA เพื่อร่วมลงทุนโครงการผลิตเม็ดพลาสติกหมุนเวียนคุณภาพสูงชนิด rPET และ rHDPE แห่งแรกของประเทศไทย

นอกจากส่วนของวิทยากรแล้ว ภายในงานนี้ยังจัดแสดงตัวอย่างไอเดียการออกแบบผ่านกระบวนการ “Upcycling” ที่มากกว่าแค่ Recycle แต่เป็นการใส่ไอเดียความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ และนำนวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าให้กับขยะจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า ตามนิทรรศการ และบูทต่างๆ ร่วมกับการบริหารจัดการงานให้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่น้อยที่สุด ซึ่งผลสรุปคืองานนี้ยังช่วยลดปริมาณ Carbon Footprint ได้ถึง 26,911 Kg. Co2 (เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ใหญ่ 2,990 ต้น) จากการงดใช้โฟม ลดการใช้กระดาษและพลาสติก การเลือกใช้วัสดุตกแต่งที่นำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จนถึงการใช้ Bioplastic เพื่อนำไปเข้าสู่กระบวนการ Upcycling อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพต่อไป แท้จริงแล้วความสำเร็จของเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาพใหญ่ ก็เริ่มต้นได้จาก “Circular Living” หรือ ไลฟ์สไตล์ที่เราทุกคนสามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน

ที่มา: www.iameverything.co

Feature Stories

Feature Stories
18 พฤษภาคม 2563
4 New Normal ..สิ่งที่จะเปลี่ยนไปหลัง COVID-19
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
28 มีนาคม 2563
นวัตกรรมฝีมือคนไทย หน้ากากอนามัยแบบซักได้ จากผ้าผสมเส้นใยพลาสติก
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
19 กุมภาพันธ์ 2562
กระเป๋าเป้ Upcycling the Oceans ฮอตไม่แพ้เสื้อ ผลตอบรับดีเกินคาด Sold Out ภายในวันเดียว
อ่านเพิ่มเติม