02 กรกฎาคม 2562

ไฮไลท์มุมมองจากผู้นำความคิดและนวัตกรด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน จากงาน “Circular Living Symposium 2019”

แชร์:

แม้งาน “Circular Living Symposium 2019: Upcycling Our Planet” ที่จัดขึ้นโดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ร่วมกับ National Geographic จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่มุมมมองความรู้และประสบการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่วิทยากรชั้นนำได้มาร่วมถ่ายทอดนั้น ยังคงสร้างแรงกระเพื่อมทางความคิดให้ผู้ฟังในงานอย่างเราไม่รู้จบ เกิดความคิดตระหนัก ต่อยอด ลงมือปฏิบัติ และปฏิวัติตัวเอง ที่จะนำไปสู่การ ‘ปฏิวัติการใช้ทรัพยากร’ ที่มีอยู่อย่างจำกัด และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมบนโลกเพียงใบเดียวที่เราอยู่ร่วมกัน EVERYTHING จึงสรุปประเด็นสำคัญจากผู้นำความคิด และนักนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนชั้นนำจากทั้งในไทยและต่างประเทศที่มาร่วมงาน ให้ผู้อ่านได้แนวทางและแนวคิดสำคัญ ที่สามารถนำวิถี Circular Living ไปปรับใช้ในไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน

1. คุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่
บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC

ในฐานะผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ที่อยู่อุตสาหกรรมต้นทาง GC มุ่งมั่นที่จะยกเลิกการผลิตเม็ดพลาสติกชนิดที่ใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง อย่างเช่น พวกถุงหูหิ้ว ปีละ 1.5 แสนตัน ภายใน 5 ปี (ปี 2562-2566) เพื่อช่วยลดปริมาณขยะพลาสติก โดยพร้อมจะหันไปเพิ่มการผลิตพลาสติกวิศวกรรม เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตในอนาคต เช่น ชิ้นส่วนต่างๆ ของรถยนต์ ท่อ สายไฟเคเบิ้ล เป็นต้น พร้อมสร้างการตระหนักถึงการคืนกลับขยะอย่างไรให้กลับมาสร้างมูลค่าในทุกครั้งที่ใช้ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนและใช้อย่างเต็มคุณค่า โดย GC ได้นำนวัตกรรม Upcycling เข้าไปแก้ปัญหาขยะพลาสติก ด้วยการแปรรูปและใส่ไอเดีย สร้างสรรค์และดีไซน์ให้กลับมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า ตั้งแต่สินค้าแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ จนไปถึงสถาปัตยกรรม

นอกจากนี้ทางฝั่งพลาสติกที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งอยู่ในหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ ภาชนะ ถุง และหลอด เป็นต้น หากเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกเหล่านั้นได้ทั้งหมด แล้วเราจะทำอย่างไร? ทาง GC จึงได้พัฒนา Bioplastic หรือพลาสติกที่ผลิตมาจากพืชและสามารถย่อยสลายได้ โดยเป้าหมายของ GC คือการพัฒนาประสิทธิภาพของ Bioplastic และขับเคลื่อนความต้องการในตลาดเพิ่มขึ้น

2. คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต
กรรมการมูลนิธิเพื่อสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
และกรรมการอำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย

“เราต้องปฏิรูปการใช้ทรัพยากร เพื่อเพิ่มความสามารถในการสร้างความเจริญรุ่งเรือง โดยใช้ต้นทุนน้อยลง” บนเวที Symposium คุณหญิงทองทิพ ชี้ว่า “เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นอาวุธสำคัญที่เราจะใช้ในการปฏิวัติทรัพยากรครั้งนี้”

แนวทางเริ่มต้นตั้งแต่การปรับเปลี่ยนทัศนคติ และใช้แนวคิดเชิงนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดจากสิ่งที่มีอยู่ โดยวิธีการหมุนเวียนนำกลับมาใช้ได้ใหม่นั้นจะยิ่งสร้างคุณค่าให้กับสิ่งนั้น

โดยกรอบความคิดที่ธุรกิจจะต้องคำนึงถึงเพื่อนำไปสู่การปฏิวัติทรัพยากรนั้น คุณหญิงทองทิพนำเสนอตั้งแต่การมี Building Block และระบบขั้นตอนการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน ตั้งแต่แหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ การลดการสร้างของเสียและขยะ การทดแทนทรัพยากรธรรมชาติ (ที่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ใช้ปริมาณทรัพยากรน้อยลง) การใช้ประโยชน์สูงสุด (Obtimization) และการนำกลับมาใช้ใหม่โดยใช้การออกแบบ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่เป็นวงจร (หมุนเวียน)

โดยในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เราได้นำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชากรที่เพิ่มมากขึ้น มากถึง 5 หมื่นล้านตันต่อปี มากเกินกว่าที่โลกจะรองรับได้ถึงกว่า 400 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นโลกจึงถึงจุดที่พลิกฟื้นไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ทำให้เราจึงต้องปรับการใช้ทรัพยากรใหม่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม

“หยุดการใช้ทรัพยากรที่มากเกินไป (Over-consumption) และลดสิ่งที่ก่อให้เกิดการผลิตขยะและของเสีย ซึ่งต้องเริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการออกแบบ” เดิมทีเราอาจรู้จักแต่รีไซเคิล แต่ปัจจุบันต้องเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ กระบวนการผลิต ไปจนถึงในขั้นตอนการใช้ โดยใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้ามาเป็นคำตอบ

“ถ้าเราเริ่มในวันนี้ เราจะสามารถสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับคนของเรา โดยมีต้นทุนต่ำกว่า ใช้ทรัพยากรน้อยกว่า และมีส่วนทำให้โลกของเราน่าอยู่และยั่งยืนขึ้น”

3. Stuart Hawkins
Coca-Cola, Thailand

Coca-Cola เริ่มลงมือปฏิบัติตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ตั้งแต่ต้นปี 2018 ที่ผ่านมา โดยได้เปิดตัวโครงการ “World Without Wasted” หรือโลกที่ไม่มีขยะ โดยให้ขยะนำกลับมาเพิ่มคุณค่าได้ ซึ่งเป้าหมายใหญ่ของ Coca - Cola ในปี 2030 คือต้องการเก็บ และรีไซเคิล บรรจุภัณฑ์กระป๋องหรือขวด Coca-Cola ที่ขายไปให้ได้ทั้งหมด นอกจากนี้ยังมุ่งมั่นออกแบบให้บรรจุภัณฑ์ของสินค้า Coca - Cola สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมดภายในปี 2025 โดยได้เริ่มต้นแล้วในบางประเทศ อย่าง ยุโรป ละตินอเมริกา และเอเชีย เช่น ในประเทศออสเตรเลีย ขวดน้ำดื่ม Viva และขวดน้ำอัดลม Coca-cola นั้นทำจากพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% โดยยุทธศาสตร์สำคัญของ Coca-cola ในทศวรรษข้างหน้าในเรื่อง Circular Economy ได้แก่ เรื่องของการออกแบบให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้ เรื่องของการจัดเก็บขยะที่ใช้แล้วกลับมาทั้งหมด รวมถึงการสร้างร่วมมือให้เกิดขึ้นในทุกระดับ

4. Arthur Huang
Founder & Chief Executive Officer, Miniwiz, Taiwan

เจ้าของวลี “Trash is Sexy” กล่าวถึงเรื่องการแปรรูปขยะด้วยนวัตกรรม ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์ จนถึงงานสถาปัตยกรรม หนึ่งในนวัตกรรมจาก Miniwiz คือ Trashpesso เครื่องอัดและบดขยะพลาสติกรีไซเคิลให้เป็นชิ้นกลายเป็นแผ่น ผ่านกระบวนการลดขนาด ทำให้สะอาด และสร้างรูปทรงใหม่ให้กับวัสดุรีไซเคิล โดยเครื่องนี้ใช้พลังงานจากโซลาร์เซล ใช้พลังงานต่ำ และใช้น้ำน้อย สามารถพกพาเดินทางไปได้ทุกที่ เครื่องนี้ยังติดตั้ง Air Filter และ Water Filter ไว้ เพื่อไม่ให้ปล่อยสารพิษสู่น้ำและอากาศระหว่างกระบวนการขึ้นรูป นอกจากนี้ยังได้ร่วมทำงานกับองค์กรต่างๆ และเป็นส่วนหนึ่งของผู้นำขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนไปทั่วโลก

5. Lukas Hoex
Strategic Growth Manager, DSM Niaga, Netherlands

มันสมองของ DSM Niaga องค์กรชีววิทยาศาสตร์และวัสดุศาสตร์ระดับโลก ที่มุ่งขับเคลื่อน Circular Economy พร้อมทั้งรับหน้าที่ดูแลการตลาดให้กับ Niaga ธุรกิจใหม่มาแรงของประเทศเนเธอร์แลนด์ ประเทศที่การรีไซเคิลเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงค์ชีวิต และประชากรของที่นี่ถูกปลูกฝังให้รู้จักการรีไซเคิลตั้งแต่เล็ก

ซึ่ง Niaga คือบริษัทที่รีดีไซน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มาจากการขยะหรือเศษวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพรม กระเบื้อง ฟูกที่นอน โดยใช้เทคโนโลยีที่ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องทำให้การรีไซเคิลไม่ได้เป็นแค่ กระบวนการหนึ่งในการผลิตแต่มันคืออุตสาหกรรมและส่งผลต่อการใช้ชีวิตของชาวเนเธอร์แลนด์มาก คอนเซปท์ “No End” เป็นการยืนยันได้ว่าแต่ละผลิตภัณฑ์จะสามารถนำกลับมาใช้และแปรรูปเกิดเป็นสิ่งใหม่ได้แบบไม่รู้จบ

ผลิตภัณฑ์จาก Niaga ตอบโจทย์ในด้านไลฟ์สไตล์และดีไซน์ รวมทั้งความยืดหยุ่นในการใช้งาน ถึงแม้ว่าวัสดุที่ใช้ในการทำหรือสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่จากมาจากขยะ แต่ก็มีความทนทาน แข็งแรง และเหมาะกับสภาพอากาศ ด้วยระบบการจัดการที่ดีตั้งแต่ต้นทางผนวกกับเทคโนโลยีที่พร้อมด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลและความร่วมมือของนักวิจัย และที่สำคัญที่สุดก็คือประชากรในประเทศ

6. คุณชเล วุทธานันท์
กรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการด้านการออกแบบ
แบรนด์ PASAYA บริษัท เท็กซ์ไทล์ แกลลอรี่ จำกัด

ในขณะที่บริษัทสิ่งทอในประเทศไทยอย่าง PASAYA คุณชเล วุทธานันท์ ได้กล่าวถึงธุรกิจของ PASAYA ใน 10 ปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งจุดประสงค์ขององค์กรที่เข้าไปสนับสนุนมูลนิธิเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เขามองว่าการทำธุรกิจ คืองานหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจคงอยู่ แต่เราจะคืนให้สังคมอย่างไร การคืนให้แก่สังคมเป็นหน้าที่ของเจ้าของธุรกิจนั้นๆ

สิ่งที่ต้องยอมรับคือ การทำธุรกิจสิ่งทอในปลายทางแล้ว ก็ส่งผลกระทบบางอย่างต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว เพราะปริมาณเส้นใยสังเคราะห์หรือไฟเบอร์ที่ต้องใช้ในการทำผ้าม่านหรือพรมแต่ละชิ้นแต่ละผืน นับว่ามีจำนวนมหาศาล ดังนั้นเขาจึงเล็งเห็นการ Re-Material ซึ่งสอดคล้องกับไอเดียของ Hoex และทำอย่างไรในผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีอายุการใช้งานนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมทั้งไม่ลืมที่จะหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้เพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพของคนใช้ เป็นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และตอบโจทย์นวัตกรรมการดีไซน์ในยุคนี้ได้ เรียกได้ว่าทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ PASAYA ปฏิบัติเป็นนโนบายขององค์กรมาโดยตลอด

7. คุณทวี อนันตรัตน์
กรรมการผู้จัดการ บริษัท เบสท์ โพลิเมอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

นำเสนอการนำวัตถุเหลือใช้ที่ได้จากธรรมชาติหรือการเกษตรมาทำเป็นไม้พลาสติกสังเคราะห์และนำไปทำเป็นโครงสร้างและสถาปัตยกรรมที่ดูสวยงาม เราแทบจะแยกไม่ออกเลยว่านี่คือแผ่นไม้ที่ผลิตมาจากเศษวัสดุเหลือใช้ ขณะเดียวกันในฐานะผู้ผลิตอุปกรณ์พลาสติก แน่นอนว่าพลาสติกยังเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตและเศรษฐกิจในมุมของมหาภาค "พลาสติกไม่ใช้ผู้ร้าย" หากเราเข้าใจและช่วยกันนำกลับเอามาใช้ใหม่อย่างเป็นรูปธรรม โดยคุณสมบัติของไม้พลาสติกสังเคราะห์นี้ก็จะมีคุณภาพแตกต่างกันไปตามประเภทของพลาสติกที่ถูกแยกก่อนผ่านกรรมวิธี และส่วนผสมอีกอย่างที่สำคัญมากก็คือเศษต่างๆ จากการทำเกษตรกรรม เช่น แกลบ ชานอ้อย หรือหญ้าป่าน เพราะแทนที่เอานำเศษเหล่านั้นไปเผาทำลายก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ คุณทวีกล่าวว่าเขาได้ศึกษาค้นขว้าจนพบสูตรที่ลงตัวในการทำให้ไม้เทียมนี้มีความสมบูรณ์มากขึ้น

8. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
นักสมุทรศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญทางทะเลที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

แม้ปริมาณขยะมีเพียง 1 ใน 10 เท่านั้นที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ ที่เหลือจมลงสู่ก้นบึ้งสู่พื้นทะเล และสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในวันนี้ทางด้าน “Circular Living” แม้จะเป็นเพียงการลดปริมาณขยะเกิดใหม่ในท้องทะเล โดยไม่สามารถกำจัดกองขยะเก่าที่ทับทมสะสมใต้ท้องทะเลลงไปได้ แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องทำเพื่อให้สิ่งที่คาดการณ์ไว้ในปี 2050 ไม่เกิดขึ้นจริง นั่นคือประมาณขยะทั่วโลกมากกว่าประมาณปลาในทะเล

“พลาสติกร้ายกว่าก๊าซเรือนกระจกเสียอีก” ดร. ธรณ์กล่าว ทั้งยังได้แสดงถึงกราฟปริมาณขยะพลาสติกที่ขาดการจัดการอย่างถูกต้อง (Unmanaged plastic waste) ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกนั้น จีนยังคงมาเป็นอันดับหนึ่งของประเทศที่น่าเป็นห่วงในด้านการจัดการขยะ รองลงมาคือประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศไทยก็ติดอันดับ 1 ใน 10 ด้วย

ด้วยเหตุนี้ในประชุมสุดยอดอาเชียนครั้งที่ 34 (ASEAN SUMMIT) ในเดือนมิถุนายน 2019 ที่ผ่านมา จึงเกิดความคืบหน้าสำคัญทางด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยในที่ประชุมได้รับรองปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งยังเป็นการยอมรับด้วยว่านาโนพลาสติก หรือไมโครพลาสติกนั้นส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์และความปลอดภัยของอาหาร ดังนั้นในปัจจุบันนี้เรื่องของปัญหาขยะพลาสติกจึงไม่ใช่แค่เป็นกระแสที่ถูกนำมาพูดถึงเท่านั้น อีกทั้งในมิติคณะรัฐมนตรีก็ยังเห็นชอบให้แบนการใช้ถุง กล่อง และแก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในปี 2565 ปัญหาคือ Road Map นี้จะเป็นจริงได้หรือไม่ สิ่งสำคัญคือ องค์กรต่างๆ และประชาชนทุกคน ต้องร่วมมืออย่างจริงจัง

“Plastic isn’t the problem, It’s what we do with it” หรือ “ขยะไม่ใช่ผู้ร้าย แค่ต้องใช้อย่างคุ้มค่า” เป็นหนึ่งในประเด็นแนวคิดสำคัญของงานนี้

ที่มา: www.iameverything.co

Feature Stories

Feature Stories
04 สิงหาคม 2563
[The Cloud] 8 ไอเท็มแฟชั่นสุดชิคที่ Upcycling มาจากพลาสติกฝีมือดีเนอร์ชาวไทย
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
22 สิงหาคม 2562
Infinity Trash เปรม พฤกษ์ทยานนท์ ลูกชายครอบครัวธุรกิจรับซื้อขยะ อดีตเด็กชายที่ฝันอยากเป็นหมอ ผู้โตมาเป็นวิศวกร แล้วผันตัวมาเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
30 ตุลาคม 2561
GC จับมือ TCDC สร้างนิทรรศการ Yes, Plastic! Things to Rethink: เมื่อพลาสติกต้องคิดใหม่ เสนอมุมมองใหม่ในการเลือกใช้พลาสติกให้มีมูลค่าและดีต่อโลก
อ่านเพิ่มเติม