การวิเคราะห์ความอ่อนไหว
บริษัทฯ นำเครื่องมือการวิเคราะห์ความอ่อนไหว หรือ Sensitivity Analysis และเครื่องมือการทดสอบภาวะวิกฤต หรือ Stress Testing มาประยุกต์ใช้ เพื่อประเมินผลกระทบของความเสี่ยงภายใต้สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ (Possible Assumption) และวางแผนมาตรการเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับต่อสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ผลการดำเนินงานทางด้านการเงินในระยะยาว
ผลกระทบจากสถานการณ์และปัจจัยภายนอกต่อผลการดำเนินงานทางด้านการเงิน และการกำหนดแผนกลยุทธ์
บริษัทฯ ติดตามสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน และมีการจำลองสถานการณ์ต่าง ๆ ในการวิเคราะห์ความอ่อนไหว โดยพิจารณาปัจจัยภายนอกที่สำคัญ เช่น แนวโน้มระดับโลก (Megatrends) สถานการณ์ความขัดแย้งทางด้านรัฐศาสตร์การเมือง (Geopolitics Tensions) กฎระเบียบและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพื่อระบุสถานการณ์และผลกระทบที่เป็นไปได้จากปัจจัยความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ
บริษัทฯ ทำการทดสอบภาวะวิกฤต โดยพิจารณาจากการจำลองสถานการณ์ที่เป็นไปได้ต่างๆ เพื่อนำมาประเมินผลกระทบต่อแผนธุรกิจ และแผนกลยุทธ์ระยะยาวขององค์กร โดยกำหนดให้มีการติดตาม ทบทวน และอัพเดทสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ
การบริหารจัดการน้ำ
บริษัทฯ วิเคราะหความอ่อนไหวกรณีภัยแล้ง โดยการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำของอ่างเก็บน้ำหลักที่สำคัญโดยพิจารณาจากสมมติฐานปริมาณน้ำฝน ปริมาณการใช้น้ำ และการใช้แบบจำลองเพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำของพื้นที่ตั้งโรงงานต่างๆ ของบริษัทฯ พร้อมทั้งเตรียมมาตรการบรรเทาผลกระทบ เช่น การตั้งคณะทำงานเพื่อดูแลและติดตามสถานการณ์น้ำ จัดทำแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจในการลดปริมาณการใช้น้ำ และการจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมหากเกิดวิกฤตภัยแล้ง โดยความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
การบริหารจัดการการปล่อบก๊าซเรือนกระจก
บริษัทฯ ทำการวิเคราะห์ความอ่อนไหว โดยพิจารณาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโครงการลงทุนใหม่ ๆ และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานในปัจจุบันเทียบกับเป้าหมาย เพื่อประเมิน Gap และนำไปกำหนดเป้าหมายและแนวทางการบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละกลุ่มกิจกรรมของบริษัทฯ
โดยบริษัทฯ ได้กำหนดแนวทางในการบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การส่งเสริมโครงการที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการพิจารณาการดำเนินงานที่เกี่ยวกับพลังงานทางเลือก รวมถึงเชื่อมโยงสู่การบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น
การวิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันบนสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมภายใต้การเปลี่ยนแปลงและความเข้มข้นของการดำเนินนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน เพื่อระบุผลกระทบสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยใช้การวิเคราะห์สถานการณ์จำลอง (Qualitative and Quantitative Climate-Related Scenario Analysis) ผ่านแบบจำลอง เช่น IEA NZE 2050, IEA STEPS, RCP2.6, RCP4.5, RCP8.5 เป็นต้น เพื่อนำมากำหนดสมมติฐาน ตั้งเป้าหมาย และกำหนดกลยุทธ์ทิศทางการดำเนินธุรกิจให้สามารถปรับตัว และตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียได้อย่างเหมาะสม
การประมาณผลกระทบต่อผลประกอบการด้วยแบบจำลองทางการเงิน (Financial Simulation Model)
การวิเคราะห์ความอ่อนไหว (Sensitivity Analysis) และทดสอบภาวะวิกฤติ (Stress Test) ในปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะมีอิทธิพลต่อกำไรสุทธิขององค์กร โดยใช้แบบจำลองทางการเงินเพื่อพิจารณาผลกระทบต่อกำไรสุทธิจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยสำคัญ เช่น อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ราคาน้ำมันดิบ และราคาสินค้าหลัก เป็นต้น เพื่อนำมากำหนดมาตรการรองรับในการ บรรเทาหรือลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น