17 สิงหาคม 2564

เมื่อไบโอพลาสติก ไม่ได้ย่อยสลายได้เสมอไป!!? วิธีสังเกตไบโอแท้หรือไบโอเทียมแบบง่ายๆ

แชร์:

ทราบกันดีอยู่แล้วว่า 'พลาสติก' นั้น มีคุณสมบัติพิเศษที่วัสดุชนิดอื่นให้ไม่ได้ ทั้งเรื่องของความเหนียวทนทาน กันน้ำได้ และราคาถูก ทำให้พลาสติกกลายเป็นหนึ่งในวัสดุสำคัญที่นำมาใช้ผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น Single-use Plastic ชนิดที่ขาดไม่ได้เลยทีเดียว

แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะตัวพลาสติก แต่เป็นผู้ใช้อย่างเราๆ นี่แหละที่ไม่ได้มีการจัดการขยะอย่างถูกต้อง การแยกขยะตั้งแต่ต้นทางอย่างถูกวิธี หรือมีการนำมาใช้ซ้ำอย่างคุ้มค่า ทำให้เกิดอีกหนึ่งนวัตกรรมที่เรียกว่า พลาสติกชีวภาพ หรือ ไบโอพลาสติก (Bioplastic) ที่นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้ง่ายและดียิ่งขึ้น ไม่ต้องกังวลกับการจัดการขยะอีกต่อไป

เพราะ ไบโอพลาสติก ผลิตขึ้นมาจากน้ำตาลจากพืชอย่าง อ้อย ข้าวโพด เพื่อทดแทนการใช้พลาสติกที่ผลิตจากน้ำมันปิโตรเลียมแบบเดิม ด้วยคุณสมบัติสำคัญคือสามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพ เมื่ออยู่ในสภาวะที่เหมาะสม ช่วยลดปัญหาในการย่อยสลายที่ใช้เวลานาน

แต่จำเป็นต้องทำเครื่องหมายดอกจันไว้ตัวใหญ่ๆ ว่า ในปัจจุบันมีการแอบอ้างพลาสติกธรรมดาๆ ที่ผลิตจากปิโตรเลียม ว่าเป็นไบโอพลาสติก โดยมักจะระบุว่าเป็น ไบโอพลาสติก หรือ พลาสติกย่อยสลายได้ แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงการใส่สารเติมแต่ง (Additive) เพื่อให้พลาสติกธรรมดาๆ แตกตัวให้เล็กลงจนมองไม่เห็น แต่กลายเป็นไมโครพลาสติกปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เรียกง่ายๆ ว่าเป็น 'ไบโอพลาสติกเทียม' นั่นเอง ส่วนวิธีการแยกแยะว่าเป็น ไบโอแท้หรือไบโอเทียม มีข้อสังเกตอย่างไร ลองไปติดตามกัน

ชนิดของไบโอพลาสติก

ก่อนอื่นเลยลองมาทำความรู้จักชนิดของไบโอพลาสติกแต่ละประเภทกันก่อน

Biodegradable Plastic คือคำกว้างๆ ที่ใช้นิยามพลาสติกชีวภาพ ที่มีคุณสมบัติในการย่อยสลายได้ แต่ไม่ได้มีการกำหนดมาตรฐาน หรือระยะเวลาที่แน่นอนในการย่อยสลาย

Compostable Plastic คือพลาสติกชีวภาพที่ผ่านการรับรองมาตรฐานในการย่อยสลาย รวมถึงระยะเวลาในการย่อยสลายประมาณ 6 เดือน ด้วยเงื่อนไขและปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ทั้งแบคทีเรีย อุณหภูมิ อากาศ และความชื้น ทำให้สามารถย่อยสลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ สารประกอบอินทรีย์ และมวลชีวภาพ ขณะเดียวกันยังมีอีกประเภทคือ Home Compostable Plastic หรือ พลาสติกที่ย่อยสลายทางชีวภาพในครัวเรือน ซึ่งมีเงื่อนไขด้านสภาพแวดล้อมที่ไม่แน่นอน ทำให้ระยะเวลาการย่อยสลายอยู่ที่ประมาณ 1 ปี และที่สำคัญสามารถย่อยสลายได้ 100% ไม่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อมแน่นอน

OXO Biodegradable Plastic คือพลาสติกธรรมดาที่ผลิตจากปิโตรเลียม แต่มีการใส่สารเติมแต่งมาผสม เมื่อได้รับปัจจัยเร่งอย่างแสงแดด ก็จะแตกตัวออกเป็นไมโครพลาสติกชิ้นเล็กๆจนอาจมองไม่เห็น ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้ย่อยสลายหายไปไหน แต่ยังปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม เรียกว่าเป็น ไบโอพลาสติกเทียม นั่นเอง

วิธีสังเกต ไบโอแท้หรือไบโอเทียม

ใช้วิธีการสังเกตง่ายๆ บนบรรจุภัณฑ์จะมีการระบุชนิดของพลาสติกและเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน

ไบโอแท้ มีฉลากยืนยันวัตถุดิบ Compostable มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสากล คือASTM D6400, ISO17088, และ มอก.17088 เท่านั้น

ไบโอเทียม มีฉลากยืนยันวัตถุดิบ OXO Degradable, Degradable, EDP มักอ้างอิงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน ASTM D5511

รู้จัก GC Compostable เครื่องหมายการันตีคุณภาพไบโอพลาสติก

เมื่อได้รู้วิธีสังเกตบรรจุภัณฑ์ไบโอพลาสติกชนิดต่างๆ กันไปแล้ว มีอีกหนึ่งมาตรฐานที่สามารถรับรองคุณภาพได้ว่าเป็นไบโอพลาสติกของแท้แน่นอน คือเครื่องหมายฉลาก GC Compostable หรือฉลากยืนยันวัสดุ ว่าผลิตจากเม็ดพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ (Compostable Plastics) ที่ GC หรือ บริษัทในกลุ่ม ผลิตขึ้นมาเอง และมีการรับรองคุณภาพการผลิตจากพันธมิตรผู้ประกอบการ เป็นหนึ่งในมาตรฐานที่แสดงถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมพลาสติกที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

เรียกว่าเห็นเครื่องหมายนี้บนบรรจุภัณฑ์เมื่อไร การันตีได้ถึงคุณภาพของไบโอพลาสติกที่เป็นของแท้ 100% และสามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพ กลายเป็นปุ๋ยให้ดิน น้ำและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยไม่ก่อให้เกิดไมโครพลาสติกแน่นอน เพราะเรื่องของปัญหาขยะพลาสติกและสิ่งแวดล้อม เริ่มต้นง่ายๆ แค่เลือกใช้ให้ถูกต้อง และใช้มันอย่างคุ้มค่า

Feature Stories

Feature Stories
13 พฤศจิกายน 2563
GC พัฒนานวัตกรรมดูแลชีวิตคนไทย สร้างความยั่งยืน เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม [ Brand Inside ]
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
22 ตุลาคม 2563
โซลาร์ชนิดลอยน้ำทะเล นวัตกรรมพลังงานทางเลือกยั่งยืน ที่เป็นมิตรต่อทุกสิ่งแวดล้อม [The Momentum]
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
02 มิถุนายน 2563
เปลี่ยนของเสียในโรงงานผลิตถ้วยพลาสติก ให้เป็นของแต่งบ้านสุดเดิร์น “WFH” อย่างมีสไตล์ ไปกับโครงการ Upcycling Upstyling
อ่านเพิ่มเติม