Feature Stories
จีวร Upcycling จากขยะพลาสติก วิธีลดขยะพลาสติกฉบับพระสงฆ์ที่ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยการแปรรูป ‘พลาสติก’ ให้เป็น ‘จีวร’
‘โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติระบุ ไทยติดอันดับ 6 สร้างขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก’
‘แม่เต่ามะเฟืองตาย ผ่าท้องเจอถุงพลาสติกอุดตันทางเดินอาหาร’
‘ทีมนักวิทยาศาสตร์ UN เตือน เหลือเวลาป้องกันหายนะจากโลกร้อนเพียง 12 ปี’
ท่ามกลางข่าวพลาสติกที่ถาโถมมาในหน้าฟีดราวคลื่นทะเลลูกโตๆ เราซึ่งเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ยังต้องพึ่งพาอาศัยโลกใบนี้ได้แต่คิดกลับไปกลับมาหลังอ่านข่าวว่า ในฐานะประชากรของโลก เราช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้ยังไงบ้าง?
ปลูกต้นไม้ ลดใช้หลอดและถุงพลาสติก พกแก้ว พกปิ่นโต พกถุงผ้า ใช้ขนส่งสาธารณะ เราทำอะไรได้อีก?
10 ปีก่อน พระมหาประนอม ธมฺมาลังฺกาโร รองเจ้าอาวาสวัดจากแดง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ วัดเล็กๆ แห่งคุ้งบางกะเจ้าก็เกิดคำถามเดียวกันนี้จากการเห็นขยะพลาสติกลอยเกลื่อนเต็มตลิ่งวัด
กวาดทิ้งก็แล้ว เก็บไปขายก็แล้ว แต่มันก็รู้สึกว่าไม่มีอะไรดีขึ้นไปกว่าเดิม พลาสติกก็ยังลอยล้นตลิ่งเพิ่มขึ้นทุกวันๆ ในเวลานั้นท่านเกิดคำถามกับตัวเองว่า
“ในฐานะพระสงฆ์รูปหนึ่ง อาตมาช่วยกำจัดขยะได้ยังไงบ้าง”
คำถามเล็กๆ นั่นเองที่เป็นแรงผลักดันให้รองเจ้าอาวาสแห่งวัดจากแดง ค้นหาวิธีลดขยะพลาสติกในแบบฉบับของพระสงฆ์ จนเกิดเป็น ‘จีวรรีไซเคิล’ หนึ่งเดียวในเมืองไทย ซึ่งท่านตั้งใจทำเพื่อลดโลกร้อนและสอนผู้คนให้เข้าถึงแก่นธรรมะผ่านขยะพลาสติก
นมัสการพระอาจารย์เล่าให้ The Cloud และผองเพื่อนฟังว่าเรื่องราวมันเป็นมายังไง
01 พระพุทธเจ้า ผู้ริเริ่มการรีไซเคิลจีวร
“เจริญพร ถ้าให้อาตมาเล่าเรื่องนี้มันต้องเริ่มที่พระพุทธเจ้านั่นล่ะ ท่านทรงเป็นต้นแบบการรีไซเคิลมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว”
พระมหาประนอมเล่าว่า แรกเริ่มเดิมทีในสมัยพุทธกาลจีวรของพระสงฆ์เกิดจากการที่พระพุทธเจ้าทรงนำผ้าที่ทิ้งตามกองขยะหรือผ้าห่อศพมาอธิษฐานขอใช้ผ้าเหล่านี้ทำเป็นจีวร เรียกว่า ‘การชักผ้าบังสุกุลจีวร’ แล้วนำผ้าเหล่านั้นมาซัก ย้อมด้วยน้ำด่างเพื่อฆ่าเชื้อ และเย็บเป็นจีวร
เมื่อจีวรเริ่มเก่าพระพุทธองค์จะนำจีวรผืนเก่ามาใช้ปูนอน ผ้าปูนอนของเก่านำไปทำเป็นผ้าเช็ดเท้า ส่วนผ้าเช็ดเท้าผืนเก่าเอาไปผสมดินเหนียวฉาบทากุฏิ เหล่าพระสงฆ์ก็ใช้จีวรตามแนวทางนั้น คือการใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดเท่าที่ผ้า 1 ผืนจะทำได้
“เราจะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ทรงเป็นต้นแบบการรีไซเคิลมาตั้งแต่แรกแล้ว จีวร 1 ผืนสามารถใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดจนสิ้นอายุขัยของมัน ซึ่งทางวัดก็พยายามดำเนินรอยตามในแก่นคำสอนนี้ เพราะ 10 ปีที่แล้ววัดมีปัญหาเรื่องขยะเพราะวัดเก่าวัดแก่ ทรุดโทรม อยู่ติดแม่น้ำ น้ำพัดขยะเข้ามาเต็มไปหมด
“เริ่มแรกเราเก็บไปทิ้งมีหน่วยงานมาช่วย แต่บางครั้งนานๆ มาทีสุนัขก็คุ้ยขยะเกลื่อนกลาด เราก็ชวนพระในวัดมาทำความสะอาด ด้วยมุมมองพระวินัยในพระไตรปิฎก พระสงฆ์มีหน้าที่ทำความสะอาดวัด ในพระสูตรถ้าเราทำความสะอาดวัดจะได้อานิสงส์ 5 อย่าง มนุษย์รักใคร่ เทวดารักใคร่ มีความสุขใจได้ทำตามคำสั่งสอน สุดท้ายวิมานบนสวรรค์เกิดรอ และในพระอภิธรรมปิฎกถ้าเราไม่ทำความสะอาดแล้วเราไปปฏิบัติธรรม มันก็เป็นเครื่องกังวล เกิดความคาใจ นั่งสมาธิก็ฟุ้งซ่าน พระทั้งวัดก็ช่วยกันทำ
“หลังจากนั้นทางวัดเริ่มเก็บเศษอาหารมาทำปุ๋ยและทำแก๊ส แต่พวกขยะพลาสติกที่ลอยมาติดริมตลิ่งนี่สิ เราไม่รู้เลยว่าจะทำอะไรกับมันได้บ้าง ช่วงแรกๆ ก็เผาทิ้ง แต่มันเยอะ ควันอีก คิดว่าไม่เหมาะ เลยไปหาเครื่องทำน้ำมัน คือเอาพลาสติกมานึ่งทำน้ำมันอยู่พักหนึ่ง แต่เครื่องไม้เครื่องมือมันเล็ก ไม่ทันสมัย พลาสติกหายหมดได้น้ำมันนิดเดียว มันไม่คุ้ม ได้น้ำมันเกรดต่ำ อาตมาและทางวัดเลยหาทางออกว่าจะเอาพลาสติกไปทำอะไรให้คุ้มที่สุด คือคิดในฐานะพระสงฆ์กลุ่มหนึ่งว่าพวกอาตมาจะทำอะไรกับพลาสติกได้อีกบ้าง”
ในช่วงที่พระมหาประนอมปรึกษาหาวิธีการกับผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชน มีโครงการ ‘OUR Khung BangKachao’ ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือ 34 หน่วยงาน รวมถึงมูลนิธิชัยพัฒนา และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด หรือ GC ที่ต้องการพัฒนาคุ้งบางกะเจ้าให้เป็นต้นแบบสีเขียวและแก้ปัญหาขยะในชุมชน รวมถึงพัฒนาวิถีชีวิตความเป็นอยู่และการเติบโตทางเศรษฐกิจของคนในท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้น
วัดจากแดงจึงสมัครเข้าร่วมโครงการ เริ่มแรกเป็นการนำขยะพลาสติกไปชั่งกิโลขาย โดยทาง GC ช่วยติดต่อบริษัทต่างๆ มาซื้อขยะจากวัด แต่บังเอิญว่าในวันหนึ่งมีโยมท่านหนึ่งมาถวายสังฆทานที่วัด และเล่าว่าเสื้อยืดที่ใส่อยู่แปรรูปมาจากพลาสติก
“โยมคนนั้นเล่าว่าพลาสติก 12 ใบทำได้เสื้อยืด 1 ตัว อาตมาเลยคิดว่าถ้าพลาสติกเอามาทำเสื้อยืดได้ ก็ต้องทำจีวรได้สิ เลยลองถามทีม GC ว่าโยมทำได้มั้ย เสื้อยืดตัวมันเล็ก มันไม่ร้อน แต่จีวรผืนมันใหญ่ ลองทำยังไงให้มันบาง เบา นุ่ม ซักง่าย ลองทำดูมั้ย ทางทีมเขาก็ตกลงทันที”
02 UPCYCLING จีวร
หลังจากนั้นทางวัดและทาง GC จึงแบ่งหน้าที่กันผ่านโมเดลต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ
กล่าวคือ ทางวัดทำหน้าที่เป็นต้นน้ำ เก็บรวบรวมขยะ นำมาทำความสะอาด และอัดเป็นก้อน เพื่อส่งต่อให้
กลางน้ำ คือ GC ที่จะนำก้อนพลาสติกเข้าโรงงานผลิตผ้าม้วน ผ่านกระบวนการ Upcycling หรือ การชะลอการเกิดขยะ ด้วยการนำนวัตกรรมและไอเดียเข้ามาแปรรูปเพิ่มมูลค่าให้ของเหลือใช้ เพื่อให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่
โดยนำขยะขวดน้ำพลาสติกมาแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติก ผสานกับเส้นใยโพลีเอสเตอร์ เรยอน (Polyester Rayon) เส้นใยฝ้าย และเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ซิงค์ แอนตี้แบคทีเรีย (Polyester Zinc Antibacterial) ที่สามารถป้องกันแบคทีเรีย ลดกลิ่นอับ มีความนุ่ม โปร่งสบาย ก่อนจะนำไปย้อมสีราชนิยมตามพระวินัย
แล้วส่งม้วนผ้ามาให้ ปลายน้ำ คือทางวัดตัดเย็บจีวรตามพระวินัย และจัดจำหน่ายจีวรในร้านสังฆทานและส่งให้ตัวแทนจำหน่ายต่างๆ
จากขยะพลาสติกที่เคยลอยมาเกลื่อนเต็มตลิ่ง ในที่สุดขวดเหล่านี้ 15 ขวด ก็สามารถผลิตจีวรรีไซเคิลได้ 1 ผืน
03 จีวรพลาสติกเปลี่ยนชีวิตคนในชุมชน
“มาถึงวันนี้การทำโครงการนี้ได้อานิสงส์หลายอย่างนะ ที่เห็นชัดเจนคือคนในชุมชนมีงานทำ โดยวัดพยายามสงเคราะห์คนพิการ คนตกงานไม่รู้จะไปไหนให้มีงานทำ วัดจ่ายค่าแรงเต็มที่ เขาก็มาช่วยคัดแยกขยะ ตัดเย็บ มันมีออร์เดอร์เข้ามาเยอะนะ เราก็ทำไม่ทันหรอก
“อานิสงส์อีกอย่างเหมือนเราได้ร่วมกำจัดขยะพลาสติกไปด้วยกัน เพราะทุกวันนี้ขยะทางชุมชนนี่มันไม่พอ มีคนส่งขยะมาบริจาคกันอย่างน้อย 10 คันรถต่อวันจากทั่วประเทศ ส่งมาทาง Kerry ส่งมาทางไปรษณีย์วันหนึ่งร้อยกว่ากล่อง และเรามีรถไปรับขยะจากที่ต่างๆ ด้วยไม่ว่าจะเป็นที่ประชุมสัมมนา โรงพยาบาล เราไปรับถึงที่ มันเหมือนเราได้ลดขยะไปด้วยกันทั้งหมดนะ ไม่ใช่แค่ที่วัดเราอย่างเดียว”
อย่างไรก็ตาม พระมหาประนอมเล่าว่า ถึงวันนี้ก็ยังมีเสียงต่อต้านอยู่บ้างจากพระสงฆ์บางกลุ่มที่ไม่เข้าใจเรื่องการนำพลาสติกมาแปรรูปเป็นจีวรรีไซเคิล เพราะเข้าใจว่าจีวรเหล่านี้ขาดคุณสมบัติตามพระไตรปิฎก แต่พระอาจารย์ยืนยันว่าจีวรพลาสติกนั้นสามารถใช้ห่มได้โดยไม่ขัดกับหลักคำสอน
“เพราะในพระไตรปิฎกกล่าวว่า ผ้าที่ใช้ทำจีวรต้องประกอบด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่งต่อไปนี้ ได้แก่ เปลือกไม้ ผ้าป่าน ผ้าฝ้าย ผ้าทอจากทุกอย่างมารวมกัน พลาสติกอยู่ในกลุ่มภังคะ คือทุกอย่างผสมกัน เพราะพลาสติกมาจากปิโตรเคมี ปิโตรเคมีมาจากซากพืชซากสัตว์คือภังคะ อีกทั้งจีวรรีไซเคิลจากพลาสติกเหล่านี้ผสมกับผ้าฝ้าย ซึ่งยังคงตามคุณสมบัติทุกประการ
“ทางวัดก็ยังอยากทำโครงการนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพราะความตั้งใจจริงๆ ของอาตมาคือการเอาขยะมาสอนคนนะ จริงๆ มันไม่ใช่แค่ขยะภายนอกหรอกที่เราต้องจัดการ อาตมาต้องการให้ทุกคนได้ลองคัดแยกและแปรรูปขยะในชีวิต
“เพราะร่างกายของเราเป็นโรงผลิตขยะ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เสลด นี่ขยะทั้งนั้น และขยะในใจ เช่น ขี้โมโห ขี้ลืม ขี้อิจฉา ขี้เกียจ เราเอาออกได้ ถ้าขี้โมโหเราเอาออกด้วยการเจริญเมตตา ขี้หลงขี้ลืมเอาออกด้วยการเจริญสติ ถ้าขี้เหนียวเอาออกด้วยทานกุศล ถ้าเราคัดแยกแปรรูปขยะภายใน นิพพานสมบัติหรือความสงบในใจก็รอเราอยู่”
นอกจากการแปรรูปพลาสติกเป็นจีวร ขณะนี้ทางวัดจากแดงจัดทำหนังสือ วิชาสิ่งแวดล้อมจากพระไตรปิฎก เพื่อให้พระสงฆ์เรียนทุกวันศุกร์ และเข้าร่วมกับโครงการ ‘วัดประชารัฐสร้างสุข’ ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ชวนวัดในเมืองไทยมาดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านแนวทาง 5 ส. คือสะสาง สะดวก สะอาด สร้างมาตรฐาน สร้างวินัย เพราะเชื่อว่าการแก้ปัญหาโลกร้อนเป็นความรับผิดชอบของคนทุกคนนั่นเอง
“ในมุมมองอาตมาก็คิดว่าโลกเรากำลังวิกฤตจริงๆ ดูข่าวตอนนี้บางที่มันร้อนสุดๆ อากาศแปรปรวน ซึ่งมันสะท้อนโลกภายในของมนุษย์ด้วยนะว่าใจเรามันร้อนเช่นกัน ร้อนด้วยไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ ร้อนแรงขนาดไหน กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด ร้อน อยากได้ๆ ก็เอาธรรมชาติมาทำลาย คือมันร้อนจากข้างใน
“จะไปแก้โลกร้อนข้างนอกปลูกต้นไม้ มันอาจจะไกลไปนะ ลองแก้โลกร้อนข้างในที่อยากได้ทุกอย่าง ให้มันลดความอยากลง อยากทำลายทุกอย่าง ให้มันลดความอยากทำลายลง เอาปัญญาไปช่วยแก้โลกภายในให้เย็นลง แล้วโลกภายนอกจะเย็นตาม เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ทันทีเลย” พระมหาประนอมกล่าวทิ้งท้าย