03 July 2019

“Because There is No Planet B” สู่ภารกิจปฏิวัติวงการแฟชั่นของ ECOALF

Share:

“เมื่อไม่มีโลกใบที่สอง” เราจึงต้องมีแผนรองรับกับวิกฤติทรัพยากรโลกในอนาคตอันใกล้นี้ สำหรับอุตสาหกรรมแฟชั่นที่สร้างมลภาวะให้กับโลกเป็นอันดับ 2 นั้น จะนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาขับเคลื่อนความคิดสร้างสรรค์และธุรกิจอย่างให้โลกแฟชั่นเดินร่วมเคียงกับอนาคตของโลกได้อย่างยั่งยืน

ในแต่ละวันที่เราเลือกเสื้อผ้าสวมใส่ เราอาจมีชอยส์ A, B หรืออีกหลายๆ ชอยส์ให้เลือกหยิบมาแม็ทช์ แต่สำหรับโลกที่เราอยู่อาศัยนั้น เรามีใบเดียว ถ้าเป็นเช่นนั้นโลกแฟชั่นจะร่วมเคียงกับอนาคตของโลกอย่างยั่งยืนได้อย่างไร เราได้พบกับ ECOALF แบรนด์แฟชั่นจากสเปนที่ก่อตั้งขึ้นด้วยความตระหนักที่ว่า “Because There is No Planet B” หรือ เพราะเราไม่มีโลกใบที่สอง ทำให้เกิดการขับเคลื่อนเชิงปฏิบัติเพื่อปฏิวัติทรัพยากรโลก โดยการนำวัสดุเหลือใช้หรือขยะจากท้องทะเลมาสร้างสรรค์เป็นสินค้าใหม่ ภายใต้ดีไซน์และคุณภาพดีเยี่ยมเทียบเท่าแบรนด์แฟชั่นชั้นนำระดับโลก

เราได้เห็นแจ็คเก็ตทรง Puffer เนื้อผ้านิ่มสวมใส่สบาย กับกระเป๋าดีไซน์เท่ของ ECOALF ที่ผลิตจากเส้นใยซึ่งแปรรูปมาจากขยะในทะเล โดยผ้าทุกๆ 100 เมตร ที่นำมาผลิตเป็นเสื้อผ้าหรือกระเป๋านั้น แปรรูปมาจากขยะขวดน้ำพลาสติก PET จำนวน 70 ขวด หรืออวนจับปลาน้ำหนัก 235 กรัม แต่ถ้าจะเทียบกับขยะกว่า 8 ล้านตันที่ถูกทิ้งลงสู่มหาสมุทรในทุกๆ ปีทั่วโลกนั้น นี่อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเริ่มต้นเล็กๆ เท่านั้น

ในงาน “Circular Living Symposium 2019 : Upcycling Our Planet” เราได้พบกับ Irene Diaz Ruiz (ไอรีน เดซ รูซ) ผู้จัดการทั่วไปของ ECOALF ที่เป็นหนึ่งในวิทยากรของงาน และได้มาร่วมพูดคุยกับเราแบบเจาะลึกถึงแนวคิดการต่อยอด Upcycling และโครงการ “Upcycling The Oceans” ที่ขยายมาถึงประเทศไทยด้วย

Irene Diaz Ruiz
ผู้จัดการทั่วไปของ ECOALF

Key Message ที่ต้องการถ่ายทอดในฐานะวิทยากรของงานครั้งนี้

“สิ่งที่ฉันอยากจะสื่อสารกับทุกคน คือ ผลกระทบต่างๆ ที่อุตสาหกรรมนี้ (อุตสาหกรรมแฟชั่น) ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ในฐานะที่เราทุกคนเป็นมนุษย์อยู่บนโลกใบนี้ เราจะสามารถช่วยและจัดการกับเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง แม้กระทั่งแบรนด์ต่างๆ อย่าง Ecoalf (อีโคอัลฟ์) และตัวฉันเองที่มาในฐานะตัวแทนของอีโคอัลฟ์ ก็สามารถแบ่งปันแนวคิดที่แตกต่างออกไปในด้านการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน โดยเรื่องที่เราพยายามทำมาโดยตลอด คือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ใช่หยุดอยู่แค่สิ่งที่เราทำ ในการนำเอาวัสดุต่างๆ มาใช้ใหม่ในผลิตภัณฑ์ของเรา แต่มันคือกระบวนการ และขั้นตอนต่างๆ ก่อนที่ผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นจะออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งมันคือใจความสำคัญของภาพรวมในการทำงานแบบ Circular Economy ที่อยากจะแชร์และนำเสนอให้กับทุกคนได้ตระหนักถึง”

แนวคิดสำคัญที่ขับเคลื่อนให้ “Circular Economy” ขยายเติบโตและประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมแฟชั่น

“ถ้าพูดถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมสิ่งทอทั้งหมดที่เสื้อผ้าได้ถูกผลิตออกมาในแต่ละปี ตอนนี้มันกลายเป็นขยะที่สะสมอยู่ในแหล่งขยะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นสิ่งแรกที่เราควรตระหนักถึงก็คือการลดปริมาณขยะ และให้ความสำคัญต่ออายุการใช้งานของสิ่งทอแต่ละประเภท หรือกับบางอย่างที่เรามีส่วนเกี่ยวข้องหรือช่วยกันเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดความแตกต่างและเพิ่มความน่าสนใจ ดังนั้นเราจึงนึกถึงการนำสิ่งต่างๆ กลับมาใช้ และพัฒนาต่อยอดซึ่งเป็นสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในตอนนี้”

ทำไมให้ความสำคัญกับการแปรรูปขยะจากท้องทะเล

“เพราะผลิตภัณฑ์ที่เราทำโดยส่วนใหญ่ทำมาจากเศษขยะรีไซเคิลที่หาได้ในพื้นที่นั้นๆ และเรายังมีโครงการณ์ดีๆ ที่ชื่อ Upcycling The Oceans ก่อตั้งในปี 2015 เริ่มที่ประเทศสเปนเป็นที่แรก โดยเราเปลี่ยนขยะในมหาสมุทรให้กลายเป็นสินค้าแฟชั่น เสื้อผ้าต่างๆ ที่มีคุณภาพดีเยี่ยม สวมใส่ได้จริง”

การสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการใช้สินค้าที่แปรรูปจากขยะภายใต้แบรนด์ Ecoalf

“นี่เป็นเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เราพยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง ให้ทุกคนมั่นใจเรื่องคุณภาพ รวมไปถึงความสวยงามของการออกแบบ ซึ่งคุณแทบจะไม่รู้เลยว่านี่คือผลิตภัณฑ์ที่เราทำมาจากวัสดุรีไซเคิล ยกตัวอย่างเสื้อที่ฉันใส่มาวันนี้ มันทำมาจากผ้าฝ้ายรีไซเคิล รองเท้าคู่นี้ก็ทำมาจากขยะและซากสาหร่ายที่เราพบในทะเล ซึ่งความรู้สึกตอนสวมใส่มันเหมือนวัสดุทั่วไปไม่ต่างกันเลย มากไปกว่านั้นเรามีโปรแกรมทดสอบการใช้งานที่เชื่อถือได้สำหรับเช็คคุณภาพ อายุการใช้งานเป็นยังไงและมีสารเคมีอะไรตกค้างหรือไม่ ที่ทำให้เรามั่นใจว่าเรากำลังจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงให้กับผู้บริโภค หรือบางอย่างก็ดีกว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆในท้องตลาดด้วยซ้ำ”

แนวคิด Upcyling จะสามารถจุดประกายให้กับดีไซเนอร์ หรือเหล่า Start-Up ในประเทศไทยได้อย่างไรบ้าง

“อย่างแรกคือโปรเจ็กท์นี้สามารถช่วยให้ท้องทะเลของเราสะอาดขึ้น แน่นอนว่าถึงจะไม่ได้ช่วยได้ทั้งหมดแต่ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีค่ะ อย่างที่สองเราสามารถเพิ่มการรับรู้ต่อผู้คนต่างๆ เช่นตอนนี้ที่ฉันได้มีโอกาสออกมาแบ่งปันประสบการณ์และแนวคิดของ Ecoalf ให้ทุกๆ คนที่นี่ เรายังนำเสนอและสาธิตไอเดียต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริง มันมีประโยชน์มาก อย่างนิทรรศการที่อยู่ในงานนี้จากองค์กรต่างๆ ที่มีผลงานคุณภาพ ก็สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายคน หรือเปลี่ยนแนวคิดในเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมสิ่งทอหรือการออกแบบ แต่รวมถึงองค์กรต่างๆ แม้กระทั่งคนธรรมดาด้วย เราทุกคนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะสุดท้ายแล้วทุกคนมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคมที่เราอยู่ เพื่อชีวิตที่ดีและโลกของเราก็สะอาดน่าอยู่มากขึ้น”

คำแนะนำสำหรับนักออกแบบที่สนใจต่อยอดแนวคิด Upcylcing

“มันอาจจะยากนิดหน่อยสำหรับการทำตลาดของเรื่องนี้ ที่เหมือนอีกทางเลือกหนึ่งของนักออกแบบ เมื่อ 4-5 ปีก่อน ตอนเราเริ่มทำ Ecoalf ขึ้นมา ชนิดของผ้าที่เรามียังไม่มีคุณภาพมากนัก แต่ตอนนี้ทุกอย่างถูกพัฒนาให้ดีขึ้น มันทำให้คุณอย่างง่ายขึ้น สิ่งที่อยากจะแนะนำให้กับนักออกแบบก็คือ แนวการออกผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญมากในการนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน /ไม่ใช่แค่ว่าทำมาขายไป แต่ต้องใส่ใจในทุกๆ ขั้นตอน ตั้งแต่การหาวัสดุ วิธีการผลิต และเมื่อไม่ใช้งานแล้ว เราจะทำอย่างไรกับมัน ระยะเวลาในการใช้งานและวิธีจำกัด ซึ่งถ้านักออกแบบเข้าใจในขั้นตอนต่างๆ แล้ว พวกเขาก็จะรู้ว่าหน้าที่ของเขาคืออะไรบ้าง เพื่อที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนมากกว่าการได้เสื้อผ้าหรือผลิตภัณฑ์อะไรก็ตาม ซึ่งนั่นก็จะช่วยให้เกิดความยั่งยืนขององค์กรนั้นได้”

ความคาดหวัง และเป้าหมายต่อไปในด้านสิ่งแวดล้อมของ Ecoalf

“สำหรับโครงการ Upcycling The Oceans เรากำลังอยู่ในระหว่างการต่อยอดโปรเจ็กท์นี้ในบริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนี่ยน ที่มีอาณาเขตท้องทะเลที่สำคัญซึ่งเชื่อมระหว่างทวีบยุโรปและอัฟฟริกา เป็นทะเลปิดที่คล้ายทะเลสาปมากกว่า ซึ่งเราพบว่านี่เป็นอีกพื้นที่น่าเป็นห่วงอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งเราก็อยากจับมือกับองค์กรต่างๆ เพื่อทำให้โปรเจ็กท์นี้เกิดขึ้นและทุกคนเห็นความสำคัญกับความตั้งใจนี้ของพวกเรา”

ทางด้านในประเทศไทยนั้นทาง GC ก็ได้จับมือร่วมกับ Ecoalf ในการดำเนินโครงการ “Upcyling The Ocean Thaoland” ที่ได้ร่วมกันจัดเก็บขยะในทะเล เพื่อเข้าสู่กระบวนการ Upcyling สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่ม โดยโครงการจัดขึ้นในประเทศไทยครั้งแรก ปี 2017 ที่เกาะเสม็ด โดยมีอาสาสมัครกว่า 300 คนมาร่วม ที่แค่เพียง 5 ชั่วโมงก็สามารถเก็บขยะในทะเลได้ถึง 0.7 ตันแล้ว โดยทางไอรีนได้เสนอแนะว่าแม้ที่ผ่านมาโครงการนี้จะเป็นแค่การทดลองปฏิบัติ แต่อยากให้ประเทศไทยดำเนินการต่ออย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาท้องทะเลที่ยั่งยืนในระยะยาว

“It’s Not Only What We Do, But Also How We Do It”
Irene Diaz Ruiz

ที่มา: www.iameverything.co

Feature Stories

Feature Stories
09 September 2022
โลกอยู่ได้ เราอยู่ได้ ร่วมสร้างกระบวนการที่ดี เพื่อวันนี้ และอนาคต
Read More
Feature Stories
17 November 2018
From Waste to Clothes through the 'Upcycling the Oceans, Thailand' Project
Read More
Feature Stories
17 August 2017
Vidyasirimedhi Institute of Science and Technology and Kamnoetvidya Science Academy Project in Rayong
Read More