09 December 2020

Laika สตาร์ทอัพแบรนด์ขนมสุนัข ผู้ชนะ Pitching ในงาน GC Circular Living Symposium 2020: Tomorrow Together ของปีนี้

Share:

Laika สตาร์ทอัพแบรนด์ขนมสุนัข ผู้ชนะ Pitching ในงาน GC Circular Living Symposium 2020: Tomorrow Together ของปีนี้

Laika เป็นตัวอย่างของแบรนด์ที่นำเอาแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาสู่การปฏิบัติได้จริง พวกเขาผลิตขนมสัตว์จาก Food Waste ผักออร์แกนิกคุณภาพดีที่กำลังจะถูกทิ้งจากโรงงานแปรรูปอาหาร ผสมกับโปรตีนจากแมลงในฟาร์มของตัวเอง ซึ่งเป็นโปรตีนทางเลือกคุณภาพสูงในโลกปัจจุบัน

ในวันงาน ระหว่างฟังผู้ก่อตั้ง Laika กำลังพูดบนเวที เรารู้สึกเลยว่านี่คือไอเดียที่เราเองก็คิดไม่ถึง ว่าสัตว์เลี้ยงก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมเหมือนกันกับคน

หลังงาน GC Circular Living Symposium 2020 จบลง เรานัด โด่ง-อิทธิกร เทพมณี และ เพชร-พชรพล อัจฉริยะศิลป์ มาพูดคุยกัน เพื่อเจาะลึกถึงแรงบันดาลใจและแนวคิดในการสร้าง Laika รวมถึงเส้นทางที่ Laika กำลังจะไปต่อในอนาคต

พวกเขาทั้งคู่ไม่เคยสนใจด้านสิ่งแวดล้อมมาก่อน หลังเรียนจบก็ทำงานในวงการการเงินและธุรกิจ เป็นสองหนุ่มไฟแรงที่กำลังใช้ความสามารถตัวเองทำงานตามความฝันที่วางไว้ แต่มีจุดพลิกผันเป็น Research Paper หนึ่งชิ้นที่พูดถึง Food Waste ของโลก นั่นทำให้พวกเขาตัดสินใจทำฟาร์มแมลงที่เป็นโปรตีนทางเลือก แล้วก็ต่อยอดมาเป็นผลิตภัณฑ์ขนมสุนัข โดยทำจากโปรตีนแมลงที่เลี้ยงไว้ ผสมกับผักออร์แกนิกที่กำลังจะเป็น Food Waste จากโรงงาน ใช้ชื่อว่าแบรนด์ Laika มาจากชื่อของสุนัขพันธุ์ทางที่เคยถูกส่งไปสำรวจอวกาศ

ตอนนี้ Laika กำลังช่วยมนุษย์สำรวจความมั่นคงด้านอาหาร กรุยทางมองหาแหล่งโปรตีนใหม่ๆ สำหรับโลกอนาคต

Meet The Founders

ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Laika คือโด่งกับเพชร เขาทั้งสองคนเป็นเพื่อนกัน เลี้ยงหมาด้วยกันทั้งคู่ และสนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่อง Food Waste และความมั่นคงด้านอาหาร

เพชรเคยทำงานบริษัทที่ปรึกษาเกี่ยวกับ Digital Transformation คอยพัฒนา Business Model ใหม่ๆ ให้กับบริษัทใหญ่ๆ ในตลาด เฝ้าดูสิ่งที่เป็นเทรนด์ในโลกอนาคต ตอนนั้นเองเพชรต้องศึกษาเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร ก็เลยได้มาคุยกับโด่ง เพื่อนผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังอยู่พักหนึ่ง

พวกเขามาคุยกันเรื่องโปรตีนจากแมลง และเล็งเห็นศักยภาพของตลาดโปรตีนทางเลือก ตอนนั้นเองเพชรก็ถึงจุดอิ่มตัวในการทำงาน เขาอยากหาความหมายให้กับสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันมากขึ้น ส่วนตัวโด่งก็อยากหาความท้าทายใหม่ๆ นอกเหนือจากบทบาทนักวิเคราะห์การเงิน

“แต่ก่อนโด่งเป็นนักวิเคราะห์การเงินแล้วก็อ่านรีเสิร์ชเยอะมาก ไปเจอหัวข้อหนึ่งพูดถึงวิกฤตอาหาร ตอนแรกเราก็ไม่เชื่อว่าจะมีได้ไงวิกฤตอาหาร มันมีด้วยเหรอ แล้วพอไปดูสมมติฐานในโมเดล ปรากฏว่ามันก็มีความเสี่ยงจริงๆ ระหว่างอ่านรีเสิร์ชเกี่ยวกับ Food Crisis เราก็รู้ว่าแหล่งโปรตีนทางเลือกมันมีอยู่สองทาง คือ Plant-based Protein กับ Insect-based Protein แต่ตอนนั้นเองเราคิดว่าประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น ซึ่งค่อนข้างได้เปรียบในการทำเรื่อง Insect Farming แต่อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องของ Food Surplus เข้ามา มันมีข้อมูลสั้นๆ ง่ายๆ ที่น่าตกใจมาก ปัจจุบันอาหารที่ถูกผลิตขึ้นมาหนึ่งในสามกลายเป็นของเหลือทิ้ง ทุกๆ วัน เรามี Food Waste เยอะขนาดนั้น

“ตอนนั้นทำงานการเงินอยู่ดีๆ ก็ตัดสินใจว่า เห้ย เราต้องมาแก้วิกฤตครั้งนี้ให้ได้แล้ว อยู่ดีๆ ก็มีความรู้สึกนั้นเลย ทั้งที่เราก็ชอบงานการเงินมาก เราอยากให้การใช้ชีวิตในการตื่นมาทุกวันมันสนุกขึ้น มีความหมายมากขึ้น พอไปเจอพวกรีเสิร์ชพวกนี้ ท้ายที่สุดก็เลยออกเดินทางหาแมลง Insect Protein ที่น่าสนใจ แล้วเริ่มทำฟาร์มแมลงกับเพชร” โด่งเล่าถึงการเดินทางของชีวิตในช่วงที่ผ่านมา

 

ระหว่างที่ฟาร์มแมลงกำลังไปได้สวย โด่งกับเพชรก็อยากทำอะไรบางอย่างเพื่อต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่ม พวกเขาได้แรงบันดาลใจมาจากสุนัขที่เลี้ยงไว้ จึงตัดสินใจลงมือผลิตขนมสุนัขขึ้นมา เพื่อให้น้องหมาได้กินขนมโปรตีนที่มีคุณภาพ แล้วใช้ผักออร์แกนิกคุณภาพดีที่ถูกคัดทิ้งจากโรงงานมาเป็นส่วนผสม เพื่อลดปัญหา Food Waste

“พวกเราเห็นว่าตลาดสัตว์เลี้ยงมันเป็นไปได้ เราเองอยากให้น้องหมาที่บ้านได้กินของดีๆ เรามองว่าสัตว์เลี้ยงเป็นได้มากกว่าแค่สิ่งน่ารักๆ ที่ให้กำลังใจเรา ถ้าเราเลือกโปรดักต์ที่ดี เขาก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเรารักษาสิ่งแวดล้อมได้ เราก็เลยมาจริงจังกับงานนี้ อยากสร้างอิมแพคที่ใหญ่จริงๆ ก็เลยตัดสินใจลาออกมาให้เวลากับ Laika จริงจัง

“ทุกครั้งที่เราไปรับเศษผักมาจากโรงงาน มันคือการเอาขยะไปสร้างประโยชน์ต่อ ทำให้มันมีมูลค่าเพิ่มได้ พวกเราก็มีเป้าหมายว่า ภายในปีหน้าเราอยากช่วย Upcycle เศษขยะพวกนี้ คำนวณแล้วได้หลายพัน Carbon Emission ซึ่งมันมีอิมแพค เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันมีประโยชน์นะ ไม่ใช่มีประโยชน์แค่กับเรา กับโลก มันมีประโยชน์กับสังคมในอนาคตด้วย” เพชรเสริม

เศษผักออร์แกนิกซึ่งเป็นผลผลิตดีๆ ที่โรงงานแปรรูปอาหารต้องกำจัดทิ้ง กำลังถูกนำมาปรุงเข้ากับโปรตีนจากแมลง กลายเป็นขนมน้องหมาคุณภาพพรีเมี่ยม นี่คือสิ่งที่โด่งกับเพชรกำลังทำในตอนนี้

“เราเคยไปหาเจ้าของโรงงานแปรรูปอาหารที่หนึ่ง เขามี Food Surplus เยอะมากเลย อันที่จริงเขาก็รู้อยู่แล้วว่ามันคือทรัพยากรที่ดี แต่มันไม่ถูกใช้ประโยชน์ วันแรกที่โด่งไปรับของเหลือ เขาดีใจมากจนยิ้มออกมา สำหรับโด่งมันเป็นยิ้มที่บอกว่าเราได้ไปต่อ เรากำลังทำสิ่งที่มีประโยชน์จริงๆ แล้วนะ” โด่งเล่าถึงความประทับใจที่เขายังจำได้

 

Sustainable Dog Food

โด่งและเพชรทำฟาร์มแมลงที่ชื่อว่า Black Soldier Fly หรือแมลงวันทหารสีดำ เป็นแมลงที่อยู่ในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ไม่ได้เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ ไม่ได้เป็นพาหะนำโรค และที่สำคัญ ต่างประเทศในแถบยุโรปและอเมริกาเหนือให้การยอมรับทางกฎหมายว่าเอามาใช้บริโภคได้และปลอดภัยมากสำหรับการเลี้ยงสัตว์ มีจุดเด่นทั้งเรื่องคุณประโยชน์ แถมยังให้รสอูมามิที่น้องหมาชอบมาก

“โด่งขอขายเรื่องโภชนาการ” เขาพูดพร้อมหยิบถุง Laika สีเหลืองและสีฟ้ายื่นใส่มือเรา พลิกไปด้านหลังเป็นรายละเอียดแจกแจงวัตถุดิบที่เลือกใช้ หลังจากนั้นโด่งก็เข้าสู่โหมดวิชาการด้านอาหารหมา

 

“ตัวหน่วยย่อยของโปรตีน มันจะมีคำหนึ่งที่ใช้กันคือ Amino Acid Profile เป็นหน่วยเล็กที่สุดของโปรตีน ซึ่งโปรตีนจากแมลงมี Amino Acid ครบตามความต้องการของน้องหมาเลย โปรตีนบางแห่งอาจมีคุณภาพดีไม่เท่าโปรตีนจากแมลง นอกจากแมลงมีโปรตีนที่ค่อนข้างสูงแล้ว ยังมีแร่ธาตุสำคัญๆ สูงด้วย เช่น ซิงค์ ซีลีเนียม แมงกานีส พวกนี้เป็น Micro Mineral ที่สำคัญๆ ซิงค์ช่วยเรื่องขน ผิว เล็บ และภูมิคุ้มกัน

“โปรตีนจากแมลงที่เราเลี้ยงเองที่ฟาร์มมันมีของพวกนี้เยอะมากเมื่อเทียบกับแหล่งโปรตีนดั้งเดิม และโปรไฟล์ของน้ำมันแมลงในนี้มันคล้ายๆ น้ำมันมะพร้าว ซึ่งเป็นก็เป็นอีกอันหนึ่งที่เหมาะเจาะกับน้องหมามากในการเอามาใช้ เราก็เลยคิดว่า เรื่องโภชนาการมันมีจุดเด่นและไฮไลต์สำคัญเลย มันจะมีกรดอะมิโนอันหนึ่งที่ให้รสชาติอูมามิกับน้องหมา ซึ่งแมลงของเราดันมีเยอะด้วย” น้องหมาชอบรสอูมามิ เราก็เพิ่งรู้

ส่วนมันเทศ ฟักทอง แครอท เป็นวัตถุดิบที่ปลูกในไทย เกรดเดียวกับที่ส่งทำอาหารสำหรับคน ผสมกับข้าวไรซ์เบอร์รี่อย่างดีจากเกษตรกรไทย

“ต้องมีคาร์โบไฮเดรตด้วย มีวิตามินและแร่ธาตุอื่นๆ ด้วย ส่วนหนึ่งคือใช้วัตถุดิบที่หาได้จากในไทยเป็นหลัก เพราะว่าเป็นการช่วยเกษตรกรไทยทางหนึ่ง ลดการขนย้าย Carbon Emission ก็น้อยลง ใส่วัตถุดิบไม่กี่อย่างแล้วเข้าใจง่าย เพราะเราอยากให้ทุกวัตถุดิบที่อยู่ในนี้คนอ่านแล้วรู้จัก ไม่ใช่อ่านแล้วมันคือชื่ออะไรวะ ทางวิทยาศาสตร์ก็ต้องได้สารอาหารครบถ้วน แต่ไม่ใส่อะไรเยอะจนเกินไป เพราะว่าการใส่ส่วนผสมน้อยก็เท่ากับว่าโอกาสแพ้อาหารจะน้อยลงไปด้วย

“เราจะพยายามทำให้ได้กับทุกวัตถุดิบนะ อย่างข้าวไรซ์เบอร์รี่ก็เลือกจากไร่คุณลุงที่เขาอุตส่าห์ลงทุนทำฟาร์มไร่ออร์แกนิก กล้าที่จะลงทุนเพิ่มกว่าชาวนาคนอื่นๆ มีการใช้เทคโนโลยีมาปรับหน้าดิน ขนาดไร่ของคุณลุงอาจไม่ได้ใหญ่มาก แต่มันพอสำหรับเรา เราก็พยายามดีลกับเกษตรประเภทนี้ครับ เราได้สนับสนุนเขาด้วย” เพชรเล่าเสริม

ขนมหมา Laika มี 2 สูตร ถุงสีเหลืองชื่อว่า Happy Vitamin น้องหมากินแล้วจะสุขภาพแข็งแรง ดีต่อระบบภูมิคุ้มกัน มีวิตามินสูง ใส่ส่วนผสมพวกแครอท ฟักทอง และมันม่วง

อีกสูตรหนึ่งเป็นถุงสีฟ้า ชื่อว่าสูตร Cotton Touch น้องหมากินแล้วดีต่อขนและผิวหนัง เพราะมีน้ำมันปลาเยอะ มีบาลานซ์โอเมก้า ใส่ส่วนผสมเป็นเมล็ดเจียขาว ไข่ขาว เห็ดชิตาเกะ มันเทศ น้ำมันแมลง ข้าวกล้อง และข้าวไรซ์เบอร์รี่

“โด่งว่าถึงแบรนด์เราจะมีพาร์ตสิ่งแวดล้อม แต่อีกพาร์ตหนึ่งที่เราต้องตอบโจทย์ให้ได้ก่อนคือคุณประโยชน์ของสินค้า ให้ผ่าน Minimum Requirement ซึ่งเราเลือกใช้วัตถุดิบที่ดี สองสูตรนี้ออกมาโดยอาจารย์สัตวแพทย์ นักโภชนาการสัตว์เล็กโดยเฉพาะเลย ฉะนั้น ก็เลยอยากให้มันเป็นขนมที่ดีจริงๆ สำหรับน้องหมา และอีกพาร์ตที่เราได้ คือการใช้ Upcycle หรือการสร้าง Circular Economy

“โด่งเชื่อว่า น้องหมาสร้างผลกระทบดีๆ ต่อสังคมได้ น้องหมาทำได้หลากหลายเลยแหละ เราต้องปลดปล่อยศักยภาพของเขาออกมาให้เต็มที่ เราเชื่ออย่างนั้น”

Sustainable Lifestyle

“เดี๋ยวนี้คนบริโภคอาหารเยอะขึ้น แบบ Overconsumption มันไม่พอดีกับธรรมชาติ เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เราอยากแก้ปัญหา Food Waste เมืองไทยเราผลิตอาหารเยอะอยู่แล้ว แปลว่ามีขยะอาหารในเมืองเยอะเช่นกัน แล้วในอนาคตมันก็มีโปรดักต์อื่นๆ ที่เราอยากจะทำ เป็น Sustainable Lifestyle

“เรากำลังพัฒนาเตียงน้องหมา เพราะเมืองไทยเรามียางพาราเยอะ ผลิตสิ่งของจากยางพาราก็เยอะด้วย แล้วทุกครั้งที่ผลิตอะไรสักอย่าง มันจะมีเศษยางพาราเหลือ เอามาทำเป็นเตียงคนไม่ได้แล้ว แต่เอามาทำเป็นที่นอนน้องหมาได้ เป็นการช่วยลดเศษยางไปในตัว ในขนะเดียวกันเราก็ทำงานกับกลุ่มชุมชนที่เขามีโอกาสน้อยกว่าหลายๆ คน เราจะให้พวกเขาเป็นทีมงานคอยช่วยเราทำของพวกนี้ขึ้นมา เพราะฉะนั้น การที่น้องหมามาใช้โปรดักต์เราตรงนี้ แปลว่าเขาได้ช่วยสิ่งแวดล้อมและช่วยสังคมได้” เพชรเล่าถึงแผนงานของ Laika ให้เราฟัง ซึ่งน่าจะโดนใจเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันเช่นกัน

Laika ตั้งใจอยากให้เจ้าของหมาได้รู้สึกว่าน้องหมาของตัวเองเป็นเหมือนซูเปอร์ฮีโร่ น้องหมาก็เป็นอีกแรงที่ได้ช่วยคนรักษาสิ่งแวดล้อม การที่น้องหมากิน Laika 1 ถุง ได้ช่วยลด Food Surplus ไปได้เยอะ และช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติไปได้เยอะเช่นกัน

เปรียบเทียบให้เห็นภาพ แหล่งโปรตีนจากวัว ไก่ และแมลง ใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการเลี้ยงดูในจำนวนต่างกัน ซึ่งแหล่งโปรตีนจากแมลงนั้นใช้พื้นที่เลี้ยงดูน้อยกว่า ใช้น้ำในการเลี้ยงน้อยกว่า แถมแมลงก็ปล่อย CO2 Emission น้อยกว่าวัวและไก่อยู่มากโข เทียบกันแล้วโปรตีนจากแมลงช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ขั้นตอนการเลี้ยงดูเลยทีเดียว

เพชรได้อธิบายเรื่องนี้ให้เราฟังไว้ว่า

“เราเลี้ยงแมลงบนพื้นที่ไม่กี่ตารางเมตร แล้วก็ซ้อนเป็น Vertical Farming อีก ซึ่งแหล่งโปรตีนดั้งเดิมทำไม่ได้ ฟาร์มแมลงเราแทบไม่ใช้น้ำเลยนะครับ เราเอาผักออร์แกนิกเลี้ยงแมลง มันก็ปลอดสารเคมีนะ ดังนั้น ขนม Laika มันสะอาดตั้งแต่ต้นทาง แล้วก็ไม่ต้องใช้ฮอร์โมนส์เหมือนเลี้ยงไก่ ซึ่งตอนนี้หมาของหลายคนแพ้โปรตีนจากไก่ ซึ่งอาจเกิดจากแอนตี้ไบโอติกและฮอร์โมนส์ที่ใช้เลี้ยงไก่เท่านั้น แต่หนอนฟาร์มเราเลี้ยงธรรมชาติหมด

“อีกส่วนที่สำคัญเลยคือเรื่องปล่อยก๊าซเรือนกระจก ฟาร์มที่เลี้ยงวัวในหลายประเทศเขากำลังหาทางแก้ปัญหานี้ ผมมองว่ามันไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่หนอนมันปล่อยก๊าซน้อยมาก มันช่วยลด Food Surplus แล้วก็ช่วยลดทรัพยากรธรรมชาติในการเลี้ยงด้วย

“โด่งว่ามันเห็นชัดอยู่แล้ว ถ้าเรายังทำอะไรแบบเดิมๆ ภายในสิบปีหลังจากนี้จะเป็นยังไง โด่งชอบพูดกับเพชรว่า เราอาจสู้กับบริษัทใหญ่ในเชิงยอดขายเป็นล้านๆ ชิ้นไม่ได้ แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่เราอยากเอาชนะเจ้าใหญ่มาก คือการที่จะเคลมบริษัทของเราว่าเป็น Carbon Neutral Company หรือว่าเป็น Planet Positive Product ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งการที่เราเป็น SMEs เล็กๆ เราขยับได้เร็ว ถ้าบริษัทเล็กทำได้ บริษัทใหญ่ก็ต้องทำได้เช่นกัน เราต้องทำให้ได้เพื่อเป็นเทรนด์ใหม่ของตลาดสัตว์เลี้ยงในอนาคตครับ” โด่งกล่าวทิ้งท้าย

เครดิต: https://readthecloud.co/laika-sustainable-dog-food/

Feature Stories

Feature Stories
31 July 2019
Business Trends… The Digital Age Dominates the World
Read More
Feature Stories
18 July 2019
Waste Runner การแข่งขัน 100 วัน ที่เด็กไทยและภาคเอกชนร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการจัดการขยะ โดยมีรางวัลเป็นสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่น่าอยู่ขึ้น
Read More
Feature Stories
17 August 2017
Vidyasirimedhi Institute of Science and Technology and Kamnoetvidya Science Academy Project in Rayong
Read More