14 December 2020

ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ตระหนักรู้สู่การปฏิบัติจริงกับ GC Circular Living Symposium 2020 ปีที่ 2

Share:

หลักจากเวที Symposium ในปีที่แล้วเป็นปฐมบทสำคัญ ที่ช่วยสร้างความเข้าใจ ความตระหนักรู้ และกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือตั้งแต่ระดับบุคคลจนถึงในระดับนานาชาติ เพื่อขับเคลื่อนสังคมโลกสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาถึง GC Circular Living Symposium 2020 ปีที่ 2 นี้ ทาง GC ได้มุ่งตอกย้ำ และต่อยอดการผนึกกำลังขับเคลื่อน จากแนวคิดสู่การปฏิบัติจริง เป็น Circular in Action ภายใต้ธีม “Tomorrow Together” โดยมีผู้นำ ผู้บุกเบิก นวัตกร นักสร้างสรรค์ และผู้ขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนกว่า 40 คนจากหลายวงการทั่วโลก มาร่วมถ่ายทอดแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม พร้อมความร่วมจับมือไปด้วยกันเพื่อวันพรุ่งนี้ สำหรับงานครั้งนี้ยกระดับความเข้มข้นที่อัดแน่นอยู่ในงานเดียว วันเดียว แต่ทำให้เราเห็นทิศทางเดียวกันในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ อุตสาหกรรม และผู้บริโภค ที่เริ่มลงมือทำได้ชัดขึ้น

 

ชูโรงด้วยวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืนจากผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรภาครัฐ และภาคเอกชน จากหลากกลุ่มอุตสาหกรรมที่มาแชร์มุมมองและกลยุทธ์ในเวทีช่วงเช้า เริ่มต้นด้วย ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ที่ชี้ให้เห็นปัจจัยความสำเร็จของ Circular Economy ว่าประกอบด้วย Thought Leader การมีผู้นำทางความคิด, Innovation การมีนวัตกรรม ทั้งด้านผลิตภัณฑ์ และการทำงาน, Business Model การออกแบบธุรกิจให้เกิดขึ้นจริงและพึ่งพาตนเองได้ และสุดท้ายคือ Ecosystem ที่ทุกภาคส่วนอยู่ร่วมกันได้ และทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนดำเนินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง GC ได้รวมทั้ง 4 ปัจจัยมาไว้ภายในงาน GC Circular Living Symposium 2020 : Tomorrow Together

 

ทางด้านคุณวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะวิสัยทัศน์ทางฝั่งภาครัฐ ได้แสดงจุดยืนร่วมยืนหยัดขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งด้านการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการพลาสติก และการมีส่วนร่วมในทุกระดับ ตั้งแต่การที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกในการแก้ปัญหาโลกร้อน โดยดำเนินงานตามแผนการดําเนินการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (Nationally Appropriate Mitigation Actions หรือ NAMAs) ในระยะแรกได้ถึง 15% และต่อไปภายในปี 2573 เป้าหมายอยู่ที่ 25% นอกจากนี้ยังมีนโยบายขับเคลื่อนการจัดการพลาสติกภายใต้การจัดการพลาสติก ปี 2561-2563 ที่ส่งเสริมให้มีการคัดแยกขยะ และการนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ จนถึงความร่วมมือกับภาคเอกชน ในการจัดทำโครงการต่างๆ เช่น การรวบรวมขยะขวดพลาสติกมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ และการผู้ให้บริการส่งอาหารหรือสินค้า เพิ่มช่องทางให้ผู้บริโภคเลือกได้ว่าจะรับหรือไม่รับช้อนส้อม เพื่อลดปริมาณขยะ

จากนั้นตามด้วยช่วงของการเสวนาโดยตัวจริงด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนจากองค์กรระดับโลก ในหัวข้อ “Cross Industry Opportunities in the Circular Economy” โดยเริ่มต้นจาก Theo Jan Simons พาร์ทเนอร์ของ McKinsey & Company ประเทศเยอรมัน ผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือการใช้ทรัพยากรให้เต็มประสิทธิภาพของธุรกิจเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบที่ได้วิดีโอคอลเข้ามาในงาน โดย Theo Jan Simons ชี้ให้เห็นว่าการที่พลาสติกถูกมองว่าเป็นตัวการร้าย เป็นเพราะเราใช้วิธีการจัดการกับพลาสติกอย่างไม่ถูกวิธี โดยเฉพาะ Value Chain ของพลาสติกแบบเป็นเส้นตรงนั้น สามารถรีไซเคิลพลาสติกได้เพียง 10-15% เท่านั้น

ดังนั้นทางออก คือ เราต้องเปลี่ยนมาเป็น “Circular Value Chain” ที่ประกอบด้วย 4 ส่วนเชื่อมโยงกัน คือ “Design & Use” ที่เราต้องคิดใหม่ว่าจะออกแบบ หรือเลือกใช้พลาสติกแบบไหน อย่างไร และพร้อมนำไปรีไซเคิลได้ สองคือ Recovery เรื่องของการจัดการและจัดเก็บขยะ สามคือ Reuse (Recycling) และสุดท้ายคือ End to End Economics สามารถลงทุนและให้ความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์

ในปีนี้ตัวแทนจาก National Geographic Explorer และ มูลนิธิ Ellen MacArthur Foundation ยังมาร่วมวิดีโอคอลถอดบทเรียนจากปีที่แล้วเพื่อนำมาสู่ ‘Actions as Solutions’ ในหัวข้อ “Taking Action Together from What We Learn in 2020” ไม่ว่าจะเป็น Arthur Huang ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท Miniwiz ประเทศไต้หวัน ที่หยิบยกตัวอย่างผลงานนวัตกรรมการนำหน้ากากอนามัยที่ได้รับบริจาค มารีไซเคิลใหม่เป็นถ้วยที่ประยุกต์ใช้เป็นกระถางต้นไม้ได้ พร้อมชี้ให้เห็นว่าในช่วงการระบาดของโควิด -19 นั้นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ทุกอย่างสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งทาง Gerald Naber, Programe Manager จาก New Plastics Economy of Ellen MacArthur Foundation ก็ได้ให้มุมมองว่า “เราต้องไม่ติดกับดักในการแก้ปัญหาวิกฤตหนึ่งแล้วเจอวิกฤตใหม่ที่อาจเกิดขึ้น สิ่งต่างๆ มีผลต่อเศรษฐกิจหมุนเวียน เราอาจไม่สามารถเปลี่ยนเพียงชั่วข้ามวันได้ ดังนั้นเราต้องสร้างระบบในระยะยาว เพื่อปลดล็อคสู่อนาคต”

“Tomorrow Together” จึงเป็นคีย์เวิร์ดหลักที่เหล่าผู้บริหารระดับสูงจากหลากกลุ่มอุตสาหกรรมของไทยหยิบยกให้ความสำคัญเช่นกันในช่วงการเสวนา “Leaders on Sustainability in Action” ที่ทำให้เราได้เห็นวิสัยทัศน์ของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในแนวทางต่างๆ ของแต่ละองค์กร ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ที่นอกจากการดูแลเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การทำลายสิ่งแวดล้อม พร้อมดูแลพนักงานและชุมชนแล้ว ยังมีบทบาทเป็นสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อ หรือสนับสนุนธุรกิจที่มุ่งพัฒนาเพื่อความยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยกสิกรได้ให้เงินลงทุนกับโครงการต่างๆ รวมมูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบ้าน และยังให้สินเชื่อไปแล้วกว่า 2 หมื่น 9 พันล้านสำหรับธุรกิจและบริษัทที่ต้องการจะเปลี่ยนตัวเองให้เป็น Sustainable Company “การผลักดันในเรื่อง Circular Economy นั้น เป็น Short-term pain, Long term gain ที่ทุกคนต้องเข้าใจ...และคนที่มาร่วม Journey กับเราก็จะเข้าใจทิศทางนี้ ทั้งนี้ ทั้งอุตสาหกรรมต้องไปด้วยกัน และต้อง Cross-industry ไปด้วย” คุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าว

ทางด้านองค์กรชั้นนำของไทยในอุตสาหกรรมอาหารทะเลระดับโลก อย่าง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ยังร่วมตอกย้ำว่าปัญหา Climate Change จนถึงขยะพลาสติกในทะเลนั้นมีส่วนสำคัญ ทำให้องค์กรคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดความยั่งยืน และคงความอุดมสมบูรณ์ยังรุ่นลูกรุ่นหลาน พร้อมทำงานร่วมกับ GC ในการพัฒนา Responsible Packaging ในรูปแบบของกระป๋องพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ เพื่อใช้ทดแทนบรรจุภัณฑ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ในส่วนของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ก็ได้ร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เพื่อดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น โครงการรวมใจต้านภัยหนาว ที่บริจาคผ้าห่มทำจากวัสดุรีไซเคิล (ผ้าห่ม 2 แสนผืนผลิตจากถุงพลาสติก 7 พันถุง) และการสนับสนุนงานวิ่งมาราธอนที่จัดเก็บขวดน้ำพลาสติกในงานกลับมารีไซเคิลใหม่ จนถึงการเป็นธุรกิจด้านเครื่องดื่มที่ร่วมดูแลแหล่งน้ำด้วย

ตบท้ายด้วยผู้นำแห่งภาคอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ของไทยอย่าง GC โดย ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มองว่า “Chemistry ในที่นี้คือ เคมีแห่งความร่วมมือ และทำงานร่วมกันในด้านความยั่งยืนจากหลายภาคส่วน และความท้าทายในเรื่องของ Circular Economy คือการขยายทั้ง Scale และ Scope ให้มีทั้งความกว้าง และความลึก โดยอาศัยความร่วมมือเพื่อร่วมแก้ปัญหาให้ครบวงจร เฉพาะจุด ในขณะเดียวกันก็ต้องมี Total Solution for everyone ด้วย ยกตัวอย่างการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลาสติก จากใช้ครั้งเดียวทิ้ง เป็นการนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือการเลือกใช้ Bioplastic ที่สามารถย่อยสลายได้"

BETTER LIVING THROUGH INNOVATION

 CIRCULAR IN ACTION THROUGH LIFESTYLES

 

UPCYCLING SHOWCASE : BETTER SOLUTIONS

 

ความเข้มข้นของงาน GC Circular Living Symposium 2020 : Tomorrow Together ยังต่อเนื่องมาถึงช่วงบ่าย ที่แบ่งออกเป็น 3 ห้อง โดยห้องที่ 1 ให้เราเรียนรู้จากองค์กรชั้นนำระดับโลก กับการสร้างระบบการบริหารจัดการขยะอัจริยะ และนวัตกรรมเพื่อการรีไซเคิล จนถึงการพัฒนาทางด้านการแพทย์ ทั้งส่วนของผลิตภัณฑ์ นวัตกรรม องค์ความรู้ การบริการ และการจัดการเพื่อรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดในอนาคต ภายใต้หัวข้อ “Better Living Through Innovation” ส่วนห้อง 2 นำเสนอเรื่องของ “Circular in Action Through Lifestyles” กับแนวทางด้านความยั่งยืนจากผู้นำทางความคิดผ่านบทบาทการจัดการขยะชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ จนถึงไอเดียการแบบสินค้า Upcylcilng ที่สร้างสรรค์โดยแบรนด์ชั้นนำ จากทั้งวงการแฟชั่น เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้าน และห้องที่ 3 มาในหัวข้อ “UPCYCLING SHOWCASE: BETTER SOLUTIONS” นำเสนอแนวคิดและไอเดียเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ Eco Design โดยหลากดีไซเนอร์ฝีมือดีจากโครงการ “Upcycling - Upstyling” ต่อด้วย “SMEs / Startups (Circular Pitching)” ที่ทำให้เห็นว่าสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ก็ร่วมใส่ใจรักษ์โลกและพร้อมต่อยอดแนวคิด Circular Economy ให้เกิดขึ้นจริง เป็นการเปลี่ยนความคิดสู่ธุรกิจนั่นเอง

ไฮไลท์ของงานนี้ยังไม่จบแค่นี้ เพราะยังมีส่วนของนิทรรศการที่ทำให้เราเห็นภาพของ “Circular Living” ในเชิงปฏิบัติได้ชัดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบ้าน Upcycling หลังแรกของประเทศไทย เมืองจำลอง Circular City เรียนรู้การจัดการขยะที่เชื่อมโยงกันแบบครบวงจร เข้าใจง่าย และทำได้จริง การจำลองโรงงาน ENVICCO ของ GC ที่ช่วยตอบโจทย์การรีไซเคิลของประเทศ และ Bio Town เมืองแห่งนวัตกรรม ทางเลือกของผู้บริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง Waste Managment Platform ที่เชื่อมต่อทั้งระบบ และ สร้าง Loop Connecting (การสร้างและขยายความร่วมมือกับทุกภาคส่วน) อีกทั้งโครงสร้างและวัสดุที่ใช้ในการตกแต่งภายในงานนี้ ล้วนผลิตจากวัสดุที่ Reuse และ Recycle ทั้งสิ้น

GC วางเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2030 จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) จากกระบวนการผลิตลง 20% และภายในปี 2050 จะลดความเข้มข้นของการปล่อย GHG ต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ลง 52% แต่ที่ลงมือปฏิบัติและเห็นผลแล้วจริงคือ งานนี้ช่วยลดปริมาณ Carbon Footprint ได้ถึง 269,155 กิโลกรัม คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ใหญ่ 29,906 ต้น) จากการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ร่วมงานเดินทางโดยรถสาธารณะ ลดการใช้กระดาษและพลาสติก งดการใช้โฟม ลดการใช้พลังงานจากอุปกรณ์ไฟฟ้า และการเลือกใช้วัสดุตกแต่งที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ จนถึงลดการเกิดขยะโดยให้ตักอาหารแต่พอดีและทานให้หมด แล้วสำหรับเรานั้นจะร่วมวางอนาคตของโลกไว้อย่างไร แนวคิด “Circular Living” จะปลดล็อคอนาคตสิ่งแวดล้อมโลกให้สดใสขึ้นได้หรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับการลงมือปฏิบัติในวันนี้ของเราทุกคนเอง

#GCCircularLiving #ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนโลก #ร่วมมือกันเพื่อวันพรุ่งนี้

เครดิต: https://www.iameverything.co/contents/gccircularlivingsymposium2020?fbclid=IwAR0hw82OlkhDY57IrwQBMPWyCtzhKqjyw-TCxhks83rj6GsnAlDJ1aSqKeQ

Feature Stories

Feature Stories
27 December 2020
Closing the Circle on Waste [National Geographic ]
Read More
Feature Stories
24 July 2019
Do you care about the bear?
Read More
Feature Stories
07 July 2019
ขยะเป็นศูนย์: โมเดลลดขยะด้วยไบโอพลาสติกของจุฬาฯ ที่ลูกค้ายินดีจ่ายเพิ่ม 2 บาทเพื่อช่วยโลก
Read More