News
GC ส่งมอบเครื่องบำบัดอากาศมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ
มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ รับมอบเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ต้นแบบ รุ่นที่ ๒ สำหรับใช้ในพื้นที่เปิด (Outdoor Area) จากบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) เพื่อเป็นเครื่องต้นแบบให้กับประชาชนนำไปจัดสร้างเองได้ง่าย ประหยัดค่าใช้จ่าย และช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศ
วันนี้ (๒ ก.พ. ๒๕๖๔) เวลา ๑๓.๓๐ น. ณ ห้องประชุม ชั้น ๔ สำนักงานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานในพิธีส่งมอบเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ต้นแบบ รุ่นที่ ๒ จากบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) ซึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ โครงการทดสอบและพัฒนาต่อยอดเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ร่วมกัน โดยประธานในพิธีได้กล่าวถึงความสำคัญของปัญหามลภาวะจากอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อสุขภาพของประชาชนในหลายพื้นที่ของประเทศไทย มูลนิธิน้อมนำพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการบรรเทาทุกข์ที่เกิดขึ้นให้แก่ประชาชน ได้จัดสร้างเครื่องบำบัด อากาศฯ รุ่นที่ ๑ เป็นเครื่องต้นแบบที่ทางมูลนิธิออกแบบไว้ จำนวน ๑๓ เครื่อง โดย GC ได้สนับสนุนงบประมาณจัดสร้างจำนวน ๘ เครื่อง และทดสอบนำร่องใช้งานใน ๒ พื้นที่ ได้แก่ บริเวณโดยรอบวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และบริเวณโดยรอบวังสระปทุม เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยใช้หลักการระบบบำบัดแบบเวนทูรีสครับเบอร์ (Venturi Scrubber) ซึ่งเป็นระบบบำบัดอากาศแบบเปียกใช้น้ำเป็นตัวกลางใน การดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ติดมากับมวลอากาศ ทั้งนี้ การพัฒนาในระยะที่ ๒ GC สนับสนุนบุคลากรนักวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรมการออกแบบ เพื่อพัฒนาต่อยอดเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 รุ่นที่ ๒ โดยใช้หลักการบำบัดด้วยตัวกรอง (Filter)
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) กล่าวว่า “GC ในฐานะที่เป็นองค์กรซึ่งให้ความสำคัญในด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้พัฒนาต่อยอดเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นนขนาดเล็ก PM 2.5 รุ่นที่ ๒ เพื่อแบ่งปันความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง (Know-How) นี้ ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ในวงกว้าง โดยได้ส่งมอบเครื่องบำบัดอากาศฯ รุ่นที่ ๒ ให้แก่มูลนิธิ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้เป็นต้นแบบในการจัดสร้างเองรวมถึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย โดยใช้หลักการบำบัดด้วยตัวกรอง (Filter) ซึ่งออกแบบและทดสอบประสิทธิภาพแล้วสำเร็จด้วยดี ดังจะเห็นได้จากค่าฝุ่นที่ลดลงอย่างชัดเจน ซึ่งเครื่องบำบัดอากาศฯ นี้ ถูกผลิตขึ้นภายในประเทศไทย มีราคาไม่แพง สามารถจัดสร้างได้ง่ายและรูปแบบไม่ซับซ้อน การสนับสนุนดังกล่าว สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของบริษัทฯ ที่ให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาพึ่งพาตนเอง เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นับเป็นความภาคภูมิใจที่ GC ได้เป็นส่วนหนึ่งในการนำนวัตกรรมและองค์ความรู้ของคนไทย มาต่อยอดเพื่อช่วยเหลือสังคมไทยในการจัดการ กับภาวะวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ที่ทุกคนกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้”
สำหรับผลการทดสอบเครื่องบำบัดอากาศฯ รุ่นที่ ๒ นี้พบว่า เครื่องบำบัดอากาศฯ มีประสิทธิภาพในการบำบัดฝุ่น PM 2.5 ประมาณ ๙๕.๗% เมื่อทดสอบบำบัดฝุ่นในห้องระบบปิด โดยสามารถบำบัดฝุ่น PM 2.5 ปริมาณ ๕๐๐-๗๐๐ ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ให้เหลือเพียง ๒๐-๓๐ ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และ เมื่อทดสอบบำบัดฝุ่นในระบบเปิด สามารถบำบัดฝุ่น PM 2.5 ปริมาณ ๗๐๐-๒,๐๐๐ ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ให้เหลือเพียง ๕๐-๖๐ ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเครื่องบำบัดอากาศฯ รุ่นที่ ๒ นี้ มีอัตราการดูดอากาศมากกว่า ๑๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง
ในส่วนของการบำบัดอากาศ มีการติดตั้งตัวกรอง (Filter) ที่มีประสิทธิภาพการกรองฝุ่นแตกต่างกันในแต่ละชั้น จำนวน ๓ ชั้นด้วยกัน โดยชั้นที่ ๑ ประกอบด้วย Pre-Filter การกรองหยาบ ชั้นที่ ๒ เป็น Medium Filter ไส้กรองชนิดถุง และชั้นที่ ๓ Fine Filter สำหรับกรองละเอียด ซึ่งสามารถกรองฝุ่น ePM1 (ขนาด ๐.๓-๑ ไมครอน) ได้เฉลี่ย ๙๕% ตามมาตรฐานแผ่นกรองอากาศ EN 779 : 2012 หรือเทียบเท่ามาตรฐาน ISO 16890 : 2016 การออกแบบโดยใช้ตัวกรองทั้ง ๓ ชั้นนี้ ช่วยยืดอายุการใช้งานของตัวกรอง (Filter) ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาเครื่องต่ำ
News