News
ผนึก 2 ยักษ์ “ดีพร้อม – GC” ปั้นไบโอพลาสติกสู่เชิงพาณิชย์ ผลิตงานวิจัยใช้กากกัญชง ลดขยะอุตสาหกรรมลง ตั้งธง Bio-Circular-Green
ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ร่วมเป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC พร้อมเชื่อมโยงการตลาดของเครือข่ายพันธมิตรทั้งสองหน่วยงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการที่ขับเคลื่อนเพื่อการลดปริมาณขยะพลาสติกและกากอุตสาหกรรม ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Economy Model) โดยใช้เส้นใยส่วนที่เหลือทิ้งจากกระบวนการแปรรูปกัญชงเพื่อจัดการของเสียแบบขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) มาเพิ่มมูลค่าสู่ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพในเชิงพาณิชย์
ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ร่วมหารือกับ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. เพื่อบูรณาการการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Economy Model) ตามนโยบายรัฐบาลโดยการนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ในการผลักดันนโยบายสู่การปฏิบัติ ได้ดำเนินการภายใต้ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด หรือ GC ซึ่งเป็นหน่วยงานภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตเม็ดพลาสติก ได้ร่วมกันต่อยอดการวิจัยพัฒนาสูตรการผลิตพลาสติกชีวภาพจากพืชกัญชงในเชิงพาณิชย์สู่เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) โดยดีพร้อมจะรับบทบาทในการจัดหาเส้นใยกัญชงเพื่อเป็นวัสดุในการวิจัย พร้อมส่งเสริมการเข้าถึงสำหรับธุรกิจที่สนใจ เพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของไทย นอกจากนี้ ยังมีการขยายผลไปสู่การพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในด้านการบริหารการผลิต การแปรรูป รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากเส้นใยสั้น หรือเส้นใยชีวภาพที่เหลือทิ้ง ซึ่งถือเป็นการเพิ่มมูลค่าวัสดุและลดปริมาณขยะในภาคอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งปัจจุบันพบว่าการประกอบการในภาคอุตสาหกรรม มีปริมาณกากอุตสาหกรรมชนิดไม่อันตรายเกิดขึ้น จำนวนมากกว่า 17 ล้านตันต่อปี (ที่มา : กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม) ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรเป็นจำนวนมากในการดูแลและกำจัด หนึ่งในนั้น คือ ขยะพลาสติกที่มีจำนวน 4.8 ล้านตัน/ปีที่จะมีแนวโน้มเพิ่มปริมาณมากขึ้น
ดร.ณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังกระบวนการแปรรูปเพื่อนำเส้นใยไปใช้ประโยชน์จะเกิด “เส้นใยสั้น” ซึ่งเป็นสิ่งเหลือทิ้งจากกระบวนแปรรูปเฉลี่ยไร่ละประมาณ 400 กิโลกรัม ปัจจุบันมีการขออนุญาตเพาะปลูก จำนวนกว่า 631.9 ไร่ ปลูกได้กว่า 2 รอบต่อปี ดังนั้น จะมีเส้นใยเหลือเป็นขยะในภาคอุตสาหกรรมกว่า 505,400 กิโลกรัมต่อปี และสอดคล้องกับมติของคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการ ขยะพลาสติกระยะที่ 1 (พ.ศ. 2563 - 2565) ที่มีเนื้อหาสาระการห้ามใช้พลาสติก 4 ชนิด ได้แก่ ถุงหิ้ว โฟม แก้ว และหลอดพลาสติกในปี 2565 นี้
อย่างไรก็ดี การผนึกความร่วมมือดังกล่าว ยังเป็นการเดินหน้านโยบายดีพร้อมแคร์ (DIPROM CARE) ซึ่งได้ออกแบบงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม พร้อมทั้งแก้ปัญหาได้ตรงจุดให้กับอุตสาหกรรมพืชกัญชงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (C-Customization) อีกทั้งยังช่วยภาคเกษตรอุตสาหกรรมในการจัดหาวัตถุดิบ ในเชิงพื้นที่ และขยายช่องทางการเข้าถึงสำหรับภาคอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของไทย (A-Accessibility) พร้อมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ให้กับผู้ประกอบการซึ่งต้องปรับเปลี่ยนการผลิตให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ของการดำเนินธุรกิจ (R-Reformation) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ตลอดจนมีการเชื่อมโยงพันธมิตรเพื่อยกระดับการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ (E-Engagement) สะท้อนผลลัพธ์ไปสู่ศักยภาพของผู้ประกอบการในการต่อยอดอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะ ของแต่ละหน่วยงาน ผนวกกับประสบการณ์ในการส่งเสริมผู้ประกอบการ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือ อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชนอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้นำผลงานวิจัยไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์โดยการเชื่อมโยงการตลาด และการประชาสัมพันธ์การใช้ประโยชน์จากพลาสติกชีวภาพในเครือข่ายพันธมิตรของดีพร้อมและบริษัท ในเครือ ปตท.
ด้าน นายวริทธิ์ นามวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีมูลค่าเพิ่ม บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด หรือ GC เปิดเผยว่า GC ในฐานะหนึ่งในผู้นำด้านการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตลอดจนเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพลำดับต้น ๆ ของโลก พร้อมให้การสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดจากเศษวัสดุเหลือทิ้งจากเส้นใยกัญชง ซึ่งนับเป็นเส้นใยชีวภาพที่มีศักยภาพในการนำไปใช้งาน โดยความร่วมมือในครั้งนี้ GC จะสนับสนุนเม็ดพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic Compound) เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการศึกษาความเป็นไปได้ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพร่วมกับเส้นใยกัญชง อาทิ หลอดพลาสติกชีวภาพที่มีส่วนผสมของเส้นใยกัญชง ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในอนาคต ที่จะช่วยลดขยะเส้นใยกัญชงเหลือทิ้งและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกัญชง นอกจากนี้ GC หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ แก่ผู้ประกอบการพืชกัญชงและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของไทย ผ่านการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่องค์ความรู้ ประสบการณ์และข้อมูลทางวิชาการร่วมกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและต่อยอดการพัฒนาธุรกิจ ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้