News
กลุ่ม ปตท. นำร่องศึกษา CCS Hub Model ต้นแบบเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 คุณวราวรรณ ทิพพาวนิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกลยุทธ์องค์กร พร้อมด้วยผู้บริหาร กลุ่ม ปตท. ได้แก่ PTT PTTEP Thaioil IRPC และ GPSC ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการศึกษาความเป็นไปได้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) หรือ CCS Hub Model กลุ่ม ปตท. ณ ห้องพลังงานไทย ปตท. สำนักงานใหญ่
คุณวราวรรณ กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา GC Group ได้ให้คำมั่นตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) และร่วมเป็นหนึ่งในผู้แก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน ด้วยการกำหนดเป้าหมายที่มีแผนงานและงบประมาณที่ชัดเจน โดย GC Group ได้ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG) ลดลง 20% ภายในปี 2573 พร้อมมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 ซึ่งจะดำเนินการผ่าน 3 แนวทาง ได้แก่ Efficiency-driven การมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในทุกกระบวนการ Portfolio-driven การปรับโครงสร้างเพื่อก้าวสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ และ Compensation-driven การชดเชยคาร์บอนด้วยการปลูกป่า ซึ่ง GC พร้อมมุ่งมั่นผลักดันการดำเนินงานโครงการ CCS Hub Model ให้เป็นต้นแบบที่สำคัญในการขยายผลด้าน CCS พร้อมร่วมขับเคลื่อน กลุ่ม ปตท. และของประเทศ ให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ต่อไป
GC และ กลุ่ม ปตท. ในฐานะองค์กรด้านพลังงานของประเทศ มุ่งมั่นยกระดับการพัฒนาประเทศให้มั่นคงอย่างยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้สอดคล้องกับนโยบายและความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 เพื่อร่วมแก้ไขวิกฤตด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลุ่ม ปตท. จึงยกระดับการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีภายใต้คณะกรรมการเทคโนโลยี กลุ่ม ปตท. (PTT Group Technology Committee: GTC) ในการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกันใน กลุ่ม ปตท. โดยจะนำร่องศึกษาแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCS ในรูปแบบ CCS Hub Model ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตได้ในระดับหลายล้านตันต่อปี และนำไปกักเก็บในชั้นธรณีที่มีศักยภาพและเหมาะสมแบบปลอดภัยและถาวร (Permanent Geological Storage) โดยไม่มีการปล่อยกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ทั้งนี้ จะเริ่มศึกษาในพื้นที่ปฏิบัติการ กลุ่ม ปตท. จังหวัดระยองและชลบุรี
ความร่วมมือนี้นับเป็นต้นแบบสำคัญในการขยายผลสู่ระดับประเทศได้ในอนาคต เพื่อช่วยขับเคลื่อนองค์กรและประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero อย่างเป็นรูปธรรม ยกระดับการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืนได้ต่อไป
News