07 July 2019

ขยะเป็นศูนย์: โมเดลลดขยะด้วยไบโอพลาสติกของจุฬาฯ ที่ลูกค้ายินดีจ่ายเพิ่ม 2 บาทเพื่อช่วยโลก

Share:

IN FOCUS

  • Zero Waste Cup คือแก้วกระดาษไบโอพลาสติก ที่โครงการ Chula Zero Waste ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ GC (บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)) นำมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ในโรงอาหารทั้ง 17 โรงของมหาวิทยาลัย โดยผู้บริโภคจะต้องจ่ายเพิ่ม 2 บาทเพื่อเป็นค่าจัดการขยะ ซึ่งในเวลา 10 เดือนของการใช้นโยบายนี้ ช่วยลดปริมาณการใช้แก้วแบบครั้งเดียวทิ้งได้ถึง6 ล้านใบ หรือคิดเป็นน้ำหนักก็เกือบ 20 ตัน
  • แก้วกระดาษไบโอพลาสติกนี้ เป็นแก้วกระดาษที่เคลือบด้วย BioPBS™ นวัตกรรมพลาสติกชีวภาพของจีซี ที่นำเอาพืชอย่างอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด มาเป็นวัตถุดิบในการผลิต สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ โดยคงคุณสมบัติการใช้งานกับเครื่องดื่มร้อนหรือเย็นได้ตามปกติ ที่นอกจากแก้วแล้วยังมีการผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ชนิดอื่นด้วย เพื่อเป็นพลาสติกทางเลือกให้กับผู้บริโภค และเป็นหนึ่งในแนวทางแก้ไขปัญหาขยะที่เกิดจากการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของวิกฤติปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
  • GC เพิ่งจัดงาน “Circular Living Symposium 2019, Upcycling our Planet” ที่รวมวิทยากร จากหลากหลายประเทศ มาร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดสร้างสรรค์ ภายใต้เนื้อหาที่ครอบคลุมทั้งแนวคิดและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การหาแนวทางพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ขยะพลาสติก (Upcycling Plastic Waste) และการหาทางเลือกอื่นๆ อย่างพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic)

การลดใช้พลาสติก หรือการเปลี่ยนไปใช้วัสดุทดแทน เป็นหนึ่งในวิธีการลดขยะพลาสติกที่ผ่านตากันทุกวันจากพื้นที่สื่อ เพราะนาทีนี้ปัญหาขยะพลาสติกได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่มีการถกกันทั้งวงเสวนาเล็กๆ การประชุมระดับชาติ ไปจนถึงเวทีการประชุมผู้นำระดับโลก และเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าปัญหานี้กำลังเป็นวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกล้วนให้ความสำคัญ

เช่นเมื่อเร็วๆ นี้เอง จีซี (บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC) เพิ่งจัดงานใหญ่ “Circular Living Symposium 2019 : Upcycling our Planet” ที่โรงแรมดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562 ที่รวมต้นแบบความคิด ผู้นำ และนวัตกร จากหลากหลายประเทศ มาร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดสร้างสรรค์ในการปฏิวัติการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้เนื้อหาที่ครอบคลุมทั้งแนวคิดและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ชวนให้คนคิดคำนึงผลกระทบของการใช้ทรัพยากรตั้งแต่กระบวนการออกแบบ ผลิต ใช้ จัดการของเสีย และนำกลับมาใช้ใหม่ การหาแนวทางพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ขยะพลาสติก (Upcycling Plastic Waste) และการหาทางเลือกอื่นๆ อย่างพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic)

สำหรับประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีตัวเลขทางสถิติแสดงออกมาว่าเรามีขยะพลาสติกเกิดขึ้นปีละ 2 ล้านตัน และสามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้เพียง 0.5 ล้านตัน เพราะขยะพลาสติกส่วนใหญ่เกิดจากบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastic) ซึ่งเป็นความสะดวกสบายที่ส่งผลร้ายในวงกว้าง

เพื่อลดวงจรขยะพลาสติกที่นำกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้ นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติก หรือ พลาสติกชีวภาพ ที่สามารถย่อยสลายได้ จึงถูกคิดค้นขึ้นเพื่อใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ทดแทน และกำลังได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการที่ใส่ใจโลก รวมถึงหน่วยงานและองค์กรที่ให้ความสำคัญต่อวิกฤติปัญหา เช่นเดียวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ผุดโครงการ ‘Chula Zero Waste’ เมื่อปีพ.ศ. 2560 ตั้งเป้าลดขยะภายในมหาวิทยาลัย 30 เปอร์เซ็นต์ในเวลา 5 ปี และหนึ่งในมาตรการนั้นคือการเปลี่ยนไปใช้แก้วกระดาษเคลือบไบโอพลาสติก (BioPBS) หรือ Zero Waste Cup ในโรงอาหารของมหาวิทยาลัย 17 โรง ที่เริ่มต้นเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว และสามารถช่วยลดปริมาณการใช้แก้วพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งได้ 1.6 ล้านใบในเวลา 10 เดือน หรือคิดเป็นน้ำหนักก็เกือบ 20 ตัน

ศ.ดร.ปราโมช รังสรรค์วิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล่าให้ฟังถึงโมเดลในการจัดการนี้ว่า “โครงการ Chula Zero Waste พบว่าในจุฬาฯ มีขยะประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งในโรงอาหารเฉลี่ยปีหนึ่ง 2 ล้านใบ คิดเป็นน้ำหนักก็ 25 ตัน ที่ผ่านมาเราจัดการด้วยวิธีฝังกลบเป็นส่วนใหญ่ เพื่อเป็นการแก้ปัญหานี้เราจึงร่วมมือกับจีซี ด้วยการนำแก้วกระดาษเคลือบไบโอพลาสติกหรือไบโอพีบีเอสไปใช้แทนแก้วแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยลูกค้าจะต้องจ่ายเงินเพิ่ม 2 บาทเพื่อเป็นค่าจัดการขยะ โดยเงิน 2 บาทนี้จะเข้ากองทุนมหาวิทยาลัยเพื่อโครงการ Chula Zero Waste แต่ถ้านำแก้วส่วนตัวมาเองก็ไม่ต้องจ่ายค่าส่วนต่างนี้”

แก้ว Zero Waste Cup หรือแก้วกระดาษเคลือบไบโอพลาสติก ซึ่งผลิตโดยพีทีทีเอ็มซีซี (บริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม จำกัด) บริษัทในกลุ่มจีซี เป็นการพัฒนานวัตกรรมพลาสติกชีวภาพ ที่นำเอาพืช เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด มาเป็นวัตถุดิบในการผลิต BioPBS™ สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ โดยนำไบโอพีบีเอสมาเคลือบกระดาษ ซึ่งสามารถย่อยสลายไปได้ทุกส่วน คงคุณสมบัติการใช้งานกับเครื่องดื่มร้อนหรือเย็นได้ตามปกติ นอกจากแก้วแล้วยังมีการผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ชนิดอื่น เพื่อเป็นพลาสติกทางเลือกให้กับผู้บริโภค นอกจากนั้นจีซี ยังเตรียมใช้ฉลาก “ GC Compostable Label” หรือ ฉลากที่บ่งบอกว่าสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์นั้นผลิตจากเม็ดไบโอพลาสติกที่ย่อยสลายได้ ที่ GC ผลิตหรือรับรองเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้ และเป็นอีกหนึ่งในแนวทางแก้ไขปัญหาขยะที่เกิดจากการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว

ปัจจุบันการผลิตไบโอพีอีเอสยังมีต้นทุนสูง ทั้งต้นทุนจากการเพาะปลูกและกระบวนการผลิต ทำให้ราคาของบรรจุภัณฑ์ไบโอพลาสติกที่ย่อยสลายได้ยังสูงกว่าพลาสติกแบบปกติ จึงทำให้การใช้งานยังมีข้อจำกัดต่อผู้ประกอบการ ซึ่งหากความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์มีเพิ่มมากขึ้น และทำให้กำลังการผลิตสูงขึ้น จะส่งผลต่อราคาที่เข้าถึงได้มากขึ้นในอนาคต

ในด้านการจัดการขยะไบโอพลาสติก ยังมีความต้องการการจัดเก็บที่เหมาะสม เพื่อการนำไบโอพลาสติกกลับมาหมุนเวียนใช้อย่างครบวงจร เป็นการใช้ทรัพยากรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งโมเดลการจัดการของ Chula Zero Waste นั้น ศ.ดร.ปราโมช อธิบายให้เห็นภาพว่า

“ทางมหาวิทยาลัยมีระบบการคัดแยก มีถังเพื่อทิ้งแก้วกระดาษไบโอพลาสติกโดยเฉพาะ นำไปตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ผสมในบ่อปุ๋ยหมักเพื่อให้เกิดการย่อยสลาย และใช้เป็นสารปรับปรุงดินดูแลต้นไม้ในมหาวิทยาลัยด้วย และตอนนี้เราได้เริ่มมีการเจรจากับหลายหน่วยงาน รวมถึงกรมป่าไม้ในการเอาแก้วกระดาษไบโอพลาสติกที่ใช้แล้วไปเพาะปลูกต้นกล้าแทนถุงพลาสติกสีดำที่ไม่ย่อยสลาย ซึ่งหากนำแก้วนี้ไปใช้ทดแทนแล้วฝังลงดินไปในการปลูก ก็จะมีการย่อยสลายไปเองใน 180 วัน”

ส่วนราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเพิ่ม 2 บาทในการใช้ Zero Waste Cup นั้น ใช้วิธีการสื่อสารกับนิสิตและบุคลากร ซึ่งทางโครงการฯ ได้ทำแบบสำรวจการใช้งานของผู้บริโภค พบว่านิสิตและบุคลากรยอมรับและยินดีจ่ายส่วนต่างนี้

“มันสะท้อนให้เห็นว่าเขาตื่นตัวกับปัญหาพลาสติกมาก ศูนย์ความเป็นเลิศ PETROMAT ก็ได้ร่วมกับจีซี ในการสร้างจิตสำนึกใช้พลาสติกอย่างรู้คุณค่าและการแยกขยะที่ถูกวิธี และเราก็ได้ร่วมกับจีซีและสมาคมสร้างสรรค์ไทยซึ่งเป็นเจ้าของโครงการตาวิเศษ ในการจะนำโครงการตาวิเศษที่เคยทำให้กรุงเทพมหานครมีขยะลดลง กลับมาปลูกฝังคนรุ่นใหม่ โดยใช้แคมเปญว่า ‘คุณคือตาวิเศษ’ ทุกคนเป็นตาวิเศษที่ต้องดูแลรับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย”

การลดขยะด้วยการเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ไบโอพลาสติก จึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้บริโภคที่ยังต้องการความสะดวกสบายในการใช้งาน รวมถึงการนำบรรจุภัณฑ์ส่วนตัวมาใช้ ที่เป็นการลดขยะได้ดีที่สุด

FACT BOX

Zero-Waste Cup คือ แก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ ย่อยสลายได้ 100% เริ่มใช้ในโรงอาหารรวม 7 แห่ง โรงอาหารประจำคณะอีก 3 แห่ง รวมทั้งหมด 10 แห่งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเริ่มนำร่องใช้งานมาตั้งแต่วัน 10 กรกฎาคม 2561 และมีนโยบายที่จะขยายการใช้ Zero-Waste Cup ไปยังโรงอาหารทั้งหมดในจุฬาฯ รวม 17 แห่ง โดยโครงการนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับ จีซี (บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC)

ที่มา: themomentum.co

Feature Stories

Feature Stories
09 December 2020
[ The Cloud ] Laika สตาร์ทอัพแบรนด์ขนมสุนัข ผู้ชนะ Pitching ในงาน GC Circular Living Symposium 2020: Tomorrow Together ของปีนี้
Read More
Feature Stories
02 June 2020
เปลี่ยนของเสียในโรงงานผลิตถ้วยพลาสติก ให้เป็นของแต่งบ้านสุดเดิร์น “WFH” อย่างมีสไตล์ ไปกับโครงการ Upcycling Upstyling
Read More
Feature Stories
18 May 2020
Four New Normal Trends… Changes in Post COVID-19 Era
Read More