07 กรกฎาคม 2562

ขยะเป็นศูนย์: โมเดลลดขยะด้วยไบโอพลาสติกของจุฬาฯ ที่ลูกค้ายินดีจ่ายเพิ่ม 2 บาทเพื่อช่วยโลก

แชร์:

IN FOCUS

  • Zero Waste Cup คือแก้วกระดาษไบโอพลาสติก ที่โครงการ Chula Zero Waste ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ GC (บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)) นำมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ในโรงอาหารทั้ง 17 โรงของมหาวิทยาลัย โดยผู้บริโภคจะต้องจ่ายเพิ่ม 2 บาทเพื่อเป็นค่าจัดการขยะ ซึ่งในเวลา 10 เดือนของการใช้นโยบายนี้ ช่วยลดปริมาณการใช้แก้วแบบครั้งเดียวทิ้งได้ถึง6 ล้านใบ หรือคิดเป็นน้ำหนักก็เกือบ 20 ตัน
  • แก้วกระดาษไบโอพลาสติกนี้ เป็นแก้วกระดาษที่เคลือบด้วย BioPBS™ นวัตกรรมพลาสติกชีวภาพของจีซี ที่นำเอาพืชอย่างอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด มาเป็นวัตถุดิบในการผลิต สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ โดยคงคุณสมบัติการใช้งานกับเครื่องดื่มร้อนหรือเย็นได้ตามปกติ ที่นอกจากแก้วแล้วยังมีการผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ชนิดอื่นด้วย เพื่อเป็นพลาสติกทางเลือกให้กับผู้บริโภค และเป็นหนึ่งในแนวทางแก้ไขปัญหาขยะที่เกิดจากการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของวิกฤติปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
  • GC เพิ่งจัดงาน “Circular Living Symposium 2019, Upcycling our Planet” ที่รวมวิทยากร จากหลากหลายประเทศ มาร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดสร้างสรรค์ ภายใต้เนื้อหาที่ครอบคลุมทั้งแนวคิดและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การหาแนวทางพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ขยะพลาสติก (Upcycling Plastic Waste) และการหาทางเลือกอื่นๆ อย่างพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic)

การลดใช้พลาสติก หรือการเปลี่ยนไปใช้วัสดุทดแทน เป็นหนึ่งในวิธีการลดขยะพลาสติกที่ผ่านตากันทุกวันจากพื้นที่สื่อ เพราะนาทีนี้ปัญหาขยะพลาสติกได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่มีการถกกันทั้งวงเสวนาเล็กๆ การประชุมระดับชาติ ไปจนถึงเวทีการประชุมผู้นำระดับโลก และเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าปัญหานี้กำลังเป็นวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกล้วนให้ความสำคัญ

เช่นเมื่อเร็วๆ นี้เอง จีซี (บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC) เพิ่งจัดงานใหญ่ “Circular Living Symposium 2019 : Upcycling our Planet” ที่โรงแรมดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562 ที่รวมต้นแบบความคิด ผู้นำ และนวัตกร จากหลากหลายประเทศ มาร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดสร้างสรรค์ในการปฏิวัติการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้เนื้อหาที่ครอบคลุมทั้งแนวคิดและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ชวนให้คนคิดคำนึงผลกระทบของการใช้ทรัพยากรตั้งแต่กระบวนการออกแบบ ผลิต ใช้ จัดการของเสีย และนำกลับมาใช้ใหม่ การหาแนวทางพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ขยะพลาสติก (Upcycling Plastic Waste) และการหาทางเลือกอื่นๆ อย่างพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic)

สำหรับประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีตัวเลขทางสถิติแสดงออกมาว่าเรามีขยะพลาสติกเกิดขึ้นปีละ 2 ล้านตัน และสามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้เพียง 0.5 ล้านตัน เพราะขยะพลาสติกส่วนใหญ่เกิดจากบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastic) ซึ่งเป็นความสะดวกสบายที่ส่งผลร้ายในวงกว้าง

เพื่อลดวงจรขยะพลาสติกที่นำกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้ นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติก หรือ พลาสติกชีวภาพ ที่สามารถย่อยสลายได้ จึงถูกคิดค้นขึ้นเพื่อใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ทดแทน และกำลังได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการที่ใส่ใจโลก รวมถึงหน่วยงานและองค์กรที่ให้ความสำคัญต่อวิกฤติปัญหา เช่นเดียวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ผุดโครงการ ‘Chula Zero Waste’ เมื่อปีพ.ศ. 2560 ตั้งเป้าลดขยะภายในมหาวิทยาลัย 30 เปอร์เซ็นต์ในเวลา 5 ปี และหนึ่งในมาตรการนั้นคือการเปลี่ยนไปใช้แก้วกระดาษเคลือบไบโอพลาสติก (BioPBS) หรือ Zero Waste Cup ในโรงอาหารของมหาวิทยาลัย 17 โรง ที่เริ่มต้นเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว และสามารถช่วยลดปริมาณการใช้แก้วพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งได้ 1.6 ล้านใบในเวลา 10 เดือน หรือคิดเป็นน้ำหนักก็เกือบ 20 ตัน

ศ.ดร.ปราโมช รังสรรค์วิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล่าให้ฟังถึงโมเดลในการจัดการนี้ว่า “โครงการ Chula Zero Waste พบว่าในจุฬาฯ มีขยะประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งในโรงอาหารเฉลี่ยปีหนึ่ง 2 ล้านใบ คิดเป็นน้ำหนักก็ 25 ตัน ที่ผ่านมาเราจัดการด้วยวิธีฝังกลบเป็นส่วนใหญ่ เพื่อเป็นการแก้ปัญหานี้เราจึงร่วมมือกับจีซี ด้วยการนำแก้วกระดาษเคลือบไบโอพลาสติกหรือไบโอพีบีเอสไปใช้แทนแก้วแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยลูกค้าจะต้องจ่ายเงินเพิ่ม 2 บาทเพื่อเป็นค่าจัดการขยะ โดยเงิน 2 บาทนี้จะเข้ากองทุนมหาวิทยาลัยเพื่อโครงการ Chula Zero Waste แต่ถ้านำแก้วส่วนตัวมาเองก็ไม่ต้องจ่ายค่าส่วนต่างนี้”

แก้ว Zero Waste Cup หรือแก้วกระดาษเคลือบไบโอพลาสติก ซึ่งผลิตโดยพีทีทีเอ็มซีซี (บริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม จำกัด) บริษัทในกลุ่มจีซี เป็นการพัฒนานวัตกรรมพลาสติกชีวภาพ ที่นำเอาพืช เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด มาเป็นวัตถุดิบในการผลิต BioPBS™ สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ โดยนำไบโอพีบีเอสมาเคลือบกระดาษ ซึ่งสามารถย่อยสลายไปได้ทุกส่วน คงคุณสมบัติการใช้งานกับเครื่องดื่มร้อนหรือเย็นได้ตามปกติ นอกจากแก้วแล้วยังมีการผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ชนิดอื่น เพื่อเป็นพลาสติกทางเลือกให้กับผู้บริโภค นอกจากนั้นจีซี ยังเตรียมใช้ฉลาก “ GC Compostable Label” หรือ ฉลากที่บ่งบอกว่าสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์นั้นผลิตจากเม็ดไบโอพลาสติกที่ย่อยสลายได้ ที่ GC ผลิตหรือรับรองเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้ และเป็นอีกหนึ่งในแนวทางแก้ไขปัญหาขยะที่เกิดจากการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว

ปัจจุบันการผลิตไบโอพีอีเอสยังมีต้นทุนสูง ทั้งต้นทุนจากการเพาะปลูกและกระบวนการผลิต ทำให้ราคาของบรรจุภัณฑ์ไบโอพลาสติกที่ย่อยสลายได้ยังสูงกว่าพลาสติกแบบปกติ จึงทำให้การใช้งานยังมีข้อจำกัดต่อผู้ประกอบการ ซึ่งหากความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์มีเพิ่มมากขึ้น และทำให้กำลังการผลิตสูงขึ้น จะส่งผลต่อราคาที่เข้าถึงได้มากขึ้นในอนาคต

ในด้านการจัดการขยะไบโอพลาสติก ยังมีความต้องการการจัดเก็บที่เหมาะสม เพื่อการนำไบโอพลาสติกกลับมาหมุนเวียนใช้อย่างครบวงจร เป็นการใช้ทรัพยากรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งโมเดลการจัดการของ Chula Zero Waste นั้น ศ.ดร.ปราโมช อธิบายให้เห็นภาพว่า

“ทางมหาวิทยาลัยมีระบบการคัดแยก มีถังเพื่อทิ้งแก้วกระดาษไบโอพลาสติกโดยเฉพาะ นำไปตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ผสมในบ่อปุ๋ยหมักเพื่อให้เกิดการย่อยสลาย และใช้เป็นสารปรับปรุงดินดูแลต้นไม้ในมหาวิทยาลัยด้วย และตอนนี้เราได้เริ่มมีการเจรจากับหลายหน่วยงาน รวมถึงกรมป่าไม้ในการเอาแก้วกระดาษไบโอพลาสติกที่ใช้แล้วไปเพาะปลูกต้นกล้าแทนถุงพลาสติกสีดำที่ไม่ย่อยสลาย ซึ่งหากนำแก้วนี้ไปใช้ทดแทนแล้วฝังลงดินไปในการปลูก ก็จะมีการย่อยสลายไปเองใน 180 วัน”

ส่วนราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเพิ่ม 2 บาทในการใช้ Zero Waste Cup นั้น ใช้วิธีการสื่อสารกับนิสิตและบุคลากร ซึ่งทางโครงการฯ ได้ทำแบบสำรวจการใช้งานของผู้บริโภค พบว่านิสิตและบุคลากรยอมรับและยินดีจ่ายส่วนต่างนี้

“มันสะท้อนให้เห็นว่าเขาตื่นตัวกับปัญหาพลาสติกมาก ศูนย์ความเป็นเลิศ PETROMAT ก็ได้ร่วมกับจีซี ในการสร้างจิตสำนึกใช้พลาสติกอย่างรู้คุณค่าและการแยกขยะที่ถูกวิธี และเราก็ได้ร่วมกับจีซีและสมาคมสร้างสรรค์ไทยซึ่งเป็นเจ้าของโครงการตาวิเศษ ในการจะนำโครงการตาวิเศษที่เคยทำให้กรุงเทพมหานครมีขยะลดลง กลับมาปลูกฝังคนรุ่นใหม่ โดยใช้แคมเปญว่า ‘คุณคือตาวิเศษ’ ทุกคนเป็นตาวิเศษที่ต้องดูแลรับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย”

การลดขยะด้วยการเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ไบโอพลาสติก จึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้บริโภคที่ยังต้องการความสะดวกสบายในการใช้งาน รวมถึงการนำบรรจุภัณฑ์ส่วนตัวมาใช้ ที่เป็นการลดขยะได้ดีที่สุด

FACT BOX

Zero-Waste Cup คือ แก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ ย่อยสลายได้ 100% เริ่มใช้ในโรงอาหารรวม 7 แห่ง โรงอาหารประจำคณะอีก 3 แห่ง รวมทั้งหมด 10 แห่งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเริ่มนำร่องใช้งานมาตั้งแต่วัน 10 กรกฎาคม 2561 และมีนโยบายที่จะขยายการใช้ Zero-Waste Cup ไปยังโรงอาหารทั้งหมดในจุฬาฯ รวม 17 แห่ง โดยโครงการนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับ จีซี (บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC)

ที่มา: themomentum.co

Feature Stories

Feature Stories
05 กันยายน 2562
ทำไมต้องรีไซเคิลพลาสติก
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
03 กรกฎาคม 2562
“Because There is No Planet B” สู่ภารกิจปฏิวัติวงการแฟชั่นของ ECOALF
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
17 มกราคม 2562
เขาห้วยมะหาด แรงบันดาลหนึ่งเนื่องในวันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้แห่งชาติ
อ่านเพิ่มเติม