Feature Stories
ชุบชีวิตขยะที่ถูกลืมในโรงงานผลิตฟิล์มพลาสติก แปลงร่างเป็นเสื้อผ้าและกระเป๋า ที่มีดีไซน์ไม่ซ้ำใคร “Weaving The Forgotten Thread” กับโครงการ Upcycling Upstyling
ผลงานสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้เสมอเมื่อเราเริ่มต้นคิดและทดลอง เช่นเดียวกับคุณทินพันธ์ พากฤต กรรมการบริษัท เทคนิค แพคเกจจิ้ง จำกัด และคุณเอก ทองประเสริฐ ดีไซเนอร์ชื่อดังเจ้าของแบรนด์เครื่องประดับและเครื่อง แต่งกาย Ek Thongprasert ที่นำเอาขยะพลาสติกจากกระบวนการผลิตฟิล์มพลาสติกที่เหลือจากการตัดขอบม้วนฟิล์ม มาเป็นส่วนประกอบของเสื้อผ้าและกระเป๋า ภายใต้ชื่อคอลเลคชั่น “Weaving The Forgotten Thread” ในโครงการ Upcycling Upstyling
คุณทินพันธ์ พากฤต กรรมการบริษัท เทคนิค แพคเกจจิ้ง จำกัด (ขวา)
และคุณเอก ทองประเสริฐ ดีไซเนอร์จากแบรนด์ Ek Thongprasert (กลาง)
คุณทินพันธ์ เล่าให้เราฟังตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกเศษวัสดุภายในโรงงานของเทคนิค แพคเกจจิ้ง มาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ร่วมกับนักออกแบบ
วัสดุที่เทคนิค แพ็คเกจจิ้ง เลือกมาต่อยอดเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ Upcycling คืออะไร
คุณทินพันธ์: เราเลือกเส้นพลาสติกที่เหลือจากการตัดขอบฟิล์ม หรือเส้นสลิต ซึ่งมีปริมาณมากในโรงงาน และเป็นวัสดุที่รีไซเคิลได้ยากเนื่องจากเป็นฟิล์มลามิเนตที่มีส่วนประกอบทั้งกาว และพลาสติกหลายชนิดปนอยู่ ซึ่งโดยปกติบริษัท จะขายทิ้งเป็นขยะจำนวนมาก ทำให้รู้สึกเสียดายที่ทั้งคุณค่าและมูลค่าของพลาสติกที่ถูกลดทอนจนแทบไม่เหลือ แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการ Upcycling Upstyling จึงทราบว่าเราสามารถแปลงร่างเส้นพลาสติกจากขยะที่เคยขายซาเล้งเป็นสินค้าแฟชั่นที่มีมูลค่าสูงได้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงระบบการจัดการเดิมในโรงงาน แค่ปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บเศษเส้นพลาสติกเล็กน้อย เพราะเราไม่อยากลงทุนกับต้นทุนที่มีความเสี่ยงสูงในสภาพเศรษฐกิจซบเซาในช่วง COVID-19 แบบนี้
ผลงานกระเป๋าคอลเลคชั่น “Weaving The Forgotten Thread” จากเศษเส้นพลาสติกหรือเส้นสลิต
เมื่อผู้ประกอบการพลาสติกเลือกวัสดุได้แล้ว ถึงคราวของนักออกแบบที่จะร่วมคิด ร่วมพัฒนา ให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ ใหม่ ๆ ที่มีมูลค่าสูงขึ้น
ในฐานะนักออกแบบ มีแนวคิดอย่างไรในการนำพลาสติกจากกระบวนการผลิต มาต่อยอดเป็นชิ้นงานที่มีคุณค่า ทั้งในเชิงพาณิชย์ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
คุณเอก: 2nd Life 2nd Chance คือแนวคิดหลักในการเพิ่มมูลค่าเศษพลาสติกที่ถูกมองว่าเป็นขยะ และเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ผมคิดว่าเราควรมีวิธีจัดการชุบชีวิตขยะพลาสติกให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่นอกจากจะเหมาะสมกับการใช้งานของผู้บริโภค ยังมีคุณภาพและความสวยงาม ในขณะเดียวกันก็ควรมีมูลค่าเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ผลิตด้วย เพื่อจูงใจให้เกิดวงจรการใช้พลาสติกที่หมุนเวียนอย่างสมบูรณ์ สำหรับเสื้อผ้าและกระเป๋า ภายใต้ชื่อคอลเลคชั่น “Weaving The Forgotten Thread” ที่ออกแบบร่วมกับเทคนิค แพคเกจจิ้ง นั้น เป็นการสร้างความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างภาคอุตสาหกรรมและหัตถกรรม เส้นเศษพลาสติกจากเทคนิค แพคเกจจิ้ง ถูกสอดประสานเข้ากับเส้นไหม และเส้นฝ้าย ด้วยกระบวนการทอแบบพื้นถิ่น ที่ชาวบ้านสามารถผลิตตามได้โดยง่ายด้วยกี่ทอผ้าที่พบได้ทั่วประเทศ ผืนผ้าที่ได้สามารถเข้าสู่กระบวนการตัดเย็บแปรรูปที่แตกต่างกัน อาทิ กระเป๋า ผ้าแขวนผนัง เสื้อคลุม เป็นต้น
ผลงานแจ็คเก็ตคอลเลคชั่น “Weaving The Forgotten Thread” จากเศษเส้นพลาสติกหรือเส้นสลิต
ความหนักใจ และอุปสรรคที่ต้องก้าวข้ามในโครงการนี้คืออะไร
คุณเอก: ยอมรับว่าหนักใจตั้งแต่ครั้งแรกที่เริ่มคุยกับทีมของเทคนิค แพคเกจจิ้ง เนื่องจากคิดไม่ตกว่าจะเลือกวัสดุใดมาต่อยอดดี เพราะเศษพลาสติกที่เหลือส่วนใหญ่มีความบาง ไม่คงทนต่อการปรับเปลี่ยนไปใช้งานในบริบทอื่น ซึ่งหากจะเพิ่มความคงทน ก็จะกระทบกับขั้นตอนการผลิตสินค้าปกติ และอาจมีต้นทุนสูงขึ้น ดังนั้น ผมและคุณทินพันธ์จึงเดินสำรวจโรงงานอีกรอบเพื่อหาวัสดุมาทำ จนในที่สุดก็เจอขยะอุตสาหกรรมที่เป็นเส้นพลาสติกที่ตัดออกระหว่างกระบวนการผลิตม้วนฟิล์ม รอการขายทิ้งในราคาถูก จึงทดลองนำขยะส่วนนี้มาสร้างเป็นวัสดุใหม่เพื่อใช้ในการออกแบบ ซึ่งกลายเป็นว่าเศษเส้นพลาสติกเหลือทิ้งนี้ มีจุดเด่นคือ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้เกิดสีสันที่หลากหลายตามการออกแบบบรรจุภัณฑ์ของลูกค้าแต่ละรายที่สั่งผลิตถุงกับโรงงาน สามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ได้มากมาย
คุณทินพันธ์ พากฤต (ซ้าย) และคุณเอก ทองประเสริฐ (ขวา)
โอกาสในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ในอนาคต และความประทับใจต่อโครงการ Upcycling Upstyling
คุณเอก: ผลิตภัณฑ์ในโครงการ Upcycling Upstyling ล้วนถูกสร้างสรรค์ผ่านมุมมองที่น่าสนใจของนักออกแบบชั้นนำ โดยคุณภาพด้านการออกแบบ ทำให้ผลิตภัณฑ์มีศักยภาพที่จะเข้าสู่ตลาดสินค้า Upcycling ได้ และอีกสิ่งที่น่าสนใจคือ เศษพลาสติกแต่ละประเภทจากกระบวนการผลิตที่หลากหลายล้วนมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ในอนาคตหากมีการ ตั้งพื้นที่กลางที่ผู้ประกอบการพลาสติกสามารถส่งวัสดุเข้ามาให้นักออกแบบเลือกใช้ตามงานออกแบบและการใช้งาน จะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์หรือ Solution ใหม่ ๆ ซึ่งการประสานงานร่วมกันเช่นนี้จะทำให้ได้ผลงาน Upcycling จากขยะพลาสติกหรือเศษพลาสติกเหลือใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีทั้งคุณภาพและมูลค่าสูงต่อไป
สำหรับเหล่าแฟชั่นนิสต้าหัวใจสีเขียวที่กำลังจับจ้องเสื้อผ้าและกระเป๋าคอลเลคชั่น “Weaving The Forgotten Thread” นี้ ขอให้อดใจรออีกไม่นาน เนื่องจาก เทคนิค แพคเกจจิ้งมีแผนที่จะจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อผลิตสินค้าและขยายช่องทางการจัดจำหน่ายในเร็ววันนี้
Feature Stories