18 พฤษภาคม 2563

GC อาสา แก้ปัญหาขยะล้น จาก WFH ตั้งโมเดลต้นแบบ ‘ส่งพลาสติกกลับบ้าน’

แชร์:

GC อาสา แก้ปัญหาขยะล้นจาก WFH ตั้งโมเดลต้นแบบ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” เรียกคืน ขยะเดลิเวอร์รี่ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนครบวงจร นำร่องย่านสุขุมวิท ดึงภาคีเครือข่ายร่วมมือ

Work from Home (WFH) ตามมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” จากวิกฤติโควิด-19 และการ Lockdown ทำให้คนสั่งอาหารมากินที่บ้านมากขึ้น และมาตรการ WFH นี้กำลังถูกรณรงค์ให้อยู่ยาว เพื่อลดการแออัดในสถานที่ทำงาน

ด้านดีช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ที่ตามมา คือ ปัญหาขยะพลาสติก จากกล่องอาหารเดลิเวอรี่ เพิ่มจำนวนมากขึ้นถึง 15% ต่อวัน จาก 5,500 ตันต่อวัน เป็น 6,300 ตันต่อวัน

เมื่อเกิดประเด็นดังกล่าวขึ้น ก่อนจะกลายเป็นปัญหาสะสม และมากลบด้านดีของ WFH บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ผู้ผลิตเม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ ซึ่งรณรงค์การจัดการขยะพลาสติกครบวงจรมาโดยตลอด จึงเข้าหารือกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) รวมถึงคู่ค้าของ GC เร่งสร้างโมเดลต้นแบบ โครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” เรียกคืนขยะ ที่มีประสิทธิภาพ

นำร่องให้เกิด “Circular Hotspot” บนถนนสุขุมวิท เป็นแห่งแรกของไทย สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนใหม่ ควบคู่สร้างประโยชน์เชิงสาธารณะ และเป็นต้นแบบให้กับอาเซียน ในระยะฟื้นฟูหลังภาวะวิกฤติ โควิด-19

ดร. คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GC เล่าว่า  GC เห็นปัญหาของขยะพลาสติก จากการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ เป็นเรื่องเร่งด่วน ที่ต้องได้รับการแก้ไข ในช่วงภาวะวิกฤติโควิด-19 จึงริเริ่มโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบของประเทศ เป้าหมาย เพื่อ สร้างประโยชน์ ทั้งในเชิงสังคม สิ่งแวดล้อม และระบบเศรษฐกิจของประเทศตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

โดยนำขยะรีไซเคิล มาสร้างประโยชน์ใหม่ ตามหลักการบริหารจัดการของ GC โดย GC ร่วมสร้างกลไกให้เกิดการคัดแยกที่ถูกต้อง มีการจัดจุดบริการรับฝากขยะ (Drop point) กับพันธมิตร

ทั้งนี้การจัดการขยะนั้น ต้องเริ่มต้นที่ตัวเราทุกคน ต้องช่วยกันคัดแยกขยะพลาสติก และทำความสะอาด ก่อนทิ้งอย่างถูกต้อง จากนั้นขยะพลาสติก ที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ จะถูกนำมาเข้าโรงงานรีไซเคิล เพื่อผ่านกระบวนการเปลี่ยนเป็นเส้นใยพลาสติก และเม็ดพลาสติกชนิดต่างๆ

จากนั้น ผ่านโรงงานแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์รีไซเคิล และ อัพไซเคิล วนกลับสู่ผู้บริโภคอีกครั้งหนึ่ง ขยะที่ถูกคัดแยกอย่างถูกต้อง เหมาะสม ยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ยกระดับสร้างสุขอนามัย และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้กับอาชีพคนรับจ้างเก็บขยะ และสร้างธุรกิจรีไซเคิลคุณภาพสูง ให้เกิดมากขึ้น ส่งผลกระทบเชิงบวก ต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ดร.คงกระพัน ย้ำว่า พลาสติก ถือเป็นนวัตกรรม ที่อำนวยความสะดวก ในชีวิตประจำวัน ของทุกคนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 พลาสติกมีบทบาทในหลายแง่มุม ช่วยอำนวยความสะดวกสบาย และเป็นวัสดุที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการสัมผัสเชื้อโรค

แต่เมื่อใช้เสร็จแล้ว ต้องมีการบริหารจัดการหลังการใช้ให้ถูกวิธี เพื่อให้ไม่เป็นภาระของโลก ต้องขอขอบคุณภาคีเครือข่าย จากทุกองค์กรที่เข้าร่วมโครงการนี้ และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

โดยเชื่อว่าโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” จะประสบความสำเร็จ โดย GC พร้อมสนับสนุน เป็น Total Solution Provider เคียงข้างภาครัฐ และภาคีพันธมิตร เพื่อขยายผลต่อยอดในเชิงพื้นที่ และขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน อย่างสมบูรณ์แบบในอนาคต

ที่มา: www.thebangkokinsight.com

ข่าวสาร

ข่าวสาร
16 กันยายน 2563
GC ไม่หยุดดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อคนไทย คว้ารางวัลโครงการประเมินและจัดระดับธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน (LCSi) ในระดับยอดเยี่ยม ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2
อ่านเพิ่มเติม
ข่าวสาร
04 มิถุนายน 2563
GC จับมือไทยเบฟ สนับสนุนเจลแอลกอฮอล์ ภายใต้แบรนด์ GelCo ให้กับโรงพยาบาลเลิดสิน
อ่านเพิ่มเติม
ข่าวสาร
29 มีนาคม 2562
GC เน้นย้ำหลัก 3R และ Circular Economy ในการจัดการขยะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
อ่านเพิ่มเติม