16 กรกฎาคม 2564

ปุ๋ยอินทรีย์ตราใบจาก ปุ๋ยที่สร้างรอยยิ้มให้ต้นไม้ ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

แชร์:

เรื่องราวของปุ๋ยอินทรีย์ตราใบจาก ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ปุ๋ย แต่ยังเชื่อมโยงความร่วมมือร่วมใจของวัด บ้าน ชุมชน ไว้ด้วยกันอย่างเหนียวแน่น โดยมีเป้าประสงค์ร่วมกันในการเปลี่ยนขยะเศษอาหาร ให้กลายมาเป็นของมีค่า นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดแทนที่จะปล่อยทิ้งให้เป็นขยะกองโตในสิ่งแวดล้อม

“แรกเริ่มเกิดจากที่วัดมีโรงครัวมีเศษอาหารเหลือก็จะเทลงถังขยะ เกิดการบูดเน่า และสุนัขมาคุ้ยเขี่ย จึงคิดว่า น่าจะนำเศษอาหารเหล่านี้ มาทำประโยชน์ เพื่อช่วยลดขยะและการจัดเก็บ จึงเริ่มทดลองทำปุ๋ยใช้เองภายในวัดมาตั้งแต่ปี 2548” พระเมธีวชิรโสภณ เจ้าอาวาสวัดจากแดง เล่าถึงต้นตอที่มาให้เราฟัง “ตอนแรกก็ทำจำนวนน้อย เพื่อแก้ปัญหาให้เศษอาหารหายไป ต่อมามีการทดลองปรับสูตรมาเรื่อยๆ จนมีความชำนาญขึ้น จึงชักชวนชุมชนให้เข้าร่วม เพราะในชุมชนเอง ก็ประสบปัญหาเดียวกันเรื่องขยะเศษอาหารในแต่ละวันที่มีเป็นจำนวนมาก”

ปัจจุบัน โครงการเปลี่ยนขยะให้เป็นปุ๋ย ได้รับการต่อยอดพัฒนามาเป็นหนึ่งในความร่วมมือจากวิสาหกิจชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงบ้านวัดจากแดง (คุ้งบางกระเจ้า) วัดจากแดง และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีรูปแบบในการผลิตที่สามารถหมุนเวียนและจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งเป็นการแก้ไขและจัดการปัญหาขยะอินทรีย์ในชุมชน เพื่อหวังให้วัดจากแดงเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ และสร้างชุมชนต้นแบบที่มีการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสร้างอาชีพและรายได้แก่คนในชุมชน

ในแต่ละวัน มีขยะอินทรีย์ประมาณ 60% ของขยะทั้งหมดที่เกิดขึ้นในวัด และชุมชน การเปลี่ยนขยะอินทรีย์เป็นปุ๋ย จึงเท่ากับได้ช่วยลดปริมาณของเสียในสิ่งแวดล้อม และลดภาระการจัดเก็บของหน่วยงานภาครัฐ

พระเมธีวชิรโสภณ เล่าว่า ขณะนี้มีชุมชนเข้าร่วมกว่า 40 หลังคาเรือน ในแต่ละวันจะเก็บเศษอาหารได้ประมาณ 200 กก. ในการทิ้งเศษอาหารนั้น สามารถนำมาทิ้งที่วัด หรือ จุดรับเศษอาหารที่ตั้งกระจายอยู่ในชุมชนจำนวน 7 จุด เพื่อให้วัดรวบรวมมาทำปุ๋ยในแต่ละวัน หรือหากญาติโยมในชุมชนที่สนใจจะเปลี่ยนเศษอาหารที่บ้านเป็นปุ๋ยไว้ใช้เอง ทางวัดก็สอนวิธีการหมักปุ๋ยให้ และมีถังรักษ์โลกให้ไปใช้หมักเองที่บ้านได้

สำหรับกระบวนการกว่าจะมาเป็นปุ๋ยนั้น เริ่มจากนำขยะอินทรีย์ต่างๆ เช่น เศษอาหาร เศษพืช เปลือกผลไม้ มาบดให้เป็นชิ้นเล็กลง ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการหมักแบบแห้งที่ทำงานต่อเนื่อง (Dry continuous anaerobic fermenter แบบ Hi-solid) โดยปุ๋ยที่ได้จากการหมักนั้นมีคุณสมบัติเป็น ฮิวมัส (Humus) หรือ อินทรียวัตถุที่พืชสามารถดูดซึมนำไปใช้ง่าย

กระบวนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ตราใบจาก

คุณสมบัติของปุ๋ยอินทรีย์ตราใบจาก

เหมาะสำหรับพืชประเภทไม้ใบ และไม้ผล ช่วยปรับปรุงโครงสร้างและคุณภาพของดินให้ดีขึ้น ทำให้ดินโปร่งและร่วนซุย เพิ่มช่องว่างระหว่างเม็ดดิน เพิ่มปริมาณก๊าซออกซิเจนในดิน ซึ่งจะช่วยให้ระบบรากของพืชเจริญเติบโตได้ดี มีความสามารถในการอุ้มน้ำและธาตุอาหาร พืชจึงสามารถดูดน้ำและธาตุอาหารได้มากขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ในดินด้วย โดยปุ๋ยอินทรีย์ตราใบจากได้รับการรับรองคุณภาพจากกรมพัฒนาที่ดินแล้ว

“ผักที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ตราใบจาก รสชาติดี เก็บได้นาน ที่สำคัญไม่มีสารตกค้าง ไม่ต้องล้างน้ำมาก” พระเมธีวชิรโสภณ กล่าว

ผู้ที่สนใจ สามารถสั่งซื้อปุ๋ยอินทรีย์ตราใบจาก ได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นที่ วัดจากแดง วิสาหกิจชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงบ้านวัดจากแดง (คุ้งบางกระเจ้า) หรือช่องทาง Online Facebook Page : ปุ๋ยอินทรีย์ตราใบจาก รวมทั้งใน Shopee https://shopee.co.th/watchakdaeng?smtt=0.0.9

การสนับสนุนปุ๋ยอินทรีย์ตราใบจาก จึงเสมือนการสนับสนุนวัด และชุมชนในการบริหารจัดการขยะอินทรีย์ไร้ค่า ให้แปรเปลี่ยนเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างรู้ค่า ไม่เหลือเป็นสิ่งตกค้างทำลายสิ่งแวดล้อม ปุ๋ยอินทรีย์ตราใบจาก จึงเป็นมากกว่าปุ๋ย แต่สะท้อนเรื่องราวความร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาขยะที่มีจำนวนมากให้ลดลง และนำกลับมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบของปุ๋ยที่บำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ บำรุงต้นไม้ให้งอกงาม และแน่นอน แพลตฟอร์มนี้ได้บำรุงหัวใจของคนที่ได้รับรู้เรื่องราวดีๆ ของ วัด บ้าน และชุมชน แห่งนี้ ที่จับมือร่วมกันเพื่อสร้างความยั่งยืนให้โลกของเรา

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมของปุ๋ยอินทรีย์ตราใบจากได้ที่ Facebook Page : ปุ๋ยอินทรีย์ตราใบจาก

Feature Stories

Feature Stories
27 มกราคม 2564
YOUเทิร์น Platform ปรับโฉมการทิ้งขยะพลาสติกในมือคุณ [Igreenstory]
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
28 พฤษภาคม 2562
GC กับบริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด พลังสร้างสังคมให้เข้มแข็ง ด้วยแรงนวัตกรรมขององค์กร
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
15 พฤศจิกายน 2561
เส้นทางแห่งความสุข...ด้วย Bio Plastics พลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้
อ่านเพิ่มเติม