30 กรกฎาคม 2563

'สร้างใหม่ให้สุข ใช้วนให้สนุก' วิถีออกแบบใหม่เพื่อให้มนุษย์ยิ้มได้ โลกก็ยิ้มได้'

แชร์:

แม้เทคโนโลยีและสิ่งประดิษฐ์บนโลกจะเกิดขึ้นใหม่ในทุกๆ วันเพื่อความสะดวกสบายของมนุษย์ แต่มิตรแสนดีอย่างทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ บนโลกที่หลายคนอาจไม่ได้สังเกตกลับเริ่มมีน้อยลงไปทุกที

หนทางหนึ่งที่จะทำให้การดูดดึงทรัพยากรของมนุษย์มาเพื่อใช้ชีวิตให้เป็นไปอย่างยั่งยืนคือ การหาวิธีใช้ให้น้อยและเรียนรู้ที่จะใช้ให้นาน นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ ณ วันนี้ การออกแบบสินค้าต่างๆ เริ่มหันมาปรับตัวให้เข้ากับ eco-design มากขึ้น ซึ่งคือการออกแบบผลิตภัณฑ์โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พยายามใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้น้อยที่สุด มุ่งลดการเกิดมลภาวะหรือขยะมูลฝอยกลับสู่ระบบนิเวศ อาจทำให้วงจรชีวิตของสินค้าสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ หรือสามารถนำวัสดุเหลือใช้ในการผลิตกลับไปใช้และผลิตต่อได้ในลักษณะของสินค้าอื่น

แม้จะฟังดูจริงจังไปสักหน่อย แต่เชื่อได้ว่าประโยชน์ของการออกแบบจะสามารถจุดประกายให้ผู้ประกอบการหลายคนมีแรงใจผลิตสินค้าที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในระยะยาวมากขึ้น คนทั่วไปก็สามารถ 'สร้างใหม่ให้สุข' และ 'ใช้วนให้สนุก' กันมากขึ้นด้วย

และเมื่อคนหันมารักษ์สิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น การออกแบบสิ่งของต่างๆ ในลักษณะที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมแบบนี้ก็ยิ่งสนุกขึ้น ฉีกภาพลักษณ์สินค้า eco เก่าๆ ที่เราเคยพบเห็นกันไปเลย

วันนี้เราอยากแนะนำแนวคิดสุดคูลใน 4 ผลิตภัณฑ์จากโครงการ Upcycling Upstyling by GC โครงการเก๋ๆ ของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งชวนกองทัพพันธมิตรทั้งผู้ประกอบการด้านพลาสติก เจ้าของแบรนด์และดีไซเนอร์ชั้นนำในหลากหลายแวดวง มาร่วมกันปล่อยไอเดียสร้างสรรค์และแปลงร่างขยะหรือวัสดุเหลือใช้ในกระบวนการผลิต เช่น ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพ พลาสติกรีไซเคิล รวมถึงพลาสติกดั้งเดิม มาต่อยอดเล่นแร่แปรธาตุเสียใหม่ กลายเป็นสินค้าหลากหลายที่ทั้งสวยงาม รักษ์โลก และตอบโจทย์ฟังก์ชั่นการใช้งานได้จริง ภายใต้แนวคิด 'Up Waste to Value with WOW! Style' เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ขยายโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบด้านพลาสติกและส่งเสริมความคิดให้ทุกคนในประเทศใช้ทรัพยากรรอบๆ ตัวให้คุ้มค่าที่สุด

เปลี่ยน 'ขยะ' เป็นประโยชน์ไม่รู้จบกับ Straws Bubble

ผลิตภัณฑ์หนึ่งที่โชว์ไอเดียสุดเจ๋งนี้คือ Straws Bubble หลอดกันกระแทก โดยสมชนะ กังวารจิตต์ นักออกแบบจาก Prompt Design ได้ร่วมมือกับบริษัท ไทยนำโพลีแพค จำกัด ผู้ที่อยู่ในธุรกิจ food packaging and flexible packaging แก้ปัญหาพลาสติกเหลือใช้ในกระบวนการผลิตถุงพลาสติกและหลอด

"เริ่มต้นไม่รู้หรอกว่าจะทำอะไร แต่ผมทำงานเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์เลยดูว่าเส้นทางของบรรจุภัณฑ์ยังมีอะไรที่พัฒนาได้อีกบ้าง ขณะนั้นเทรนด์ช้อปปิ้งออนไลน์กำลังมา ทุกครั้งที่ส่งของออนไลน์ กล่องกระดาษลังปกป้องสินค้าไม่ได้ตรงจุดเพราะมีไซส์จำกัด ผู้คนเลยหันมาซื้อพลาสติกกันกระแทกอย่างบับเบิลที่ใช้งานได้ดีแต่กลายเป็นขยะในตอนท้ายกันมากขึ้น"

จากการเยี่ยมชมโรงงานไทยนำโพลีแพค ทำให้สมชนะได้พบเจอกับหลอด ที่แท้จริงแล้วโครงสร้างลักษณะท่อนของมันสามารถดูดซับแรงได้ดี และจะดียิ่งขึ้นเมื่อถูกรวมเป็นกลุ่มก้อนหลากหลายขนาด เขาจึงขอถุงตัวอย่างบริษัทมา 3 ขนาด และลองขึ้นแบบดู

สุดท้ายจึงสามารถแปรเปลี่ยนหลอดพลาสติกที่ใช้แล้วและขยะพลาสติกเหลือใช้เหล่านั้นให้กลายเป็นหลอดกันกระแทก โดยหลอดที่ใช้แล้วจะถูกตัดเป็นท่อนๆ เพื่อบรรจุลงในถุงหลากหลายไซส์ ตอบสนองการใช้งานของผู้บริโภคทั้งหลาย แถมที่ด้านท้ายและหัวของแต่ละถุงจะมีตีนตุ๊กแกเพื่อให้ต่อเพิ่มความยาวได้ ที่สำคัญหากต้องการให้ถุงพองขึ้นและกันกระแทกได้มากขึ้น ผู้ใช้ก็สามารถตัดหลอดเหลือใช้ของตัวเองใส่เพิ่มลงไปตามแต่ใจปรารถนา

วัฒนา กฤษณาวารินทร์ จากบริษัท ไทยนำโพลีแพค จำกัด และสมชนะ กังวารจิตต์ นักออกแบบจาก Prompt Design

สมชนะยังฝากแนวสำคัญที่เขาซ่อนลงไปในผลงาน หวังจะกระตุกใจผู้บริโภคที่ได้รับสินค้าชิ้นนี้ในพัสดุ "ผมอยากให้ทุกคนมองว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องง่าย ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากหรือต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมการผลิตในการรักษ์สิ่งแวดล้อม ทุกคนสามารถ DIY ของรอบตัวโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมได้ในทุกวัน"

เรียกว่านอกจากดีไซน์จะน่ารักแล้ว ยังช่วยลดปริมาณขยะและทรัพยากรในการผลิตพลาสติกกันกระแทกได้มหาศาล สามารถวนใช้ได้เรื่อยๆ นับครั้งไม่ถ้วน หมดปัญหาขยะบับเบิลในการส่งสินค้าแบบเดลิเวอรีและช้อปปิ้งสินค้าออนไลน์กันไปเลย

REUSE ME I WANNA BE WRINKLED กล้าที่จะโชว์เสน่ห์ของความไม่สมบูรณ์

หลายครั้งที่การออกแบบให้ใกล้เคียงกับคำว่า 'สมบูรณ์แบบ' ส่งผลให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากมายเกินไปจนเราไม่รู้ตัว จะดีกว่าไหมถ้าเราลองมองและรู้จักเสน่ห์ของ 'ความไม่สมบูรณ์แบบ' ดูบ้าง

ถุงพลาสติกที่อยากให้ทุกคนลองใช้ดูสักครั้งเกิดจากสองนักออกแบบคนเก่งของ THINKK STUDIO พลอยพรรณ ธีรชัย และเดชา อรรจนานัทน์ ที่ร่วมมือกับ บริษัท ลาวัณย์วิสุทธิ์พลาสติกไทย จำกัด ผู้ผลิตถุงพลาสติก เพื่อเปลี่ยนโฉมขยะที่เกิดจากการผลิตถุงพลาสติกในโรงงาน จากที่จะกลายร่างเป็นถุงขยะสีดำใบใหญ่ที่เห็นกันในท้องตลาด ให้สนุกสนานจี๊ดจ๊าดมากยิ่งขึ้น โดยนำมาทำเป็นถุงพลาสติกรีไซเคิลที่มีชื่อเก๋ๆ ว่า 'REUSE ME I WANNA BE WRINKLED'

ทั้งคู่ได้เล่าแนวคิดในการทำงานว่า "เราตั้งโจทย์ไว้ชัดเจนว่าอยากพัฒนาสินค้าที่โรงงานสามารถเริ่มและจบได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องปรับกระบวนการผลิตงานที่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมาก เลยคิดที่จะทำถุงพลาสติกที่มีการฉีดพลาสติกให้แข็งแรงขึ้น เพื่อลดขยะพลาสติกบางๆ ที่ปลิวจนเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม"

นรีรัตน์ ลาวัณย์วิสุทธิ์ จากบริษัท ลาวัณย์วิสุทธิ์พลาสติกไทย จำกัด, เดชา อรรจนานัทน์ และพลอยพรรณ ธีรชัย นักออกแบบจาก THINKK STUDIO

อย่างที่รู้กันดีว่าสินค้าที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมอาจไม่ใช่สินค้าอันดับแรกที่ผู้คนจะเลือกซื้อใช้ เดชาจึงแก้ปัญหาด้วยการนำดีไซน์มาชักจูง สร้างความสนุกและความแปลกใหม่ขึ้นมา "นอกจากใช้งานได้ดี เราอยากพัฒนาให้ถุงพลาสติกรีไซเคิลสามารถไปในตลาดแฟชั่นมากขึ้น รอยยับที่เคยเป็นความไม่สวยก็อยากหยิบมาเล่าให้เป็นเสน่ห์ เราเลยเพิ่มวิธีการพับ การเย็บ การติดหูกระเป๋าที่ใช้งานได้หลากหลายเข้าไป ซึ่งเป็นสิ่งที่มีการทดลองทำจริงภายในสตูดิโอของเราก่อนที่จะนำไปสาธิตให้กับโรงงาน"

ถุงพลาสติกรีไซเคิลสีแสบนี้มีจุดเด่นอยู่ที่ความหนาและความแข็งแรงทนทาน เทียบได้กับกระเป๋าผ้าเลยทีเดียว นอกจากนั้นแต่ละใบยังสร้างประสบการณ์และมีเสน่ห์แตกต่างกัน ซึ่งเกิดจากความไม่สม่ำเสมอของการผสมสีเศษพลาสติกที่เป็นวัตถุดิบต้นกำเนิด และรอยยับที่จะเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ ตามการใช้งานของผู้ใช้แต่ละคน เรียกได้ว่ากระเป๋ารีไซเคิลแต่ละใบคือ unique experience ของใครของมัน เป็นสินค้าลิมิเต็ดเอดิชั่นที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม เหมาะกับคาแร็กเตอร์ที่แตกต่างกันของผู้ใช้แต่ละคนสุดๆ

ช่วยได้ครบด้านทั้งสิ่งแวดล้อมและชุมชน ด้วย Tai Taley 001

อุตสาหกรรมหนึ่งในประเทศไทยที่ทำหน้าที่สร้างความมั่นคงในอาหารมาตลอดคือการประมง แน่นอนว่าเชือกอวนเป็นสิ่งที่เราเห็นกันอย่างคุ้นตา และหากเราไม่ต้องการให้เชือกประมงเป็นแค่อุปกรณ์ที่ใช้งานและเมื่อหมดค่าก็โยนทิ้งให้กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม เราสามารถแปรเปลี่ยนรูปแบบของมันให้เกิดประโยชน์แบบอื่นได้หรือไม่?

คำถามนี้ทำให้กรกต อารมย์ดี นักออกแบบจาก KORAKOT และบริษัท สยามบราเดอร์ จำกัด ผู้ประกอบการที่ผลิตแหและอวนสำหรับการประมง ร่วมกันออกแบบผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ขึ้นมา ด้วยการนำเชือกประมงที่ขึ้นชื่อเรื่องความเหนียวแน่นและความแข็งแรงมาสร้างชิ้นงานเป็นเก้าอี้ถักที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายและบรรยากาศแห่งท้องทะเล รวมถึงมีคุณสมบัติเด่นด้านความอึดและความแกร่ง สามารถทนน้ำและลมดั่งคนทะเลเช่นเดียวกัน

"วิธี วิถี และสุนทรียศาสตร์ คือสามแนวทางที่ผมเลือกในการสร้างผลิตภัณฑ์ วันแรกที่เข้าไปดูโรงงานของสยามบราเดอร์ว่าอยากใช้อะไรบ้าง ผมคิดว่าเชือกเส้นใยนิ่มๆ สีตุ่นๆ คือสิ่งที่อยากนำมาต่อยอดฝีมือการออกแบบและการถักสานเข้าไป อยากทำเฟอร์นิเจอร์ที่แสดงถึงวัฒนธรรมชีวิตคนท้องทะเลแบบใหม่ ให้เชือกอวนไม่เป็นสิ่งที่แสดงถึงปัญหาและความน่ากลัว แต่เป็นไลฟ์สไตล์แห่งท้องทะเลและฤดูร้อน แม้กระทั่งสีของเก้าอี้ใต้ทะเลตัวนี้ที่ผู้คนรับรู้ก็เกิดจากการเบรกสเปกตรัมที่ดวงตาของแต่ละคนเป็นลำดับสุดท้าย"

กรกต อารมย์ดี นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ KORAKOT และศุภมาศ สวาทยานนท์ จากบริษัท สยามบราเดอร์ จำกัด

ถึงจะท้าทายลักษณะการทำงานดั้งเดิมของพนักงานในโรงงานสยามบราเดอร์ แต่เก้าอี้ตัวนี้เป็นก้าวแรกแห่งความพยายามที่ประสบความสำเร็จ "การปรับแรงงานฝีมือด้านการมัดผูกเชือกประมงพื้นบ้านมาทำงานถักสานเป็นเรื่องที่ใช้เวลา เราจะทำตัวอย่างสีและรูปแบบการสานไปให้ ทางโรงงานผลิตมุมานะมากที่จะทำให้เกิดการทำงานรูปแบบใหม่โดยปรับแก้ไข 4-5 ครั้ง"

นอกจากจะใช้ประโยชน์จากวัสดุได้มีประสิทธิภาพสูงสุดแล้ว การส่งเสริมงานหัตถกรรมในลักษณะนี้จะช่วยให้อาชีพหัตถกรรมพื้นบ้านของคนในชุมชนเติบโตมากกว่าเดิม สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ชุมชนก็อิ่มท้อง ต้องบอกว่าเป็นการทำประโยชน์ครบด้าน

ตีความบทบาทของพลาสติกใหม่ด้วยการให้โอกาส กับ 2nd Life 2nd Chance

ทั้งๆ ที่คุณประโยชน์ของพลาสติกที่แท้จริงมีอยู่มากมาย แต่เพราะความยากในการกำจัดจึงทำให้พลาสติกถูกมองว่าเป็นตัวร้ายอยู่เสมอ

'Nobody is born evil.' ไม่มีใครที่เกิดมาพร้อมความชั่วร้ายเพียงอย่างเดียว ความคิดนี้ของนักออกแบบ เอก ทองประเสริฐ จากแบรนด์ Ek Thongprasert เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างชีวิตใหม่ครั้งที่สองให้กับขยะขวดพลาสติก PET ซึ่งเป็นขยะที่เกิดขึ้นมากเป็นอันดับต้นๆ ในประเทศไทย โดยเขาได้ร่วมกับ Upcycling Shop By GC นำผ้าที่เกิดจากการแปลงขยะพลาสติกเหลือใช้มาดีไซน์เป็นผลงานแฟชั่นสมัยใหม่ โดยมีความหมายถึง 'โอกาสครั้งที่ 2' ที่จะเริ่มทำประโยชน์และทำสิ่งใหม่ๆ

"พลาสติกไม่ได้มีด้านร้ายเพียงอย่างเดียว ผมมองว่ามันมีประโยชน์ ในฐานะนักออกแบบที่สามารถหยิบวัตถุดิบมา upcycling ได้ เราต้องหาให้เจอ" นี่คือสารตั้งต้นที่ทำให้เอกมองหาโอกาสในการเริ่มใหม่ของพลาสติกจนนึกถึงคนบางกลุ่ม "สังคมมีคนหลายกลุ่มที่อยากได้รับโอกาสที่สอง ผมคิดถึงนักโทษที่พ้นโทษแต่ไม่ได้รับโอกาสและการยอมรับเหมือนคนอื่น จึงอยากสร้างภาพลักษณ์และอาชีพของเขาขึ้นมาใหม่ โดยให้เขาได้แสดงศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองผ่านผลงานชิ้นนี้ร่วมกัน"

เอก ทองประเสริฐ นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ Ek Thongprasert และกสิณา สำแดงเดช ผู้จัดการส่วน Customer Solution Management, GC

ผลิตภัณฑ์นี้ได้ประสานความร่วมมือกับโครงการสร้างอาชีพของนักโทษแดน 3 ที่จังหวัดเชียงราย โดยมีภาพที่แสดงถึงความช่วยเหลือและความหวังเป็นรูปมือลวดลายสดใสที่กำลังดึงมืออีกคนขึ้นมา ซึ่งลวดลายสดใสที่อยู่ในมือด้านบนข้างนั้นจะถูกปักโดยนักโทษนั่นเอง พร้อมกับมีชื่อของนักโทษที่ปักปรากฏเอาไว้บนชิ้นงานเพื่อสร้างความภาคภูมิใจและเป็นเอกลักษณ์

นี่จึงไม่ใช่แค่งานที่นำวัสดุเหลือใช้มาใช้ต่อให้เกิดคุณค่าเพียงอย่างเดียว แต่เป็นความหมายแห่งการเปลี่ยนแปลง เพื่อที่จะสร้างงาน สร้างโอกาสครั้งที่สอง ให้กับคนที่กำลังต้องการความหวังด้วยเช่นกัน

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงเริ่มสงสัยแล้วว่า ที่ผ่านมาเราใช้ทรัพยากรรอบตัวได้คุ้มค่ามากเพียงพอหรือยัง มีขยะพลาสติกในบ้านแบบไหนบ้างที่เราสามารถสร้างเป็นสิ่งใหม่เพื่อส่งความสุขให้ตัวเองได้ และมีข้าวของชิ้นไหนที่ใช้วนระยะยาวได้ โดยที่ไม่ต้องดึงทรัพยากรมาผลิตเพิ่ม

ถ้าทุกคนมีสักหนึ่งคำตอบในใจก็ถือว่าผลิตภัณฑ์และงานออกแบบของผู้ผลิตและผู้ประกอบการทั้งหลายได้ทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่สำเร็จลุล่วงแล้ว

เนื้อหาดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์เรื่อง " เปลี่ยนปัญหาเป็นประโยชน์ด้วยการออกแบบแนว Upcycling Upstyling" เผยแพร่ในเว็บไซต์ A Day Magazine วันที่ 23 กรกฎาคม 2563

Feature Stories

Feature Stories
05 สิงหาคม 2564
แก้วที่ทำจาก Bioplastics ดีกว่าเดิมอย่างไร
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
11 กรกฎาคม 2562
จากหลักการและการปฏิบัติจริง ... สู่ตราสัญลักษณ์สะท้อนแบรนด์ Upcycling by GC
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
01 กันยายน 2560
โครงการสายใยซั้งเชือก สร้างแหล่งอาศัยสัตว์น้ำ
อ่านเพิ่มเติม