29 กรกฎาคม 2563

เปลี่ยนปัญหาเป็นประโยชน์ด้วยการออกแบบแนว Upcycling Upstyling

แชร์:

นี่เป็นอีกครั้งที่เราจะได้เห็นว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นขุมพลังในการแก้ปัญหาได้อย่างไม่สิ้นสุด อย่างที่รู้กันดีว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาขยะพลาสติก อยู่คู่โลกเรามาอย่างยาวนาน มีนักวิจัยมากมายที่รับบทบาทหาวิธีให้พลาสติกย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ แต่วันนี้ Upcycling Upstyling by GC โครงการสุดคูลของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ชวนเปิดคุณสมบัติและการใช้ประโยชน์จนถึงแก่นของพลาสติกที่ใครๆ มักมองว่าเป็นตัวร้ายกันอย่างกล้าหาญ โดยการนำของที่ใครๆ คิดว่าไม่มีประโยชน์อย่างขยะพลาสติกมาเล่นสนุกด้วยการเพิ่มมูลค่าจากไอเดียและการต่อยอดประยุกต์เป็นสินค้าจริง

ที่สำคัญโครงการนี้ยังได้รับความร่วมมือจากนักออกแบบมือฉมังในวงการและผู้ประกอบการที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมพลาสติกที่หลากหลายกว่า 19 ธุรกิจ เพื่อมาร่วมกันทำภารกิจนี้ โดยผลิตภัณฑ์รักษ์โลกที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่แค่สินค้าประเภทใดประเภทหนึ่งเท่านั้น แต่ครอบคลุมตั้งแต่สินค้า เสื้อผ้า งานคราฟต์ เครื่องประดับ โมเดลธุรกิจ และการออกแบบสถาปัตยกรรมเลยทีเดียว

วันนี้เราไม่รอช้าที่จะหยิบ 4 ไอเดียสร้างสรรค์ที่โดดเด่นและมีกิมมิกสนุกๆ มาเล่าให้ฟังกัน พร้อมแล้วไปดูดีกว่าว่ามีของอะไรที่จะทำให้ตื่นตาตื่นใจกันได้บ้าง

เพิ่มมูลค่าด้วยดีไซน์ที่ครองใจคนกับ M Wrap-Recycled Boots

ข้อดีที่ยอดเยี่ยมของสินค้าแฟชั่นที่เกิดจากการ upcycling ขยะพลาสติกและเศษวัสดุเหลือใช้ต่างๆ คือความสนุกสนานและรูปลักษณ์โดดเด่นที่หลายคนมองเห็นแล้วต้องอยากซื้อมาลองใช้กันดูบ้าง นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อผลิตภัณฑ์ M Wrap-Recycled Boots เผยโฉมออกมาในโครงการ

นี่คือรองเท้าบูตสีดำสุดน่ารักที่เกิดจากนักออกแบบคนเก่ง รรินทร์ ทองมา ของแบรนด์ O&B แบรนด์รองเท้าขวัญใจผู้หญิง ร่วมมือกับผู้ประกอบการบริษัท เอ็มเอ็มพี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตฟิล์มถนอมอาหารและฟิล์มพันพัลเลต M Wrap

แรกเริ่มต้องเล่าว่าก่อนหน้านี้ทาง M Wrap ได้ดำเนินการเก็บพลาสติกถนอมอาหารที่ใช้แล้วจากโรงแรมในเครือข่ายมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างรองเท้าบูตสีดำ เพื่อส่งต่อให้นำไปใช้ในห้องครัวหรือโรงงานต่างๆ อยู่แล้ว โครงการนี้นักออกแบบจึงเข้ามาเพื่อช่วยพัฒนามูลค่าของสินค้า

ซึ่งรรินทร์เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า “การนำพลาสติกถนอมอาหารไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์รองเท้าตอบโจทย์ผู้คนในท้องตลาดอยู่แล้ว สิ่งที่เราทำคือการต่อยอด อยากให้สินค้าขายและสร้างรายได้กลับมาได้จริง แต่ข้อจำกัดของการขยายเชิงพาณิชย์คือการไม่สามารถเพิ่มกำลังผลิตได้ เพราะรองเท้าบูตแค่ 1 คู่ต้องใช้พลาสติกถนอมอาหารมาหลอมใหม่กว่า 4-5 กิโลกรัม เราไม่ควรเร่งให้คนใช้พลาสติกเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ดังนั้นจึงพยายามแก้โจทย์นี้ด้วยดีไซน์เพื่อไปเสริมสิ่งที่เขามีอยู่แล้ว”

เมื่อตั้งโจทย์ในใจไว้แล้วว่ารองเท้าบูตนี้ไม่ว่าจะพนักงานในห้องครัวหรือพนักงานโรงงานคนไหนเห็นก็ต้องอยากใส่ ความสดใสและความน่ารักจึงเป็นกลยุทธ์แรกที่ถูกนำมาใช้ทันที “แนวคิดของดีไซน์มาจากรองเท้านักเรียนสมัยเด็ก ที่จริงๆ เป็นยูนิฟอร์มแต่ก็ยังแอบแฟชั่น มีการติดตุ๊กตุ่นตุ๊กตาที่คนใส่รู้สึกสนุกได้ เราเลยเจาะรูที่รองเท้าบูตเพื่อให้สามารถเพิ่มองค์ประกอบน่ารักๆ อย่างดอกเดซี่เข้ามา แสดงถึงความรักอันบริสุทธิ์และสื่อถึงสิ่งที่ M Wrap กำลังพยายามทำ คือทำให้ธรรมชาติบริสุทธิ์ขึ้น ซึ่งดีไซน์นี้สร้างโอกาสในอนาคตได้ด้วย เพราะหากมีแบรนด์หรือโรงแรมไหนที่อยากทำ CSR ร่วมกันเพิ่มเติมก็สามารถสนับสนุนและซื้อไปเปลี่ยนใส่เป็นโลโก้ของตัวเองได้”

แน่นอนว่าการพัฒนายังคงดำเนินต่อไป รรินทร์เองก็ยังหวังให้ผลิตภัณฑ์นี้เดินทางไปสู่แบรนด์และองค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้เราอาจได้เห็นรองเท้าสนุกๆ แบบนี้ถูกใช้งานในหลายสถานที่ โดยที่ผู้คนสนุกกับการใส่รองเท้าบูตกันมากขึ้น

รรินทร์ ทองมา นักออกแบบจากแบรนด์ O&B และฤทัยชนก จงเสถียร จากบริษัท เอ็มเอ็มพี คอร์ปอเรชั่น จำกัด

เรียนรู้ที่จะอยู่กับพลาสติกอย่าง ‘ยั่งยืนยง’

พลาสติกเป็นวัสดุที่ย่อยสลายยาก มีวงจรชีวิตแตกต่างจากวัสดุจากธรรมชาติเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มนุษย์จะดิ้นรนกำจัดขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน แต่สิ่งหนึ่งที่เราลืมคิดไปอาจเป็นการเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่กับพลาสติกอย่างมีความสุขในระยะยาว

‘ยั่งยืนยง’ จี้พลาสติก เครื่องประดับที่แสดงความหมายในเชิงการอวยพรเป็นผลิตภัณฑ์ของนักออกแบบมือฉมัง ศรัณญ อยู่คงดี จาก SARRAN และผู้ประกอบการบริษัท พลาสติสนิโม่ ฟิล์ม จำกัด ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์จากฟิล์มพลาสติกที่ร่วมกันหยิบเอาวัสดุเหลือใช้อย่างเศษพลาสติกในโรงงานที่เกิดจากการผลิตบรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกมาสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่

ศรัณญ อยู่คงดี นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ SARRAN, เชษฐพงษ์ มีแทน, จีระยา แฮตุ้ย, และปิยนุช เพ็งไพบูลย์ ตัวแทนจากบริษัท พลาสติสนิโม่ ฟิล์ม จำกัด

“โจทย์ของผมคือการเอาเศษพลาสติกจากการทำแพ็กเกจมาสร้างเป็นชิ้นงาน โดยโรงงานเล่าว่าเศษนี่จะเกิดขึ้นทุกวันและมีจำนวนมาก เขาไม่สามารถเอาไปหลอมและขึ้นเป็นโปรดักต์ใหม่ได้เพราะไม่คุ้มค่าขนส่งและค่าใช้จ่าย ดังนั้นการทำงานของเราต้องไม่เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้โรงงาน หาวิธีนำมาหลอมเป็นงานชิ้นอื่นที่แตกต่างจากสินค้าเก่าของโรงงานดีกว่า”

ผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้จึงเต็มไปด้วยการมองหาหนทางที่จะสร้างความรู้สึกดีระหว่างมนุษย์และพลาสติก พร้อมๆ กับสร้างหน้าที่ที่ผลิตภัณฑ์ upcycling นี้จะสามารถทำงานไปชั่วลูกชั่วหลาน “การให้ของขวัญและการอวยพรด้วยตัวอักษรเริ่มมานานมากในวัฒนธรรมไทย ผมที่ทำงานงานคราฟต์มาโดยตลอด อยากหยิบเอาอักษรไทยโบราณที่มีความหมายดีใช้ได้ทุกเทศกาล อย่างคำว่า ‘ยั่งยืนยง’ ที่มีความหมายเรื่องอายุยืนมาใช้ เหมือนกับการอวยพรให้มีอายุยืนนานดั่งพลาสติก เขาเองก็สามารถส่งต่อสิ่งนี้ให้กับคนอื่นๆ ที่อยากอวยพรต่อได้เหมือนกัน”

สุดท้ายคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าพลาสติกเองก็เป็นวัสดุสำคัญที่ส่งผลให้มนุษย์ดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างสะดวกสบาย ดังนั้นไม่ใช่มองว่าเราต้องหาวิธีกำจัดอย่างเดียว แต่ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ดีที่สุดด้วยเช่นกัน

สร้าง ‘ต้น’ จน ‘จบ’ ที่ยั่งยืนกับ Upcycling Bin for Coffee Café

การออกแบบที่ดีไม่ใช่แค่ช่วยเพิ่มมูลค่า แต่ต้องช่วยได้ทั้งกระบวนการ

หลักการนี้ทำให้ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้ดำรงตำแหน่ง Design Director และผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Qualy พร้อมกับผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ครบวงจรที่ผลิตถุงพลาสติกเป็นหลัก อย่างบริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) ร่วมกันหาวิธีออกแบบโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น จนนำมาสู่การออกแบบตู้แยกขยะในร้านกาแฟในท้ายที่สุด

ธีรชัยกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานในโครงการที่เขาเลือกเดินเกมต่างจากแค่การเพิ่มมูลค่าวัสดุ “ปกติขยะพลาสติกที่เกิดในโรงงานทำถุงจะถูกนำไปสร้างเป็นถุงรีไซเคิลอยู่แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์พอสมควร โครงการนี้เลยอยากหยิบมุมใหม่ที่คนยังไม่ค่อยสนใจอย่างการแยกขยะในร้านกาแฟ หรือสถานที่ต่างๆ ที่มีรูปแบบการทิ้งขยะที่คาดเดาได้อยู่แล้ว มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์และดีต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว”

โจทย์การออกแบบไม่ใช่แค่ตู้แยกขยะที่สร้างจากไม้เทียมที่ผ่านการรีไซเคิลจากพลาสติกเท่านั้น แต่คือการออกแบบทั้งระบบให้มีฟังก์ชั่นและลดปริมาณขยะให้น้อยลงได้จริง “ทำยังไงให้คนแยกหลอดและน้ำแข็งออกก่อนทิ้งแก้ว ทำยังไงให้ทิ้งแก้วและฝาได้จำนวนเยอะขึ้นในขนาดถังขยะที่ไม่ต่างจากปกติทั่วไป คำตอบของสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้แยกขยะได้เป็นระบบมากขึ้น พื้นที่เก็บขยะหลังร้านกาแฟเต็มช้าขึ้น รถเก็บขยะทำงานน้อยลง ที่สำคัญพลาสติกจะถูกแยกตามประเภทเพื่อรีไซเคิลหรือนำไปใช้ประโยชน์ต่อให้เหมาะกับประเภท หลอดจะถูกนำไปบริจาคให้ผู้ป่วยติดเตียงสามารถใช้แทนนุ่น ส่วนแก้วกับฝาก็นำไปขายเพื่อสร้างรายได้ต่อไปได้”

ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ Design Director ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Qualy และกันต์ วีระกันต์ จากบริษัท ทีพีบีไอ จำกัด มหาชน

ปัญหาหนึ่งของตู้แยกขยะคือผู้คนมักมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก ดีไซน์ไม่สวยและไม่เหมาะกับการใช้งานในหลายพื้นที่สาธารณะ หากเราสร้างตู้แยกขยะที่พร้อมในการใช้งาน สะดวกรวดเร็ว ที่สำคัญมีภาพลักษณ์และดีไซน์ที่เป็นมิตรต่อบรรยากาศโดยรอบ ปัญหานี้จะคลี่คลายได้ในระยะยาว ขยะพลาสติกต่างๆ ที่เคยปะปนและคัดแยกผิดวิธีก็จะกลับเข้ามาสู่วงจรการเพิ่มมูลค่าและการรีไซเคิลได้ในท้ายที่สุด Upcycling Rooftop ดาดฟ้าที่เปี่ยมด้วย ‘ประโยชน์’ กับโลกและคน

ผลงานชิ้นนี้เป็นโจทย์ที่รติวัฒน์ สุวรรณไตรย์ นักออกแบบของ OpenBox และบริษัท อาร์เอฟเอส จำกัด โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ทำงานออกแบบร่วมกัน โดยนำเอาวัสดุที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างวัสดุทดแทนไม้ที่มีความทนทาน ใช้งานกลางแจ้งได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ที่สำคัญค่าดูแลรักษาต่ำ มาใช้ทดแทนวัสดุธรรมชาติจริงในโครงสร้างที่เป็นประโยชน์ต่อผู้คนในโรงพยาบาล

รติวัฒน์กล่าวถึงโครงการนี้ว่า “การได้ก้าวเข้ามาในโลกของการผลิตเป็นสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจเสมอ ผมเห็นว่ายังมีพื้นที่สำหรับความคิดสร้างสรรค์ให้เติบโตอีกมาก แม้กระทั่งงานออกแบบของสถาปนิกที่มักเป็นงานตามสั่ง ก็ยังมีจุดที่เราสามารถสร้างแรงบันดาลใจ สร้างผลิตภัณฑ์ที่เปลี่ยนแปลงโลกได้เสมอ”

อย่างโจทย์ครั้งนี้คือการออกแบบบริเวณชั้นดาดฟ้าที่ทางโรงพยาบาลตั้งใจให้เป็นสถานที่สำหรับการบำบัดและฟื้นฟูคนไข้ นักออกแบบได้นำวัสดุพื้นไม้เทียมที่ผลิตจากวัสดุเหลือใช้ในโรงพยาบาลมาปูเป็นพื้นที่สำหรับ foot therapy ด้วยการเพิ่มปุ่มนวดเท้าด้านบน เพื่อใช้ในการกระตุ้นเส้นประสาทและการหมุนเวียนของเลือด และสร้างพื้นที่สำหรับ hand therapy ด้วยการสร้างราวเกาะที่ออกแบบมารองรับการเคลื่อนไหวของมือและกระตุ้นการเคลื่อนไหวของนิ้วให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนั้นหลังคายังมีการใช้เส้นใยโพลิเมอร์อย่าง GFRP Rebar (glass fiber reinforced polymer rebar) เข้ามาทดแทนการใช้เหล็กเส้น ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากร โดยที่ยังคงคุณสมบัติแข็งแรงและยืดหยุ่นได้ไม่ต่างกัน

รติวัฒน์ สุวรรณไตรย์ นักออกแบบของ OpenBox, ทักษิณ เชิงรู้, วิศวชิต แสนสุข และศตวรรษ สุระเรืองชัย จากบริษัท อาร์เอฟเอส จำกัด โรงพยาบาลรามาธิบดี

ไม่ว่าจะเป็นคนในวงการไหน หากหยิบศาสตร์ความรู้ของตัวเองมาประยุกต์ในวงจรการผลิตและการอุปโภค-บริโภค การฟื้นฟูและการดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติรอบๆ ตัวให้ดีขึ้นคงไม่ใช่เรื่องยาก อย่างง่ายที่สุดวันนี้ทุกคนก็สามารถหันมาสนับสนุนสินค้า upcycling แปลงร่างมาจากขยะพลาสติกต่างๆ ในทุกอุตสาหกรรมเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องกำจัดบนโลกได้ ซึ่งสินค้าเหล่านี้จะถูกต่อยอดในเชิงพาณิชย์และสังคมจนสามารถจำหน่ายผ่านช่องทางของ CSC Shop by GC และเครือข่ายพันธมิตร ใครสนใจก็แวะเวียนไปชมกันได้ เชื่อว่าเรื่องแบบนี้ไม่ยากเกินมือนักช้อปอย่างเราอยู่แล้ว

เนื้อหาดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์เรื่อง " เปลี่ยนปัญหาเป็นประโยชน์ด้วยการออกแบบแนว Upcycling Upstyling" เผยแพร่ในเว็บไซต์ A Day Magazine วันที่ 23 กรกฎาคม 2563

Feature Stories

Feature Stories
23 เมษายน 2563
อุปกรณ์ป้องกันร่างกายทางการแพทย์ที่ GC Group ให้การสนับสนุนเคมีภัณฑ์และพลาสติกในการผลิต รวมทั้งจัดหาวัสดุเพื่อการผลิต
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
08 สิงหาคม 2562
จีวร Upcycling จากขยะพลาสติก วิธีลดขยะพลาสติกฉบับพระสงฆ์ที่ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยการแปรรูป ‘พลาสติก’ ให้เป็น ‘จีวร’
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
17 มกราคม 2562
เขาห้วยมะหาด แรงบันดาลหนึ่งเนื่องในวันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้แห่งชาติ
อ่านเพิ่มเติม