22 เมษายน 2564

ทิ้งถูกที่แล้วไปไหน [A Day]

แชร์:

Highlights

  • ตามไปดู Circular Living Symposium 2020: Tomorrow Together งานสัมมนาเรื่อง Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนที่จัดโดย PTT Global Chemical หรือ GC
  • เป้าหมายของปีนี้เน้นการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคพลาสติก-ลดการใช้พลาสติกที่ผลิตขึ้นมาใหม่และแคร์พลาสติกรีไซเคิลมากขึ้น

282 ล้านตันคือปริมาณขยะพลาสติกจากทั่วโลกรวมกัน มีเพียงแค่ 15% หรือราวๆ 43 ล้านตันเท่านั้นที่เข้าสู่กระบวนการที่นำกลับมาใช้อย่างสมศักดิ์ศรี ในสถิติเดียวกันนี้ยังบอกด้วยว่าจำนวนขยะที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเหมาะสมกลับมีมากถึง 24% ในเมื่อขยะไม่ได้ถูกฝังกลบหรือเผาอย่างถูกขั้นตอน คำถามคือพลาสติกที่ถูกตีค่าว่าไร้ประโยชน์เกือบ 70 ล้านตันกองนั้นถูกเก็บซ่อนไว้ตรงไหนบนโลกใบนี้กันแน่

หยุดตรงนี้ก่อน เราไม่ได้อยากจะใช้พื้นที่บทความนี้ประนามว่ามนุษย์ทุกคนมีส่วนผลักขยะกองนั้นไปอยู่ในที่ที่ไม่ควรอยู่อย่างใต้ท้องทะเล หรือกล่าวโทษตัวเองว่าใช้พลาสติกกันเกินคำว่าพอดี เพราะอย่างน้อยในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งกลับกลายเป็นสิ่งที่เซฟตัวเราในหลายทาง ใกล้ตัวสุดก็น่าจะเป็นหน้ากากอนามัยที่ต้องใช้วันละชิ้น ซื้อกันทีละหลายโหล ไหนจะวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพาบริการฟู้ดเดลิเวอรี ยิ่งกับบุคลากรทางการแพทย์เครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งนั้นยิ่งจำเป็นเกินกว่าที่คนนอกอย่างเราจะเข้าใจได้

สิ่งที่เรารวมทั้ง PTT Global Chemical หรือ GC ต้องการจะสื่อคือขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นจากการบริโภคของเราไม่ใช่ตัวร้ายอะไรเลย เพราะการใช้ทรัพยากรจะดีมากขึ้นกว่านี้ได้แน่ๆ ถ้าพวกเรารู้จักใช้พลาสติกอย่างถูกต้องตามคุณสมบัติของมัน

12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา GC จับมือกับ National Geographic จัดงาน Circular Living Symposium 2020: Tomorrow Together ขึ้นที่รอยัล พารากอนฮอล์ ปีนี้เป็นปีที่ 2 ของงานสัมมนาที่ต้องการผลักดันให้ Circular Economy หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เต็มประสิทธิภาพไปพร้อมๆ กับการคิดถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นจริงในบ้านเรา ซึ่งเป้าหมายของปีนี้ต่างจากการสร้างการตระหนักรู้ของปีก่อนตรงที่พวกเขาอยากให้คนธรรมดาผู้เป็น end user อย่างๆ เราลดการใช้พลาสติกที่ผลิตขึ้นมาใหม่และแคร์พลาสติกที่ใช้แล้วให้มากขึ้น

เพราะเมื่อเราทุกคนเปลี่ยน ก็แปลได้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะพลาสติกก็สามารถทำงานให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมทั้งการทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ว่าถ้าเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้แข็งแรงสุดๆ ในประเทศเรา มันจะดีต่อคนหนึ่งคน ชุมชนหนึ่งชุมชน หรือดีกับประเทศทั้งประเทศยังไงบ้าง

แต่กว่าจะไปถึงตรงนั้นเราอาจจะต้องพึ่งพาแรงมหาศาลในการสร้างระบบนิเวศที่รองรับกิจกรรมต่างๆ พูดง่ายๆ คือต้องสร้างเส้นทางเดินของพลาสติกที่ยั่งยืน มีระบบที่เราสามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงจากต้นทางสู่ปลายทาง หรือเปลี่ยนแล้วมีที่ทางให้ไปต่ออย่างไร และที่สำคัญ คนธรรมดาอย่างเรามีบทบาทสำคัญอยู่ที่ตรงไหนในระบบนิเวศนี้ สัมมนาครั้งนี้ได้รวบรวมคำตอบไว้ครบถ้วนที่สุดแล้ว

เศรษฐกิจหมุนเวียนที่จับต้องได้

เมื่อก้าวเข้าสู่ตัวงาน เราได้พบกับหลากนิทรรศการน่าสนใจที่เป็นเหมือนโชว์เคสผลลัพธ์ปลายทางที่จับต้องได้ ช่วยทำให้เราเข้าใจขั้นตอนและประโยชน์ของการใช้พลาสติกให้สมศักดิ์ศรีมากขึ้น

Plastic for Better Tomorrow: ผลิตภัณฑ์เพื่ออนาคต

ด่านแรกเป็นพื้นที่ ‘โชว์ของ’ ที่ช่วยให้ผู้เข้าชมงานเห็นถึงประโยชน์ของพลาสติกที่เหนือความคาดหมาย Plastic for Better Tomorrow เป็นโซนที่รวบรวมผลิตภัณฑ์จากเคมีภัณฑ์เพื่ออนาคต ที่เพิ่มนวัตกรรมทำให้มีประสิทธิภาพและมีความคงทนที่ GC จับมือทำร่วมกับบริษัทพาร์ตเนอร์ทั้งในและต่างประเทศ ตั้งแต่ของใช้ในร่มอย่างสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์การแพทย์ เช่น ชุดป้องกันการติดเชื้อหรือตู้ลิ้นชักลดการสะสมของเชื้อโรค และของใช้นอกบ้านอย่างยานยนต์ พลาสติกสำหรับการก่อสร้างและการเกษตร เช่น พลาสติกคลุมโรงเรือนที่หยิบฟังก์ชั่นการกระจายแสงและคัดเลือกเฉพาะช่วงแสงที่ช่วยเสริมการเจริญเติบโตของพืช เป็นต้น ทั้งหมดนี้ช่วยให้ผู้บริโภคแบบเรามองเห็นทางเลือกในการใช้ชีวิตประจำวันให้สร้างสรรค์และเป็นมิตรกับโลกกับโลกมากกว่าเดิม

Recycle Garden: นวัตกรรมรีไซเคิลแห่งอนาคต

ถัดมาเป็นโซนที่เล่าถึงความพยายามในการนำพลาสติกรีไซเคิลกลับเข้าสู่ระบบของ GC โดยการก่อตั้ง ENVICCO โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลประเภท rPET และ rHDPE ที่กำลังจะเสร็จสมบูรณ์ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 โรงงานแห่งนี้ถือเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่จะช่วยให้เราแปรรูปพลาสติกได้อย่างไม่ต้องพึ่งมือคนอื่นหรือไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศอย่างที่เคยทำมาอีกต่อไป นอกจากนี้ Recycle Garden ยังพาเราไปรู้จักกับกระบวนการไพโรไลซิส (Pyrolysis) ที่เป็นกระบวนการรีไซเคิลทางเคมีที่นำขยะพลาสติกที่ปนเปื้อน ยากแก่การทำความสะอาดมารีไซเคิลเป็นน้ำมันที่นำกลับมาใช้ได้ใหม่ นับว่าเป็นการลดปริมาณขยะที่จะถูกฝังกลบในอนาคตได้เป็นอย่างดี

Waste Station: สาธิตระบบการจัดการขยะแบบครบวงจร

GC ยังได้จำลองระบบการจัดการขยะ ‘ต้นทาง-กลางทาง-ปลายทาง’ แบบบูรณาการครบวงจรมาไว้ที่ Waste Station อาทิ เทคโนโลยีเครื่องดักจับขยะในคลองสาธารณะ ตู้ You Turn ที่เป็นเหมือนจุดรับขยะเคลื่อนที่ที่อำนวยความสะดวกในการทิ้งและแยกขยะให้กับคนที่อยู่ตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อตอกย้ำว่า หากเราทุกคนจัดการพลาสติกที่ผ่านการใช้งานแล้วอย่างถูกวิธี กระบวนการระหว่างทางและปลายทางอย่างการรีไซเคิลและอัพไซเคิลนั้นก็จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

Bio Town: รู้จักโลกพลาสติกชีวภาพ

ตามด้วย Bio Town ที่ชวนเราเปิดโลกพลาสติกชีวภาพหรือ bioplastic เช่น บรรจุภัณฑ์ใส่อาหารทดแทนพลาสติก ถุงพลาสติกย่อยสลายได้ และผลิตภัณฑ์ทดแทนการใช้สารเคมีต่างๆ ที่ทีมหลังบ้านของ GC ค้นคว้าและพัฒนาจากวัตถุดิบต้นทางอย่างข้าวโพดและน้ำมันปาล์ม

ในโซนอธิบายวิธีการแปรรูปไว้อย่างละเอียดยิบ มีตัวอย่างการย่อยสลายของผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ให้เราได้เห็นและเข้าใจแบบย่นย่อ แถมทีมงานยังใจดีบอกทริคการสังเกตว่าผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ ‘ของจริง’ นั้นจะต้องมีลักษณะทางกายภาพ (รูปและกลิ่น) อย่างไรบ้าง เช่น สังเกตสัญลักษณ์การันตี ‘100% compostable’ ซึ่งถ้าเป็น ‘biodegradable’ อาจหมายถึงแปรรูปได้บางส่วนแต่ไม่ทั้งหมด หรือหากเป็นถุงย่อยสลายได้ 100% จะมีกลิ่นคล้ายซีอิ๊ว ซึ่งเป็นกลิ่นเฉพาะตัวที่เกิดจากกระบวนการแปรรูปข้าวโพดนั่นเอง

Trashpresso: upcycling พลาสติกด้วยสองมือ

Trashpresso เป็นอีกบูทที่คึกคักสุดๆ เพราะที่บูทมีเครื่องเล่น upcycling ขยะพลาสติกที่ให้คนทั่วไปอย่างเราๆ ได้ลองด้วยตัวเอง เจ้าเครื่องจักรที่ชื่อ Trashpresso เกิดจากความร่วมมือระหว่าง GC และ Miniwiz บริษัทรีไซเคิลขยะจากไต้หวันที่เป็นผู้นำระดับโลกด้านการเพิ่มมูลค่าให้กับขยะพลาสติก ซึ่งวิธีการเล่นนั้นไม่ยากเลย แค่นำฝาขวดพลาสติก HDPE หลากสีเข้าเครื่องทำความสะอาด ตัดให้เป็นชิ้นเล็กๆ (flake) ผ่านความร้อนจนหลอมละลายเป็นของแข็งกึ่งเหลว ก่อนนำไปขึ้นรูปเป็นกระถางปลูกต้นไม้ใบจิ๋วที่เราสามารถเก็บกลับบ้านเป็นของที่ระลึกได้ และแน่นอนที่สุดว่าทุกคนที่มาเล่นสนุกต่างก็ได้รับความรู้เกี่ยวกับการรีไซเคิลพลาสติกติดตัวกลับไปด้วย

Circular Market: ตลาดสินค้ารักษ์โลก

และด่านสุดท้าย Circular Market คือด่านที่ปลุกความเป็นนักช้อปรักษ์โลกในตัวเรา พื้นที่ตรงนี้มีทั้งแบรนด์ที่เราคุ้นหน้าคุ้นตาอย่าง Rereef แบรนด์ผลิตภัณฑ์สำหรับชีวิตประจำวันที่แคร์สิ่งแวดล้อม, Moreloop แบรนด์ผ้าที่หยิบคำว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนมานำทางธุรกิจ, เฟอร์นิเจอร์จากวัสดุรีไซเคิลจาก Modernform หรือคอลเลกชั่นผ้าม่านที่ผลิตจากขวด PET จากแบรนด์ Pasaya แม้จะมีช็อปไม่กี่ช็อป แต่ทั้งหมดนั้นก็พอจะทำให้เราเห็น ‘ความหลากหลาย’ ในแง่ทั้งผลิตภัณฑ์รีไซเคิลที่ออกมาและขนาดขององค์กรที่ take action เรื่องความยั่งยืนทางทรัพยากร แถมหลายๆ แบรนด์ในนี้ก็ได้รับการซัพพอร์ตเรื่องนวัตกรรมการผลิตสินค้าจาก GC ด้วย ถ้าสนใจข้อมูลนิทรรศการ สามารถเข้าไปติดตามแบบ Virtual ได้ที่ circularlivingsymposium2020-virtual.com/virtual

เสวนาจากผู้นำด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน

ถึงแม้ว่าปลายทางของการส่งเสริม Circular Living ของ GC นั้นจะพูดถึงการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศไทยให้เหลือตัวเลขน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่อย่าลืมว่า ‘ความยั่งยืนด้านทรัพยาการ’ ถือเป็นประเด็นใหญ่ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ คอนเทนต์ในงานจึงไม่หยุดเพียงแค่ว่าในไทยมีอะไร แต่เป็นทั่วโลกมีอะไร แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และนวัตกรรมที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้พัฒนากันไปถึงไหนแล้ว

Cross Industry Opportunities in Circular Economy

ในช่วงเช้าเป็นคิวของเซสชั่นที่นำภาพรวมของเศรษฐกิจหมุนเวียนจากทั่วโลกมาคลี่ให้เราดู นำโดย ธีโอ แจน ไซม่อนส์ ตัวแทนจาก McKinsey & Company บริษัทให้คำปรึกษาด้านธุรกิจจากประเทศเยอรมนี ที่มีประสบการณ์การศึกษาและวิเคราะห์หน่วยงานชั้นนำ 250 แห่งทั่วโลกเกี่ยวกับเรื่องการลดใช้วัสดุพลาสติก รวมทั้งการหันมาใช้วัสดุรีไซเคิล

“เมื่อทุกคนตั้งเป้าหมายว่าจะนำธุรกิจเข้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน เท่ากับว่าเราต้องกล้าที่จะลงทุนกับการจัดการระบบอุตสาหกรรมมากขึ้นด้วย ผมมองว่ามันเป็นสิ่งที่ทุกๆ องค์กรทั่วโลกควรให้ความสำคัญ และการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนไม่ได้มาจากการจับมือกันของคนในอุตสาหกรรมเคมีเท่านั้น แต่ต้องขยายไปยังนักลงทุนที่พร้อมซัพพอร์ตเงินทุนที่มาจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย” ซึ่งนอกจากความร่วมมือขององค์กรในระดับประเทศแล้ว ยังต้องสร้างความร่วมมือกับองค์กรในระดับโลกด้วย เศรษฐกิจหมุนเวียนที่ทุกคนวาดฝันจึงจะประสบความสำเร็จอย่างสวยงามได้

Circular Living, An Integrated Solution Platform

ขยับมาฟังอีกหนึ่งเสวนาน่าสนใจอย่าง Circular Living, An Integrated Solution Platform เจ้าของวลี “Trash is Sexy” วลีเด็ดของงานปีที่แล้วอย่าง อาเธอร์ หวง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท Miniwiz ได้วิดีโอคอลเข้าร่วมวงเสวนาที่ว่าด้วยทางออกของขยะพลาสติกที่น่าจับตาครั้งนี้ด้วย และแน่นอนอาเธอร์เปิดประเด็นได้น่าสนใจอีกตามเคย

“จริงๆ แล้วของทุกอย่างสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมด ไม่มีอะไรบนโลกนี้ที่สมควรกับการถูกใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง” เขายกตัวอย่างถ้วยรีไซเคิลที่ทำจากหน้ากากอนามัยที่คนไต้หวันใส่ครั้งเดียวแล้วทิ้งเพื่อป้องกันตัวเองจากโควิด-19 แม้จะเป็นขยะพลาสติกที่เข้าเกณฑ์ว่าเป็นขยะติดเชื้อ แต่ด้วยกระบวนการแปลงโฉมขยะที่ Miniwiz (ไต้หวัน) สร้างขึ้นมา เจ้าตัวก็ขอการันตีว่าปลอดภัยแน่นอน

“นอกจากความต้องการเทคโนโลยีในการจัดการขยะที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันนี้เราต้องคิดกับขยะใช้ครั้งเดียวทิ้งมากขึ้น ผมเข้าใจที่คนทั่วไปจะมองว่ามันยังมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค เราไม่สามารถหลีกหนีความจริงข้อที่ว่ามันสร้างมาจากขยะไปได้ ดังนั้นเรื่องท้าทายของผมและ Miniwiz ตอนนี้คือจะทำยังไงให้ผู้บริโภคกล้าที่จะใช้ถ้วยที่ทำมาจากพลาสติกรีไซเคิลใบนี้ โลกพลาสติกรีไซเคิลมีปราการหลายอย่างมากที่เราต้องฝ่าฟันไปให้ได้”

สปีกเกอร์ชาวไทยที่ร่วมแจมเซสชั่นนี้ด้วยอย่าง คุณปฏิภาณ สุคนธมาน ผู้จัดการใหญ่บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้ให้แง่มุมน่าสนใจที่เป็นประเด็นต่อเนื่องจากสิ่งที่อาเธอร์ได้ฝากเอาไว้

“ความสำเร็จของการรีไซเคิลพลาสติกไม่สามารถสร้างได้ด้วยคนเพียงคนเดียว เราต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐที่ต้องมีนโยบาย ทั้งหน่วยงานหรือองค์กรที่ตระหนักถึงความสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียน และทั้งภาคประชาชนที่จะมาร่วมเปลี่ยนพฤติกรรมในการทิ้งขยะและการให้คุณค่ากับผลิตภัณฑ์รีไซเคิล”

คุณปฏิภาณเน้นย้ำประเด็นสำคัญที่ทำให้การรีไซเคิลพลาสติกเป็นไปได้ยากในประเทศไทย หรือถึงจะเป็นไปได้ ก็ยังเป็นการขับเคลื่อนที่ช้ากว่าที่มันควรจะเป็น

“สิ่งหนึ่งที่เราต้องเปลี่ยนคือการสร้างมาตรฐานของการแยกขยะ แม้ทุกวันนี้เราจะมีการตั้งถังขยะแยกว่าถังนี้สำหรับทิ้งขวดน้ำรีไซเคิล กระดาษหรือขยะทั่วไปเพื่อให้ผู้คนเลือกทิ้งตามถังที่ได้แยกประเภทไว้ แต่เชื่อมั้ยว่า วินาทีนี้การแยกขยะก็ยังเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่สับสน ยกตัวอย่างเช่นผม เวลาที่ผมมีขยะอยู่ในมือ ผมมีทางเลือกแค่สองทางคือทิ้งลงถังสำหรับขยะรีไซเคิลได้กับถังสำหรับขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ แค่นี้ผมยังเลือกยากเลยเพราะสำหรับผมทุกอย่างรีไซเคิลได้ทั้งสิ้น ดังนั้นเราควรคิดเรื่องต้นทางของเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเริ่มจากการสร้างมาตรฐานในการแยกขยะก่อน”

ย่างก้าวแห่งความยั่งยืนของ GC

หลังจากเสวนาจบลง คุณปฏิภาณสละเวลามาตอบคำถามที่เราสงสัย บทสนทนาอย่างเอ็กซ์คลูซีฟ ที่เกิดขึ้นตอกย้ำว่าองค์กรใหญ่อย่าง GC และพันธมิตรของพวกเขาได้ใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อที่จะเชื่อมโยงองค์กรเข้ากับคนตัวเล็กๆ อย่างเราด้วย

“แม้ GC จะทำธุรกิจแบบ B-to-B แต่สิ่งที่เราอยากทำจริงๆ คือ End-to-End สร้างระบบนิเวศธุรกิจ หรือ Ecosystem ของการรีไซเคิลที่ครบวงจร เริ่มตั้งแต่การทำจุดทิ้งขยะหรือ Drop point เมื่อคนนำขยะมาทิ้งตรงนั้นเราก็ต้องมีการขนส่งไปที่ Local hub เพื่อคัดแยก แล้วค่อยส่งต่อมายัง Regional hub เพื่อตัดให้เป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนส่งเข้าโรงงานรีไซเคิล”

GC กำลังเจรจาร่วมมือกับบริษัทในเครือเดียวกันอย่าง PTTOR หรือปั๊มน้ำมันปตท.ที่มีสาขามากถึง 2,200 แห่งทั่วประเทศ การกระจายตัวของปั๊มจัดว่าเป็นโอกาสที่เอื้อให้คนจากทุกพื้นที่เข้าถึงระบบนิเวศที่ว่านี้ได้ แต่การจะล่อใจให้คนยอมบรรทุกขยะจากบ้านมาทิ้งที่ปั๊มนั้นดูเป็นงานที่ต้องพึ่งพาการสร้างแรงจูงใจมากทีเดียว

“แต่อย่าลืมว่าปั๊มปตท.เขามี PTT Blue Card ให้ลูกค้าอยู่แล้ว ในการทิ้งทุกครั้งเขาสามารถแลกแต้มสะสมและเอาไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ จริงๆ ยังมีอีกปัญหาคือระบบนิเวศธุรกิจ หรือ Ecosystem นี้มี Value chain เยอะมาก GC ทำเองทั้งหมดไม่ไหว ดังนั้นเราต้องหาพาร์ตเนอร์ที่มีระบบโลจิสติกของตัวเองอยู่ทั่วประเทศมาช่วย จับมือกับเขาเพื่อใช้สิ่งที่มีให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

“ทุกวันนี้เทรนด์ของโลกเขาไปรีไซเคิลกันหมดแล้ว อย่างที่ญี่ปุ่น ถ้าไปร้านสะดวกซื้อคุณจะเห็นสเป็กขวดน้ำอัดลมที่ตอนนี้เป็นขวดพลาสติกรีไซเคิลหมดแล้ว เขามีบริษัทส่งออกเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ ซึ่งวันหนึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องมาเกิดที่บ้านเรา แต่ถ้าเราไม่ทำ Ecosystem ที่รองรับสิ่งเหล่านี้ไว้ วันข้างหน้าเราอาจจะต้องนำเข้าเม็ดพลาสติกรีไซเคิลเข้ามา ทั้งๆ ที่ในประเทศมีต้นทุนที่รอการแปรรูปมากมาย”

ประเทศไทยเราส่งออกขยะพลาสติกกันเป็นว่าเล่น ขณะเดียวกันเราก็นำเข้าเม็ดพลาสติกรีไซเคิลจากที่อื่นเข้ามา (เผลอๆ เป็นเม็ดพลาสติกที่อดีตเคยเป็นขยะที่เราส่งออกไป) ในกรณีนี้คำว่า ‘เสียดุลการค้าอย่างรุนแรง’ น่าจะเป็นนิยามที่เหมาะสมที่สุด

ข้อที่ดีมากๆ ของการใช้พลาสติกรีไซเคิลคือมันเป็นการช่วยโลกลด Carbon emission จากกระบวนการผลิตพลาสติกใหม่ สิ่งที่ GC คิดเพื่อต่อยอดวงจรพลาสติกรีไซเคิลคือต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากพลาสติกรีไซเคิลให้หลากหลายและครอบคลุมทุกอุตสาหกรรมให้ได้

“เราคิดเรื่อง Upcycling Upstyling ตอนนี้คนส่วนหนึ่งรู้แล้วว่าพลาสติก PET สามารถนำมาทำเป็นเส้นใยสำหรับถักทอเสื้อผ้าได้ ถ้าเราอยากให้สิ่งนี้ไปต่อเราก็ต้องใส่ดีไซน์เข้าไป” อย่างโซนนิทรรศการก็ทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ที่หลากหลาย หรือในอนาคต ENVICCO อาจต่อยอดขยะพลาสติกที่คัดแยกไม่ได้เป็นเชื้อเพลิงเป็นวัสดุใช้งานอื่นๆ ไปจนถึงวัสดุก่อสร้างจากพลาสติกรีไซเคิลที่ผู้บริหารคนนี้ตั้งความหวังไว้

“ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลต้องตอบโจทย์ในทางการค้าด้วย เราเอนไปที่วัสดุก่อสร้างอย่างผนังรีไซเคิลหรือพื้นทั้งหลาย เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีกระบวนการผลิตไม่ยาก การสร้างคอนโดหนึ่งคอนโดต้องใช้วัสดุเหล่านี้ในปริมาณที่ค่อนข้างเยอะ วันนี้ราคาอาจจะไม่ได้ถูกมาก เพราะฉะนั้นถ้าเราสร้าง Ecosystem นี้ให้สมบูรณ์ได้ ราคาที่ถูกลงจากการผลิตในปริมาณที่มาก น่าจะช่วยให้วัสดุก่อสร้างรีไซเคิลมีแนวโน้มใช้กันเยอะขึ้นในอนาคต”

จริงๆ แล้วคำว่า End-to-End ของ GC ไม่ได้จบตรงที่การผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลจำหน่ายให้กับผู้ผลิตในประเทศใช้เท่านั้น แต่ยังอยากมีส่วนช่วยสนับสนุนคนทั่วไปที่ฝันอยากมีแบรนด์สินค้าที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลเป็นของตัวเอง เพราะผลพลอยได้ของสิ่งนี้คือการสร้างความหลากหลายให้กับตลาดผลิตภัณฑ์รีไซเคิลนั่นเอง

“เรามีหน่วยงานที่ชื่อว่า Customer Solution Center สมมติคุณเป็นเจ้าของแบรนด์ที่กำลังตามหาโซลูชั่นในการที่จะผลิตของสักชิ้นขึ้นมา คุณติดต่อเราเข้ามาได้เลย เราจะมีลิสต์ Industrial designer ช่วยเชื่อมโยง value chain ให้ได้ แต่สิ่งที่คุณต้องมีคือไอเดีย รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไรและเจาะตลาดกลุ่มไหน

“สิ่งที่ GC ทำในวันนี้คือการสนับสนุนให้ทุกคนใช้ของที่เรามีอยู่แล้วไปในทางที่ถูกต้องที่สุด แล้วก็ได้คุณค่าจากมันมากที่สุด พลาสติกคือวัสดุที่มีอายุมากกว่า 400 ปี แต่ทำไมคุณใช้คุณสมบัติ 400 ปีของมันแค่ถือเดินออกจากร้านสะดวกซื้อแล้วก็ทิ้งลงถังขยะตรงนั้น ฉะนั้นจากสิ่งที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เราเปลี่ยนมาเลือกใช้สิ่งที่มัน ยั่งยืนมากขึ้นกันดีไหม” ผู้บริหาร GC ทิ้งท้าย

ยุคก่อนหน้านี้เราอาจะเคยนิยามวัสดุใหม่อย่างพลาสติกโพลิเมอร์ว่าเป็นวัสดุที่เปลี่ยนโลก แต่ใครจะรู้ว่าในคุณสมบัติที่ยาวนานกว่า 400 ของมันอาจจะหมุนเวียนมาเปลี่ยนโลกใบนี้ของเราอีกครั้งและอีกครั้งก็เป็นได้ ใครจะรู้

ที่มา: A Day

Feature Stories

Feature Stories
02 มิถุนายน 2563
เปลี่ยนของเสียในโรงงานผลิตถ้วยพลาสติก ให้เป็นของแต่งบ้านสุดเดิร์น “WFH” อย่างมีสไตล์ ไปกับโครงการ Upcycling Upstyling
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
17 ธันวาคม 2561
#ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนโลก กับ ต้นคริสต์มาสสไตล์รักษ์โลก
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
02 มีนาคม 2561
สืบสานประเพณีบุญข้าวหลาม จังหวัดระยอง
อ่านเพิ่มเติม