08 เมษายน 2563

มหาวิทยาลัยมหิดล จับมือ GC พัฒนาตู้โควิเคลียร์ ลดความเสี่ยงโควิด-19 ตู้แรกของประเทศไทย [ไทยรัฐ]

แชร์:

มหาวิทยาลัยมหิดล จับมือ GC ผสานพลังนวัตกรรมเคมีภัณฑ์กับวิศวกรรม พัฒนาตู้โควิเคลียร์ ลดความเสี่ยงไวรัสโควิด-19 ตู้แรกของประเทศไทย

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และ บริษัท NPC S&E จำกัด บริษัทในกลุ่ม GC ผสานพลังนวัตกรรมพร้อมดึงศักยภาพและความชำนาญพัฒนาตู้โควิเคลียร์ ลดความเสี่ยงไวรัสโควิด-19 ตู้แรกของประเทศไทย เพื่อร่วมต่อสู้กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยมุ่งหวังเพื่อลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำงานอย่างหนักภายใต้ความกดดัน และคนไทยให้ผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน โดยมี ศจ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้รับมอบ ณ ลานพระบิดา โรงพยาบาลศิริราช

ผศ.ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน ประธานกลุ่มสาขาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ตู้โควิเคลียร์ (CoviClear) หรือ ตู้พ่นซิลเวอร์นาโนฆ่าเชื้อ ใช้นวัตกรรม Nanotechnology Sanitizing Spray ที่มีส่วนผสมของอนุภาคนาโนซิลเวอร์ (Bioactive Silver Ion) หรือ “โลหะเงิน” และน้ำยาฆ่าเชื้อที่สามารถทำลายผนังเซลล์เชื้อโรค ทำให้เชื้อตาย พร้อมทั้งทำลายโปรตีน ทำให้เชื้อไม่สามารถแบ่งตัวต่อไปได้ ออกฤทธิ์ปกป้องนาน 24 ชั่วโมง ช่วยเสริมเกราะป้องกันนักรบเสื้อกาวน์และประชาชนที่มาใช้บริการโรงพยาบาล ตู้โควิเคลียร์ ถือเป็นตู้แรกของประเทศไทยที่ผสมผสานความรู้ด้านวิศวกรรมกับชีวการแพทย์ (Bio-Medical) คิดค้นและพัฒนาโดยทีมสหสาขาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ ผศ.ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ดร.ศิริมาเมธ์วดี ศิรธนิตรา และ ดร.ภญ.ธีรยา มะยะกูล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพป้องกันเชื้อโรคผสานกับนวัตกรรมการฆ่าเชื้อโรคด้วยการปล่อยอนุภาคซิลเวอร์นาโน ผ่านหัวฉีดขนาดเล็กระดับไมครอน เพื่อให้ไอของสารดังกล่าว ไปจับกับเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และเชื้ออื่น ๆ ที่ติดมากับตัวคน และเครื่องนุ่งห่มของผู้สวมใส่ ทำให้เซลล์เชื้อโรคถูกทำลายและตายลงโดยที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ นอกจากนี้ อนุภาคซิลเวอร์นาโนดังกล่าว ยังสามารถยึดติดกับผิวหนังและเครื่องนุ่งห่มของคนที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยตู้โควิเคลียร์ เพื่อทำหน้าที่ฆ่าเชื้อโรคที่มาสัมผัสกับผิวหนังหรือเสื้อผ้าได้อีกระยะเวลาหนึ่ง ทำให้ลดความเสี่ยงจากเชื้อโรคได้ และจะสลายไปเมื่อมีการชำระล้างร่างกาย

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GC กล่าวว่า ด้วยวิสัยทัศน์ของ GC ที่จะเป็นบริษัทชั้นนำด้านเคมีภัณฑ์เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต (Global Chemical Company for Better Living) ได้สนับสนุนวัตถุดิบจากนวัตกรรมของกลุ่มบริษัทฯ ที่ใช้ในการผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อ จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ ไตรเอทานอลเอมีน (Triethanolamine: TEA) ซึ่ง GC เป็นผู้ผลิตเพียงรายเดียวในประเทศไทย มีคุณสมบัติในการช่วยให้อนุภาคของไอออนนาโนยึดเกาะกับเสื้อผ้าและผิวหนังของคน ทำให้คงประสิทธิภาพ ของการฆ่าเชื้อได้ยาวนานขึ้นถึง 24 ชั่วโมง และ กลีเซอรีน (Glycerine) มีคุณสมบัติในการทำให้อนุภาคไอออนนาโนเป็นสารแขวนลอยในน้ำยา ไม่เกิดการตกตะกอน ช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื้น และไม่ระคายเคืองผิว รวมทั้งสนับสนุนการจัดทำตู้โควิเคลียร์ หรือตู้พ่นซิลเวอร์นาโนฆ่าเชื้อ ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ที่จะช่วยลดความเสี่ยงให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไปที่จำเป็นต้องมาใช้บริการจากโรงพยาบาลต่างๆ ในภาวะวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19

สำหรับโครงการนี้ GC จะส่งมอบตู้โควิเคลียร์ และน้ำยาฆ่าเชื้อมีส่วนผสมของอนุภาคซิลเวอร์นาโน (Bioactive Silver Ion) ซึ่งสามารถใช้งานได้สูงถึง 10,000 ครั้ง ต่อการเติมน้ำยาจำนวน 5 ลิตร โดย GC จะมอบให้โรงพยาบาล จำนวน 10 เครื่อง เพื่อลดโอกาสการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ได้อีกทางหนึ่ง

จากการผสานพลังนวัตกรรมเคมีภัณฑ์จากภาคเอกชนและวิศวกรรมจากภาคการศึกษาในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมืออีกหนึ่งขั้นที่มุ่งหวังให้บุคลากรทางการแพทย์ของไทย และคนไทยทุกคนผ่านพ้นช่วงวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปด้วยกันได้อย่างปลอดภัย

ที่มา: www.thairath.co.th

ข่าวสาร

ข่าวสาร
01 สิงหาคม 2565
GC และ กลุ่ม ปตท. ผนึกพันธมิตร ภาคการศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชนระดับประเทศ จัดตั้ง “Thailand CCUS Consortium” ตอกย้ำเป้าหมาย Carbon Neutral และ Net Zero ของไทย
อ่านเพิ่มเติม
ข่าวสาร
13 พฤษภาคม 2564
GC เดินหน้า “โครงการฮาวทูแยก..แยกอย่างไรไม่ให้ติดเชื้อ” ส่งมอบถุงแดง ถังแดง ให้ กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้ในโรงพยาบาลสนามและหน่วยงานสังกัด กทม.
อ่านเพิ่มเติม
ข่าวสาร
11 มีนาคม 2561
เสื้อ Upcycling Plastic Waste จากขวด PET ในงาน “วิ่งสู่อนาคต 50 ปี สภาอุตสาหกรรมฯ” ช่วยลดขยะพลาสติกได้ถึง 24,000 ขวด
อ่านเพิ่มเติม