โครงการพลาสติกป้องกันภัยป้องกันชีวิต (กระสอบพลาสติกแบบมีปีก)

นวัตกรรมการออกแบบและพัฒนากระสอบพลาสติกแบบมีปีก ด้วยรูปแบบการถักทอและการใช้วัตถุดิบรีไซเคิล สามารถช่วยแก้ไขและบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติดินโคลนถล่ม บรรเทาปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง จากนั้น GC ได้เริ่มนำพลาสติกรีไซเคิลประเภทโพลีโพรพิลีน (Recycled PP) มาใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตกระสอบฯ และนำไปใช้งานจริงเป็นครั้งแรกได้สำเร็จ

15 ปี กับองค์ความความรู้...ที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ด้วยมุ่งหวังจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ อันจะยังประโยชน์แก่สังคมโดยรวม

ด้วยนวัตกรรมการออกแบบและพัฒนากระสอบแบบมีปีก ให้สามารถช่วยแก้ไขและบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติดินโคลนถล่ม รวมถึงช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ร่วมกับ มูลนิธิชัยพัฒนา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้นำนวัตกรรมการออกแบบให้กระสอบมีปีกด้านข้าง เพื่อให้เกิดความแน่นหนามั่นคงเมื่อนำไปวางเป็นแนวป้องกัน อีกทั้งรูปแบบการถักทอ ยังช่วยให้พืชพันธุ์สามารถเติบโตได้เมื่อเวลาผ่านไป นอกจากนี้ ยังนำไปใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดินโคลนถล่ม ปัญหาอุทกภัย ด้วยการนำกระสอบพลาสติกแบบมีปีกไปจัดทำเป็นฝายชะลอน้ำ การทำแก้มลิง และการจัดทำแนวป้องกัน การพังทลายของตลิ่ง นับเป็นการช่วยสนับสนุน และส่งเสริมด้านเกษตรกรรมให้กับเกษตรกรอีกด้วย

ในปี พ.ศ. 2550 – 2563 GC ได้นำกระสอบพลาสติกแบบมีปีกมาประยุกต์ใช้ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน กรมทรัพยากรธรณี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ในพื้นที่ทุกภาคทั่วประเทศรวม 20 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดระยอง กรุงเทพมหานคร เชียงราย เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน ลำปาง พะเยา น่าน นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา นครสวรรค์ อุทัยธานี ปทุมธานี ตาก กาญจนบุรี เลย รวมถึงประเทศ สปป. ลาว (โครงการศูนย์ศึกษาพัฒนากสิกรรมพื้นที่สูง เมืองปากซอง แขวงจำปาสัก)

ในปี 2563 ที่ผ่านมา GC ได้เริ่มนำพลาสติกรีไซเคิลประเภทโพลีโพรพิลีน (Recycled PP) มาพัฒนาใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตกระสอบพลาสติกแบบมีปีกเป็นครั้งแรก นับเป็นการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนให้มีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวคิด GC Circular Living ซึ่งได้มีการนำไปใช้งานในพื้นที่จริงในการจัดทำฝายแก้มลิงร่วมกับชุมชน ที่ป่าชุมชนเจริญสุข-สายบัว ต.เจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์

GC มุ่งหวังที่จะช่วยเสริมสร้างประโยชน์และความสุขให้กับชุมชน สังคมโดยรวม และประเทศ ต่อไปอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูล ณ เมษายน 2564