โครงการโซล่าร์ชนิดลอยน้ำทะเล

โซลาร์ชนิดลอยน้ำทะเล นวัตกรรมพลังงานทางเลือกที่ยั่งยืนแห่งแรกของประเทศไทย

GC และกลุ่มปตท. เล็งเห็นโอกาสในการพัฒนาศักยภาพการใช้พลังงานหมุนเวียนของประเทศไทย จึงได้ผสานความเชี่ยวชาญของกลุ่ม ปตท. ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี จัดทำโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดลอยน้ำทะเล (Floating Solar) นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในน้ำทะเล

ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตโซนร้อน มีศักยภาพการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในระดับเข้มข้น “โซลาร์ลอยน้ำ” จึงกลายเป็นอีกแหล่งพลังงานทางเลือกหนึ่งที่เหมาะกับภูมิประเทศและภูมิอากาศของไทย

เพราะสามารถใช้พลังงานทดแทนจากแหล่งพลังงานธรรมชาติคือแสงอาทิตย์ได้ 100% และยังสามารถผลิตไฟฟ้าได้โดยไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม นับเป็นนวัตกรรมพลังงานสะอาดที่ตอบโจทย์ทั้งเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมและช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

GC และกลุ่มปตท. เล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาศักยภาพการใช้พลังงานหมุนเวียนของประเทศไทย ซึ่งสอดรับกับนโยบายรัฐในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จึงได้ผสานความเชี่ยวชาญของกลุ่ม ปตท. ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี จัดทำโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดลอยน้ำทะเล (Floating Solar) ขนาด 100 กิโลวัตต์ ที่บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด จังหวัดระยอง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในน้ำทะเล เพื่อบริหารจัดการพลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมีส่วนสำคัญในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ช่วยยกระดับการพัฒนานวัตกรรมต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่ (New Energy Business) ตามที่กลุ่มปตท. ได้วางเป้าหมายไว้ โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้นั้นในระยะแรกจะนำไปใช้ภายในสำนักงานของบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด เพื่อเป็นต้นแบบการศึกษาและพัฒนารูปแบบทางธุรกิจ

สำหรับระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดลอยน้ำทะเลนี้ GC ได้ร่วมพัฒนาทุ่นลอยน้ำ ซึ่งผลิตจากนวัตกรรมเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษ InnoPlus HD8200B ที่มีความแข็งแรงทนทานต่อแรงกระแทก ขึ้นรูปได้ง่ายและช่วยลดความหนาเมื่อนำมาอัดรีดเป่าขึ้นรูปในแม่พิมพ์ (Extrusion Blow Molding) รับประกันความทนทานต่อรังสี UV 25 ปี และได้รับการรับรองตามมาตรฐานการสัมผัสอาหาร (Food Contact Grade) มีความปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งตอบโจทย์การใช้งานทุ่นลอยน้ำชนิดลอยในทะเล ที่มักประสบปัญหาการเกาะสะสมของเพรียงทะเล อีกทั้งมีการใช้งานกลางแดดร้อนจัด ทำให้ทุ่นลอยน้ำเกิดความเสียหายและมีอายุการใช้งานสั้น

โดยจากผลการทดสอบพบว่าทุ่นลอยน้ำดังกล่าวมีการเกาะสะสมของเพรียงทะเลลดลง มีความทนทานต่อการใช้งานกลางแจ้งได้ดีเยี่ยม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะสัตว์และพืชทะเล นับเป็นกลยุทธ์การสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน (Application-based) รวมถึงต่อยอดสู่การออกแบบแม่พิมพ์ทุ่นลอยน้ำรูปแบบใหม่ๆ เพื่อตอบสนองการใช้งานที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ข้อมูล ณ เมษายน 2564