15 กันยายน 2563

ภารกิจติดอาวุธให้นักรบเสื้อกราวน์พร้อมสู้โควิด บทพิสูจน์ GC องค์กรธุรกิจไทย ที่ไม่ทิ้ง เป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) [Salika]

แชร์:

ในนาทีนี้ทุกองค์กรทั่วโลกทราบดีว่า นอกเหนือจากเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศชาติแล้ว ยังมีอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ การกำหนดยุทธศาตร์การทำธุรกิจให้สอดคล้องกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) หรือ Sustainable Development Goals) ที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) กำหนดขึ้นทั้ง 17 ด้าน เพื่อเป็นแนวทางให้ประเทศต่างๆ นําไปปฏิบัติให้บรรลุผลสําเร็จ และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตลอดช่วงระยะเวลา 15 ปี (เดือนกันยายน 2558 – สิงหาคม 2573)

โดยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมาย มุ่งมั่นที่จะขจัดความยากจน เสริมสร้างสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ และเสริมสร้างศักยภาพของผู้หญิงและเด็ก พวกเราจะบูรณาการและแบ่งแยกและรักษาสมดุลสามมิติของการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แต่ละเป้าหมายจะกระตุ้นการกระทำในพื้นที่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อมนุษยชาติและโลก

ทว่า ทันทีที่โลกถูกดิสรัปด้วยวิกฤตโรคระบาดครั้งใหญ่ในรอบศตวรรษ นั่นคือ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การดำเนินธุรกิจตาม เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ก็เหมือนว่าจะสะดุดไปชั่วขณะ เนื่องจาก แทบทุกองค์กรธุรกิจทั่วโลก ต่างต้องมาทบทวนและปรับแผนยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจใหม่ เพื่อตอบรับกับความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก วิกฤตโควิด-19

เผย 5 SDGs Mega Trend 2020 แนะแนวทางการดำเนินธุรกิจฝ่าวิกฤต โดยไม่ทิ้ง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

เพื่อชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มสำคัญที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจของสังคมไทย ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงระดับโลก พร้อมฉายบทบาทของภาคธุรกิจที่สังคมคาดหวัง และตัวอย่างการก้าวไปข้างหน้าฝ่าอุปสรรคบนแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะปูทางสู่ความสำเร็จขององค์กรในระยะยาว สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กจึงได้จัดทำ SDGs Mega Trend 2020 ขึ้น

โดยในบทความเรื่อง “5 แนวโน้มสำคัญเพื่อจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่เผยแพร่ใน เว็บไซต์ Global Compact Network Thailand ได้ให้มุมมองการแนวทางการพัฒนาองค์กรที่ยั่งยืนฝ่าวิกฤต ไว้ว่า

การทำธุรกิจที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) นับเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญที่ทุกองค์กรธุรกิจต้องมี เช่นเดียวกับแผนการดำเนินธุรกิจและแผนการประเมินความเสี่ยงทางธุรกิจ เพราะ SDGs จะช่วยกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ผู้บริโภคและนักลงทุนในอนาคตได้ชัดเจนขึ้น

เพราะการดำเนินธุรกิจในยุคนี้ให้สำเร็จ เป็นเรื่องของผู้มองไกล และมองรอบด้านจนเห็นเป้าหมายระยะยาว จึงจะสามารถปรับกลยุทธ์เพื่อให้กิจการอยู่รอดได้

หากมองเพียงผลกำไรหรือใส่ใจแค่เป้าหมายระยะสั้น เช่น เร่งผลิตสินค้าที่อายุการใช้งานสั้น เน้นปริมาณการขายมากกว่าคุณภาพของสินค้า เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดหรือฉวยผลประโยชน์เฉพาะหน้า ย่อมทำให้ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งมีจำนวนจำกัด ต้องเสื่อมโทรมลงหรือหมดลงอย่างรวดเร็ว เกินกว่าที่จะฟื้นฟูและสร้างทดแทนได้ทัน นอกจากจะไม่เหลือพอให้คนรุ่นต่อไปใช้งาน ภาคธุรกิจเองก็อาจประสบปัญหาขาดแคลนปัจจัยการผลิตด้วย

ในทางกลับกัน การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ ผู้บริหารระดับสูงต้องตระหนักถึงการทำธุรกิจด้วยหัวใจเกื้อกูลสร้างสังคมที่ดีร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการจับมือกับชุมชนในการบริหารจัดการผลักดันให้เกิดการแบ่งปันใช้ทรัพยากรอย่างเท่าเทียมเป็นธรรม กระจายประโยชน์สู่สังคมวงกว้าง มีโมเดลรับฟังความคิดเห็นและรูปแบบธุรกิจที่สนับสนุนความอยู่รอดของคนเล็กๆ หน่วยย่อยต่างๆ ในลักษณะของพันธมิตรทางสังคม

นี่คือการยกระดับจริยธรรมการดำเนินธุรกิจสู่มิติของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง และมีประสิทธิภาพกว่าการจัดกิจกรรมสร้างภาพลักษณ์เป็นครั้งคราวในนามของกิจกรรมแบบ CSR หากยังต้องการจัดกิจกรรมก็ควรเป็นโครงการที่มุ่งเป้า เพื่อแก้ไขปัญหา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่ทุกคนต้องเผชิญกับวิกฤตโรคระบาด ทุกองค์กรธุรกิจ ยิ่งควรทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระ ปัญหา ของมวลชน เช่น บริษัทให้บริการทางระบบเครือข่าย internet ช่วยลดค่าบริการหรือส่งเสริมให้ใช้โปรแกรมการประชุมทางไกลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย บริษัทเวชภัณฑ์มาช่วยจัดหาอุปกรณ์การแพทย์มาให้ชุมชนที่เจอวิกฤติโรคระบาด บริษัทผลิตเครื่องสำอางมาร่วมกันกับบริษัทที่มีวัตถุดิบจัดสรรเอทานอลมาทำเจลแอลกอฮอล์จำหน่าย จ่าย แจก เป็นต้น

วิถีการดำเนินธุรกิจของ GC กับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) สองสิ่งที่ไม่เคยแยกจากกัน แม้เกิดวิกฤตโรคระบาด

หากพิจารณาตาม SDGs Mega Trend 2020 ที่กล่าวมาข้างต้น ย่อมสร้างความเข้าใจได้ตรงกันในระดับหนึ่งแล้วว่า ทางรอดของทุกองค์กรธุรกิจ ไม่ว่าจะขนาดใดก็ตาม ไม่ใช่อยู่ที่เป้าหมายของการสร้างกำไรสูงสุดแต่อย่างเดียว ทว่า อยู่ที่การมองการณ์ไกล และวางแผนการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนมากกว่า

เพื่อให้เห็นภาพองค์กรที่ประสบความสำเร็จ สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงแม้ในช่วงวิกฤตเช่นนี้ เพราะยึดมั่นตามหลัก SDGs Mega Trend 2020 ล่าสุดที่ทาง สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก Global Compact Network Thailand ได้แนะนำ เราขอนำเอาแนวทางการบริหารธุรกิจของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC มาเป็นกรณีศึกษาให้ได้เรียนรู้กัน

โดยที่ผ่านมา GC ได้ก้าวไปอยู่ในฐานะสมาชิกที่ปฏิบัติตามข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ ที่จะดำเนินธุรกิจให้บรรลุผลตาม เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และเป็นองค์กรไทยเพียงรายเดียวที่ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในระดับสูงสุด (LEAD) จาก 37 องค์กรทั่วโลกที่เข้าร่วมพันธสัญญาในการดำเนินงานตามเป้าหมายระดับสากลนี้

ด้วยจุดยืนที่ชัดเจนด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้เอง ทำให้ทาง GC ได้กำหนดภารกิจเร่งด่วน เพื่อตอบสนอง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในยามที่วิกฤตโควิด-19 ยังคุกรุ่น และทุกฝ่ายยังต้องการความช่วยเหลือเพื่อป้องกันไม่ให้การแพร่เชื้อโควิด-19 แพร่กระจายไปในวงกว้าง

โดย GC ตั้งใจจะปฏิบัติหน้าที่เป็นเหมือนหน่วยช่วยเหลือ ส่งนวัตกรรมและเครื่องมือป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งทางบริษัทเป็นผู้ผลิต เพื่อเข้าไปช่วยบรรเทาสถานการณ์ ป้องกันการแพร่ระบาด และลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้กับทีมแพทย์ พยาบาล อย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ ทุกภารกิจที่กล่าวมา ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GC จะรับหน้าที่ฉายภาพให้ชัดเจนขึ้นกับแนวทางการดำเนินงานตามภารกิจขององค์กรตลอดช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งผู้บริหารสูงสุดของ GC ได้กล่าวไว้ใน คลิปวิดีโอ ที่นำไปเผยแพร่ทางเว็บไซต์ United Nations Global Compact (UNGC) ว่า

“พอเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 GC ก็ได้สำรวจทันทีว่าเรามีทรัพยากรอะไรบ้างทั้งของเราเองและบริษัทในเครือที่เกี่ยวข้อง ที่จะนำลงไปช่วยประชาชนในระดับต่างๆ เริ่มจากชุมชนก่อนเป็นอันดับแรก อย่างการนำหน้ากากผ้าที่ทำจากผ้า Upcycling ผ้ารีไซเคิล เจลแอลกอฮอล์ ลงไปแจกให้กับชาวชุมชนที่อยู่ในบริเวณโดยรอบฐานการผลิตของเราที่ตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง”

“ส่วนในระดับจังหวัดและระดับประเทศ เราก็เริ่มจากการนำเสื้อกราวน์ที่ทำจาก โพลีเอทิลีน Polyethylene เม็ดพลาสติกซึ่งเป็นสินค้าของเรา ไปบริจาคให้หน่วยงานทางการแพทย์ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นคุณหมอ พยาบาล ที่มีความจำเป็นต้องใช้ชุดกราวน์นี้เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่”

“ทั้งนี้ในตอนที่เราได้ไปส่งมอบชุดกราวน์ นอกจากจะไปให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์แล้ว เราก็ถือโอกาสไปนั่งพูดคุย ว่าพวกท่านต้องการอะไรเพิ่มเติม เพื่อใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ในช่วงที่เกิดการแพร่เชื้อโควิด-19 นี้ ซึ่งก็พบว่ามีอุปกรณ์ทางการแพทย์หลายอย่างที่จำเป็น แต่ขาดแคลนมาก”

“ยกตัวอย่าง ชุด PAPR Suits ซึ่งเป็นชุดที่บุคลากรทางการแพทย์ใส่เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ขณะปฏิบัติหน้าที่ โดยชุดนี้จะคลุมทั้งตัว มี Hood และมีเฟสชิลด์ ที่ทำจากพลาสติก และเสื้อคลุมก็จะคลุมทั้งตัว”

“เพราะฉะนั้น วิกฤตที่เกิดขึ้นนี้จึงทำให้เรายิ่งตระหนักว่าในสถานการณ์ที่เกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 นี้ แนวคิดหรือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่นำทางไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นแนวทางที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ตลอด อย่างในกรณีนี้ คือ การที่พวกเราทุกคน ทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน มาร่วมมือกัน ใช้ความรู้ ใช้ความเข้าใจ รวมถึง know how ต่างๆของคนไทยมาช่วยกันผลิตอุปกรณ์ เครื่องมือ จำเป็นสำหรับป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ในต้นทุนที่ไม่แพงมาก เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ”

“ยกตัวอย่าง น้ำยาฉีดฆ่าเชื้อโรค เราค้นพบว่า สารเคมีที่เป็นตัวน้ำยาฉีดฆ่าเชื้อโรค คือ ตัวซิลเวอร์นาโน แต่สารประกอบที่ช่วยให้ตัวน้ำยาฆ่าเชื้อติดบนเสื้อผ้า สามารถผลิตได้ในประเทศไทยที่เดียว ก็คือที่ GC เป็นสารที่เรียกว่า Ethadolamine ซึ่งก่อนหน้านี้เราต้องพึ่งพาการนำเข้า แต่ตอนนี้ ทาง GC ได้คิดค้นกระบวนการผสมสารเคมีจนได้สารนี้ขึ้นมาใช้ในประเทศได้แล้ว”

“ที่ยกตัวอย่างมานี้ ก็เพื่อทำให้เห็นภาพว่า ในห้วงเวลาแห่งวิกฤตเช่นนี้ คนไทยต้องพยายามพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด พึ่งพาการผลิตในประเทศให้ได้มากที่สุด ช่วยเหลือกันให้มากที่สุด ถ้าทำได้ ย่อมจะทำให้เราสามารถก้าวผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้”

“การที่เราไปเห็นภาพ คุณหมอและพยาบาล พยายามผลิตอุปกรณ์ เครื่องมือ ป้องกันตนเองจากการติดเชื้อโควิด-19 ด้วยตัวเองจากวัสดุที่หาได้เท่าที่มี ก็ยิ่งทำให้ทาง GC มุ่งมั่นที่จะมีส่วนช่วยผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือเหล่านี้ให้ได้เร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นชุดกราวน์ ชุด PAPR ที่เราสามารถผลิตเองได้ในประเทศของเรา แบบไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศด้วย”

ที่สุดแล้ว ดร.คงกระพัน ได้สื่อสารเพื่อยืนยันถึงจุดยืนของ GC ในฐานะองค์กรต้นแบบที่เดินตาม เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ว่า

“เพราะโลกของเรา นับจากนี้ไป จะไม่มีวันเหมือนเดิม จะเปลี่ยนแปลงไปอีกในหลายด้าน ทาง GC ถือว่าเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่มีส่วนช่วยเท่าที่กำลังเรามี ฮีโร่ตัวจริงยังเป็น บุคลากรทางการแพทย์ ได้แก่ คุณหมอและพยาบาล ซึ่งเราอยากมีส่วนเป็นอีกหนึ่งพลังสนับสนุนเคียงข้างฮีโร่ทุกท่าน”

ที่มา: www.salika.co

Feature Stories

Feature Stories
31 พฤษภาคม 2566
การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เพื่ออนาคตโลก อนาคตเรา
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
29 กรกฎาคม 2563
เปลี่ยนปัญหาเป็นประโยชน์ด้วยการออกแบบแนว Upcycling Upstyling
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
28 มิถุนายน 2562
Circular Living Symposium 2019 งานสัมมนาปฏิวัติการใช้ทรัพยากรที่ปลุกพลังว่า Circular Living สามารถทำได้จริงและยั่งยืน
อ่านเพิ่มเติม