28 มิถุนายน 2562

Circular Living Symposium 2019 งานสัมมนาปฏิวัติการใช้ทรัพยากรที่ปลุกพลังว่า Circular Living สามารถทำได้จริงและยั่งยืน

แชร์:

คุณอาจเคยเห็นแคมเปญรณรงค์ลดการใช้พลาสติกผ่านตามาบ้าง และอาจเคยเห็นการประท้วงโลกร้อนสารพัดรูปแบบในสื่อต่างๆ แต่ก็ยังไม่เห็นวี่แววว่าตัวเราจะมีส่วนช่วยดูแลทรัพยากรให้ยั่งยืนได้อย่างไร และไม่รู้ว่าควรจะบังคับหางเสือให้ชีวิตมุ่งไปทางไหน เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนไปของสิ่งแวดล้อมโลกทุกวันนี้

งานสัมมนา ‘Circular Living Symposium 2019: Upcycling Our Planet’ อาจทำให้คุณพบคำตอบที่ค้างคาในใจมาตลอดว่า คนธรรมดาอย่างเราๆ จะสามารถช่วยดูแลดาวเคราะห์สีน้ำเงินซึ่งเปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืนได้อย่างไร

PTT Global Chemical หรือ GC จับมือกับ National Geographic จัดงานสัมมนาครั้งสำคัญเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน 2562 ณ The Athenee Hotel Bangkok เพื่อระดมนักคิดและนวัตกรจากทั่วโลกกว่า 40 ชีวิต มาพูดคุยและแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับประเด็น Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนที่กำลังเป็นที่พูดถึงในยุคที่ความมั่นคงด้านทรัพยากรของโลกกำลังสั่นคลอน

GC ตั้งใจจัดงานนี้ขึ้นเพื่อเปิดเวทีเป็นสนามไอเดียให้ทุกภาคส่วนมาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อประสานความร่วมมือซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งเป็นพระเอกในงานนี้ อีกทั้งยังเป็นงานประชุมที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยเล็งเห็นความเป็นไปได้ในการสร้างไลฟ์สไตล์ลดขยะ ด้วยแนวคิด ‘Circular Living..ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนโลก’ ที่ชวนให้เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาขยะพลาสติก และตระหนักว่าพลาสติกเป็นวัสดุที่มีอายุการใช้งานยืนยาว เราจึงควรใช้อย่างคุ้มค่าพร้อมรับผิดชอบด้วยการแยกขยะและทิ้งให้ถูกที่ถูกวิธี เพื่อหว่านเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความรับผิดชอบในการใช้งานและการกำจัดอย่างถูกต้อง

งานนี้ยังเป็นงานสัมมนาที่รวมขุมพลังจากทุกวงการที่เกี่ยวข้องกับ Circular Economy มีทั้งสุนทรพจน์สร้างแรงบันดาลใจ เซสชั่นเสวนาถาม-ตอบ และนวัตกรรมใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาด้านทรัพยากร เพื่อเป็นพื้นที่ในการสร้างโอกาสทางธุรกิจที่มาพร้อมความยั่งยืนแก่ประเทศของเรา

เศรษฐกิจหมุนเวียนที่วนมาจบครบลูป

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ‘Circular Economy’ หรือ ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ คืออะไร ต่างกับระบบเศรษฐกิจแนวราบอย่างไร และเศรษฐกิจหมุนเวียนจะส่งผลอย่างไรกับโลกใบนี้

ว่าง่ายๆ เศรษฐกิจหมุนเวียนก็คือธุรกิจที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การเลือกใช้ทรัพยากร การออกแบบผลิตภัณฑ์ การผลิต การใช้ การจัดการของเสีย รวมถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ บนหลักการของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดการทิ้งส่วนเกินให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะต่างจากเศรษฐกิจแนวราบที่ไม่ได้ใส่ใจกระบวนการนำของเก่ากลับมาใช้ จึงทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นโมเดลที่สามารถนำทรัพยากรมาใช้ได้จนหยดสุดท้าย เพราะทุกอย่างจะวนมาจบครบลูปแบบไม่มีเหลือทิ้ง

โมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ว่านี้เชื่อมโยงกับแนวทางของ GC ในการดำเนินธุรกิจแบบ ‘GC Circular Living’ ที่ประยุกต์ใช้แนวคิด Circular Economy ในทุกกระบวนการ เพื่อใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าที่สุด เพราะการดูแลโลกเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องร่วมมือกันทำ ร่วมกันคิดค้นนวัตกรรม และหาทางออกเรื่องการใช้ทรัพยากรให้ยั่งยืนที่สุด เพื่อไม่ให้ใครมาตำหนิได้ว่าคนรุ่นเรากำลังพรากอนาคตไปจากรุ่นลูกหลาน

อีเวนต์สร้างสรรค์ ลด Carbon Footprint

GC เชิญชวนเราทุกคนมารู้จักกับแนวคิด Circular Living และวิธีการง่ายๆ ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น ปฏิเสธพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวมากเท่าที่จะทำได้ ใช้ทรัพยากรทุกอย่างด้วยความรับผิดชอบ พยายามใช้ของซ้ำและใช้อย่างประหยัด ไปจนถึงการทิ้งและกำจัดขยะอย่างถูกต้อง ซึ่งถือได้ว่าเป็นการปฏิวัติการใช้ทรัพยากรและเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากร (Resource Revolution) ที่คนตัวเล็กๆ อย่างเราสามารถทำได้

GC จึงจัดงานสัมมนานี้ขึ้นมาเพื่อเป็นตัวอย่างงานอีเวนต์สร้างสรรค์ที่ตั้งใจลดขยะและลด Carbon Footprint แก่สิ่งแวดล้อม โดยทำให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมในงานนี้

ตั้งแต่ซุ้มทางเข้า จะสังเกตเห็นโซนนิทรรศการ Circular Living Exhibition ที่หยิบเอาขยะพลาสติกอย่างขวดน้ำ PET มาตกแต่งซุ้ม และมีการนำถุงพลาสติกมาจัดวางคล้ายโคมไฟแมงกะพรุน กลายเป็นมุมถ่ายรูปเช็กอินอันเก๋ไก๋ที่ผู้ร่วมงานให้ความสนใจอยู่ไม่น้อย

ถัดไปด้านในมีโซนจัดแสดงขยะพลาสติกที่ถูกนำมาเพิ่มมูลค่า แปลงร่างให้เป็นของใช้เท่ๆ อย่างพรม เก้าอี้ โซฟา แผ่นกระเบื้อง ที่รองแก้ว เน็กไท เสื้อยืด กระเป๋า และรองเท้า ที่ถูกแปรรูปมาจากขยะพลาสติก ไปจนถึงจีวรรีไซเคิลที่ทำมาจากขวดน้ำพลาสติกที่ถูกทิ้งเช่นกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าขยะสามารถกลับมามีมูลค่าได้โดยการ upcycling หรือการนำความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบ และนวัตกรรม มาเพิ่มมูลค่าให้พลาสติกเหลือใช้กลับมามีชีวิตชีวาและน่าหยิบมาใช้อีกครั้ง

ในงานยังใส่ใจเรื่องการแยกขยะ โดยแบ่งถังออกเป็น 3 ถังพร้อมป้ายคำแนะนำการทิ้งขยะแต่ละประเภท ได้แก่ ถังสำหรับขวดน้ำพลาสติกเพื่อนำไป upcycling ต่อ, ขยะประเภท Bio-Packaging หรือบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ อย่างแก้วน้ำและกล่องใส่ขนมเบรกที่ใช้ในงานนี้ และถังสุดท้ายสำหรับใส่ขยะเศษอาหารที่เตรียมนำไปฝังกลบตามขั้นตอน

อีเวนต์นี้ยังพยายามลดคาร์บอนตามหลักโครงการของตลาดหลักทรัพย์หรือ ‘Care the Bear’ ครบทั้ง 6 ข้อคือ จัดงานใกล้รถไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนให้คนที่มาร่วมงานลดใช้รถส่วนตัว, เลือกจัดงานในสถานที่ที่ใส่ใจเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม, งดการใช้โฟมร้อยเปอร์เซ็นต์, ใช้วัสดุตกแต่งจากของรีไซเคิลเป็นหลักและใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาแทนที่การใช้วัสดุที่ต้องสั่งทำขึ้นมาใหม่ และมีนโยบายประหยัดพลังงานโดยไม่ปรับอุณหภูมิให้ต่ำเกินไปและเลือกใช้หลอดไฟแบบ LED เพื่อประหยัดไฟ

โดยทั้งงานสามารถลด Carbon Footprint ไปได้ถึง 26,911 กิโลคาร์บอน ซึ่งเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ใหญ่ถึง 2,990 ต้น (เพื่อดูดซับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้น) และงานนี้ยังสามารถลดการใช้กระดาษและพลาสติกได้ถึง 8,070 กิโลกรัม

ปราศรัยล้ำค่าจากนวัตกรผู้เขย่าวงการและวงเสวนาว่าด้วย Circular Economy

ในช่วงเช้า มีนวัตกรผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดด้านการปฏิวัติการใช้ทรัพยากรและ Circular Economy ขึ้นกล่าวปราศรัยถึง 3 ท่านด้วยกัน

ประเดิมด้วยคุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมีของประเทศไทย ขึ้นกล่าวในหัวข้อ ‘Towards the Resource Revolution’ หลักใหญ่ใจความว่าด้วยเรื่อง Circular Economy ที่จะกลายเป็นอาวุธสำคัญในการปฏิวัติทรัพยากรโลก เพราะการหมุนเวียนทรัพยากรจะทำให้ค่าใช้จ่ายและต้นทุนในกระบวนการผลิตต่ำลง ใช้พลังงานน้อยลง แต่ให้ประสิทธิผลมาก คุณหญิงทองทิพยังฝากความหวังไว้ในคำปราศรัยครั้งประวัติศาสตร์นี้ว่า Circular Economy นี่แหละที่จะเป็นอนาคตของโลกยุคใหม่ที่คนรุ่นเราต้องรับช่วงไปดูแลและทำให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน

จากปรัชญาเศรษฐกิจหมุนเวียนได้คลี่คลายมาสู่ธุรกิจของนักคิดรุ่นใหม่จากไต้หวันอย่าง Arthur Huang ที่รับแนวคิด Circular Economy มาใช้ในธุรกิจรีไซเคิลเพื่อความยั่งยืนของเขา

อาเธอร์ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ ‘Trash is Sexy’ โดยกล่าวถึง Miniwiz บริษัทรีไซเคิลขยะที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งว่า จุดมุ่งหมายหนึ่งในการแปรรูปขยะที่เขาตั้งใจไว้จะต้องไปไกลกว่าการแค่ ‘พอใช้ได้’ แต่ต้องทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าของที่ทำจากวัตถุดิบรีไซเคิลนั้นดูดี มีราคา และสวยงามเย้ายวนใจไม่ต่างจากสินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบใหม่

อาเธอร์ยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงที่ทำจากขยะรีไซเคิลซึ่งตอนนี้แบรนด์ดังทั่วโลกกำลังให้การยอมรับ เขายกตัวอย่างวัสดุที่ใช้ตกแต่งร้านค้าของ Nike หลายสาขาทั่วโลกซึ่งทำจากวัสดุรีไซเคิลที่บริษัทเขาเป็นผู้ผลิต หรือแม้กระทั่งปีกเครื่องบิน งานอีเวนต์แสดงสินค้า หรือวัสดุที่ใช้ตกแต่งภายในร้านอาหารหรู ก็ทำมาจากขยะรีไซเคิลได้ทั้งนั้น ขยะจึงเป็นขุมทรัพย์ใหม่อันมีค่าที่จะช่วยลดการใช้ทรัพยากรได้มาก อาเธอร์ถึงกับขนานนามขยะรีไซเคิลเหล่านี้ว่าเป็น ‘The New Oil’ หรือน้ำมันแหล่งใหม่เลยทีเดียว

ปิดท้ายช่วงปราศรัยเขย่าวงการด้วย Rob Opsomer จากมูลนิธิ Ellen MacArthur แห่งสหราชอาณาจักร องค์กรนี้สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่เกิดการ re-think และ re-design เพื่อที่จะสร้างอนาคตในเชิงบวกด้วยแนวคิดเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน โดยมีการยกตัวอย่างการใช้ ‘storytelling’ เพื่อสร้างความตระหนักเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศต่างๆ เช่น วัฒนธรรมคาเฟ่เชิงบวกในไต้หวันที่เกิดจากการรณรงค์ให้คนพกภาชนะและแก้วน้ำดื่มไปเองเมื่อเข้าไปในคาเฟ่ หรือกรณีของบังกลาเทศที่มีการเฉลิมฉลองปีใหม่โดยการนำเสื้อผ้าเก่าของคนในชุมชนมารวมกันเป็นกองกลาง เพื่อแลกเปลี่ยนกันใส่เสมือนได้ใส่ชุดใหม่ในช่วงเปลี่ยนศักราช โดยไม่ต้องเสียเงินและทรัพยากรในการผลิตเสื้อผ้าใหม่

หลังจากจบสุนทรพจน์ก็ตามด้วยวงเสวนาว่าด้วย Circular Economy ที่มีสปีกเกอร์เข้าร่วมจากหลากหลายวงการ เช่น ตัวแทนจากอุตสาหกรรมแฟชั่นจากวัสดุรีไซเคิล วงการค้าปลีกเครื่องดื่ม และสตาร์ตอัพเก็บขยะด้วยแอพพลิเคชั่นในชิลี

กรณีศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับวงการแฟชั่น มาจากแบรนด์ Ecoalf ที่ผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นคุณภาพจากวัสดุรีไซเคิล นอกจากความตั้งใจที่จะลดการใช้วัสดุใหม่แล้ว แบรนด์ยังจัดแคมเปญซ่อมแซมเสื้อผ้าฟรีแทนการลดราคากระหน่ำในช่วง Black Friday เพื่อชะลอการซื้อและจูงใจให้ผู้บริโภคนำเสื้อผ้าเก่าที่ชำรุดมาปะชุนให้สวยเหมือนใหม่ ซึ่งจะช่วยลดขยะประเภทเสื้อผ้าได้ในระยะยาว

ตัวแทนจากวงการเครื่องดื่มรายใหญ่ของโลกอย่างโคคา-โคล่า ก็ขึ้นพูดเกี่ยวกับแคมเปญที่กำลังทำอยู่ซึ่งมีชื่อว่า ‘World Without Waste’ ที่ส่งไลน์เครื่องดื่มใหม่อย่าง Viva! เข้าสู่ตลาดฟิลิปปินส์เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งขวดบรรจุภัณฑ์ของ Viva! สามารถนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

รวมถึงผู้จัดงานหลัก GC ก็ร่วมตบเท้าเข้าเสวนาเรื่อง Circular Economy โดยปฏิภาณ สุคนธมาน หัวเรือใหญ่ของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลายแห่ง GC กล่าวว่า บริษัทไม่ได้เพิกเฉยต่อปัญหาขยะพลาสติก นอกจากผลักดันเรื่อง upcycling ขยะพลาสติกให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าแล้ว ยังมุ่งหมายที่จะยกเลิกการผลิตเม็ดพลาสติกสำหรับการผลิตพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งภายใน 5 ปี (2562-2566) และมุ่งเน้นไปที่การวิจัยและพัฒนา bioplastic หรือพลาสติกย่อยสลายได้ที่ทำมาจากพืช ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรกรรมของประเทศ รวมถึงขับเคลื่อนความต้องการในตลาด เพื่อให้มีต้นทุนต่ำและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยมีการตั้งศูนย์ Bio-Complex ขึ้นเพื่อวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพครบวงจร โดย GC มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ด้วยความรับผิดชอบเพื่อให้เป็นอุตสาหกรรมที่สังคมเชื่อมั่นและไว้วางใจ ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

เทคโนโลยีแปรรูปขยะพลาสติกที่น่าจับตา

ในแวดวง Circular Economy มีบริษัทสตาร์ตอัพเกิดใหม่มากมาย รวมถึงธุรกิจที่นำขยะพลาสติกมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในเซสชั่น ‘Tech Startups to Watch in Circular Economy’ จึงมีผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนมาจากหลายธุรกิจ ทั้งบริษัทคอนเซาต์ ธุรกิจซื้อขายขยะมาแปรรูป ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ธุรกิจแฟชั่น และองค์กรที่รับผิดชอบโดยตรงเรื่องพลาสติกในประเทศไทย

โดยตัวแทนจาก Boston Consulting Group หรือ BCG สรุปภาพรวมให้เห็นแนวโน้มเรื่องพลาสติกในอนาคต โดยประมาณการว่าในปี 2050 จะมีการใช้พลาสติกมากขึ้นถึง 3 เท่า ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากกว่าสัตว์น้ำที่ว่ายอยู่ในทะเล อีกทั้งยังเพิ่มปริมาณคาร์บอนในกระบวนการผลิตพลาสติกถึง 15 เท่าเพื่อให้พอกับความต้องการ

โดย BCG แนะให้ผู้ผลิตใช้กระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่วางขายในท้องตลาดให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้ ซึ่งหัวใจสำคัญที่จะแก้ปัญหาขยะพลาสติกได้ต้องเกิดจากความร่วมมือกันทั้งห่วงโซ่การผลิตและต้องรู้จักนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการรีไซเคิลพลาสติก

ส่วนตัวแทนจาก ALPLA ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์สัญชาติออสเตรีย ก็มีการนำขยะรีไซเคิลมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์คุณภาพสูง ทั้งขวดนม ขวดน้ำยาล้างจาน ไปจนถึงขวดโลชั่น เพื่อตั้งใจจะปิดลูปให้วงจรเศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ อีกทั้งกระบวนการรีไซเคิลยังช่วยลดคาร์บอนจากการใช้พลาสติกหลอมใหม่ได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์

ส่วนไฮไลต์จากประเทศไทยคือบริษัท อังไถ่ จำกัด ที่นำขวดพลาสติกรีไซเคิลมาปั่นทำเส้นใยโพลีเอสเตอร์เพื่อยัดแทนนุ่นในหมอนหรือตุ๊กตา ทำเส้นใยแบบหยาบสำหรับฟองน้ำล้างจาน ทำกระดาษชำระ รวมไปถึงการนำมาทำเป็นเสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่นต่างๆ โดยอังไถ่อธิบายว่าเส้นใยรีไซเคิลมีราคาถูกกว่าเส้นใยแบบปกติถึง 15 เปอร์เซ็นต์

ทางฟากของ Unilever ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยักษ์ใหญ่ของโลก ก็ให้คำมั่นสัญญาว่าภายในปี 2025 บรรจุภัณฑ์ 25 เปอร์เซ็นต์จะทำมาจากวัสดุรีไซเคิล นำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือสามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ โดยตอนนี้ Unilever ได้จัดแคมเปญออกผลิตภัณฑ์ในไลน์ ‘Love, Beauty, and Planet’ ที่บรรจุภัณฑ์ทำมาจากพลาสติกรีไซเคิลร้อยเปอร์เซ็นต์ รวมถึงขวดน้ำยาปรับผ้านุ่มที่วางขายในไทยในขณะนี้ก็ทำมาจากพลาสติกรีไซเคิลหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์

วัสดุศาสตร์เพื่ออนาคตและไลฟ์สไตล์ Circular Living ที่ยั่งยืน

เซสชั่นนี้พูดถึงธีม ‘Material Science for Circular Living’ โดยให้วิทยากรแต่ละคนออกมาพูดในรูปแบบคล้าย TED Talks คนละไม่เกิน 8 นาที เราเลยขอคัดไฮไลต์ที่น่าสนใจสำหรับวงการวิจัยและพัฒนาวัสดุศาสตร์เพื่อตอบสนองวิถีชีวิตแบบ Circular Living มาเล่าต่อให้คุณฟัง

เริ่มต้นเซสชั่นด้วยงานออกแบบผ้าทอจากโลหะฝีมืออาจารย์จารุพัชร อาชวะสมิต ภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ่วงตำแหน่งเจ้าของแบรนด์ Ausara Surface ที่นำเศษโลหะอย่างทองเหลือง ทองแดง ดีบุก ฯลฯ มาหลอมเป็นเส้นและนำมาทอเป็นวัสดุสำหรับตกแต่งภายใน

อาจารย์คนเก่งยังขยายผลการวิจัยของตัวเองเพื่อจุดประกายให้นักศึกษาลองทำโปรเจกต์จากวัสดุรีไซเคิลดู จนทุกวันนี้นักศึกษาสามารถพัฒนาแบรนด์สินค้ารีไซเคิลของตัวเองและส่งขายทั่วโลกได้

บริษัท Best Polymer International จากประเทศไทยเองก็นำเสนอไม้เทียมจากพลาสติกรีไซเคิลที่สามารถนำมาตกแต่งอาคารและใช้ในงานออกแบบภายในได้ไม่ต่างจากไม้จริง โดยกระบวนการเริ่มจากนำขยะในแหล่งชุมชนมาคัดแยก ทำความสะอาด และหลอมเป็นเม็ดพลาสติกอีกครั้ง เพื่อนำไปหลอมให้เป็นแผ่น และออกแบบลวดลายไม้ลงไปบนพื้นผิวเพื่อเลียนแบบไม้จริง

ไม้พลาสติกที่ว่านี้สามารถนำไปทำพื้นตู้เอทีเอ็มเพราะมีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันไฟดูด ทั้งยังมีความแข็งแรงทนทาน สามารถพ่นสีทับได้ และมีการนำไปใช้ตกแต่งภายในคาเฟ่ซึ่งให้โทนอบอุ่นไม่ต่างจากไม่จริง

ปิดท้ายเซสชั่นด้วยนักแสดงหนุ่มมากความสามารถอย่าง เจมส์–จิรายุ ตั้งศรีสุข ในฐานะตัวแทนกระบอกเสียงของคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม นักแสดงหนุ่มตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า หากเราใช้ทรัพยากรอย่างถูกที่ถูกทาง เราจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้แบบไม่เหลือทิ้ง ซึ่งในที่สุดแล้วก็จะไม่มีสิ่งที่เรียกว่าขยะอีกต่อไป นั่นคือวงจรการใช้ทรัพยากรที่จะวนจนครบลูปพอดีหรือที่เรียกว่า Circular Economy

Startups for Next Generation: From Idea to Model

ไฮไลต์อีกอย่างหนึ่งสำหรับงานนี้คือ การเปิดโอกาสให้สตาร์ตอัพรุ่นใหม่ได้มาประลองฝีมือการคิดโปรเจกต์แบบ Design Thinking ในหัวข้อ Circular Economy ที่จะเป็นโอกาสให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้ใช้ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อสร้างอิมแพกต์ต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโมเดลที่ตั้งใจทำเป็นกิจการเพื่อสังคมจำเป็นจะต้องคิดในเชิงผู้ประกอบการร่วมด้วย จึงจะทำให้สามารถต่อยอดธุรกิจและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมได้ในระยะยาว

ในงานนี้มีกลุ่มสตาร์ตอัพที่ขึ้นมาแข่งกัน pitching เสนอขายไอเดีย จากโครงการการแข่งขันประกวดโมเดลการจัดการขยะ Waste Runner: 100-DAY CHALLENGE ถึง 3 ทีมด้วยกัน โดยทีมที่เข้าตาผู้ประกอบการหรือนักลงทุนก็มีสิทธิได้รับการสนับสนุนเงินทุนเพื่อทำตามฝันอีกด้วย

ทีมแรก ‘Orgafeed’มีโมเดลธุรกิจโดยการใช้หนอนช่วยย่อยขยะมูลฝอยเพื่อนำขยะนั้นมาสกัดเป็นโปรตีนอีกขั้นหนึ่ง เพื่อนำไปผลิตเป็นไบโอดีเซลหรือโปรตีนผงเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์แทนการนำเข้าอาหารป่นจากต่างประเทศ

ทีมที่สอง ‘Turn Trash to Treasure’เป็นโมเดลรับซื้อขยะในชุมชนบางกระเจ้าโดยใช้แอพพลิเคชั่น LINE@ เพราะคนไทยใช้แอพพลิเคชั่น LINE อยู่แล้ว ทางทีมจึงมีการประสานกับโรงคัดแยกขยะให้มารับขยะถึงในชุมชน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ชาวบ้านที่ต้องการแปลงขยะรีไซเคิลให้เป็นเงิน ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ คงเหมือนกับการเรียก Grab ให้มารับขยะถึงหน้าบ้านและได้เงินจากการขายขยะผ่าน LINE@

และทีมสุดท้าย ‘Leaf No Trash’ เป็นโมเดลธุรกิจที่ตั้งใจลดขยะจากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในคุ้งบางกระเจ้า โปรเจกต์มีชื่อว่า ‘Zero Journey’ เป็นบริการให้ซื้อหรือเช่ากระเป๋าแบ็กแพ็กสำหรับการท่องเที่ยวในหนึ่งวัน ในเซตประกอบด้วยกระเป๋าสานฝีมือชาวบ้านในชุมชน กระบอกน้ำ และชุดภาชนะ เช่น จานทำจากใบไม้ เพื่อทดแทนการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง

จุดประสงค์คือต้องการปลูกฝังพฤติกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ไม่ทิ้งขยะไว้ในสถานที่ท่องเที่ยวให้เป็นภาระแก่ชุมชน โดยกลุ่มนี้มีแผนจะขยายผลไปต่อยอดในสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น สวนรถไฟและสวนสาธารณะตามที่ต่างๆ อีกด้วย

อย่างที่ว่าไว้ GC ตั้งใจจัดงานนี้ขึ้นเพื่อเปิดเวทีเป็นสนามไอเดียให้ทุกภาคส่วนมาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเป็นการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดเป็นรูปธรรมจากหลากหลายภาคส่วนทั่วโลก

หากเรามองย้อนวงจรดีๆ จะเห็นว่า ความสำเร็จของการปฏิวัติการใช้ทรัพยากรในภาพใหญ่จะเกิดขึ้นได้ด้วยการเริ่มต้นจากภาพเล็กๆ ประกอบกัน ซึ่งทุกคน–แน่นอนว่ารวมถึงเราเอง ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงด้วยการปรับแนวคิดและชีวิตประจำวัน ใช้สิ่งต่างๆ อย่างเต็มคุณค่าเพื่อรักษาทรัพยากรอันจำกัดส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป

ที่มา: adaymagazine.com

Feature Stories

Feature Stories
06 สิงหาคม 2563
Circular Economy สู่ Circular Living ความยั่งยืนแห่งอนาคตที่สร้างจากความร่วมมือของทุกคน (A Day)
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
22 มีนาคม 2562
การบริหารจัดการน้ำของ GC ด้วยแนวทาง 3Ws + 2Ws
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
17 สิงหาคม 2560
โครงการวิสาหกิจชุมชนกลุ่มลุฟฟาลา
อ่านเพิ่มเติม