31 พฤษภาคม 2564

Circular Economy การหมุนเวียนทรัพยากร เพื่อให้โลกก้าวไปข้างหน้า

แชร์:

ในปี 2593 ประชากรทั่วโลกจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นถึง 9 พันล้านคน! ตัวเลขอันน่าตกใจนี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับอัตราการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น และแน่นอนว่าทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดบนโลกใบนี้ อาจไม่เพียงพออีกต่อไป รวมไปถึงผลกระทบจากปริมาณขยะที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรจำนวนมาก และไม่ได้มีการจัดการอย่างถูกวิธี เป็นภาพสะท้อนให้เห็นชัดเจนเป็นอย่างมากว่า หากเรายังดำเนินชีวิตหรือดำเนินธุรกิจต่อไปในวงจรแบบเดิมๆ ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้มีผลเพียงแค่ยุคสมัยนี้ แต่ยังมีผลต่อไปยังผู้คนในรุ่นลูกรุ่นหลานอีกด้วย

แล้วจะมีทางออกไหนที่ทำให้เราสามารถดำเนินชีวิตอยู่อย่างปกติได้เช่นเดิม คำตอบนั้นคือแนวคิดที่เรียกว่า Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน ที่จะเปลี่ยนการเดินทางของการใช้ทรัพยากรที่เป็นเส้นตรง ให้กลายเป็นวงจรที่หมุนเวียนต่อไปได้ไม่สิ้นสุด

Circular Economy คือทางออก

ภาพจำของระบบเศรษฐกิจ คือการนำทรัพยากรมาผลิต ใช้ แล้วทิ้ง หรือมีการเดินทางเป็นเส้นตรง ไม่มีกระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ ผลกระทบที่เกิดขึ้น นอกจากทรัพยากรที่อาจหมดลงไปเรื่อยๆ อย่างรวดเร็วแล้ว อีกอย่างคือปัญหาขยะ ซึ่งเป็นปลายทางที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและระบบนิเวศอย่างหนัก

แนวคิด Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน ที่มีการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพจึงเกิดขึ้น ด้วยการนำขยะมาเปลี่ยนเป็นทรัพยากรการผลิตอีกครั้ง ลดการเกิดของเสีย ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และหมุนเวียนอยู่ในระบบให้นานที่สุด โดยใช้ทั้งนวัตกรรม เทคโนโลยี และการร่วมมือ ในการควบคุมกระบวนการทุกขั้นตอน เพื่อจัดการกับความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้สอดคล้องกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์เชิงบวกต่อสังคมในระยะยาว

Circular Economy กับการลงมือทำให้เกิดผลลัพธ์

แท้จริงแล้ว เศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ได้เป็นแนวคิดใหม่ แต่เป็นการผสมผสานแนวคิดในการบริหารจัดการธุรกิจตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960 จนถึงปัจจุบัน โดยมูลนิธิเอเลน แมค อาร์เธอร์ (Ellen MacArthur Foundation: EMF) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนไปทั่วโลก ผ่านการเสนอแนวคิดวัฏจักรทางชีวภาพ (Biological Cycle) หรือการนำทรัพยากรมาใช้ใหม่ตามสภาพ เช่น การนำวัสดุเหลือใช้มาทำเป็นปุ๋ย การสกัดสารเคมีชีวภาพ การหมักย่อยแบบไร้อากาศ การผลิตก๊าซชีวภาพ และการสร้างทรัพยากรทดแทน ส่วนวัฏจักรทางเทคนิค (Technical Cycle) หรือการนำทรัพยากรมาจัดการให้เกิดเป็นวัตถุดิบใหม่ที่มีคุณค่า โดยไม่ถูกทิ้งเป็นของเสียนั้น ก็เพื่อให้เกิดการรั่วไหลของวัสดุเหล่านั้นไปนอกระบบให้น้อยที่สุดและเกิดผลกระทบน้อยที่สุด

เศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่เพียงแต่เป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับเท่านั้น แต่ในเชิงปฏิบัติ ยังช่วยให้การออกแบบผลิตภัณฑ์สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกและลดผลกระทบเชิงลบอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้องค์กรสามารถค้นหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขยายความร่วมมือและลดต้นทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างกำไรที่มากขึ้น และที่สำคัญคือการลดของเสีย เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ยิ่งองค์กรนำแนวทางเหล่านี้ไปปรับใช้ได้เร็วเท่าไร ก็ยิ่งยกระดับการแข่งขันทางธุรกิจให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ และต่อยอดการดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

Circular Economy กับ GC ในฐานะภาคธุรกิจที่นำมาปรับใช้

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC มีความเชื่อว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน สามารถสร้างประโยชน์อย่างมากต่อการจ้างงาน การผลิต และการเงิน ซึ่งต่อยอดสู่การเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุกกระบวนการ จึงมีการบูรณาการนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับใช้ร่วมกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในมิติที่หลากหลาย ครอบคลุมทั้งวัฏจักรทางชีวภาพและเทคนิค ตั้งแต่การออกแบบ การเลือกใช้วัตถุดิบ กระบวนการการผลิต การนำกลับมาใช้ใหม่ บวกกับการสร้างเครือข่าย และกำหนดเป้าหมายร่วมกันที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดระบบนิเวศทางธุรกิจ สร้างพลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

วันนี้ GC ได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาปรับใช้ โดยเน้นการขับเคลื่อน 3 เรื่อง คือ

  1. Smart Operating คือการยกระดับการบริหารและดำเนินงานอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ด้วยการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า เกิดของเสียในกระบวนการทำงานน้อยที่สุด นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดย GC ได้ตั้งเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) จากกระบวนการผลิตลง 20% ภายในปี 2573 และลดการปล่อย GHG ต่อหน่วยการผลิตลง 52% ภายในปี 2593 นอกจากนี้ ยังมีแผนขยายขอบเขตการดำเนินงานของบริษัทฯ ออกสู่โซ่คุณค่าที่เกี่ยวข้อง (GHG Scope 3) ซึ่งเป้าหมายทั้งหมดนี้มีส่วนสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก (SDG 13 - Climate Action)
  2. Responsible Caring คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน โดยคิดค้น พัฒนา ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างเกิดประโยชน์สูงสุดและใช้งานยาวนานมากที่สุด เช่น ไบโอพลาสติกหรือพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ วัสดุน้ำหนักเบา แต่มีความคงทนแข็งแรง สำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ยานยนต์ อาคาร สิ่งก่อสร้าง เป็นต้น
  3. Loop Connecting คือ การเชื่อมโยงทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน และเชื่อมต่อธุรกิจอย่างครบวงจร สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น โครงการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าโดยร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน รวมถึงร่วมกับ วัดจากแดง จ.สมุทรปราการ ในการผลิตจีวรคุณภาพดีจากพลาสติกรีไซเคิล โครงการต้นแบบการบริหารจัดการขยะพลาสติกครบวงจรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับประเทศ ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นอกจากนี้ ล่าสุดยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เดินหน้าต่อยอดแพลตฟอร์มการจัดการขยะพลาสติกแบบครบวงจร ด้วย Chemical Recycling สร้างทางเลือกสำหรับการบริหารจัดการขยะพลาสติกอย่างบูรณาการ

สุดท้ายแล้ว Circular Economy จะเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์แบบ อาจไม่ใช่การลงมือทำของ GC เพียงแค่องค์กรเดียว แต่เป็นการร่วมมือกันในทุกๆ ภาคส่วน โดยเฉพาะการร่วมมือกันของเราทุกคน ไม่ว่าจะทำอาชีพไหนหรือมีบทบาทใดในสังคม ล้วนแล้วแต่มีส่วนร่วมในการทำให้แนวคิด Circular Economy พัฒนาไปสู่ Circular Living ซึ่งผสานการใช้ชีวิตเข้าไปด้วย สร้าง Loop Connecting ที่สามารถนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปปรับใช้และลงมือทำได้จริงต่อไป

#GC #ChemistryForBetterLiving #GCCircularLiving

Feature Stories

Feature Stories
07 กุมภาพันธ์ 2565
GC จับมือสวนพฤกษศาสตร์ระยอง มุ่งพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ (low carbon destination) เส้นทางแห่งความสุขแห่งใหม่ของจังหวัดระยอง
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
30 สิงหาคม 2562
‘เมืองอุตสาหกรรมต้องไม่ลืมราก’ ผศ.ดร. กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ กับการขุดค้นทางโบราณคดีของเมืองระยอง
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
04 ธันวาคม 2561
#ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนโลก จากแนวคิดก้าวสู่ความสำเร็จ
อ่านเพิ่มเติม