16 กรกฎาคม 2564

ปุ๋ยอินทรีย์ตราใบจาก ปุ๋ยที่สร้างรอยยิ้มให้ต้นไม้ ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

แชร์:

เรื่องราวของปุ๋ยอินทรีย์ตราใบจาก ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ปุ๋ย แต่ยังเชื่อมโยงความร่วมมือร่วมใจของวัด บ้าน ชุมชน ไว้ด้วยกันอย่างเหนียวแน่น โดยมีเป้าประสงค์ร่วมกันในการเปลี่ยนขยะเศษอาหาร ให้กลายมาเป็นของมีค่า นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดแทนที่จะปล่อยทิ้งให้เป็นขยะกองโตในสิ่งแวดล้อม

“แรกเริ่มเกิดจากที่วัดมีโรงครัวมีเศษอาหารเหลือก็จะเทลงถังขยะ เกิดการบูดเน่า และสุนัขมาคุ้ยเขี่ย จึงคิดว่า น่าจะนำเศษอาหารเหล่านี้ มาทำประโยชน์ เพื่อช่วยลดขยะและการจัดเก็บ จึงเริ่มทดลองทำปุ๋ยใช้เองภายในวัดมาตั้งแต่ปี 2548” พระเมธีวชิรโสภณ เจ้าอาวาสวัดจากแดง เล่าถึงต้นตอที่มาให้เราฟัง “ตอนแรกก็ทำจำนวนน้อย เพื่อแก้ปัญหาให้เศษอาหารหายไป ต่อมามีการทดลองปรับสูตรมาเรื่อยๆ จนมีความชำนาญขึ้น จึงชักชวนชุมชนให้เข้าร่วม เพราะในชุมชนเอง ก็ประสบปัญหาเดียวกันเรื่องขยะเศษอาหารในแต่ละวันที่มีเป็นจำนวนมาก”

ปัจจุบัน โครงการเปลี่ยนขยะให้เป็นปุ๋ย ได้รับการต่อยอดพัฒนามาเป็นหนึ่งในความร่วมมือจากวิสาหกิจชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงบ้านวัดจากแดง (คุ้งบางกระเจ้า) วัดจากแดง และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีรูปแบบในการผลิตที่สามารถหมุนเวียนและจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งเป็นการแก้ไขและจัดการปัญหาขยะอินทรีย์ในชุมชน เพื่อหวังให้วัดจากแดงเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ และสร้างชุมชนต้นแบบที่มีการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสร้างอาชีพและรายได้แก่คนในชุมชน

ในแต่ละวัน มีขยะอินทรีย์ประมาณ 60% ของขยะทั้งหมดที่เกิดขึ้นในวัด และชุมชน การเปลี่ยนขยะอินทรีย์เป็นปุ๋ย จึงเท่ากับได้ช่วยลดปริมาณของเสียในสิ่งแวดล้อม และลดภาระการจัดเก็บของหน่วยงานภาครัฐ

พระเมธีวชิรโสภณ เล่าว่า ขณะนี้มีชุมชนเข้าร่วมกว่า 40 หลังคาเรือน ในแต่ละวันจะเก็บเศษอาหารได้ประมาณ 200 กก. ในการทิ้งเศษอาหารนั้น สามารถนำมาทิ้งที่วัด หรือ จุดรับเศษอาหารที่ตั้งกระจายอยู่ในชุมชนจำนวน 7 จุด เพื่อให้วัดรวบรวมมาทำปุ๋ยในแต่ละวัน หรือหากญาติโยมในชุมชนที่สนใจจะเปลี่ยนเศษอาหารที่บ้านเป็นปุ๋ยไว้ใช้เอง ทางวัดก็สอนวิธีการหมักปุ๋ยให้ และมีถังรักษ์โลกให้ไปใช้หมักเองที่บ้านได้

สำหรับกระบวนการกว่าจะมาเป็นปุ๋ยนั้น เริ่มจากนำขยะอินทรีย์ต่างๆ เช่น เศษอาหาร เศษพืช เปลือกผลไม้ มาบดให้เป็นชิ้นเล็กลง ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการหมักแบบแห้งที่ทำงานต่อเนื่อง (Dry continuous anaerobic fermenter แบบ Hi-solid) โดยปุ๋ยที่ได้จากการหมักนั้นมีคุณสมบัติเป็น ฮิวมัส (Humus) หรือ อินทรียวัตถุที่พืชสามารถดูดซึมนำไปใช้ง่าย

กระบวนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ตราใบจาก

คุณสมบัติของปุ๋ยอินทรีย์ตราใบจาก

เหมาะสำหรับพืชประเภทไม้ใบ และไม้ผล ช่วยปรับปรุงโครงสร้างและคุณภาพของดินให้ดีขึ้น ทำให้ดินโปร่งและร่วนซุย เพิ่มช่องว่างระหว่างเม็ดดิน เพิ่มปริมาณก๊าซออกซิเจนในดิน ซึ่งจะช่วยให้ระบบรากของพืชเจริญเติบโตได้ดี มีความสามารถในการอุ้มน้ำและธาตุอาหาร พืชจึงสามารถดูดน้ำและธาตุอาหารได้มากขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ในดินด้วย โดยปุ๋ยอินทรีย์ตราใบจากได้รับการรับรองคุณภาพจากกรมพัฒนาที่ดินแล้ว

“ผักที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ตราใบจาก รสชาติดี เก็บได้นาน ที่สำคัญไม่มีสารตกค้าง ไม่ต้องล้างน้ำมาก” พระเมธีวชิรโสภณ กล่าว

ผู้ที่สนใจ สามารถสั่งซื้อปุ๋ยอินทรีย์ตราใบจาก ได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นที่ วัดจากแดง วิสาหกิจชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงบ้านวัดจากแดง (คุ้งบางกระเจ้า) หรือช่องทาง Online Facebook Page : ปุ๋ยอินทรีย์ตราใบจาก รวมทั้งใน Shopee https://shopee.co.th/watchakdaeng?smtt=0.0.9

การสนับสนุนปุ๋ยอินทรีย์ตราใบจาก จึงเสมือนการสนับสนุนวัด และชุมชนในการบริหารจัดการขยะอินทรีย์ไร้ค่า ให้แปรเปลี่ยนเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างรู้ค่า ไม่เหลือเป็นสิ่งตกค้างทำลายสิ่งแวดล้อม ปุ๋ยอินทรีย์ตราใบจาก จึงเป็นมากกว่าปุ๋ย แต่สะท้อนเรื่องราวความร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาขยะที่มีจำนวนมากให้ลดลง และนำกลับมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบของปุ๋ยที่บำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ บำรุงต้นไม้ให้งอกงาม และแน่นอน แพลตฟอร์มนี้ได้บำรุงหัวใจของคนที่ได้รับรู้เรื่องราวดีๆ ของ วัด บ้าน และชุมชน แห่งนี้ ที่จับมือร่วมกันเพื่อสร้างความยั่งยืนให้โลกของเรา

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมของปุ๋ยอินทรีย์ตราใบจากได้ที่ Facebook Page : ปุ๋ยอินทรีย์ตราใบจาก

Feature Stories

Feature Stories
10 พฤศจิกายน 2564
WhiteOlet Café คาเฟ่แสนสุข สร้างรายได้ให้ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
25 มิถุนายน 2563
Wood Plastic Composite เฟอร์นิเจอร์ที่เพิ่มคุณค่าจากขยะ สู่วัสดุที่ใช้แทนไม้จริง ในโครงการ Upcycling Upstyling
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
08 สิงหาคม 2561
ความหมายของ Circular Economy
อ่านเพิ่มเติม