25 พฤษภาคม 2563

เปลี่ยนเศษพลาสติกฟิล์มเป็น จี้ ยั่ง ยืน ยง ..เครื่องรางเพื่อชีวิตและโลกที่ยั่งยืน ในโครงการ Upcycling Upstyling

แชร์:

นอกจากผลิตภัณฑ์ใหม่ในประเภทบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากเศษพลาสติกที่เหลือจากกระบวนการผลิตแล้ว ความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการขึ้นรูปพลาสติกและนักออกแบบชั้นนำในโครงการ Upcycling Upstyling ยังนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ประเภทแฟชั่นและไลฟ์สไตล์อย่าง จี้ ยั่ง-ยืน-ยง จากพลาสติกรีไซเคิล โดยบริษัท พลาสติสสิโม่ฟิล์ม จำกัด และคุณศรัณญ อยู่คงดี นักออกแบบผลิตภัณฑ์จาก SARRAN ที่เน้นกระบวนการค้นคว้าทดลอง และใช้ประโยชน์จากวัสดุ โดยนำมาผสมผสานกับเทคโนโลยีการผลิต

ผลงาน จี้ ยั่ง-ยืน-ยง จากพลาสติกรีไซเคิล

คุณเชษฐพงษ์ มีแทน Senior Innovator บริษัท พลาสติสสิโม่ฟิล์ม จำกัด เล่าให้เราฟังว่ากว่าจะมาเป็นจี้ ยั่ง-ยืน-ยง จากพลาสติกรีไซเคิลนั้น ทั้งตัวเขาและดีไซเนอร์ได้ระดมความคิดกันอย่างหนักว่า จะเพิ่มมูลค่าให้กับเศษพลาสติกที่เหลือจากกระบวนการผลิตฟิล์มในโรงงานให้มากกว่าแค่ขายเป็นเศษให้ผู้รับซื้อทั่วไปได้อย่างไร

ทีมงานจากบริษัท พลาสติสสิโม่ฟิล์ม จำกัด และคุณศรัณญ อยู่คงดี นักออกแบบผลิตภัณฑ์

Plastissimo Film มีวัสดุใดที่คุณเชษฐพงษ์คิดว่าควรเอามาต่อยอดเพิ่มมูลค่า

“เศษพลาสติกฟิล์ม ซึ่งเป็นฟิล์มประเภท Barrier film ใช้ผลิตถุงบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน มีส่วนผสมหลายอย่างในโครงสร้างฟิล์ม และด้วยโครงสร้างที่มีส่วนผสมหลายอย่างนี้ จึงไม่นิยมนำฟิล์มประเภทนี้ ไปรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลกลับเข้ามาสู่กระบวนการผลิตฟิล์มอีกครั้ง เราจึงมีทางเลือกแค่ขายเศษฟิล์มชนิดนี้ทิ้งไป คนที่รับซื้อก็จะนำไปรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติก รีไซเคิลสำหรับงานฉีด ผลิตเป็นอุปกรณ์พลาสติกแข็งต่อไป จึงมองหาช่องทางที่จะรีไซเคิลฟิล์มนี้ด้วยตนเองเพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าขยะพลาสติกของโรงงาน”

เมื่อได้เข้าร่วมโครงการ Upcycling Upstyling รูปแบบการจัดการเศษวัสดุของ พลาสติสสิโม่ฟิล์ม เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างไร

“มุมมองการจัดการเศษฟิล์มเปลี่ยนไปตั้งแต่ครั้งแรกที่พบกับคุณศรัณญ หลังจากพูดคุยกับทีมงานของผม เราเห็นตรงกันว่า คุณศรัณญเป็นนักออกแบบที่มีความคิดสร้างสรรค์มาก โดยเฉพาะไอเดียด้านการตลาด การสื่อเรื่องราวความเป็นมาของผลิตภัณฑ์ จนทำให้ชิ้นงานธรรมดาชิ้นหนึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ หลังจากประชุมกันเสร็จ พวกเราอยากเริ่มลงมือทำอะไรสักชิ้นขึ้นมาทันทีเลย”

คุณศรัณญ อยู่คงดี นักออกแบบผลิตภัณฑ์ จี้ ยั่ง-ยืน-ยง จากพลาสติกรีไซเคิล

มีแนวความคิดอย่างไร ในการนำพลาสติกรีไซเคิล มาต่อยอดเป็นชิ้นงานที่มีมูลค่าในเชิงพาณิชย์ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“ในฐานะนักออกแบบ เวลาคิดผลิตชิ้นงานขึ้นมาชิ้นหนึ่ง เราไม่ได้ให้ความสำคัญและรับผิดชอบแค่กระบวนการผลิต แต่ยังต้องคำนึงถึงสิ่งที่เหลือจากการผลิต ผมถือว่า เป็นความรับผิดชอบต่อโลก และยิ่งถ้าได้มีโอกาสนำสิ่งที่เหลือจากกระบวนการผลิต หรืออีกความหมายหนึ่งคือเศษวัสดุหรือสิ่งที่เป็นขยะในอุตสาหกรรม มาสร้างสรรค์ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งในฐานะผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวและทำให้คนมองเห็นคุณค่าได้ นั่นคือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในมุมมองของผม ซึ่งสำหรับ พลาสติสสิโม่ฟิล์ม เศษฟิล์มประเภท Barrier film เป็นเศษวัสดุเดียวในโรงงาน หากเราสามารถใช้ประโยชน์ได้หมดด้วยการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ก็จะไม่มีขยะพลาสติกเหลือในโรงงานเลย

แนวคิดในการออกแบบเครื่องประดับ จี้ ยั่ง-ยืน-ยง คืออะไร?

“งานออกแบบเบื้องต้น ผมใช้คำว่า “ยั่งยืน” “ยืนยง” “ยั่งยืนยง” เป็นการพูดถึงความแข็งแรงและความคงทนของพลาสติกที่จะอยู่คู่โลกไปอีกนาน เพื่อเป็นการผูกโยงไปถึงเครื่องรางหรือการอวยพรในปัจจุบัน ผมคิดว่า คำนี้เป็นคำที่ล้อเลียนจากการที่คนมองว่าพลาสติกไม่สามารถย่อยสลายได้ และอยู่คู่โลกเราไปอีกนาน แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเราสามารถเลือกใช้พลาสติกให้เหมาะสมกับรูปแบบการใช้งาน และบริหารจัดการหลังการใช้ได้อย่างถูกต้อง เช่น การนำกลับมาใช้ใหม่หรือต่อยอดเป็นการผลิตสินค้าใหม่เพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่า ก็จะสามารถจัดการปัญหาขยะพลาสติกได้อย่างยั่งยืน คำว่า ยั่งยืนยง จึงสื่อถึงการที่เราจะสามารถใช้ชีวิตอยู่คู่กับพลาสติกต่อไปได้อย่างยาวนานโดยไม่มีผลเสียหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะเราต้องยอมรับว่า พลาสติกก็ยังมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน โดยเฉพาะคุณสมบัติด้านการใช้งานในสินค้าหลายประเภทที่ยังหาวัสดุชนิดอื่นมาทดแทนได้ยาก

ความประทับใจที่มีต่อโครงการ Upcycling Upstyling

“ผมชอบแนวคิด ที่เรามองข้ามว่าสิ่งเหล่านี้คือ ”ขยะ” และมองเห็นคุณค่า รวมถึงโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นได้ พลาสติกถูกสร้างมาเพื่อทำให้ชีวิตของมนุษย์นั้นสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ดังนั้นมนุษย์ก็ควรจะปฏิบัติต่อพลาสติกด้วยความรับผิดชอบด้วยเช่นเดียวกัน โครงการ Upcycling Upstyling ควรจะถูกผลักดันให้เข้าไปสู่กระบวนการออกแบบในทุกสายอาชีพ เพราะพลาสติกมีบทบาทในทุกวงการ ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบเสื้อผ้า สถาปัตยกรรม อาหาร และการบริการ พลาสติกไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี แต่เพราะเราไม่ปฏิบัติกับพลาสติกอย่างถูกวิธีต่างหาก นั่นคือผลของมนุษย์ที่เป็นผู้กระทำ ดังนั้น คนทุกคนควรมีบทบาทและให้ความสำคัญกับการใช้พลาสติกตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางและเข้าใจกระบวนการจัดเก็บคัดแยกและนำกลับมาใช้ใหม่อย่างถูกต้อง”

บริษัท พลาสติสสิโม่ฟิล์ม จำกัด กำลังวางแผนให้เกิดการผลิตจริง เพื่อให้ทุกคนได้ครอบครอง จี้ ยั่ง-ยืน-ยง ในเร็ว ๆ นี้ เชื่อว่า เราทุกคนจะได้มีโอกาสเป็นเจ้าของสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าเรากับพลาสติกจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่เคยจินตนาการ

Feature Stories

Feature Stories
09 ธันวาคม 2565
Sustainable Financing : ลงทุนตอบโจทย์ ESG เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจยั่งยืน
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
14 ธันวาคม 2563
ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ตระหนักรู้สู่การปฏิบัติจริงกับ GC Circular Living Symposium 2020 ปีที่ 2
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
25 กรกฎาคม 2562
Lilly’s Goal หญิงสาวผู้ออกสำรวจวิจัยเส้นทางของขยะพลาสติกจากพื้นดินลงสู่ท้องทะเล เพื่อส่งต่อข้อมูลออกไปยังโลกกว้าง
อ่านเพิ่มเติม