31 พฤษภาคม 2564

Circular Economy การหมุนเวียนทรัพยากร เพื่อให้โลกก้าวไปข้างหน้า

แชร์:

ในปี 2593 ประชากรทั่วโลกจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นถึง 9 พันล้านคน! ตัวเลขอันน่าตกใจนี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับอัตราการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น และแน่นอนว่าทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดบนโลกใบนี้ อาจไม่เพียงพออีกต่อไป รวมไปถึงผลกระทบจากปริมาณขยะที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรจำนวนมาก และไม่ได้มีการจัดการอย่างถูกวิธี เป็นภาพสะท้อนให้เห็นชัดเจนเป็นอย่างมากว่า หากเรายังดำเนินชีวิตหรือดำเนินธุรกิจต่อไปในวงจรแบบเดิมๆ ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้มีผลเพียงแค่ยุคสมัยนี้ แต่ยังมีผลต่อไปยังผู้คนในรุ่นลูกรุ่นหลานอีกด้วย

แล้วจะมีทางออกไหนที่ทำให้เราสามารถดำเนินชีวิตอยู่อย่างปกติได้เช่นเดิม คำตอบนั้นคือแนวคิดที่เรียกว่า Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน ที่จะเปลี่ยนการเดินทางของการใช้ทรัพยากรที่เป็นเส้นตรง ให้กลายเป็นวงจรที่หมุนเวียนต่อไปได้ไม่สิ้นสุด

Circular Economy คือทางออก

ภาพจำของระบบเศรษฐกิจ คือการนำทรัพยากรมาผลิต ใช้ แล้วทิ้ง หรือมีการเดินทางเป็นเส้นตรง ไม่มีกระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ ผลกระทบที่เกิดขึ้น นอกจากทรัพยากรที่อาจหมดลงไปเรื่อยๆ อย่างรวดเร็วแล้ว อีกอย่างคือปัญหาขยะ ซึ่งเป็นปลายทางที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและระบบนิเวศอย่างหนัก

แนวคิด Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน ที่มีการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพจึงเกิดขึ้น ด้วยการนำขยะมาเปลี่ยนเป็นทรัพยากรการผลิตอีกครั้ง ลดการเกิดของเสีย ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และหมุนเวียนอยู่ในระบบให้นานที่สุด โดยใช้ทั้งนวัตกรรม เทคโนโลยี และการร่วมมือ ในการควบคุมกระบวนการทุกขั้นตอน เพื่อจัดการกับความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้สอดคล้องกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์เชิงบวกต่อสังคมในระยะยาว

Circular Economy กับการลงมือทำให้เกิดผลลัพธ์

แท้จริงแล้ว เศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ได้เป็นแนวคิดใหม่ แต่เป็นการผสมผสานแนวคิดในการบริหารจัดการธุรกิจตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960 จนถึงปัจจุบัน โดยมูลนิธิเอเลน แมค อาร์เธอร์ (Ellen MacArthur Foundation: EMF) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนไปทั่วโลก ผ่านการเสนอแนวคิดวัฏจักรทางชีวภาพ (Biological Cycle) หรือการนำทรัพยากรมาใช้ใหม่ตามสภาพ เช่น การนำวัสดุเหลือใช้มาทำเป็นปุ๋ย การสกัดสารเคมีชีวภาพ การหมักย่อยแบบไร้อากาศ การผลิตก๊าซชีวภาพ และการสร้างทรัพยากรทดแทน ส่วนวัฏจักรทางเทคนิค (Technical Cycle) หรือการนำทรัพยากรมาจัดการให้เกิดเป็นวัตถุดิบใหม่ที่มีคุณค่า โดยไม่ถูกทิ้งเป็นของเสียนั้น ก็เพื่อให้เกิดการรั่วไหลของวัสดุเหล่านั้นไปนอกระบบให้น้อยที่สุดและเกิดผลกระทบน้อยที่สุด

เศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่เพียงแต่เป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับเท่านั้น แต่ในเชิงปฏิบัติ ยังช่วยให้การออกแบบผลิตภัณฑ์สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกและลดผลกระทบเชิงลบอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้องค์กรสามารถค้นหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขยายความร่วมมือและลดต้นทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างกำไรที่มากขึ้น และที่สำคัญคือการลดของเสีย เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ยิ่งองค์กรนำแนวทางเหล่านี้ไปปรับใช้ได้เร็วเท่าไร ก็ยิ่งยกระดับการแข่งขันทางธุรกิจให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ และต่อยอดการดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

Circular Economy กับ GC ในฐานะภาคธุรกิจที่นำมาปรับใช้

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC มีความเชื่อว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน สามารถสร้างประโยชน์อย่างมากต่อการจ้างงาน การผลิต และการเงิน ซึ่งต่อยอดสู่การเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุกกระบวนการ จึงมีการบูรณาการนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับใช้ร่วมกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในมิติที่หลากหลาย ครอบคลุมทั้งวัฏจักรทางชีวภาพและเทคนิค ตั้งแต่การออกแบบ การเลือกใช้วัตถุดิบ กระบวนการการผลิต การนำกลับมาใช้ใหม่ บวกกับการสร้างเครือข่าย และกำหนดเป้าหมายร่วมกันที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดระบบนิเวศทางธุรกิจ สร้างพลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

วันนี้ GC ได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาปรับใช้ โดยเน้นการขับเคลื่อน 3 เรื่อง คือ

  1. Smart Operating คือการยกระดับการบริหารและดำเนินงานอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ด้วยการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า เกิดของเสียในกระบวนการทำงานน้อยที่สุด นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดย GC ได้ตั้งเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) จากกระบวนการผลิตลง 20% ภายในปี 2573 และลดการปล่อย GHG ต่อหน่วยการผลิตลง 52% ภายในปี 2593 นอกจากนี้ ยังมีแผนขยายขอบเขตการดำเนินงานของบริษัทฯ ออกสู่โซ่คุณค่าที่เกี่ยวข้อง (GHG Scope 3) ซึ่งเป้าหมายทั้งหมดนี้มีส่วนสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก (SDG 13 - Climate Action)
  2. Responsible Caring คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน โดยคิดค้น พัฒนา ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างเกิดประโยชน์สูงสุดและใช้งานยาวนานมากที่สุด เช่น ไบโอพลาสติกหรือพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ วัสดุน้ำหนักเบา แต่มีความคงทนแข็งแรง สำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ยานยนต์ อาคาร สิ่งก่อสร้าง เป็นต้น
  3. Loop Connecting คือ การเชื่อมโยงทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน และเชื่อมต่อธุรกิจอย่างครบวงจร สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น โครงการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าโดยร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน รวมถึงร่วมกับ วัดจากแดง จ.สมุทรปราการ ในการผลิตจีวรคุณภาพดีจากพลาสติกรีไซเคิล โครงการต้นแบบการบริหารจัดการขยะพลาสติกครบวงจรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับประเทศ ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นอกจากนี้ ล่าสุดยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เดินหน้าต่อยอดแพลตฟอร์มการจัดการขยะพลาสติกแบบครบวงจร ด้วย Chemical Recycling สร้างทางเลือกสำหรับการบริหารจัดการขยะพลาสติกอย่างบูรณาการ

สุดท้ายแล้ว Circular Economy จะเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์แบบ อาจไม่ใช่การลงมือทำของ GC เพียงแค่องค์กรเดียว แต่เป็นการร่วมมือกันในทุกๆ ภาคส่วน โดยเฉพาะการร่วมมือกันของเราทุกคน ไม่ว่าจะทำอาชีพไหนหรือมีบทบาทใดในสังคม ล้วนแล้วแต่มีส่วนร่วมในการทำให้แนวคิด Circular Economy พัฒนาไปสู่ Circular Living ซึ่งผสานการใช้ชีวิตเข้าไปด้วย สร้าง Loop Connecting ที่สามารถนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปปรับใช้และลงมือทำได้จริงต่อไป

#GC #ChemistryForBetterLiving #GCCircularLiving

Feature Stories

Feature Stories
02 มิถุนายน 2563
เปลี่ยนของเสียในโรงงานผลิตถ้วยพลาสติก ให้เป็นของแต่งบ้านสุดเดิร์น “WFH” อย่างมีสไตล์ ไปกับโครงการ Upcycling Upstyling
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
07 มกราคม 2562
Upcycling the Oceans, Thailand โครงการที่เนรมิตขยะพลาสติกในท้องทะเลให้กลายเป็นสินค้าแฟชั่น
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
06 กุมภาพันธ์ 2561
พาวิลเลียน: Waste Side Story by PTTGC พลาสติกกับงานออกแบบแห่งอนาคต
อ่านเพิ่มเติม