18 กรกฎาคม 2562

Waste Runner การแข่งขัน 100 วัน ที่เด็กไทยและภาคเอกชนร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการจัดการขยะ โดยมีรางวัลเป็นสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่น่าอยู่ขึ้น

แชร์:

ประชากรชาวไทยผลิตขยะในแต่ละปีมากกว่า 27 ล้านตัน เทียบเท่ากับน้ำหนักของช้างประมาณ 5 ล้านเชือก

เต่าทะเลที่เผลอกลืนกินพลาสติกจนถึงแก่ชีวิต ผืนดินที่แบกรับปฏิกูลเน่าเสียที่ตกค้างมหาศาล คงตกใจไม่น้อยหากรับรู้ถึงขยะปริมาณที่มนุษย์ผลิตทิ้งไว้

แม้มีนโยบายจากภาครัฐและโครงการรณรงค์งดสร้างขยะจากหลากหลายหน่วยงาน การสร้างประเทศไทยให้จัดการขยะอย่างเป็นระบบและรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดี ยังดูเป็นฝันอันยาวไกล ไม่น่าเกิดขึ้นได้ในเร็ววันนี้ ด้วยความซับซ้อนของปัญหาที่เราเป็นผู้ร่วมกันสร้างขึ้นมา

แต่โชคดี มีคนเชื่อว่าเราไม่จำเป็นต้องทำร้ายโลกกันไปมากกว่านี้ และถึงเวลาที่เราจะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง

Global Chemical (GC) บริษัทด้านอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ตั้งใจผลักดันและแก้ปัญหาขยะนี้อย่างยั่งยืน ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่ ผ่านบริษัท TACT Consulting ที่ปรึกษาด้าน CSR (Corporate Social Responsibility) ที่มุ่งมั่นพัฒนาเยาวชนและสังคมไปพร้อมๆ กัน

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือโครงการ ‘Waste Runner – 100 Days Challenge’

การแข่งขันระยะเวลา 100 วันเพื่อเฟ้นหาทีมที่สามารถสร้างสรรค์โมเดลการจัดการขยะ และลงมือทำได้จริงในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า ปอดของกรุงเทพฯ เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบในการขยายผลต่อไป

คนรุ่นใหม่แก้ไขปัญหาใหญ่นี้ไหวด้วยหรือ 100 วันจะทำได้มากขนาดไหน วันนี้ แม็กซ์-ชยุตม์ สกุลคู ผู้ก่อตั้งบริษัท TACT Consulting และขับเคลื่อน Waste Runner ในวัย 24 ปี พร้อมมาเล่าสู่กันฟังและยืนยันให้เราชื่นใจว่า โลกใบนี้ยังมีความหวังอยู่

01 วันที่เราเริ่มหันกลับมามองตัวเอง

‘ขยะต้องเริ่มที่บ้าน’ โจทย์สำคัญที่แม็กซ์ได้รับจากผู้บริหารของ GC เป็นเหมือนเครื่องนำทางในการสร้างสรรค์โครงการนี้

หากมองปัญหานี้ผ่านๆ ผู้ร้ายหลักในปัจจุบันดูจะเป็นขยะปนเปื้อนที่เลอะเศษอาหารต่างๆ และไม่สามารถนำมาหมุนเวียนใช้ให้เป็นประโยชน์หรือขายได้เหมือนกับขยะสะอาดที่มีร้านค้าและหน่วยงานรับซื้อ เมื่อไม่มีคนนำไปทำอะไรต่อ จึงเกิดการทับถมลงบนผืนดินที่ทิ้งขยะ พอทิ้งไว้นานหรือเกิดเหตุเช่นน้ำท่วมก็จะกลายเป็นมลพิษต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมทันที

แต่หากมองลึกลงไปอีกขั้นหนึ่ง ผู้ร้ายที่แท้จริงอาจเป็นเราเองโดยไม่รู้ตัว

“จริงๆ สิ่งที่ยากอยู่ที่พฤติกรรมคน เพราะขยะจากครัวเรือนที่ทิ้งโดยไม่แยกประเภทเอาไปทำอะไรต่อไม่ได้ ถึงแม้มีรถเก็บขยะ สุดท้ายต้องไปเทรวมอยู่ดี แยกหมดไม่ไหว แถมคนแยกขยะยังอันตรายถึงชีวิตอีก หากมีของมีคมหรือเชื้อโรค ดังนั้น เราต้องจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ถ้าคนมัดแยกขยะ คนที่รับขยะไปต่อก็จัดการได้ง่าย แก้ปัญหาได้เลย” แม็กซ์อธิบายถึงสาเหตุที่เราต้องเริ่มแก้กันตั้งแต่ที่บ้าน

แต่แทนที่จะโทษกันไปมาว่าเธอผิด ฉันถูก เราควรร่วมมือทำความเข้าใจปัญหาและหาแนวทางว่าจะช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมระดับบุคคลได้อย่างไรมากกว่า

แม็กซ์มองว่าทุกวันนี้มีคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่สนใจแก้ไขปัญหาสังคม ผ่านการทำกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) และสตาร์ทอัพ คนเหล่านี้มีความคิดดีๆ และพลังงานล้นเหลือ แม็กซ์รู้ตรงนี้ดีจากการบริหาร TACT ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนข้อจำกัดที่เจอคือ คนมักขาดโอกาส แรงสนับสนุน และผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ

เมื่อปัญหาเรื่องขยะและคนที่พร้อมลงมือทำแต่ขาดโอกาสมาพบกัน พื้นที่ผลักดันและสนับสนุนอย่างครบครันเพื่อแก้ไขปัญหาทั้ง 2 ประการนี้ผ่านการลงมือสร้างโมเดลจัดการขยะอย่าง Waste Runner จึงได้เกิดขึ้น

02 วันที่เราเริ่มหันกลับมามองตัวเอง

“ตอนแรกกลัว ไม่รู้มีคนสนใจแค่ไหน” แม็กซ์เล่า ซึ่งไม่แปลกอะไรเพราะเราแทบไม่เคยเห็นการแข่งขันเพื่อแก้ไขปัญหาขยะในประเทศมาก่อน แถมยังต้องลงมือทำจริง ถ้าเข้าถึงการแข่งรอบสุดท้ายผ่านกระบวนการทุกขั้นตอน รวมแล้วเป็นเวลาถึง 100 วันเลยทีเดียว

แต่ 100 วันถือเป็นความท้าทายที่กำหนดทิศทางและรูปแบบงานได้อย่างน่ามหัศจรรย์

“100 วันเป็นเวลามากพอที่เราได้ลงมือคิดจริง ทำจริง ได้คุยกับผู้เชี่ยวชาญ อยู่กับคนในพื้นที่ แล้วมาดูกันว่าแนวคิดได้ผลจริงหรือเปล่า ซึ่งพอการแข่งอาจยาวนานได้ถึง 100 วัน คนที่มาเข้าร่วมส่วนมากเตรียมตัวเตรียมใจกันมาก่อน ไม่ได้มาแข่งขันเพื่อล่ารางวัลหรือเป็นที่หนึ่ง แต่เป็นคนที่รวมตัวกันเพราะอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมจริงๆ”

ปรากฏว่ามีมากกว่า 80 ทีมที่พร้อมใจสมัครและส่งแผนการดำเนินงานเข้ามา ทีมงานดำเนินการคัดเหลือ 16 ทีมในรอบแรกเพื่อไปต่อและรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ การจัดการขยะ และพื้นที่ชุมชน โดยคัดจากความเป็นไปได้ในการลงมือทำ ความยั่งยืน ความสร้างสรรค์ และผลลัพธ์ที่สร้างได้ ในรอบแรกนี้ แม็กซ์เห็นความตั้งใจจริงและร่วมมือกันระหว่างแต่ละทีมด้วยตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่เห็นได้ไม่ง่ายในการแข่งขันธุรกิจทั่วไป

นอกจากผู้เข้าแข่งขันร่วมมือกันอย่างดีแล้ว Waste Runner ยังได้รับการเสริมทัพจากพาร์ตเนอร์ด้านต่างๆ ทั้งการหาเงินทุน ความรู้จากอาจารย์นักวิชาการ ผู้บริหารให้คำปรึกษาด้านโมเดลธุรกิจ ทั้งหมดนี้เป็นไปได้เพราะ GC มีพลังที่สามารถรวมและเชื่อมต่อคนเข้าด้วยกันเพื่อมาช่วยแก้ปัญหานี้ และ TACT สามารถมัดใจคนรุ่นใหม่ให้มาร่วมโครงการไปด้วยกัน

การแข่งขันและความร่วมมือไม่ใช่คำที่ควรอยู่ในประโยคเดียวกันได้เสียเท่าไหร่
แต่หากคนที่ใช่ในหน้าที่ที่ใช่มาทำงานด้วยกัน เราจะได้เห็นพลังพิเศษที่ไม่มีที่ใดเหมือนนี้
ปัญหาแสนหนักหนาดูมีทางออกให้เดินต่อไปทันที 03

03 วันที่เราเริ่มหันกลับมามองตัวเอง

จะเปลี่ยนพฤติกรรมคนได้ ต้องเข้าใจคนอย่างลึกซึ้งเสียก่อน

เมื่อคัดเหลือ 8 ทีมที่ประกอบไปด้วยไอเดียหลากหลาย ทุกทีมได้ลงพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าเพื่อสำรวจและพูดคุยกับคนในชุมชนถึงความเป็นอยู่ ทำให้เข้าใจปัญหาและสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในชุมชนคุ้งบางกะเจ้า

คุ้งบางกะเจ้าเป็นพื้นที่ต้นแบบสำคัญในโครงการนี้ เนื่องจาก GC เป็นหัวเรือสำคัญที่ดูแลด้านการจัดการขยะของ 6 ชุมชนนี้ ในโครงการ ‘Our Khung Bang Kachao’ ภายใต้การกำกับดูแลของมูลนิธิชัยพัฒนา รวมถึงแกนนำในชุมชนมีความเข้มแข็ง พร้อมเปิดรับและดำเนินงานไปด้วยกัน GC และ TACT มองว่าเราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงและทำให้ผู้คนหันมาสนใจประเด็นเรื่องขยะได้หากเริ่มทดลองจากพื้นที่ท่องเที่ยวชื่อดังของเมือง

สิ่งสำคัญที่แม็กซ์คำนึงถึงเสมอในการพาคนไปลงพื้นที่คือ ‘ความเข้าใจกัน’

หลายโครงการในพื้นที่อื่นๆ ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะคนนอกพื้นที่ไม่เข้าใจคนในพื้นที่จริงๆ ทำในสิ่งที่เขาไม่ต้องการ และคนในพื้นที่ก็ยังไม่พร้อมเปิดรับวิธีการดำเนินชีวิตใหม่ๆ เรื่องนี้จึงละเอียดอ่อนและสำคัญมากในการทำให้ถูกวิธี พร้อมทั้งต้องไม่สร้างคำสัญญาหรือความหวังผิดๆ ที่สุดท้ายไม่ทำให้เกิดขึ้นจริง เพราะชุมชนจะเบื่อหน่ายและไม่เชื่อถือคนที่อยากเข้ามาแก้ปัญหา

เมื่อได้คุยกับคนมากขึ้นและลงพื้นที่จึงเข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ แทบทุกทีมปรับเปลี่ยนวิธีการแก้ไขปัญหาของตัวเองให้สอดคล้องกับคนในพื้นที่ เช่นจากเดิมคิดแอปพลิเคชันสุดอลังการแต่คนไม่อยากดาวน์โหลด เป็นวิธีการอื่นๆ ที่ง่ายในการใช้งานแทน

โมเดลที่ดีไม่เพียงแต่แก้ปัญหาที่เราอยากลงมือทำเพียงอย่างเดียว แต่ต้องแก้ปัญหาที่คนอื่นอยากลงมือทำพร้อมๆ ไปกับเราด้วย หากไม่เข้าใจพวกเขา การเปลี่ยนแปลงคงเกิดขึ้นไม่ได้เลย

04 วันที่ความฝันเปลี่ยนเป็นความจริง

ผ่านมาเกือบครึ่งทางของโครงการ ถึงเวลาของ 3 ทีมสุดท้ายที่ผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้นจากการตัดสินโดยกรรมการมากประสบการณ์ในวัน Demo Day ได้ลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง

แต่ละทีมมีไอเดียที่เราฟังแล้วทึ่งในความแปลกใหม่และอดใจไม่ไหวที่จะได้เห็นของจริง

‘Leaf No Trash’ เป็นทีมเบื้องหลังชุดอุปกรณ์ไร้ขยะ ประกอบด้วยจาน ช้อน ส้อม และกระติก ที่ทำจากใบตองและผักตบชวา ถุงรีไซเคิลจากฝีมือคนในชุมชน นักท่องเที่ยวสามารถซื้อหรือเช่าเพื่อจับจ่ายใช้สอยสินค้าในตลาดได้โดยไม่สร้างขยะแม้แต่ชิ้นเดียว เรียกว่าท่องเที่ยวได้อย่างไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม

อีกทีมที่เด่นไม่แพ้กันคือ ‘Orgafeed’ ผู้ใช้หนอนแมลงวันในการกินขยะ เป็นวิธีจัดการขยะ โดยสร้างธุรกิจรับซื้อขยะเพื่อแลกหนอนที่สามารถเลี้ยงขายเป็นอาหารสัตว์ได้ สร้างแรงจูงใจให้คนคัดแยกขยะและมีรายได้เสริมไปในตัว

ทีมสุดท้ายอย่าง ‘Trash’ เลือกแก้ไขอย่างครบวงจร โดยสร้างระบบซื้อขายขยะที่ทำตั้งแต่ให้ความรู้ อำนวยความสะดวกในการรับซื้อและนำไปจัดการต่อ

ทั้งสามทีมกำลังดำเนินการพัฒนา ปั้นฝันให้เป็นจริงในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าช่วงเวลาครึ่งหลังที่เหลืออยู่ น่าติดตามและเป็นกำลังใจให้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

05 วันที่ความฝันเปลี่ยนเป็นความจริง

“เรารู้ว่า 100 วันไม่พอในการเปลี่ยนทั้งประเทศหรอก แต่เราอยากลองสร้างระบบนิเวศของการสร้างธุรกิจใน 100 วันนี้ เพื่อดูว่าสตาร์ทอัพเป็นทางออกของปัญหาขยะระดับบุคคลและประเทศได้หรือเปล่า ถ้าใช่ก็เอาผลที่ได้จาก 100 วันนี้ไปทำงานต่อ ว่าแบบไหนควรพัฒนาหรือทำในโจทย์อื่นๆ เช่นทำในหมู่บ้านและคอนโดบ้าง ดูว่าผลเป็นอย่างไร ต่อไปถ้ามีภาคเอกชนที่ตั้งโรงงานและรับขยะจากสตาร์ทอัพของโครงการเราไปจัดการต่อ ก็ถือว่าสำเร็จไปอีกขั้นหนึ่ง ถือว่าเราได้เป็นที่ปรึกษาด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและช่วยเหลือสังคมได้จริง นั่นเป็นความหวังของเรา” แม็กซ์เล่า

โครงการนี้อาจมีเพียง 100 วัน แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป หลังจากนี้หวังว่าประเด็นเรื่องขยะและสิ่งแวดล้อมจะเป็นที่พูดถึงกันมากขึ้น และทุกคนร่วมด้วยช่วยกันดูแลโลกใบนี้ของเรา

ก่อนจากกัน เราถามแม็กซ์ว่าได้เรียนรู้อะไรจากการผลักดันโครงการขนาดใหญ่นี้ ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่อายุเยอะที่สุดในบริษัทของเขา และมีคำแนะนำอะไรอยากฝากถึงคนที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมบ้าง

“เราไม่ได้คิดว่าเราเปลี่ยนได้ทุกอย่างนะ แต่เรารู้สึกว่าต้องลองทำอะไรบางอย่าง จะได้รู้ว่าทำได้หรือไม่ได้ ถ้าเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านขยะจริงๆ ทำครั้งแรกอาจไม่สำเร็จ แต่ถ้าทำต่อไปต้องสำเร็จบ้างแหละ แค่อย่าให้เป้าหมายปลายทางเลือนหายไป ตั้งเป้าให้ชัดแล้วลองผิดลองถูก เราเริ่มจากความเชื่อว่าจะผลักดันเยาวชนและเปลี่ยนแปลงสังคม พอคนเห็นสิ่งที่เราลงมือทำก็มีคนสนับสนุนเข้ามาเอง สำคัญที่ต้องเริ่มต้นและลองทำ”

ที่มา: readthecloud.co

Feature Stories

Feature Stories
05 สิงหาคม 2564
แก้วที่ทำจาก Bioplastics ดีกว่าเดิมอย่างไร
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
10 มิถุนายน 2563
ดูแลผิวให้ปลอดภัยจาก COVID-19 ด้วย LUFFALA HYGIENE
อ่านเพิ่มเติม
Feature Stories
31 กรกฎาคม 2562
เทรนด์ธุรกิจ...ยุคดิจิตอลครองโลก
อ่านเพิ่มเติม